ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เป็นประธานเปิดเวทีสัมมนาวิชาการด้านการประกันภัย ประจำปี พ.ศ. 2566 หรือ Thailand Insurance Symposium 2023 ภายใต้แนวคิด “Enhancing Insurance Sustainability through Digital Transformation Landscape” จัดโดยสถาบันวิทยาการประกันภัยระดับสูง สำนักงาน คปภ. เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2566 ณ ห้องประชุมวิภาวดีบอลรูม C โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซ่าลาดพร้าว กรุงเทพฯ ซึ่งจัดในรูปแบบ hybrid มีผู้เข้าร่วมประชุมในห้องประชุม (on ground) คู่ขนานกับผู้เข้าร่วมประชุมผ่านระบบสื่อสารทางไกล (online) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เข้าร่วมการประชุมสัมมนาได้รับความรู้ความเข้าใจในเรื่องการประกันภัย การบริหารความเสี่ยง ผลิตภัณฑ์ประกันภัย นวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ ๆ จากสภาวการณ์ของธุรกิจประกันภัยในปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต อีกทั้งผู้เข้าร่วมสัมมนาได้รับฟังการถ่ายทอดประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญด้านการประกันภัย การบริหารความเสี่ยง และสภาวการณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมประกันภัย รวมทั้งแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างผู้เข้าร่วมสัมมนากับวิทยากร และระหว่างผู้เข้าร่วมสัมมนาด้วยกัน ตลอดจนนำองค์ความรู้ที่ได้ไปพัฒนาระบบประกันภัย และประยุกต์ใช้ในการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย
เลขาธิการ คปภ. กล่าวเปิดงานและปาฐกถาพิเศษตอนหนึ่งว่า เรื่องของ ESG (Environmental Social and Governance) ไม่ใช่แค่ประเด็นที่เอามาพูดคุยตามสมัยนิยม แต่เป็นเป้าหมายหลักที่ทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน ต้องบูรณาการร่วมกันและผลักดันให้เกิดขึ้น สำนักงาน คปภ. ในฐานะเป็นหน่วยงานกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย มีความตั้งใจและตระหนักถึงความสำคัญของการสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนในอุตสาหกรรมประกันภัย โดยในแผนพัฒนาการประกันภัย ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2564 - พ.ศ. 2568) และแผนยุทธศาสตร์สำนักงาน คปภ. ระยะ 3 ปี (พ.ศ. 2567 - พ.ศ. 2569) ให้ความสำคัญกับการปรับเปลี่ยนองค์กรเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในบริบทต่าง ๆ เพื่อให้การกำกับดูแลและส่งเสริมภาคธุรกิจประกันภัยมีความมั่นคง ยั่งยืน (Sustainability) และแข่งขันได้ในเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล (Digital Economy) ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี โดยภาครัฐ ภาคเอกชนและประชาชนสามารถเข้าถึงการประกันภัยและใช้ประโยชน์ในการรองรับความเสี่ยงได้ โดยมี 6 ปัจจัยหลัก คือ ปัจจัยแรก สนับสนุนให้นำเทคโนโลยีมาใช้ให้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่าย รวมถึงลดกระบวนการทำงาน เช่น กระบวนการตรวจสอบตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-KYC) ปรับกระบวนการดำเนินธุรกิจให้เป็นระบบอัตโนมัติมากยิ่งขึ้น เช่น การส่งมอบกรมธรรม์ให้กับผู้เอาประกันภัยในรูปแบบของ e-Policy การใช้เทคโนโลยี Blockchain ในกระบวนการเก็บข้อมูลการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน และการใช้ปัญญาประดิษฐ์ในกระบวนการทำงาน เป็นต้น โดยในส่วนของสำนักงาน คปภ. ได้มีการศึกษาและปรับปรุงกฎระเบียบหรือหลักเกณฑ์การกำกับดูแล เพื่อให้สอดคล้องกับผลการทดสอบใน Insurance Regulatory Sandbox เพื่อสนับสนุนให้ภาคธุรกิจใช้เทคโนโลยีในการดำเนินธุรกิจ มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อการปฏิบัติตามกฎหมายและหลักเกณฑ์ในการกำกับดูแล (RegTech) ขยายบทบาทของ Center of InsurTech (CIT) ให้เป็น One Stop Service ด้านการประกันภัย เพื่อเป็นที่ปรึกษาให้คำแนะนำให้แก่บริษัทประกันภัย และ Startup ในทุกมิติ (Capacity Center) และยังสนับสนุนให้ Startup สามารถเข้าสู่ตลาดประกันภัย
