January 22, 2025

หอการค้าภูเก็ต เร่งผลักดันโครงสร้างพื้นฐานรองรับ Expo Phuket

November 01, 2022 1233

การเสนอตัวจัดงาน EXPO 2028 - Phuket, Thailand ของประเทศไทย ที่จะเกิดขึ้นภายใต้แนวคิด “Future of Life: Living in Harmony, Sharing Prosperity”

ถือเป็นโปรเจ็กต์ใหญ่ที่ภาครัฐบาลและภาคเอกชนต่างมีความคาดหวังเป็นอย่างมาก เนื่องจากการเป็นนโยบายที่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในมุมของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และยังเป็นโอกาสในการผลักดันประเทศไทยและจังหวัดภูเก็ตขึ้นเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical hub) เพื่อการยกระดับไปสู่การเป็นจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพระดับโลกในอนาคต

ธนูศักดิ์ พึ่งเดช ประธานหอการค้าจังหวัดภูเก็ต กล่าวถึง บทบาทของหอการค้าจังหวัดภูเก็ตในการร่วมผลักดันโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานจังหวัดภูเก็ต เพื่อเตรียมความพร้อมหากประเทศไทยได้สิทธิ์การจัดงาน World Expo 2028 โดยเฉพาะเรื่องของความสะดวกสบายในการเดินทาง การพัฒนาระบบขนส่งมวลชนต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาการจราจร เช่น แผนการสร้างทางรถไฟรางเบา รวมถึงการผลักดันโครงการยุทธศาสตร์ชาติ

โดยทางหอการค้าจังหวัดภูเก็ต ได้เป็นส่วนหนึ่งในการร่วมกันระดมความคิดจากกลุ่มอันดามัน และส่งต่อไปให้กับภาครัฐบาล เพื่อผลักดันนโยบายในเรื่องของการสร้างความยั่งยืน ความร่วมสมัย รวมถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม การลดปัญหาการจราจร ไปจนถึงเรื่องสาธารณูปโภคต่างๆ เพื่อรองรับกับจำนวนนักท่องเที่ยวจำนวนมากๆ ที่จะกลับมาเที่ยวภูเก็ตในอนาคต

“ในวันที่ 4 พฤศจิกายนนี้จะมีการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจจังหวัดภูเก็ต (กรอ.) ของกลุ่มอันดามัน เพื่อติดตามความคืบหน้าในเรื่องของการสร้างอุโมงค์ การทางพิเศษต่างๆ การตัดถนนเส้นทางใหม่ๆ และมอเตอร์เวย์ รวมถึงการก่อสร้างรถไฟรางเบา การขยายรันเวย์เพิ่มเติม และระบบน้ำประปาที่จะส่งจากพังงามาภูเก็ต จะมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน สิ่งที่เราเป็นกังวล คืองบประมาณที่ยังไม่มาลงที่ภูเก็ตอย่างเป็นชิ้นเป็นอัน ตามนโยบายและแผนงานที่เราเคยนำเสนอไป เนื่องจากได้มีการใช้งบประมาณก้อนใหญ่ไปกับการแก้ปัญหาเรื่องโควิด-19 ไปก่อนหน้านี้

เราพยายามจะผลักดันให้รัฐบาลกลับมาสนใจเรื่องนี้ให้เร็วขึ้น เพื่อให้มีแผนรองรับในการที่จะทำให้ภูเก็ตสามารถหาเงินเข้าประเทศได้ ควบคู่ไปกับการบริหารจัดการตามนโยบายใหม่ๆ ของภาครัฐ ซึ่งควรจะเป็นช่วงเวลานี้ เพราะถ้าช้าไปอีกสัก 2 ปี จนเข้าไปสู่ช่วงที่นักท่องเที่ยวกลับมาเที่ยวกันมากขึ้นก็อาจจะทำให้การทำงานทำได้ยากขึ้น แม้ว่าหลายอย่างจะได้รับการอนุมัติมาบ้างแล้วแต่ยังไม่มีการลงวงเงินมาเพื่อดำเนินการ เราได้นำเสนอกิจกรรมทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับเวิลด์เอ็กซ์โปให้กับรัฐบาลไปหมดแล้ว และก่อนหน้านี้ คณะกรรมการ BIE ที่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์งานเอ็กซ์โป ก็ได้มีการลงสำรวจพื้นที่เพื่อประเมินความพร้อมพื้นที่เชิงลึกไปเรียบร้อยแล้ว”

ธนูศักดิ์ ย้ำว่า ภาครัฐบาลต้องเร่งมือเพื่อดำเนินการ เนื่องจากอยู่ในช่วงของปีงบประมาณใหม่แล้ว ต้องเร่งศึกษา หรือหาผู้ว่าจ้าง เพื่อที่จะเตรียมการให้ภูเก็ตเดินต่อไปข้างหน้าได้ ซึ่งในปี 2562 ก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 ภูเก็ตประสบปัญหาเรื่องการจราจรเนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามามีมากถึง 14 ล้านคน

“จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมเราอยากได้ถนนเส้นใหม่ที่เป็นมอเตอร์เวย์ ทำไมเราอยากได้รถไฟรางเบา หรืออุโมงค์ เพราะเรารู้ว่าภูเก็ตกำลังจะเกิดวิกฤต เราจึงพยายามผลักดันใน 4 - 5 เรื่อง ที่ได้นำเสนอไป เพื่อทำให้รัฐบาลหันมาให้ความสนใจ และช่วยเร่งแผนงานต่างๆ ให้มีความคืบหน้ายิ่งขึ้น”

สำหรับโครงการต่างๆ ที่ได้นำเสนอไปเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้กับจังหวัดภูเก็ต รวมเป็นเงินงบประมาณกว่า 62,000 ล้านบาท แบ่งเป็นงบการสร้างรถไฟรางเบา แบบอัตโนมัติ ที่ได้มีการปรับตัวเลขงบประมาณลดลงจาก 30,000 ล้านบาท เป็น 20,000 ล้านบาท ถนนมอเตอร์เวย์ 12,000 ล้านบาท และมีค่าเวนคืนที่ดินประมาณ 18,000 ล้านบาท รวม 30,000 ล้านบาท อุโมงค์ป่าตองมูลค่า 9,000 ล้านบาท การประปาที่ลากน้ำจากพังงามาภูเก็ต 2,000 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีแผนการปรับปรุงถนนบางจุดบริเวณเมืองไทยเพื่อเชื่อมต่อไปถึงสนามบิน 1,000 ล้านบาท รวมถึงการพัฒนาระบบสมาร์ทซิตี้ ระบบความปลอดภัย และอื่นๆ อีกกว่า 1,000 ล้านบาท  

ธนูศักดิ์ กล่าวเสริมถึง สถานการณ์ทางเศรษฐกิจโดยภาพรวมของจังหวัดภูเก็ตมีแนวโน้มการปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น ซึ่งในปีนี้มีนักท่องเที่ยวที่กลับมาท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ตแล้วกว่า 50% เมื่อเทียบกับจำนวนนักท่องเที่ยวในช่วงเวลาปกติ โดยมีสถิติสูงสุดในปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงก่อนการเกิดวิกฤตโควิด-19 จังหวัดภูเก็ตเคยมีจำนวนนักท่องเที่ยวมากถึง 14 ล้านคน เป็นชาวต่างชาติ 10 ล้านคน และคนไทย 4 ล้านคน 

“เป้าหมายสำคัญของเรายังคงเป็นเรื่องของการเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยว เราใช้คำพูดแบบสนุกๆ ว่า จะมีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวภูเก็ตแบบ “ล้างแค้น”หมายความว่า การท่องเที่ยวมันอั้นมาเป็นเวลานาน 2-3 ปี แม้ว่าในช่วงนี้จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งที่เป็นต่างชาติและคนไทยกลับเข้ามาเที่ยวจังหวัดภูเก็ตแล้วกว่า 50% ของจำนวนนักท่องเที่ยวสูงสุดที่เคยมีมา แต่ก็แค่ 50% และการทำราคาอาจไม่ได้เท่ากับช่วงก่อนโควิด-19 เพราะทุกคนก็พยายามโปรโมท และทำราคาเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาอยู่กับเขาให้มากที่สุด

สำหรับนักท่องเที่ยวที่กลับมาแล้วมากถึง 50% เป็นนักท่องเที่ยวไทย 60% และชาวต่างชาติ 40% ทำให้เรามีความเชื่อมั่นว่า หลังจากนี้สถานการณ์น่าจะดีขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะก่อนสิ้นปีนี้น่าจะมีตัวเลขเพิ่มขึ้นอีก ในภาคธุรกิจก็มั่นใจอยากกลับมาดำเนินการ โรงแรมก็เริ่มเปิดเริ่มรับสมัครคน เริ่มเห็นทิศทางที่ดี อีกประเด็นที่น่าสนใจ คือมีนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เป็นคนยุโรปและรัสเซียกลับเข้ามาท่องเที่ยวแบบเช่าพักในระยะยาวมากขึ้น อาจเป็นเพราะผลกระทบจากเรื่องสงคราม ซึ่งคนกลุ่มนี้ที่เข้ามาอาจจะมาเพื่อท่องเที่ยว 80% และอีก 20% อยู่แบบตั้งใจ”

ในส่วนของกลุ่มธุรกิจที่มีการตื่นตัวด้านการลงทุนมากเป็นพิเศษในช่วงนี้ คือกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากมีการเช่าอยู่มากขึ้น จึงมีการลงทุนทำที่พักใหม่ๆ เพิ่มขึ้น ซึ่งจังหวัดภูเก็ตยังมีการเตรียมความพร้อมในเรื่องการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ หรือ Andaman Wellness Corridor รวมถึงธุรกิจด้านการศึกษาเพื่อรองรับกับการขยายตัว ปัจจุบันมีกลุ่มนักศึกษาเข้ามาเรียนในสถาบันการศึกษาที่จังหวัดภูเก็ตเพิ่มมากขึ้นกว่าช่วงก่อนโควิด นอกจากนี้ ยังได้รับการส่งเสริมด้านกีฬาจากภาครัฐจำนวนมาก ส่งผลให้เกิดการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในหลายๆ ธุรกิจ

