January 22, 2025

คปภ. ลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือด้านประกันภัยทันที กรณี “รถกระบะชนรถไฟ” เสียชีวิต 8 ราย ที่จ.ฉะเชิงเทรา

August 07, 2023 492

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า จากกรณีรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน 1ฒฆ 5942 กรุงเทพมหานคร เฉี่ยวชนกับรถไฟบริเวณทางรถไฟ หมู่ 6 ตำบลคลองอุดมชลจร อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 8 ราย บาดเจ็บ 4 ราย เหตุเกิดเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2566 นั้น เบื้องต้นได้สั่งการให้สายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ บูรณาการร่วมกับสายส่งเสริมและประกันภัยภูมิภาค สำนักงาน คปภ. ภาค 6 (ชลบุรี) และสำนักงาน คปภ. จังหวัดฉะเชิงเทรา ในฐานะเจ้าของพื้นที่เกิดเหตุ ตรวจสอบการทำประกันภัยพร้อมทั้งติดตามรายงานความเสียหายอย่างเร่งด่วนผ่าน Platform การรายงานข้อมูลกรณีอุบัติภัยกลุ่มหรือรายใหญ่ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งให้ลงพื้นที่เพื่ออำนวยความสะดวกด้านประกันภัยให้กับครอบครัวของผู้ประสบภัยอย่างเต็มที่ เพื่อให้ระบบประกันภัยช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับครอบครัวของผู้เสียชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม

ทั้งนี้ ได้รับรายงานจากสำนักงาน คปภ. จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งได้ลงพื้นที่ในวันเกิดเหตุ โดยจากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า รถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน 1ฒฆ 5942 กรุงเทพมหานคร ได้ทำประกันภัยภาคบังคับ (พ.ร.บ.) ไว้กับบริษัท เทเวศประกันภัย จำกัด (มหาชน) เริ่มคุ้มครองวันที่ 27 มกราคม 2566 สิ้นสุดคุ้มครองวันที่ 27 มกราคม 2567 โดยคุ้มครองกรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง 500,000 บาทต่อคน กรณีบาดเจ็บสูงสุดไม่เกิน 80,000 บาทต่อคน กรณีสูญเสียอวัยวะ 200,000-500,000 บาทต่อคน กรณีทุพพลภาพอย่างถาวร 300,000 บาทต่อคน และกรณีเข้ารักษาในสถานพยาบาลในฐานะคนไข้ในจะได้รับค่าชดเชยรายวัน 200 บาทต่อวัน รวมกันไม่เกิน 20 วัน

นอกจากนี้ รถยนต์กระบะคันดังกล่าวทำประกันภัยภาคสมัครใจ ประเภท 1 ไว้กับ บริษัท เทเวศประกันภัย จำกัด (มหาชน) เริ่มคุ้มครองวันที่ 27 มกราคม 2566 สิ้นสุดคุ้มครองวันที่ 27 มกราคม 2567 โดยกรมธรรม์ให้ความคุ้มครองต่อความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย หรืออนามัยของบุคคลภายนอก จำนวน 1,000,000 บาทต่อคน วงเงินไม่เกิน 10,000,000 บาทต่อครั้ง ความรับผิดต่อทรัพย์สิน 1,000,000 บาทต่อครั้ง ความคุ้มครองรถยนต์คันเอาประกันภัย 170,000 บาทต่อครั้ง และให้ความคุ้มครองอุบัติเหตุส่วนบุคคลตามเอกสารแนบท้ายกรมธรรม์ กรณีเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพของผู้ขับขี่จำนวน 100,000 บาท ผู้โดยสาร 100,000 บาทต่อคน (2 คน) และค่ารักษาพยาบาล จำนวน 100,000 บาทต่อคน