ปัจจัยที่ 2 ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและทัศนคติของประชาชนและภาคเอกชนให้ตระหนักถึงความจำเป็นของการประกันภัย ด้วยการผลักดันหลักสูตรเกี่ยวกับการประกันภัยเข้าสู่ระบบศึกษาทุกช่วงชั้นและผลักดันให้มีกิจกรรมการศึกษานอกห้องเรียนของเยาวชน นักเรียน หรือนักศึกษา มีการนำเทคโนโลยี เครื่องมือ และวิธีการใหม่ ๆ ในการให้ความรู้สู่ประชาชนและภาคเอกชนแต่ละกลุ่มเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง ปัจจัยที่ 3 ส่งเสริมให้ภาคธุรกิจฟื้นตัวจากภาวะวิกฤต โดยมุ่งเน้นว่าการประกันภัยไม่ใช่เพียงการชดเชยความเสียหายเท่านั้น แต่ยังเป็นเครื่องมือที่ช่วยลดความเสี่ยงและป้องกันความเสียหาย โดยมีผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่เหมาะสมสำหรับธุรกิจ ที่เน้นการคุ้มครองทรัพย์สิน ความรับผิดชอบต่อบุคคลภายนอก หรือการสูญเสียรายได้ การที่ธุรกิจมีแผนประกันภัยที่เหมาะสมช่วยให้สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก รวมทั้งการพัฒนากลไกและสร้างเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาและการให้ความช่วยเหลือบริษัทประกันภัย (Resolution Mechanism) และนโยบายและกระบวนการในการบริหารภาวะวิกฤต (Crisis Management)
ปัจจัยที่ 4 ยกระดับพฤติกรรมทางการตลาด (Market Conduct) ของคนกลางประกันภัย โดยส่งเสริมการปรับเปลี่ยนบทบาทของคนกลางประกันภัยจากการเสนอขาย เป็นการให้ข้อมูลที่ครบถ้วน วิเคราะห์ความเสี่ยงและความต้องการของลูกค้า โดยนำเทคโนโลยีมาใช้ในการสนับสนุนกระบวนการเสนอขาย ปัจจัยที่ 5 ปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำกับให้เท่าทันกับความเสี่ยงใหม่ ๆ ปรับปรุงกฎเกณฑ์ให้มีความยืดหยุ่นและสอดคล้องกับแนวทางการกำกับดูแลตามมาตรฐานสากล ประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายและทบทวนกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน ให้มีเท่าที่จำเป็น มีความทันสมัยสอดคล้องกับเทคโนโลยี สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปและเป็นไปตามมาตรฐานสากล (Regulatory Guillotine) ศึกษาและจัดทำแนวปฏิบัติสำหรับการทำ Regulatory Impact Assessment (RIA) รวมทั้งเริ่มใช้กระบวนการ Regulatory Impact Assessment (RIA) ในการออกกฎหมาย ศึกษาและหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงาน ก.ล.ต. สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อจัดทำแนวทาง การพัฒนาภาคการเงินเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Finance Initiatives for Thailand)
ปัจจัยที่ 6 สร้างความยั่งยืนให้ธุรกิจประกันภัยด้วยการส่งเสริมให้มีการดำเนินธุรกิจและการลงทุนที่สะท้อนแนวคิดด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมาภิบาล (Environmental, Social, and Governance : ESG) อย่างเป็นรูปธรรม และเพื่อให้ระบบประกันภัยเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทย โดยการส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยเพื่อเสริมสร้างความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ใช้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณารับประกันภัย ศึกษามาตรการจูงใจให้บริษัทประกันภัยดำเนินธุรกิจที่สอดคล้องกับหลักการ ESG เช่น มาตรการทางภาษี และมอบรางวัลแก่บริษัทประกันภัยที่ดำเนินธุรกิจตามหลัก ESG อีกทั้งยังส่งเสริมให้ภาคธุรกิจประกันภัยมีการลงทุนที่คำนึงถึงความยั่งยืนทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล
เลขาธิการ คปภ. กล่าวด้วยว่า สำนักงาน คปภ. มุ่งมั่นยกระดับงานด้านวิชาการประกันภัย โดยมีสถาบันวิทยาการประกันภัยระดับสูง (วปส.) เป็นศูนย์กลางการพัฒนาความรู้ จริยธรรม และเพิ่มทักษะด้านการประกันภัยระดับสูง ให้แก่บุคลากรประกันภัยทุกฝ่ายให้สามารถปฏิบัติงานแบบมืออาชีพ และเป็นไปตามมาตรฐานสากล เพื่อให้บุคลากรประกันภัยและประชาชนทั่วไปสามารถใช้ประโยชน์ในการเป็นแหล่งศึกษาหาความรู้ ค้นคว้าข้อมูลด้านการประกันภัย นอกจากนี้ยังมีการประสานความร่วมมือทางวิชาการกับหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยต่างประเทศ และองค์กรระหว่างประเทศ อีกทั้งส่งเสริมงานวิจัยด้านการประกันภัย เผยแพร่องค์ความรู้ ตลอดจนพัฒนาหลักสูตรสำหรับผู้บริหารจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนและบุคลากรในสำนักงาน คปภ. เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของประกันภัยในมิติต่าง ๆ โดยได้จัดทำหลักสูตรสุดยอดผู้นำวิทยาการประกันภัยระดับสูง (Super วปส.) (Thailand Insurance Super Leadership Program) และปรับปรุงหลักสูตรวิทยาการประกันภัยระดับสูง (วปส.) (Thailand Insurance Leadership Program) อย่างต่อเนื่อง ตลอดจนจัดทำหลักสูตรการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ด้านการประกันภัย เป็นต้น
