November 21, 2024

ชป.ชวนแกล้งข้าว ทำนา“เปียกสลับแห้ง”ช่วยประหยัดน้ำ เพิ่มผลผลิต ทางรอดภัยแล้ง

January 18, 2022 1133

โครงการชลประทานเชียงใหม่ ต่อยอดงานวิจัยการทำนาแบบเปียกสลับแห้ง แกล้งข้าว ชวนชาวนาเปลี่ยนวิธีการทำนา หวังลดต้นทุนการผลิต และช่วยประหยัดน้ำจากการทำนาได้มากกว่าร้อยละ 30 - 40 ทั้งยังเพิ่มผลผลิตและเพิ่มรายได้ให้กับชาวนา ช่วยเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ในช่วงฤดูแล้งปี 2565 ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆ มีอยู่ในเกณฑ์จำกัด โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ และลุ่มน้ำเจ้าพระยา จำเป็นต้องวางแผนการใช้น้ำอย่างเคร่งครัด ควบคู่ไปกับการรณรงค์ให้มีการใช้น้ำอย่างประหยัดในทุกภาคส่วน โดยเฉพาะน้ำเพื่อการเกษตรที่มีสัดส่วนการใช้น้ำค่อนข้างมาก เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาการขาดแคลนน้ำ จึงได้วางแผนบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆ ที่มีปริมาณน้ำในอ่างฯไม่ถึงร้อยละ 30 ของความจุอ่างฯ ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่าในช่วงปลายปี 2564 - ต้นปี 2565 อาจจะเกิดภัยแล้งได้ในบางพื้นที่ กรมชลประทาน ได้รณรงค์ให้พี่น้องเกษตรกรและทุกภาคส่วนร่วมกันใช้น้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคตลอดฤดูแล้งนี้ไปจนถึงต้นฤดูฝนปีหน้า

จากสถานการณ์น้ำข้างต้น โครงการชลประทานเชียงใหม่ ได้ต่อยอดงานวิจัยการบริหารจัดการน้ำในการทำนา แบบเปียกสลับแห้ง โดยสมาชิกกลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ออน ได้ร่วมกันทำแปลงสาธิตทดลองการทำนาเปียกสลับแห้งแกล้งข้าว ในพื้นที่หัวงานอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ออน ตำบลออนเหนือ อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ พื้นที่ประมาณ 10 ไร่ เพื่อส่งเสริมการใช้น้ำเพาะปลูกข้าวโดยวิธีประหยัดน้ำในช่วงวิกฤติ เนื่องด้วยอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ออน มีปริมาณน้ำเก็บกักในเกณฑ์น้ำน้อย จึงรณรงค์ให้มีการทำนาปลูกข้าวแบบประหยัดน้ำ แต่ได้ผลผลิตเพิ่มมากขึ้นกว่าการปล่อยน้ำท่วมขังในแปลงนา ด้วยวิธีการทำนาเปียกสลับแห้งแกล้งข้าว โดยจะเรียกว่า“ทฤษฎี เปียก 5 แห้ง 15”

โดยสรุปผลการทำนาแบบเปียกสลับแห้งในพื้นที่ของโครงการชลประทานเชียงใหม่ใช้ปริมาณน้ำเพียง 480 ลูกบาศก์เมตร/ไร่ จากปกติใช้น้ำฤดูแล้งประมาณ 800 ลบ.ม./ไร่ และฤดูฝน 1,200 ลบ.ม./ไร่ สามารถทำผลผลิตได้ถึง 770  กก./ไร่ เพิ่มขึ้นจากปกติประมาณ 170 กก./ไร่  ถือเป็นการทดลองที่ประสบผลสำเร็จเป็นอย่างมาก และสามารถเป็นต้นแบบให้กับพื้นที่อื่นๆ นำไปขยายผลได้อีกด้วย ทำให้เกษตรกรมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่ต้นทุนการผลิตลดลง ช่วยเสริมสร้างคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้ดีขึ้นได้พอสมควร

ด้านนายดำรง เล็กดี รองประธานกลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ออน กล่าวว่า “ผลผลิตที่ได้เกินคาดเป็นที่น่าพอใจและก็รู้สึกประหลาดใจ ตนเองจะได้เอาวิธีการปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้งนี้สร้างการรับรู้และนำไปต่อยอดให้เกษตรกรสมาชิกผู้ใช้น้ำทดลองทำในแปลงนาตนเอง เพื่อเพิ่มผลผลิต อีกทั้งยังได้ประหยัดน้ำต้นทุน มีน้ำอุปโภคบริโภคตลอดฤดูกาลต่อไป”

สำหรับการขยายผลโครงการฯ ในช่วงฤดูแล้งปี 2564/65 นี้ โครงการชลประทานเชียงใหม่ ได้มีการเผยแพร่และส่งเสริมการทำนาแบบเปียกสลับแห้ง ไปยังพื้นที่ชลประทานอ่างเก็บน้ำแม่โก๋นอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลป่าไหน่ อำเภอพร้าว  จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 5000 ไร่ ทั้งนี้ หากเกษตรกรในพื้นที่ใด สนใจเรื่องการทำนาแบบเปียกสลับแห้ง สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สถานีทดลองการใช้น้ำชลประทาน โครงการชลประทานใกล้บ้านได้ในวันเวลาราชการ

X

Right Click

No right click