สำหรับการติดตามค่าสินไหมทดแทนให้กับครอบครัวของผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนี้ เบื้องต้นในกรณีที่รถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน 1ฒฆ-5942 กรุงเทพมหานคร (ถ้าเป็นฝ่ายผิด) ทายาทโดยธรรมของผู้โดยสารรถยนต์กระบะที่เสียชีวิตทั้ง 8 ราย จะได้รับค่าสินไหมทดแทนรายละ 1,525,000 บาท จากการทำประกันภัย พ.ร.บ. รายละ 500,000 บาท จากการทำประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ ประเภท 1 รายละ 1,000,000 บาท และจากค่าสินไหมทดแทนความคุ้มครองอุบัติเหตุส่วนบุคคลตามเอกสารแนบท้ายกรมธรรม์ กรณีเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพ จำนวน 200,000 บาท โดยเฉลี่ยจ่ายทั้ง 8 ราย รายละ 25,000 บาท

ทั้งนี้ จากการติดตามการจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับทายาทของผู้เสียชีวิตอย่างใกล้ชิด จึงทราบว่าญาติของผู้เสียชีวิตทั้ง 8 ราย ได้นำศพกลับไปบำเพ็ญกุศลที่บ้านเกิดในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ ดังนั้น สำนักงาน คปภ. ภาค 6 (ชลบุรี) จึงได้สั่งการไปยัง สำนักงาน คปภ. จังหวัดสมุทรปราการ เพื่ออำนวยความสะดวกด้านประกันภัยให้กับครอบครัวของผู้เสียชีวิตทั้ง 8 รายอย่างใกล้ชิดต่อไป

สำหรับผู้ขับขี่และผู้โดยสารที่ได้รับบาดเจ็บ 4 ราย สำนักงาน คปภ.จังหวัดฉะเชิงเทราได้ประสานไปยัง โรงพยาบาลพุทธโสธรเพื่อรับรองสิทธิการรักษาพยาบาลตามความคุ้มครองในกรมธรรม์ประกันภัยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

อย่างไรก็ตาม ผลของคดีการเกิดอุบัติเหตุในครั้งนี้อยู่ในระหว่างการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อพิสูจน์ทราบต่อไป โดยสำนักงาน คปภ. ได้ประสานงานและเร่งรัดให้มีการจ่ายค่าสินไหมทดแทนอย่างเป็นธรรม

นอกจากนี้ สำนักงาน คปภ. จะบูรณาการการทำงานร่วมกับสมาคมประกันชีวิตไทย และสมาคมประกันวินาศภัยไทย เพื่อตรวจสอบเพิ่มเติมว่าผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุครั้งนี้มีการทำประกันภัยประเภทอื่น ๆ ไว้ด้วยหรือไม่
หากตรวจสอบพบภายหลังว่าผู้ประสบภัยมีการทำประกันภัยประเภทอื่น ๆ เพิ่มเติมอีกก็จะเร่งประสานงานให้ได้รับค่าสินไหมทดแทนเพิ่มเติมตามสัญญาประกันภัยที่ระบุไว้ทุกประการ

“สำนักงาน คปภ. ขอแสดงความเสียใจอย่างยิ่งกับครอบครัวของผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจากอุบัติเหตุครั้งนี้ และสำนักงาน คปภ. พร้อมจะดูแลในด้านประกันภัยอย่างเต็มที่ ทั้งนี้อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ทุกที่ ทุกเวลาและกับทุกคน และเพื่อความอุ่นใจ ควรให้ความสำคัญกับการทำประกันภัยเพื่อช่วยบริหารความเสี่ยงภัย โดยเฉพาะการประกันภัยรถภาคบังคับ (พ.ร.บ.) การประกันภัยรถภาคสมัครใจ และการประกันภัยประเภทอื่น ๆ เพื่อให้ระบบประกันภัยช่วยบริหารความเสี่ยงและเยียวยาความสูญเสียต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือไม่ได้รับความเป็นธรรมด้านประกันภัย ติดต่อสายด่วน คปภ. 1186” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย

X

Right Click

No right click