หลักสูตรวิทยาการประกันภัยระดับสูง (วปส.) นอกจากจะมีการฟังบรรยายการแลกเปลี่ยนแนวคิดและทัศนคติจากวิทยากรชั้นนำทั้งในและต่างประเทศในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการประกันภัยแล้ว ยังกำหนดให้มีการจัดทำรายงานการศึกษากลุ่ม ซึ่งผู้เข้ารับการอบรมจะต้องเลือกประเด็นที่น่าสนใจและมีประโยชน์ สามารถนำไปประยุกต์และต่อยอดเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมประกันภัยได้
สำหรับผลงานทางวิชาการของนักศึกษาหลักสูตร วปส. รุ่น 11 ที่มีการนำเสนอในเวทีสัมมนาวิชาการครั้งนี้ คือ ผลงานที่ได้รับรางวัลระดับ “ดีเด่น” เรื่อง “แนวทางสำหรับภาครัฐเพื่อนำระบบประกันภัยมาใช้บริหารความเสี่ยงจากการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยเข้าสู่ Net Zero Emission” ซึ่งชูประเด็นการส่งเสริมให้มีการนำระบบประกันภัยมาใช้ในการบริหารจัดการความเสี่ยงและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น โดยพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยคาร์บอนเครดิตให้เหมาะสมรองรับกับระบบนิเวศของประเทศไทยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปพร้อมกับการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ Net Zero Emission โดยได้รับเกียรติจาก รศ.ดร.ฐิติวดี ชัยวัฒน์ อาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้วิพากษ์ผลงาน
รวมทั้งยังมีการนำเสนอผลงานที่ได้รับรางวัลระดับ “ดี” เรื่อง “การใช้ปัญญาประดิษฐ์เพิ่มประสิทธิภาพระบบคุ้มครองสิทธิผู้ทำประกัน ด้านการเรียกร้องค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์” โดยเป็นการนำเอา Application “ช่วย ชด เชย” มาช่วยในเรื่องการพิจารณาค่าสินไหมทดแทนค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์ให้มีกระบวนการที่เป็นธรรม และเป็นมาตรฐาน รวมทั้งสร้างการรับรู้และเข้าถึงการเยียวยาด้านค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถอย่างสมเหตุสมผลและเกิดความพึงพอใจจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน ซึ่งได้รับเกียรติจาก ดร.ปิยวดี โขวิฑูรกิจ ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ สายงานบริหารความเสี่ยงและการปฏิบัติตามกฎหมาย บริษัท ไทยรับประกันภัยต่อ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้วิพากษ์ผลงาน
นอกจากนี้ ยังมีการนำเสนอผลงานวิจัย ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงาน คปภ. เรื่อง “โครงการ InsurTech : แพลตฟอร์มส่งเสริมและตรวจสอบการซื้อขายการประกันภัยเพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชน” โดย ผศ.ดร.ณัฐกรณ์ ผิวชื่น มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นการพัฒนาแอปตรวจจับเสียงของผู้ที่ขายประกันภัยว่ามีการนำเสนอขายที่ฉ้อฉล หลอกลวงหรือผิดปกติหรือไม่
“การจัดงานสัมมนาวิชาการด้านการประกันภัยปีนี้ได้รับความสำเร็จเกินความคาดหมาย มีการนำเสนองานวิชาการเด่น ๆ ตลอดจนงานวิจัยที่ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงาน คปภ. ซึ่งเป็นนวัตกรรมเทคโนโลยีประกันภัยล่าสุด ทั้งยังมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากทั้งในและต่างประเทศมานำเสนอข้อมูลที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาระบบประกันภัย โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับประเด็นเรื่องการเชื่อมโยงระหว่างดิจิทัลกับความยั่งยืน ซึ่งสำนักงาน คปภ. เชื่อว่าดิจิทัลเทคโนโลยีจะเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้อุตสาหกรรมประกันภัยของไทยสามารถก้าวข้ามอุปสรรคต่าง ๆ และเติบโตได้อย่างยั่งยืน ในโอกาสนี้ ขอแสดงความยินดีกับผลงานวิชาการที่ได้รับรางวัล ซึ่งสำนักงาน คปภ. จะนำผลงานดังกล่าวไปเผยแพร่และต่อยอดขยายผลเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมประกันภัยให้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย