คปภ. เดินหน้าโครงการ Regulatory Guillotine โดยลดอุปสรรคทางด้านกฎหมาย เพื่อช่วยอุตสาหกรรมประกันภัยและคุ้มครองสิทธิประโยชน์ประชาชน

October 05, 2020 2478

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เป็นประธานเปิดการประชุมชี้แจง

การเริ่มโครงการทบทวนความเหมาะสมของกฎหมายอนุบัญญัติ (Regulatory Guillotine) เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2563 ณ โรงแรมสวิสโฮเต็ล รัชดาภิเษก กรุงเทพมหานคร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทบทวนและปรับปรุงกฎหมายในระดับอนุบัญญัติที่ใช้บังคับภาคธุรกิจประกันภัย เช่น กฎหมายอนุบัญญัติที่ออกตามพระราชบัญญัติประกันชีวิต พระราชบัญญัติประกันวินาศภัย และพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ โดยลด เลิกกฎหมายที่ล้าสมัย ไม่มีความจำเป็น ไม่สะดวก ไม่เหมาะสม สร้างภาระต่อการปฏิบัติ ไม่ทันต่อสภาพการณ์ที่เปลี่ยนแปลง รวมทั้งพัฒนากฎหมายให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล และสามารถนำมาใช้ปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจ และเอื้ออำนวยต่อการแข่งขันทางการค้าโดยผ่านการมีส่วนร่วมหรือรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน อันจะส่งผลให้การจัดลำดับทางธุรกิจอยู่ในลำดับที่ดีขึ้นและสามารถลดต้นทุนให้แก่ภาคเอกชน รวมทั้งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนด้านประกันภัย อันเป็นไปตามหลักการปฏิรูปกฎหมายตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560

เลขาธิการคปภ. กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลไทยได้ลงนามบันทึกความตกลงกับองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Co-operation and Development หรือ OECD) เพื่อพัฒนาความร่วมมือระหว่างกันและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของไทยในหน่วยงาน OECD และ OECD ได้เสนอแนวทางในการพัฒนาคุณภาพกฎหมายให้มีประสิทธิภาพและโปร่งใส ซึ่งรัฐบาลไทยได้ให้ความสำคัญและนำมากำหนดไว้ในมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 โดยมีหลักการปฏิรูปกฎหมายที่สำคัญ คือ รัฐควรให้มีกฎหมายเพียงเท่าที่จำเป็น ยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจำเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ หรือที่เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิต หรือการประกอบวิชาชีพ เพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชน

สำนักงาน คปภ. ในฐานะหน่วยงานของรัฐมีบทบาทหน้าที่หลักในการกำกับดูแลและพัฒนาธุรกิจประกันภัยให้มีความแข็งแรง มั่นคง ยั่งยืน และสามารถแข่งขันในสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเข้าสู่ยุค New Normal จากปัจจัยหรือสถานการณ์ต่าง ๆ เช่น การพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี สภาพเศรษฐกิจตกต่ำ ความเสียหายจากภัยพิบัติ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ดังนั้นสำนักงาน คปภ. จึงได้กำหนดให้มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการประกันภัยเพื่อส่งเสริมการดำเนินธุรกิจประกันภัย

โดยยุทธศาสตร์ที่ 4 ของร่างแผนพัฒนาการประกันภัย ฉบับที่ 4 ได้กำหนดกลยุทธ์ในการพัฒนากฎหมายและหลักเกณฑ์ในการกำกับดูแล ซึ่งมีมาตรการสำคัญในการปฏิรูปหลักเกณฑ์การกำกับดูแลและกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ปัจจุบัน เพื่อลดอุปสรรคและต้นทุนในการประกอบธุรกิจตามแนวทางที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ จึงได้มอบหมายให้บริษัทเบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ จำกัด ดำเนินการศึกษา วิเคราะห์หลักการปฏิรูปตามมาตรฐานสากล โดยการประชุมชี้แจงครั้งนี้เป็นการอธิบายหลักการการปฏิรูปกฎหมายตามมาตรฐานสากลมาตรการภาครัฐและกฎหมายไทยที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปกฎหมาย ตัวอย่างของต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จในการปฏิรูปกฎหมายด้านการประกันภัย ซึ่งเป็นองค์ความรู้และจุดเริ่มต้นให้พนักงานคปภ. ซึ่งเป็นผู้ขับเคลื่อนหลักในการกำหนดนโยบายและมาตรการทางกฎหมายที่ใช้บังคับกับภาคธุรกิจประกันภัยและตระหนักถึงความสำคัญของกระบวนการปฏิรูปกฎหมาย อันได้แก่ Regulatory Guillotine, RIA และการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย ซึ่งเป็นนโยบายที่สำคัญของรัฐบาลและเป็นภารกิจของสำนักงาน คปภ. ในการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนด้านประกันภัย ส่งเสริมธุรกิจประกันภัยให้เติบโตอย่างเข้มแข็งยั่งยืนโดยพัฒนากฎหมายให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

“สำนักงาน คปภ. มีความจำเป็นต้องปรับตัวให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม และนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้เป็นเครื่องมือในการกำกับดูแลภาคธุรกิจประกันภัย ดังนั้นการทบทวน ลด และยกเลิกกฎกติกาที่ล้าสมัย หรือหมดความจำเป็น จึงมีความจำเป็น และเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่อยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุค New Normal นอกจากนี้ยังช่วยลดภาระต้นทุนค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นให้แก่ภาคธุรกิจ และลดอุปสรรคต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมประกันภัยอีกด้วย อย่างไรก็ตามการดำเนินการดังกล่าวจะต้องคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะด้วย และจะต้องไม่กระทบต่อมาตรการในการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนด้านประกันภัย” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย

X

Right Click

No right click