December 27, 2024

“CIBA-มธบ.” เปิดตัว นักศึกษา Capstone ต้นแบบ Startup University สู่ความสำเร็จแบบมืออาชีพ

May 23, 2019 1543

“พัทธนันท์ เพชรเชิดชู”  รองอธิการฯมธบ.” เปิดตัว  Capstone Project ต้นแบบ Startup University สู่ความสำเร็จแบบมืออาชีพ

ดร.พัทธนันท์ เพชรเชิดชู  รองอธิการบดีสายภาคีสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) เปิดเผยว่า วิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี (College of Innovative Business and Accountancy: CIBA) ได้จัดอบรมเชิงปฏิบัติการให้นักศึกษาภายใต้โครงการ Capstone Project เพื่อเสริมสร้างทักษะด้านผู้ประกอบการที่มุ่งเน้นให้สามารถแก้ไขโจทย์จริงจากความต้องการของภาคธุรกิจ รวมถึงฝึกทักษะการทำงานเป็นทีมบนพื้นฐานความรู้ที่แตกต่างกันเพื่อให้เตรียมพร้อมก่อนออกสู่ตลาดแรงงานจริง เนื่องจากทักษะด้านผู้ประกอบการถือเป็นอีกทักษะหนึ่งที่สำคัญต่อการทำธุรกิจและการประกอบอาชีพในโลกแห่งอนาคต เพราะไม่เพียงแต่นักศึกษาสามารถทำงานภายในองค์กรได้เท่านั้น แต่ยังสามารถเริ่มต้นทำธุรกิจได้อีกด้วย 

ล่าสุด ทาง CIBA ได้จัดการแข่งขัน Final Pitching Capstone Business Project โดยมีนักศึกษาเข้าร่วมโครงการและสามารถคว้ารางวัลจากการแข่งขันครั้งนี้ได้ทั้งหมด 3 ทีม  ประกอบด้วย ทีม Charm Gems คว้ารางวัลชนะเลิศประเภท CREATIVE AWARD  ทีม A3 คว้ารางวัลประเภท ADAPTIVE AWARD และทีมจัสมิน   คว้ารางวัลประเภท INNOVATION AWARD    โดยแต่ละทีมได้เรียนรู้และพัฒนาโครงงานร่วมกัน เป็นการฝึกเสมือนทำงานในองค์กรจริง สามารถสร้างนวัตกรรม ประยุกต์เทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้แก้ปัญหาได้ ทำให้นักศึกษา ได้ฝึกทักษะด้านความคิดสร้างสรรค์ การสื่อสารให้คนอื่นเข้าใจ มีการทำงานร่วมกันกับเพื่อนต่างคณะ ทำให้ได้ฝึกการบริหารความขัดแย้ง ที่เกิดขึ้น (Conflict Management)  ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทางมหาวิทยาลัยก็ได้พยายามปลูกฝังเข้าไปในตัวนักศึกษาเพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการเป็นสตาร์ทอัพยูนิเวิอร์ซิตี้

นางสาวกาญจนา ช้างป่าดี นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะบริหารธุรกิจนวัตกรรมและบัญชี สาขาการตลาดยุคดิจิทัล ตัวแทนทีม Charm Gems ซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศ CREATIVE AWARD กล่าวว่า ได้รับโจทย์เป็นเรื่องเกี่ยวกับลูกปัด ซึ่งจากการพูดคุยกับผู้ประกอบการพบว่าตลาดอิ่มตัว ลูกค้าแก่ขึ้นไปตามแบรนด์และไม่มีกำลังซื้อ ขณะที่กลุ่มที่มีกำลังซื้อก็ไม่สนใจ จึงดีไซน์รูปแบบใหม่ เพิ่มฟังก์ชั่นการใช้งานแทนที่จะเป็นลูกปัดก็เปลี่ยนมาเป็นหินสีผสมผสานความเชื่อเรื่องหินมงคลบวกกับนำหินมาร้อยเป็นสายนาฬิกา เพิ่มฟังก์ชั่นการใช้งาน เป็นเครื่องประดับที่ใช้ดูเวลาได้ด้วย ดีไซด์สวยงาม เป็นงานแฮนด์เมด ทำให้สินค้ามีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น มีช่องทางการจำหน่ายผ่านสื่อออนไลน์เข้าถึงง่ายสะดวกกับลูกค้า

“การทำงานครั้งนี้ได้ประสบการณ์มากมาย เพราะว่าเราทำงานกับเพื่อนที่ไม่ได้สนิทไม่ได้รู้จักกันมาก่อนเลยก็ต้องปรับตัวเข้าหากัน เรื่องของการทำธุรกิจ เราเรียนมาก็จริงแต่ไม่เคยทำ สำคัญจริงๆ เลย คือ ต้องความต้องการของลูกค้า และเราทำอะไรตอบโจทย์เขาได้บ้าง มันจะทำให้เราประสบความสำเร็จ”

นางสาวกาญจนา กล่าวในตอนท้ายว่า ได้นำวิชาความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมาปรับใช้กับการทำธุรกิจขายของออนไลน์ของตนเอง จนปัจจุบันมียอดขายมากขึ้น เพียงพอต่อค่าเทอมและค่าใช้จ่ายส่วนตัว คิดว่าหลังจากจบการศึกษาไปแล้ว คงนำความรู้ที่ได้จากการเรียนไปต่อยอดให้กับธุรกิจของตนเองอย่างจริงจังมากขึ้น 

นางสาวนิภาพร  กันยา นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม สาขาการโรงแรม ตัวแทนทีม จัสมิน กล่าวว่า ทางทีมได้รับรางวัล INNOVATION AWARD  จากการคิดค้นผลิตภัณฑ์ลูกประคบไฟฟ้าสมุนไพรสำหรับผู้ประกอบการขนาดเล็ก ที่จากเดิมใช้ครั้งเดียวแล้วก็ทิ้งไม่ใช้ซ้ำ ตามข้อจำกัดของสมุนไพร เลยคิดค้นกันว่า ถ้าเราใช้ลูกประคบไฟฟ้าแบบชาร์ตไฟได้ เพียงแค่เปลี่ยนจากลูกประคบเป็นแผ่นสมุนไพร จะช่วยให้ค่าใช้จ่ายน้อยลง จากปกติลูกประคบใช้งานราคาอยู่ที่ 180-200 บาทต่อลูกต่อการใช้งาน  1 ครั้ง แต่พอเปลี่ยนมาเป็นแผ่นสมุนไพรตามประเภทและชนิดสมุนไพร ช่วยทำให้ต้นทุนมาอยู่ที่ราคา 40-50 บาท แต่อาจจะเสียค่าเครื่องประคบครั้งเดียวแต่ใช้งานได้นาน   

ทั้งนี้ การคิดค้นผลิตภัณฑ์ตัวนี้ออกมา ทางทีมได้ระดมความคิดแชร์ไอเดียกันหนักหน่วงพอสมควรกว่าจะได้รับการพิจารณาโครงการให้ผ่านเพราะต้องหาความแตกต่างของสินค้าและตรงกับความต้องการตลาดมากที่สุด พอผ่านแล้วต้องมาเจอกับด่านการศึกษาค้นคว้าข้อมูล แต่ก็ไม่ใช่อุปสรรคเพราะมีที่ปรึกษาใกล้ตัวที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละด้าน ทั้งเรื่องนวดเพื่อสุขภาพ เครื่องใช้ไฟฟ้า และสมุนไพร 

“จากเดิมที่ยังค้นหาตัวเอง ยังไม่รู้ว่า มีความสามารถด้านไหนเพราะเวลาทำอะไรตามคำสั่งคนอื่นก็สามารถทำได้หมด แต่ต่อมา พอเป็นผู้นำทีมก็รู้สึกว่า ตัวเองก็สามารถคิดเองได้แบบไม่ต้องมีใครสั่ง นอกจากนี้การเรียนรู้ในโครงการยังทำให้รู้ว่า เมื่อเรียนจบไปแล้วจะทำให้ได้เจอคนในหลายแบบ หลายความคิด ทั้งคนที่ได้ดั่งใจเรา ไม่ได้ดั่งใจเรา ถึงแม้จะมีความขัดแย้งภายในกลุ่ม แต่สุดท้ายก็ลงเอยได้ด้วยดีเพราะเราปรับตัวเข้าหากัน ปรับวิธีการทำงานร่วมกันเพื่อให้งานออกมาได้สำเร็จ จึงอยากชวนน้องๆเข้ามาลองเปิดใจกับ Capstone   เปิดใจกับคำว่า Startup  เริ่มคิด เริ่มลงมือทำแล้วจะรู้ว่าไม่มีอะไรน่ากลัวและไม่มีอะไรที่ทำไม่ได้”

นางสาวเจนจิรา แสงคำ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 วิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและบัญชี สาขาการตลาดยุคดิจิทัล (CIBA) ทีม A3 ได้รับรางวัลประเภท ADAPTIVE AWARD จากการพัฒนาผลิตภัณฑ์ลูกประคบสมุนไพรแบบเดิมๆให้เป็นลูกประคบตัวการ์ตูนที่มาพร้อมกับกลิ่นหอมจากดอกไม้นำเข้าจากต่างประเทศ จุดเริ่มต้นของทุกคนคือ มีที่มาจากต่างคณะต่างสาขาแล้วมาร่วมทำโปรเจคกัน ช่วงแรกๆ มีการกลัวการเข้าหากันบ้าง แต่ก็แก้ปัญหาร่วมกัน พยายามฟังกันให้มากกว่าพูด ใครมีไอเดียดีๆ ก็จะช่วยกันนำเสนอ ทุกคนในทีมได้ข้อคิดร่วมกันว่า งานนี้ไม่ใช่งานที่คนอื่นทำ แต่เป็นงานของเราที่เราต้องทำกันเป็นทีมให้สำเร็จ คิดแบบนี้แล้วทำให้ทุกคนมีกำลังใจกันมาก และมีความมั่นใจเวลาขึ้น Pitching บนเวที  สำหรับน้องๆ ที่สนใจเข้าร่วมโครงการ อย่ากลัวสิ่งที่จะลอง เพราะถ้าได้ลองแล้วนอกจากมีความท้าทาย มีความสนุกและยังได้เสริมศักยภาพให้กับตัวเองได้ด้วย

Related items

X

Right Click

No right click