
คณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) จัดการแข่งขันทักษะวิชาชีพด้านการท่องเที่ยว การโรงแรม และการประกอบอาหาร ครั้งที่ 1 ภายใต้แนวคิด "Soft Power ท่องเที่ยวเสน่ห์ไทย" โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มศักยภาพเยาวชนสู่การพัฒนาการท่องเที่ยวไทยอย่างยั่งยืน โดยมีนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ชั้นปีที่ 5 - 6 และนักศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) จากทั่วประเทศสมัครเข้าร่วมการแข่งขันเพื่อชิงทุนการศึกษา การแข่งขันครั้งนี้แบ่งเป็น 2 รายการ คือ การแข่งขันตอบคำถามวิชาการด้านการท่องเที่ยว โรงแรม และการประกอบอาหาร มีทีมเข้าร่วม 35 ทีม ซึ่งทีมชนะเลิศได้แก่ ทีม PBPVC 2 จากวิทยาลัยอาชีวศึกษาเพชรบุรี และการแข่งขันทักษะด้านการประกอบอาหาร(แข่งเดี่ยว) ภายใต้ธีม "อาหารไทยจานหลักสตรีทฟู้ดฟรีสไตล์" มีทีมเข้าร่วม 13 ทีม ซึ่งทีมชนะเลิศได้แก่ ทีม GOOD PART จากโรงเรียนสมุทรสาครวิทยาลัย นำเสนอ เมนูข้าวมันส้มตำแกงไก่โมเดิร์น ได้อย่างลงตัว ภายในพิธีเปิดได้รับเกียรติจาก ดร.ยุวรี โชคสวนทรัพย์ คณบดีคณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เป็นประธานกล่าวเปิดงาน พร้อมกันนี้ยังมีผู้แทนจากบริษัทพันธมิตร ให้เกียรติเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและมอบทุนการศึกษาสมทบ ณ ห้องสนม สุทธิพิทักษ์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
ดร.ยุวรี โชคสวนทรัพย์ คณบดีคณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) เปิดเผยว่า การจัดกิจกรรมดังกล่าว มุ่งสร้างแรงบันดาลใจและเปิดโลกทัศน์ให้เยาวชนได้เรียนรู้เกี่ยวกับสาขาวิชาด้านการท่องเที่ยวและการโรงแรม รวมถึงการประกอบอาหาร โดยบูรณาการแนวคิด Soft Power ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) ผ่านองค์ประกอบ 5F ได้แก่ อาหาร (Food) ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ (Film) การออกแบบแฟชั่น (Fashion) ศิลปะการต่อสู้มวยไทย (Fighting) และเทศกาล (Festival) ซึ่งการจัดการแข่งขั้นครั้งนี้ได้รับเกียรติจากผู้แทนจากภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและอาหาร อาทิ บริษัท Find Folk สมาพันธ์เชฟประเทศไทย และ Sevenfive เป็นต้น ร่วมเป็นคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ การได้รับความสนใจจากสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ สะท้อนให้เห็นถึงโอกาสในการสร้างประสบการณ์และการเรียนรู้นอกห้องเรียน รวมถึงการสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนค้นหาตัวตนและสายอาชีพที่เหมาะกับตนเองมากที่สุด
นายสรรพวัต กันตามระ ผู้จัดการฝ่ายการตลาดเชิงกลยุทธ์และความยั่งยืน บริษัท ฟายด์ โฟล์ค จำกัด ในฐานะกรรมการตัดสินการแข่งขันตอบคำถามวิชาการด้านการท่องเที่ยวและโรงแรม กล่าวว่า Soft Power ไทย มีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการศึกษาค้นคว้าก่อนการแข่งขันจะช่วยให้ผู้เข้าแข่งขันได้เห็นมุมมองที่หลากหลาย การแข่งขันครั้งนี้นับเป็นโอกาสอันดีที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้นักเรียนนักศึกษาได้เห็นมุมมองที่แตกต่างและโอกาสในสายอาชีพใหม่ๆ โดยเฉพาะการทำความเข้าใจเกี่ยวกับแนวโน้มของแต่ละองค์ประกอบใน 5F และการนำไปประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาประเทศไทยในอนาคต ทั้งนี้ จากภาพรวมการแข่งขัน พบว่าผู้เข้าแข่งขันมีความเข้าใจเกี่ยวกับ Soft Power อย่างลึกซึ้ง ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดีต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศ ปัจจุบันอุตสาหกรรมโรงแรม มีการปรับตัวโดยนำนโยบายด้านความยั่งยืนมาใช้มากขึ้น ส่งผลให้มีความต้องการแรงงานที่มีคุณสมบัติเฉพาะด้านเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะความรู้ด้านความยั่งยืนและการบริการที่มีคุณภาพ รวมถึงความสามารถในการถ่ายทอดวัฒนธรรมไทยให้แก่นักท่องเที่ยว จึงอยากแนะนำสำหรับผู้ที่สนใจประกอบอาชีพในอุตสาหกรรมการดังกล่าว ต้องรักษาอัตลักษณ์ความเป็นไทยและสามารถถ่ายทอดสู่นักท่องเที่ยวได้อย่างชัดเจน
ด้านทีม PBPVC 2 ซึ่งคว้ารางวัลชนะเลิศการแข่งขันตอบคำถาม ประกอบด้วย นางสาวเจนวิรา ปานพันธ์ นักศึกษาชั้น ปวส.ปีที่ 1 และนางสาวสุชัญญา ผาโพธิ์ นักศึกษาชั้น ปวช.ปีที่ 1 สาขาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว วิทยาลัยอาชีวศึกษาเพชรบุรี ร่วมกล่าวเปิดใจว่า การแข่งขันครั้งนี้เป็นเวทีที่เพิ่มพูนความรู้ด้านการท่องเที่ยวและประสบการณ์การแข่งขัน ทำให้ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อย่างไรก็ตามเรารู้สึกประทับใจต่อการจัดการแข่งขันมาก โดยเฉพาะการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากรุ่นพี่ รวมถึงการจัดนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับ 5F
ขณะที่นายณัฐพงศ์ ธีรนันทพิชิต อนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหาร (Soft Power) ในฐานะกรรมการตัดสินการแข่งขันทักษะด้านการประกอบอาหาร กล่าวว่า การแข่งขันใช้เกณฑ์การตัดสิน 10 องค์ประกอบ อาทิ การเตรียมวัตถุดิบและการเลือกใช้วัตถุดิบให้สอดคล้องกับโจทย์ โดยทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศมีความสามารถในการประกอบอาหารที่หลากหลาย พร้อมนำเสนอเมนูอาหารที่ครบถ้วนในจานเดียวและมีรสชาติที่ดีเยี่ยม อย่างไรก็ตามการแข่งขันนี้เป็นการจุดประกายให้คนรุ่นใหม่สนใจอาหารไทยมากขึ้น เห็นคุณค่าของการนำวัตถุดิบท้องถิ่นมาสร้างสรรค์เมนูอาหาร และสามารถนำประสบการณ์ไปพัฒนาต่อยอดในอนาคตได้
ด้านทีม GOOD PART หรือ นายวรวุฒิ เสือสี นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนสมุทรสาครวิทยาลัย ซึ่งคว้ารางวัลชนะเลิศการแข่งขันทักษะด้านการประกอบอาหาร กล่าวเปิดใจว่า ได้รับโจทย์ให้ประกอบอาหาร 5 องค์ประกอบในจานเดียว ภายใต้หัวข้อ Main-Course Thai Street Food Freestyle ซึ่งเป็นโจทย์ที่มีความท้าทายสูง ตามโจทย์ Street Food ของไทยที่มักจะเป็นไก่ย่างส้มตำ จึงคิดดัดแปลงเป็น เมนูข้าวมันส้มตำแกงไก่โมเดิร์น ในรูปแบบฟิวชันที่ผสมผสานระหว่างข้าวมัน ส้มตำ และแกงไก่ ประกอบด้วย สเต็กไก่เสิร์ฟพร้อมซอสแกงเขียวหวาน ส้มตำดัดแปลงเป็นผัดเปรี้ยวหวาน และข้าวริซอตโตที่หุงด้วยความมัน โดยใช้ข้าวบาร์เลย์แทนข้าวเหนียว เพื่อให้ได้เนื้อสัมผัสที่ใกล้เคียง และเพิ่มวิปปิ้งครีมราดบนข้าวริซอตโต โดยจานอาหารนี้ประกอบด้วยสัดส่วนที่เหมาะสมของโปรตีน คาร์โบไฮเดรต และเส้นใยอาหาร อย่างไรก็ตามรู้สึกดีใจมากที่ได้คว้าแชมป์ในครั้งนี้ หลังจากเรียนจบชั้นม.6 จะเข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาในด้านการประกอบอาหาร เพราะฝันอยากเป็นเชฟในโรงแรมชื่อดัง และเปิดร้านอาหารของตนเองในต่างประเทศ