ทรู ดิจิทัล พาร์ค ผนึกพันธมิตร เร่งระดมความร่วมมือ กู้วิกฤตโลกร้อน ในงาน "Decarbonize Thailand Symposium 2024 : Path to Net Zero Collaboration"

May 31, 2024 100

ทรู ดิจิทัล พาร์ค ศูนย์กลางเทคและสตาร์ทอัพที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน โดย นายฐนสรณ์ ใจดี (กลาง) กรรมการผู้จัดการใหญ่ และ ดร.ธาริต นิมมานวุฒิพงษ์ (ซ้ายสุด) ผู้จัดการทั่วไป ร่วมกับ นิวเอนเนอร์จี้ เน็กซัส (ประเทศไทย) โดย นายสแตนลี เอิง ผู้อำนวยการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (ที่ 2 จากขวา) จัดสัมมนาครั้งใหญ่แห่งปี "Decarbonize Thailand Symposium 2024 : Path to Net Zero Collaboration" ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 รวมพลังเดินหน้าขับเคลื่อนประเทศไทยให้บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ร่วมด้วย เด็นโซ่ อินเตอร์เนชั่นแนล เอเชีย โดย นายประดิษฐ์ มหาศักดิ์ศิริ (ที่ 2 จากซ้าย) ผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายพัฒนานวัตกรรมและธุรกิจเกิดใหม่ และ บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น โดย ดร.ปิยาภรณ์ ภาสกานนท์ (ขวาสุด) หัวหน้าสายงานด้านการพัฒนาความยั่งยืนองค์กร พร้อมด้วยหลากหลายพันธมิตรองค์กรชั้นนำจากทั้งในและต่างประเทศ ร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์ และอัปเดตเทรนด์เทคโนโลยี พร้อมเปิดเวทีให้สตาร์ทอัพร่วมโชว์เคสนวัตกรรม Climate Tech กระตุ้นการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ดร.ธาริต นิมมานวุฒิพงษ์ ผู้จัดการทั่วไป ทรู ดิจิทัล พาร์ค กล่าวว่า จากความสำเร็จในการจัดงาน Decarbonize Thailand Symposium 2022 ซึ่งเป็นครั้งแรกเพื่อสร้างความร่วมมือในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ได้มีบริษัทยักษ์ใหญ่สนใจร่วมงานเป็นอย่างมาก ทรู ดิจิทัล พาร์ค จึงเดินหน้านำศักยภาพระบบนิเวศครบวงจรสำหรับสตาร์ทอัพและผู้ประกอบการเทค สร้างคอมมูนิตี้เชื่อมโยงความร่วมมือในแก้ไขปัญหาดังกล่าว จัดงาน "Decarbonize Thailand Symposium 2024 : Path to Net Zero Collaboration" เป็นปีที่ 2 โดยเน้นการอัปเดตนวัตกรรมโซลูชันจากสตาร์ทอัพทั่วโลก นอกจากนี้ ยังผลักดันการเติบโตของสตาร์ทอัพ Climate Tech ผ่านความร่วมมือในรูปแบบต่างๆ รวมถึงการจัดโครงการและกิจกรรมที่จะสร้างพลังเครือข่าย กระตุ้นให้เกิดการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อร่วมแก้ไขปัญหาดังกล่าวมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) โดยโฟกัส 4 กลุ่มนวัตกรรม Climate Tech ที่น่าจับตามอง ได้แก่ E-Mobility เช่น EV และระบบขนส่ง, Decarbonization เช่น การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การบริหารจัดการคาร์บอน และคาร์บอนเครดิต, AgriTech เช่น ระบบบริหารจัดการน้ำ เชื้อเพลิงชีวภาพ และวัตถุดิบทางเลือก และ Energy เช่น การบริหารจัดการพลังงาน และพลังงานหมุนเวียน

