January 22, 2025
×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 802

ICO Valuation มูลค่าที่ต้องประเมินในสายตา ศ.ดร. อาณัติ ลีมัคเดช

April 22, 2018 9898

​ICO นวัตกรรมการระดมทุนแบบใหม่ ที่กล่าวกันว่าเปรียบเสมือนการติดปีกแนวคิด Crowdfunding ด้วยเทคโนโลยี Blockchain โดยใช้ Cryptocurrency ในรูป Token หรือ Coin เป็นสื่อกลางเสมือน asset ในการซื้อ-ขาย เพื่อการลงทุนและการระดมทุน และด้วยความใหม่ของ ICO ต่อระบบเศรษฐกิจไทยใน ณ ขณะนี้ จึงมีอีกหลายปัจจัยที่นักลงทุน และผู้ที่สนใจต้องการใช้เครื่องมือนี้ พึงต้องศึกษาและทำความเข้าใจ

โดยหนึ่งในประเด็นคือเรื่อง ICO Valuation หรือการประเมินมูลค่า ICOซึ่งหมายความไปถึงการกำหนดราคา Token หรือ Coin โดยเรื่องนี้ ศ.ดร.อาณัติ ลีมัคเดช อาจารย์ประจำภาควิชาการเงิน คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญและศึกษาเกาะติดในเรื่อง Blockchain และ Fintech ได้ให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร Mba เรืองแนวคิดการประเมินมูลค่าของ ICO ไว้อย่างมีหลักการ​ในเบื้องต้น ศ.ดร. อาณัติ ได้แบ่งประเภทของ คริปโต Coin หรือ Token ออกเป็น 3 ลักษณะใหญ่ ซึ่งแต่ละแบบจะมีแนวในการประเมินค่าแตกต่างกันไป

แบบแรกของ Coin ประเภทนี้มีลักษณะ Really Nothing Backup กล่าวคือ Coin แบบนี้ไม่มีสินทรัพย์มารองรับหรือค้ำยันมูลค่าแต่อย่างใด เช่น Bitcoin, Ethereum หรือ Ripple แต่ Coin ประเภทหน้าที่เป็น "สื่อกลาง" ในการแลกเปลี่ยน อย่างเช่น Ripple คือ Coin ที่กลุ่มธนาคารนำมาใช้ เป็น Consortium Blockchain เพื่อรองรับกับวัตถุประสงค์ในการทำธุรกรรมระหว่างธนาคารด้วยกัน มิใช่เป็นแบบสาธารณะ (Public Blockchain) เพราะแนวคิดของ Ripple เป็น Coin ที่ถูกออกแบบมาเป็นเสมือนเงิน เพื่อใช้โอนไปยังธนาคารปลายทาง ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งทางธนาคารผู้รับก็สามารถแปลงเปลี่ยนแลกเป็นเงินสกุลท้องถิ่นได้ทันทีตามมูลค่า โดยระบบนี้จะแตกต่างจากระบบการโอนเงินในอดีตที่ใช้ระบบ Swift ที่เป็นระบบการส่งคำสั่งโอนเงิน ที่ทุกธนาคารต้องนำเงินไปกองที่ธนาคารกลาง ที่ตกลงกันไว้ จากนั้นทุกคำสั่งของการโอนเงินคือการตัดเงินจากธนาคารกลาง เช่นนี้ Ripple จึงมีความคล่องตัวและต้นทุนที่ถูกกว่าและแทนค่าได้เสมือนเงินจริง มูลค่าของ Coin ตัวนี้จึงกำหนดขึ้นตามความพอใจ ขึ้นอยู่กับการยอมรับและความพอใจใช้งาน

​ส่วนกลุ่ม Bitcoin, Etherum, Litecoin หรือ Zcoin เหล่านี้แม้จะเป็น Coin ที่ไม่มีสินทรัพย์มาค้ำยัน แต่คอยน์เหล่านี้มี Blockchain เป็นของตัวเอง เป็น Native Blockchain และซึ่งเป็น Public Blockchain ซึ่งเป็นระบบที่มีการตรวจสอบธุรกรรมที่เกิดขึ้นทุกรายการ โดยเครื่องคอมพิวเตอร์ในเครือข่าย ส่วนเหรียญไหนจะมีจำนวนเครื่องในเครือข่ายกี่เครื่อง, กี่คน ความมั่นคงเป็นอย่างไรก็ แตกต่างกันไป เช่น Bicoin มีจำนวนเครื่องในเครือข่ายนับล้านเครื่อง นั่นหมายความว่า ความเข้มแข็ง มั่นคง และปลอดภัยย่อมมีมากกว่า ส่วน Value ของ Coin ประเภทนี้ ในความคิดเห็นของ ศ.ดร. อาณัติ กล่าวว่า "ค่าของมันคือ "ความหายาก" เปรียบเหมือนทองคำ ที่เรายอมรับเพราะมันหายาก ซึ่งถ้าวันหนึ่งเราไปพบว่า บนดาวอังคารมีแร่ทองคำอยู่มากมาย และทองคำกลายเป็นของหาง่าย มีอยู่มากมาย มูลค่าทองคำก็ย่อมมีอันต้องลดน้อยถอยลงไป Bitcoin ก็ไม่ต่างกัน เพราะมันเริ่มหายากและมีจำกัด ผู้พัฒนาได้กำหนดไว้อย่างชัดเจนแล้วว่าจะมีจำกัด Bitcoin จึงได้รับการยอมรับในการเก็บมูลค่า"

​ศ.ดร. อาณัติ ยังกล่าวเสริมว่า "เคยมีคำถามในทำนองว่า ก็ในเมื่อ Bitcoin ราคาเริ่มแพง และมีคริปโต ตัวอื่นที่ราคาถูกกว่า และก็เป็น Native Blockchain เหมือนกัน มีระบบตรวจสอบธุรกรรมเหมือนกัน ทำไมไม่ได้รับความนิยมเหมือน Bitcoin ซึ่งเหตุผลก็มีอยู่ 2 ประการคือ ข้อแรก เป็นเรื่องความมั่นคง เพราะ Bitcoin ทุกวันนี้มีเครื่องในเครือข่าย Blockchain ของตัวเองที่คอยช่วยทำหน้าที่ Verify หรือตรวจสอบธุรกรรมอยู่ร่วม 1 ล้านเครื่อง ย่อมมีความมั่นคงและแข็งแกร่งของระบบที่มากกว่า คริปโตที่มีเครื่องในเครือข่ายจำนวนน้อยกว่า จริงอยู่ว่า เทคโนโลยีที่ออกมาระยะหลังของ Blockchain มีความทันสมัยและได้รับพัฒนาให้มีประสิทธิภาพดีกว่า เร็วกว่าของ Bitcoin ซึ่งเป็นเทคโนโลยีในยุคแรกๆ แต่การมีเครือข่ายของ "สายขุด" อยู่นับล้าน นั่นคือความมั่นคง ที่ทำให้ระบบของ Bitcoin น่าเชื่อถือได้เป็นที่ยอมรับมากกว่า

​อีกประการคือเรือง "สภาพคล่อง" เรียกอีกอย่างคือ "ความเป็นที่นิยม" แม้ทุกวันนี้จะมีสกุลเงินคริปโตอยู่มากกว่า 1,350 สกุล แต่ Bitcoin ก็ยังเป็นที่ต้องการและเป็นที่ยอมรับของ Crypto Exchange ทุกแห่งทั่วโลก คล้ายๆ กับเหรียญดอลล่าร์สหรัฐฯ ที่ไปประเทศไหนก็เป็นที่ต้องการ ทั้งสองเหตุผลนี้คือปัจจัยที่ผลักดันให้ มูลค่าของ Bitcoin โลดละลิ่วแบบโจนทะยานในเวลาที่ผ่านมา"


 นิยามและความสำคัญ ของ "สายขุด" (Miner)

​เพื่อฉายภาพการรับรู้ที่แจ่มชัด ศ.ดร. อาณัติ ได้อธิบายถึงความเกี่ยวพันระหว่างกันของ Bitcoin, Blockchain และ นักขุด (Miner) ผู้มีหน้าที่เสมือนหน่วยร่วมตรวจสอบธุรกรรม (Verify) ในระบบ ทั้ง 3 ส่วนล้วนมีความสำคัญและมีบทบาทหน้าที่เกื้อกูลหนุนนำกันไปมา โดยมีความว่า

​เมื่อครั้งที่ ซาโตชิ นากาโมโต้ ได้พัฒนา Bitcoin ออกมาด้วยเทคโนโลยี Blockchain นั้น ระบบได้ถูกออกแบบให้เป็นในแบบที่เรียกว่า Public Blockchain ที่ต้องอาศัยเครื่องคอมพิวเตอร์ในระบบเพื่อช่วยทำหน้าที่ในการVerify หรือตรวจสอบธุรกรรมที่เกิดขึ้น โดยซาโตชิได้ออกแบบระบบไว้ตั้งแต่ต้นว่า Blockchain ของ Bitcoin จะทำหน้าที่ในการโอนเงิน และทุกธุรกรรมของการโอนจะต้องได้รับการตรวจสอบและรับรองโดยคอมพิวเตอร์ในระบบ ซึ่งเหตุผลเช่นนี้ ในข้อดีคือ ธุรกรรมจะมีความโปร่งใสตรวจสอบได้และที่สำคัญคือผ่านการรับรอง แต่การทำเช่นนี้ ย่อมเกิดต้นทุนของการตรวจสอบ โดยซาโตชิ จึงออกแบบการตั้ง Incentive เพื่อตอบแทนต้นทุนการร่วมตรวจสอบธุรกรรมให้กับคอมพิวเตอร์ในระบบ หรือที่เรียกกันว่า นักขุด (Miner) บิทคอยน์ โดยมีเงื่อนไขที่ถูกกำหนดไว้ใน Smart Contracts ทุกๆ 10 นาทีจะมีการแก้สมการคณิตศาสตร์ได้ 1 เครื่อง และจะได้รับรางวัลตอบแทน เป็นจำนวน 1 บิทคอยน์

ซึ่งโจทย์หรือสมการที่ถูกกำหนดขึ้นมา เป็นสิ่งที่ยากจะหาคำตอบได้ด้วยการคำนวณ มีเพียงวิธีเดียวที่จะแก้ได้คือการมั่วตัวเลขใส่เข้าไป แล้วอาศัย Capacity ของเครื่องที่มีพลังสูงๆ สุ่มส่งตัวเลขเข้าไปให้มากที่สุด เพื่อหาโอกาส เพราะระบบกำหนดไว้แล้วว่าทุกๆ 10 นาที ซึ่งแน่นอนว่าการใช้คอมพิวเตอร์ที่มีพลังสูงๆ ย่อมมีความเป็นไปได้ของโอกาสในการแก้สมการได้เหนือกว่าคอมพิวเตอร์ที่มีศักยภาพน้อยกว่า แต่อีกปัจจัยที่สำคัญคือเรื่องจำนวนของเครื่องคอมพิวเตอร์ในเครือข่าย ที่ยิ่งมีมาก โอกาสของความน่าจะเป็นของการชนะการแก้สมการและได้รางวัลเป็น Bitcoin นั้นก็ย่อมยากมากขึ้น และนั่นจึงเป็นเหตุผลที่ การขุด Bitcoin ในช่วงระยะแรกๆ ที่มีผู้เข้าร่วมขุด (แก้สมการ) จำนวนไม่มาก เพียงคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คธรรมดาก็สามารถขุด บิทคอยน์ได้อย่างง่ายดายเป็นหมื่นๆ เหรียญ จนมีเรื่องเล่าติดตลกในหมู่สายนักขุดว่า ในช่วงปี 2009-2010 มีคนขุด Bitcoin ได้นับหมื่นเหรียญแต่ไม่รู้จะเอาไปทำอะไร จึงได้ใช้ Bitcoin ที่ขุดได้ร่วม 10,000 เหรียญจ่ายค่าพิซซ่า ซึ่งหากประเมินเทียบกับราคาในตลาดแลกเปลี่ยนปัจจุบัน เรียกได้ว่า พิซซ่าถาดนั้นถูกจ่ายไปด้วย ราคาร่วม 2,000 ล้านบาท 

​ซึ่งสถานการณ์สายขุด Bitcoin ในปัจจุบันไม่ง่ายดายเหมือนในอดีตเพราะจำนวนเครื่องที่อยู่ในเครือข่ายมีมากมายนับล้านเครื่อง โอกาสที่ทุก 10 นาทีจะเป็นของเครื่องใด ก็ย่อมลดน้อยลง ยิ่งจำนวนเครื่องเพิ่มจำนวนเข้าไปรุมขุด โอกาสก็ยิ่งยากมากขึ้นไปเรื่อยๆ ซึ่งแม้จะปรับใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ระดับซุปเปอร์ก็อาจไม่ใช่ปัจจัยที่ดีนัก เพราะโปรแกรมของ Blockchain ได้ถูกกำหนดไว้เป็นอัตโนมัติอยู่แล้ว และที่น่าสนใจคือ ระบบมันมีความฉลาดมาก โดยมันจะทำการปรับระดับของความยาก หรือ Level Of Difficulty อย่างอัตโนมัติ เช่น ถ้าจำนวนเครื่องเข้ามา Solve สมการ (ขุดเหรียญ) มีน้อย ระบบก็จะปรับระดับของความยากง่าย เช่นเหลือศูนย์เพียง 3 หลัก แต่ทันทีที่มีเครื่องเข้ามาในระบบมากขึ้น โปรแกรมซึ่งเป็น Self-Regulate จะทำการปรับระดับของความยากของมันเองเลย ยิ่งคนมาเยอะ ระดับของ Level Of Difficulty อาจจะเปลี่ยนเป็นตัวเลข 12 หลักอย่างอัตโนมัติ แต่ผลตอบแทนการตรวจสอบธุรกรรมโดยเครื่องในเครือข่าย (สายขุด) ยังคงข้อกำหนดเดิม คือ 1 บิทคอยน์ในทุกๆ 10นาที

​เมื่อราคาของ Bitcoin พุ่งสูงทะยานในตลาดแลกเปลี่ยนตลอดสองปีทีผ่านมา ปรากฏว่ามีนักขุด (Miner) เพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างผันตรง จากแรงจูงใจในด้านราคา ทาง ศ.ดร. อาณัติ ได้เคยศึกษาและลองทำ Fesibility Study เพื่อประเมินการลงทุนในเรื่องนี้ว่า ถ้าลงทุนซื้อเครื่องมาขุดบิทคอยน์ และดูความเป็นไปได้ของผลตอบแทน ที่ปัจจุบันจำนวนเครื่องในระบบมีอยู่มากกว่า 1 ล้านเครื่อง ย่อมหมายความว่าโอกาสคือ 1 ในล้าน มองตรรกะแล้วก็ดูราวกับว่าชาตินี้อาจจะไม่มีโอกาสขุดได้เลยเหรียญหรือสักบาท แต่ก็ยังมีคนกล้าลงทุน ซึ่งก็เหมือนกับการซื้อหวย พอมีการลงทุนในเครื่องไม้เครื่องมือ ซื้อคอมพิวเตอร์ และการ์ดจอราคาแพง ทุกวันนี้สายขุดบิทคอยน์ก็มีการพัฒนารูปแบบเป็นเหมือนสหกรณ์ขุดคริปโต อย่างเอาจริงเอาจัง แนวคิดคือการพูลพลังของคอมพิวเตอร์ของหลายเครื่องเข้าด้วยกัน เป็นสมาชิก และทำข้อตกลงแบ่งผลประโยชน์กันเป็นเปอร์เซนต์ เมื่อเครืองที่เป็นพูลกันขุดเหรียญได้เครื่องใดก็ตาม ระบบ ก็จะกระจายสัดส่วนผลตอบแทนให้กันอย่างถ้วนหน้า หลักการก็เหมือนซื้อหวยคนเดียวโอกาสถูกน้อย เลยเอาเพื่อนมาเป็นร้อยคนพันคน โอกาสถูกย่อมมีมากกว่าแต่ว่าถ้าถูกเมื่อไหร่ผลตอบแทนก็ต้องแบ่งกันไป กล่าวได้ว่าทุกวันนี้เหรียญ Bitcoin อยู่ในมือสายขุดอยู่เป็นจำนวนมากทีเดียว

​ประเด็นสำคัญก็คือการที่ Blockchain ของ Bitcoin มีความแข็งแกร่งก็เพราะการที่สายขุดเหล่านี้เอาเครื่องเข้ามาในระบบ และการแก้สมการก็คือการทำหน้าที่ในการ Verify ธุรกรรมทำให้เกิด Proof Of Work อันนำมาซึ่ง "ความแข็งแกร่ง และมั่นคงและปลอดภัย" ของระบบ ที่ยิ่งมีเครื่องในเครือข่ายมาก็ยิ่งมั่นคง และนั่นก็คือส่วนหนึ่งของที่มาของการประเมินค่า หรือ Valuation ของบิทคอยน์นั่นเอง

​ในสายตาของผู้ที่ประเมินแบบเรื่องนี้อย่างเหมารวมว่า Bitcoin คือการเก็งกำไร แต่ Blockchain เป็นระบบที่ดีนั้น ศ.ดร. อาณัติ อยากให้มีความกระจ่างในประเด็นนี้ว่า

​"ที่ว่า Blockchain ดีนั้น ดีจริงแต่ต้องเป็น Public Blockchain เพราะระบบได้รับการ Verify ด้วยเครือข่ายคอมพิวเตอร์สาธารณะจำนวนมาก ที่เข้ามาร่วมตรวจสอบธุรกรรม แต่ถ้าเป็น Blockchain แบบปิดที่มีเครือข่ายของคอมพิวเตอร์เพียงแค่ 10-20 เครื่องก็ย่อมไม่ได้มีความเข้มแข็ง มั่นคงสักเท่าไหร่ แต่แน่นอนว่า ถ้าไม่มี Bitcoin เป็น Incentive หรือผลตอบแทนให้กับนักขุด ก็คือกลุ่มที่ทำหน้าที่ Solve สมการในระบบ ที่ถือว่ามีส่วนในการ Contribute ความเข้มแข็งให้กับระบบ การได้ Bitcoin ไปก็เสมือนการให้ผลตอบแทนต่อต้นทุนที่เข้ามาร่วมในเครือข่าย" และแนวคิดเรืองการเก็งกำไรนั้น ศ.ดร. อาณัติให้มุมมองว่า "ควรจะให้ความรู้กับนักลงทุนจะถูกต้องกว่า และที่สำคัญในฟากฝ่ายที่เกี่ยวข้องพึงศึกษาและทำความเข้าใจให้ถ่องแท้และกระจ่าง จะได้ไม่เข้าใจในประเด็นที่ผิดๆ"


สำหรับ Token ประเภทที่สองเรียกว่า Utility Token ซึ่ง Token แบบนี้เปรียบเหมือนคูปองสินค้า หรือคูปองบริการ ซึ่งกล่าวได้ว่า ICO ส่วนใหญ่ทั้งในประเทศไทย และในโลกจัดอยู่ในกลุ่ม Utility Token ที่ออกเหรียญเพื่อระดมทุน ในขณะที่เหรียญที่ออกมา ก็ได้รับการออกแบบให้เป็นเสมือนคูปองที่สามารถนำมาใช้แลกสิทธิ์ในการซื้อสินค้าหรือใช้บริการที่กำหนดไว้ในระบบ ซึ่งการประเมินหามูลค่า ICO และเหรียญว่าควรจะมีมูลค่าเท่าไรนั้น ศ.ดร.อาณัติ มีแนวคิดในการประเมินมูลค่าโดยกำหนดเป็นสมการ คือ "กำหนดมูลค่าของธุรกรรมเป็นราคาต่อหน่วยด้วย P บาท และยอดขายต่อหน่วยเท่ากับ Q ครั้งใน 1 ปี ปริมาณเหรียญที่ออกมาเท่ากับ M เหรียญ และความเร็วในการเปลี่ยนมือของเหรียญเท่ากับ V ครั้งต่อปี ซึ่งอาจประเมินจากความต้องการเหรียญนั้น จากนั้นก็ใช้ทฤษฏีปริมาณเงินที่นักเศรษฐศาสตร์สาย Monetarist ใช้ประเมินรายได้ประชาชาติ ในลักษณะสูตร c MV = PQ โดย C คือราคาในรูปของ บาทต่อ 1 เหรียญ ดังนั้นหากเราทราบค่าตัวแปรทั้งหมด ก็สามารถแก้สมการนี้ และหาราคาของเหรียญประเภทนี้ได้ว่าเท่ากับ PQ / MV นั่นเอง" 

​Token แบบที่สามเรียกว่า Asset-Backed Token เป็นเหรียญในแบบที่มีสินทรัพย์ค้ำยันมูลค่า ศ.ดร.อาณัติ กล่าว "กลุ่มนี้สามารถประเมินมูลค่าได้โดยง่ายโดยประเมินในลักษณะเดียวกับมูลค่าทางบัญชีของหุ้น (Book Value) เช่น หากว่า เหรียญที่ออกมา บริษัทจะใช้ในการซื้อสินทรัพย์มูลค่า 100 ล้านบาท โดยจะออกเหรียญ จำนวน 1 ล้านเหรียญ ในกรณีนี้ เหรียญหนึ่งเหรียญก็พึงมีมูลค่า 100 บาท หรือบริษัทอ้างว่าจะออกเหรียญเพื่อให้ผู้ถือเหรียญไปใช้กู้ภายใต้การจัดการของบริษัท แบบนี้ก็ใช้พอร์ตลูกหนี้มาค้ำเหรียญ ดังนั้นหากบริษัทมีพอร์ทลูกหนี้ 660 ล้านบาท แล้วออกเหรียญมา 100 ล้านเหรียญ แบบนี้เหรียญ 1 เหรียญก็พึงมีมูลค่า 6.6 บาท ไม่มากไม่น้อยไปกว่านี้ เพราะพอร์ตเงินกู้ไม่สามารถมี Capital Gain ได้ ในส่วนดอกเบี้ยก็จะประเมินแยกต่างหาก เพราะบริษัทจะใช้วิธีจ่ายดอกเบี้ย ด้วยการนำเงินบาทจากดอกเบี้ยออกมาสำรองแล้วออกเหรียญให้ ในกรณีนี้ เหรียญใหม่ก็จะถูกออกมาหักล้าง แต่หากบริษัทไม่จ่ายดอกเบี้ยด้วยการออกเหรียญเพิ่มมูลค่าของเหรียญก็จะเพิ่มขึ้นตามสัดส่วนของดอกเบี้ยในพอร์ตนั้น เช่นยกตัวอย่าง เมื่อสักครู่ หากบริษัทไม่อยากออกเหรียญใหม่เพื่อจ่ายดอกเบี้ย และเมื่อรวมดอกเบี้ยพอร์ตลูกหนี้ 660 ล้านบาท จะได้เป็น 700 ล้านบาท เช่นนี้เหรียญก็จะมีมูลค่า 7 บาท อย่างไรก็ตาม นักลงทุนพึงสังเกตว่า การกล่าวถึงสินทรัพย์บริษัท พอร์ตลูกหนี้ของบริษัท มักจะมีความสับสนกับสินทรัพย์ลูกหนี้อื่นที่บริษัทมีอยู่แล้ว ซึ่งเป็นส่วนของผู้ถือหุ้นบริษัท โดยไม่เกี่ยวกับการออกเหรียญ หากเป็นแบบนี้การคำนวณมูลค่าก็ต้องแยกสินทรัพย์หรือพอร์ตลูกหนี้เพราะส่วนที่เกี่ยวข้องกับเหรียญขึ้นมาก่อน เพื่อให้การคำนวณแม่นยำ"

ทั้งนี้ ศ.ดร. อาณัติ ได้ให้ความทิ้งทายไว้ว่า "ICO ยังอยู่ในระยะเริ่มต้น และยังเป็นสิ่งใหม่สำหรับบ้านเรา จึงจำเป็นอย่างมากที่นักลงทุนจะต้องศึกษาและทำความเข้าใจ ที่สำคัญคือการส่งเสริมความรู้และความเข้าใจให้กับนักลงทุนและสังคม อย่างตัวผมเองเคยผ่านประสบการณ์ทำงานกับภาครัฐในช่วงหลังปี 40 ที่เคยพร่ำวิตกกังวลกับการเตรียมตั้งรับกับกติกาที่มหาอำนาจเขียนกำหนดขึ้นใน ณ ขณะนั้น จนพบข้อสรุปสำคัญว่า กับนวัตกรรมใหม่ๆ ที่แม้เรายังไม่คุ้นเคยหรือรู้จักดี แทนที่จะมามัววิตกกังวล ขบคิดเรืองได้เปรียบ เสียเปรียบ หรือกลัวเกรงในปัญหาที่อาจจะไม่เกิดขึ้นจริง จนละเลยที่จะส่งเสริมหรือเรียนรู้ มิสู้ฝึกคนของเราให้มีความพร้อมกับการแข่งขันในเกมของโลก ในเมื่อกติกามันถูกเขียนมาแบบนั้น เราก็ต้องเรียนรู้ที่จะสู้และอยู่กับโลกให้ได้"  

X

Right Click

No right click