ที่ผ่านมา ทางจังหวัดภูเก็ตมีความพยายามจะปรับปรุงรายได้จากการบริหารจัดการจังหวัด โดยอาศัยนักท่องเที่ยวที่มาท่องเที่ยวแบบหลากหลายมากขึ้นไม่ได้มาเฉพาะ Sea Sun Sand เท่านั้น แต่เราพยายามดึงดูดนักท่องเที่ยวด้วยขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรมด้านอาหาร โบราณสถาน หรือมาเพื่อมาพักอาศัยในระยะยาว เพราะภูเก็ตเป็นเมืองที่น่าอยู่ ค่าครองชีพไม่แพง มีโรงเรียนอินเตอร์สามารถส่งลูกหลานมาเรียนได้ มีวิลล่าหรู มีที่จอดเรือยอชต์ มีระบบการแพทย์ที่ทันสมัยมารองรับ 

โดยก่อนหน้านี้ จังหวัดภูเก็ตได้กำหนดยุทธศาสตร์ภายใต้กรอบของคำว่า GEMMSST ประกอบด้วย Gastronomy, Education, Medical & Wellness, Marina Hub, Sport & Events, Smart City และ Tuna Hub  ที่มุ่งส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในจังหวัดภูเก็ต โดยการสร้างแม่เหล็กตัวใหม่ๆ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาเที่ยวไม่ใช่เฉพาะแค่ Sea Sun Sand หรือมาสนุกกับปาร์ตี้เพียงอย่างเดียว

อย่างไรก็ตาม ในอดีตในช่วงก่อนเกิดเหตุการณ์สึนามิเมื่อปี 2547 จังหวัดภูเก็ตเคยทำรายได้จากการท่องเที่ยวได้มากถึง 7-8 หมื่นล้านต่อปี ต่อมาในช่วงปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จังหวัดภูเก็ตก็สามารถสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวสูงถึง 4.4 แสนล้านบาท จะเห็นว่าในระยะเวลาเพียง 15 ปี (2547-2562) ภูเก็ตมีการเติบโตทางด้านรายได้จากการท่องเที่ยวจาก 7-8 หมื่นล้านบาท ขยับขึ้นมาเป็น 4.4 แสนล้านบาท และหลังจากนี้ จึงคาดการณ์กันว่า ตัวเลขรายได้จะยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องไปสู่ 5 แสนล้านบาท และ 6 แสนล้านบาท ต่อไปในอนาคต

ธนูศักดิ์ ยังมองว่า ภายใน 1-2 ปีนี้ สถานการณ์ด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ตจะกลับสู่ภาวะปกติ ดังนั้นถ้าในอีก 6 ปี หากมีการจัดงานเวิลด์เอ็กซ์โป ตัวเลขรายได้ที่จะเกิดขึ้นย่อมมากกว่ารายได้ที่เกิดขึ้นในช่วงก่อนโควิด-19 อีกหลายเท่าตัว เนื่องจากงานเวิลด์เอ็กซ์โปไม่ใช่จังหวัดภูเก็ตเป็นผู้จัด แต่คือประเทศไทยเป็นผู้จัด มีการบริหารร่วมกันโดยกลุ่มอันดามัน 6 จังหวัด

โดยคาดว่าจะมีจำนวนผู้เข้าชมงานเวิลด์เอ็กซ์โปประมาณ 5-7 ล้านคน ในระยะเวลา 3 เดือน ของการจัดงาน (มิถุนายน-สิงหาคม) และจะมีรายได้เกิดขึ้นประมาณ 40,000 – 50,000 ล้านบาท จากนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวงานเวิลด์เอ็กซ์โป โดยยังไม่รวมรายได้จากกลุ่มนักท่องเที่ยวประจำที่เคยมี ถือว่าเป็นรายได้พิเศษที่จะเกิดขึ้นในกลุ่มอันดามันทั้งหมด และถือว่าเป็นสถานการณ์ที่เปลี่ยนเมืองก็ว่าได้

“ดังนั้นภูเก็ตจึงต้องเตรียมความพร้อมในทุกๆ เรื่อง โดยเฉพาะเรื่องของถนนเป็นสิ่งที่เราพูดถึงอยู่เสมอ รวมถึงเรื่องของอุโมงค์ และรถไฟรางเบา ไปจนถึงเรื่องของประปา เป็นประเด็นที่เราคิดว่าเป็น Pain Point ของจังหวัดภูเก็ตที่ต้องเร่งดำเนินการแก้ไข และถ้าทุกอย่างเพียงพอ การจราจรคล่องตัว ผู้คนเดินทางสะดวกสบาย จังหวัดภูเก็ตก็สามารถทำเงินเข้าประเทศได้แบบมหาศาล และสิ่งเหล่านี้ คือการลงทุนของประเทศไทย” ธนูศักดิ์ กล่าว  

X

Right Click

No right click