โอกาสและความท้าทาย บนเส้นทางสู่ Net Zero

ในงาน "Decarbonize Thailand Symposium 2024 : Path to Net Zero Collaboration" นอกจากการบรรยายพิเศษ อัปเดตเทรนด์โลกและสถานการณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับวิกฤตสภาพอากาศ จากเหล่าวิทยากรผู้เชี่ยวชาญแล้ว ยังมีหลากหลายองค์กรชั้นนำและสตาร์ทอัพ Climate Tech ร่วมพูดคุยถึงโอกาสและความท้าทายในการเดินทางสู่ Net Zero โดยในช่วงเสวนาหัวข้อ “Decarbonization 101 Deep Dive: Exploring Cutting-Edge Strategies for a Sustainable Future” ผู้แทนจาก เด็นโซ่ อินเตอร์เนชั่นแนล เอเชีย ซึ่งเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยียานยนต์และนวัตกรรมโมบิลิตี้แห่งอนาคต ได้กล่าวถึงการเลือกวัสดุในขั้นตอนการผลิต ว่า ไม่ได้มองที่ต้นทุนเพียงอย่างเดียว แต่ต้องคำนึงถึงการนำกลับมาใช้ใหม่ได้ด้วย ส่วนภาคการผลิตก็ต้องปล่อยคาร์บอนให้ต่ำที่สุดหรือเป็นศูนย์ เมื่อนำผลิตภัณฑ์เหล่านี้มาประกอบเป็นรถยนต์ก็ต้องช่วยลดคาร์บอนได้ รวมถึงการพัฒนาด้านอีวี หรือ เซลล์เชื้อเพลิง (Fuel cells) ด้วย ด้านผู้แทนจาก เครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้เผยถึงอีกด้านของโอกาสว่า ยุคนี้ผู้ที่ปรับตัวได้ก่อนก็สามารถเป็นผู้กำหนดสร้างกฎเกณฑ์ข้อตกลงได้ก่อน เช่น ราคาคาร์บอนเครดิต โดยภาคธุรกิจต้องปรับตัว นำเทคโนโลยีมาใช้ในการทำงานร่วมกันกับพันธมิตรและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย อีกทั้งความยั่งยืนยังกลายเป็นส่วนหนึ่งของการตัดสินใจของคนรุ่นใหม่ในการเลือกทำงาน เช่นเดียวกับผลิตภัณฑ์ยั่งยืนที่จะเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค ซึ่งในทุกวิกฤตย่อมมีโอกาสสำหรับสตาร์ทอัพที่มาพร้อมโมเดลธุรกิจใหม่ๆ เสมอ  สำหรับประเด็นด้านความเสี่ยงขององค์กรและประชาชนทั่วไป เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ ไทยแลนด์ ให้มุมมองถึงปัญหาที่ทุกคนเจอโดยไม่รู้ตัว คือ ภาษีคาร์บอน ผ่านการซื้อรถยนต์ ค่าไฟ และอาหารการกิน เป็นต้น เดลต้าได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2015 ด้วยการประกาศคำมั่นสัญญาผ่านธุรกิจและผลิตภัณฑ์ที่ลดการใช้พลังงานสิ้นเปลือง พร้อมใช้พลังงานสีเขียวและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพ เป็นต้น ส่วนองค์กรสตาร์ทอัพ ALTOTECH GLOBAL เผยว่า ในการตั้งเป้าลดการใช้พลังงาน การนำข้อมูลมาใช้อย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด เป็นสิ่งที่สำคัญ เช่น ระบบอาคาร ที่มีการพัฒนาซอฟต์แวร์ของอาคารที่ใช้ข้อมูลร่วมกัน ก็เป็นอีกโอกาสที่อยากพัฒนาให้เกิดขึ้น ด้าน ALTERVIM เผยถึงมุมของสตาร์ทอัพ คือ มักจะมุ่งสร้างเทคโนโลยีใหม่ขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์การแก้ปัญหาระดับประเทศ แต่หลังจากได้ร่วมงานกับคอร์ปอเรต ทำให้เห็นว่าความร่วมมือที่แท้จริงจะต้องช่วยขับเคลื่อนเอสเอ็มอีต่างๆ ซึ่งเป็นหน่วยเล็กๆ ด้วย  มิติเหล่านี้ไม่ได้มองแค่ตัวเลขทางการเงินเพียงอย่างเดียว แต่จะต้องส่งผลต่อการจ้างงาน สังคม และประเทศชาติ ได้ด้วย

วิกฤต Climate Change ต้องเปลี่ยนที่คนเป็นอันดับแรก

นายบุญรอด เยาวพฤกษ์ กรรมการบริษัท เดอะ ครีเอจี้ จำกัด องค์กรที่ปรึกษาที่มีเป้าหมายเพื่อช่วยประเทศไทยและโลกไปสู่ Net Zero Economy รวมถึงได้ก่อตั้ง Climate Academy เผยว่า แนวโน้มอุณหภูมิโลกสูงขึ้นเรื่อยๆ จากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสะสมมายาวนานทุกปีๆ ซึ่งมีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจไทย โดยเหลือ Carbon Budget อยู่ 380,000 ล้านตัน ก่อนที่อุณหภูมิจะเกิน 1.5 องศาเซลเซียส จนเกิดแคมเปญ Net Zero ทั่วโลกต่างๆ ขึ้นตั้งแต่สนธิสัญญาด้านสิ่งแวดล้อมอย่าง พิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) จนถึงปัจจุบันคือ ความตกลงปารีส (Paris Agreement) และยังให้มุมมองเรื่อง Climate Change ว่าอันดับแรกผู้คนต้องเริ่มเปลี่ยนแปลงที่ตัวเองแต่พฤติกรรมบุคคลนั้นเปลี่ยนได้ยาก อาจจะต้องมีบทลงโทษหากทำให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยใช้ 2 กลไก ได้แก่ 1. ETS Immigration Trading Screen สำหรับหน่วยงานขนาดใหญ่ที่กำหนดโควต้าการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งหากปล่อยเกินต้องไปหาโควต้าจากที่อื่น และ 2. การเก็บภาษีคาร์บอน ที่จะสามารถช่วยเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคในอนาคตได้

ทั้งนี้ นายบุญรอด ได้ให้มุมมองในการทำ Net Zero Economy ว่า การทำธุรกิจหากเข้าใจแลนด์สเคปจะได้เปรียบมากกว่า โดยมีสิ่งที่ควรคำนึงถึง คือ เทคโนโลยีไหนกำลังมา ทรัพยากรที่ถูกใช้มากที่สุดคืออะไร โดยในปัจจุบันอันดับแรก ได้แก่ น้ำ และรองลงมาคือ คอนกรีต จะมีวัสดุไหนมาทดแทนได้หรือไม่ หรือแม้แต่ไฟฟ้าทั้งหมดหากมีจุดกำเนิดมาจากพลังงานสะอาดจะต้องทำอย่างไร เป็นต้น

X

Right Click

No right click