เปิดเผยว่า ซีพีเอฟมุ่งมั่นยกระดับระบบการบริหารฟาร์มเลี้ยงสัตว์ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย และยังได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ไปสู่เกษตรกรคอนแทรคฟาร์ม ให้นำเทคโนโลยีไปประยุกต์ใช้ ก้าวสู่การเป็นเกษตรอัจฉริยะ ช่วยให้ทำงานได้สะดวกและรวดเร็วขึ้น มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย ด้วยระบบ Smart Farm สามารถบริหารจัดการฟาร์มได้ทุกที่ทุกเวลา โดยผนึกกำลังกับ TRUE ติดตั้งกล้องวงจรปิด (CCTV) 3 จุดในฟาร์มของเกษตรกร ได้แก่ ประตูทางเข้าออกฟาร์ม หน้าห้องอาบน้ำเปลี่ยนชุดก่อนเข้าฟาร์ม และในโรงเรือน เพื่อช่วยป้องกันโรค และสามารถตรวจสอบสภาพแวดล้อมภายในฟาร์มเบื้องต้นได้
“ปัจจุบัน ได้ติดตั้ง CCTV ในฟาร์มเกษตรกรแล้ว 90% คาดว่าจะแล้วเสร็จทั้งหมดภายในปี 2564 นี้ ส่วนระบบออโต้ฟีด (Auto Feeding Systems) ติดตั้งในฟาร์มสุกรขุนของเกษตรกร 100% ทั่วประเทศแล้ว ช่วยลดแรงงาน และไม่จำเป็นต้องใช้คนเข้าไปให้อาหารในโรงเรือน เพื่อให้คนเข้าสัมผัสตัวสัตว์น้อยที่สุด ลดความเสี่ยงการนำโรคต่างๆสู่สุกรตามมาตรการความปลอดภัยทางชีวภาพ (Biosecurity) และยังเริ่มใช้ระบบ Sound talk ซึ่งเป็นอุปกรณ์ IOT ที่ติดตั้งในโรงเรือนเลี้ยงสุกรขุน เพื่อตรวจวัดเสียงไอ ถือเป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยติดตามสุขภาพสุกร เพื่อให้ได้เนื้อสัตว์คุณภาพ ปลอดภัย ปลอดโรค” นายสมพร กล่าว
นอกจากนี้ เกษตรกรคอนแทรคฟาร์มทั้ง 100% ใช้แชทบอท (Chatbots) ผ่านแอปพลิเคชัน LINE Official เพื่อพูดคุยและปรึกษากับทีมงานของบริษัทได้ตลอดเวลา รวมถึงใช้บันทึกข้อมูลด้านบัญชีและการผลิต อาทิ จำนวนสุกร การใช้อาหาร สต๊อกวัคซีน เข้าระบบเป็นประจำทุกวัน เพื่อเชื่อมข้อมูลกับระบบ Pig Pro ที่ใช้บริหารจัดการกระบวนการผลิต ทำให้สามารถติดตามการผลิตได้ตลอดเวลา และได้ร่วมกับ CPF IT Center ในการพัฒนาแพลตฟอร์มของซีพีเอฟ เรียกว่า “สมาร์ท พิก” (Smart Pig) จะเริ่มใช้ประมาณไตรมาส 4/2564 เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการของเจ้าหน้าที่ และสนับสนุนเกษตรกรในด้านการเก็บข้อมูล วิเคราะห์ประสิทธิภาพการผลิต วางแผนการผลิตและการจัดการให้เหมาะสมสำหรับเกษตรกรแต่ละราย
สำหรับฟาร์มเลี้ยงสุกรทั้ง 98 แห่งของซีพีเอฟ ใช้ระบบอัตโนมัติเต็มรูปแบบ ตั้งแต่ระบบการให้อาหารออโต้ฟีด การควบคุมสภาพแวดล้อมการเลี้ยงสัตว์ในโรงเรือนอีแวปด้วยระบบอัตโนมัติ ในการสั่งเปิดปิดน้ำหล่อเลี้ยงแผงความเย็น พัดลม และไฟฟ้า การให้อาหาร โดยขณะนี้ได้พัฒนาเพิ่มเติม ด้วยการนำระบบออนไลน์ผ่านแอพลิเคชั่นในมือถือ มาใช้สั่งการระบบควบคุมดังกล่าว ซึ่งจะทำงานร่วมกับกล้อง CCTV ที่ติดตั้งไว้ในโรงเรือน และใช้ระบบ Sound talk เพื่อลดความเสี่ยงจากคนที่อาจนำโรคเข้าสู่สุกร ในด้านของสัตวแพทย์ ผู้จัดการฟาร์ม และสัตวบาล สามารถติดตามความเป็นอยู่ของสัตว์ ผ่านการมอนิเตอร์ภาพรวมภายในโรงเรือน และการทำงานของอุปกรณ์ได้ตลอดเวลา (Real Time) หากสภาพแวดล้อมไม่เป็นไปตามค่ามาตรฐานที่กำหนด ก็สามารถปรับแก้ไขได้ทันท่วงที ด้วยการสั่งงานผ่านกล้องและแอพพลิเคชั่นมือถือ ช่วยให้สื่อสารกับบุคลากรที่ทำงานได้อย่างรวดเร็ว./