December 23, 2024

การประชุมผู้บริหารระดับสูงด้านการประกันภัย (OIC Meets CEO 2024) ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม

March 23, 2024 202

สำนักงาน คปภ. ผนึกภาคธุรกิจประกันภัย แถลงผลการประชุมขับเคลื่อนอุตสาหกรรมประกันภัยไทยร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม

นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เป็นประธานแถลงข่าวสรุปผลการประชุมผู้บริหารระดับสูงด้านการประกันภัย (OIC Meets CEO 2024) ร่วมกับ นายสาระ ล่ำซำ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย และ ดร.สมพร สืบถวิลกุล นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย โดยมีผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) ผู้บริหารสมาคมประกันชีวิตไทย ผู้บริหารสมาคมประกันวินาศภัยไทย และสื่อมวลชนเข้าร่วม ณ อาคารสถาบันวิทยาการประกันภัยระดับสูง ชั้น 2 สำนักงาน คปภ. ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพฯ และผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยการแถลงข่าวในครั้งนี้ สืบเนื่องจากการประชุม OIC Meets CEO 2024 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 8-9 มีนาคม 2567 ณ โรงแรม เรเนซองส์ พัทยา รีสอร์ท แอนด์ สปา จังหวัดชลบุรี เพื่อเป็นเวทีในการพบปะและหารือกับภาคธุรกิจประกันภัยในประเด็นต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกันและสามารถแก้ไขปัญหาให้เกิดผลในทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมประกันภัยให้เติบโตควบคู่ไปกับการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ให้กับประชาชน รวมถึงการสร้างธรรมาภิบาลให้กับบริษัทประกันภัยในการประกอบธุรกิจไปด้วยกัน

สำหรับผลการประชุม OIC Meets CEO 2024 ที่ประชุมมีข้อสรุปร่วมกันเกี่ยวกับการยกระดับและสร้างความแข็งแกร่งให้อุตสาหกรรมประกันภัย 7 หัวข้อหลัก ดังนี้

หัวข้อที่ การพัฒนามาตรฐานและยกระดับบทบาทของนักคณิตศาสตร์ประกันภัยและผู้สอบบัญชี โดยจะมีการกำหนดให้บริษัทมีนโยบายการหมุนเวียนเปลี่ยนงาน (Job Rotation) ให้กับนักคณิตศาสตร์ประกันภัยในบริษัท และ/หรือมอบหมายให้นักคณิตศาสตร์ประกันภัยเป็นกรรมการในคณะกรรมการต่าง ๆ ของบริษัท เพื่อให้มีประสบการณ์ครบถ้วนในการทำงานในหน้าที่นักคณิตศาสตร์ประกันภัยแต่งตั้ง (Appointed Actuary) รวมถึงบริษัทประกันภัยจะสนับสนุนสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทยทั้งในด้านบุคลากรและงบประมาณ เพื่อช่วยยกระดับให้มีมาตรฐานการปฏิบัติงาน จรรยาบรรณ และการพัฒนาทางวิชาชีพที่ต่อเนื่องและสอดคล้องกับมาตรฐานสากล

หัวข้อที่ 2 บทบาทหน้าที่ของผู้บริหารบริษัท ภายใต้การแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกันชีวิต/ประกันวินาศภัย โดยให้นำหลักการของร่างกฎหมายในเรื่องดังกล่าวเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเพื่อทราบ

หัวข้อที่ 3 การยกระดับการกำกับดูแล โดยใช้ข้อมูล Unaudited Data ผ่าน Company Management  Control โดยในที่ประชุมได้มีการกำหนดให้บริษัทประกันภัยจัดให้มีข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจประกันภัย และพร้อมให้สำนักงาน คปภ. เรียกดูข้อมูลภายในระยะเวลาและช่องทางที่กำหนด โดยจะมีการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษารายละเอียดและดำเนินการต่อไป ซึ่งสำนักงาน คปภ. จะใช้อำนาจทางกฎหมายในการเรียกดูข้อมูลอย่างระมัดระวังและเท่าที่จำเป็น เพื่อใช้ในการติดตามบริษัทประกันภัยได้อย่างทันท่วงที

หัวข้อที่ 4 การยกระดับมาตรฐานการอนุมัติกรมธรรม์ประกันภัย โดยพัฒนารูปแบบการกำกับให้ความเห็นชอบการกำหนดอัตราเบี้ยประกันภัย เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการแข่งขันให้มากขึ้น ผ่อนคลายการกำกับอัตราเบี้ยประกันภัยให้มีความยืดหยุ่น การกำหนดอัตราเบี้ยประกันภัยมีความสอดคล้องกับต้นทุนและความเสี่ยงในการออกกรมธรรม์ประกันภัยมากขึ้น และปรับหลักเกณฑ์จาก Rules-Based Approach เป็น Principles-Based Approach และมุ่งเน้นไปที่การเปิดเผยข้อมูลที่สำคัญ เพื่อทำให้ผู้บริโภคมีข้อมูลที่เพียงพอใช้ในการตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ โดยมุ่งเน้นให้บริษัทดำเนินการธุรกิจโดยคำนึงถึงวัตถุประสงค์ 3 ข้อ ได้แก่ ผู้เอาประกันภัยจะต้องได้รับประโยชน์จากการทำประกันภัยและได้รับการปฏิบัติต่อลูกค้าอย่างเป็นธรรม บริษัทประกันภัยพิจารณาผลิตภัณฑ์ที่นำออกจำหน่ายได้โดยคำนึงถึงความเสี่ยงทั้งหมดและต้องไม่ทำให้สถานะทางการเงินโดยรวมเสียหาย และธุรกิจประกันภัยคำนึงถึงความยั่งยืนของอุตสาหกรรมประกันภัยในระยะยาว โดยที่ประชุมเห็นชอบในหลักการผ่อนคลายการกำกับอัตราเบี้ยประกันภัยสำหรับผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตและประกันวินาศภัย ซึ่งจะมีการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อดำเนินการร่วมกันในรายละเอียดต่อไป

หัวข้อที่ 5 การนำส่งข้อมูลในระบบฐานข้อมูลกลางด้านประกันภัย (Insurance Bureau System: IBS) โดยในที่ประชุมได้มีการรายงานสถานะและปัญหาของการนำส่งข้อมูลในระบบ IBS Non-life และ IBS Life โดยจะมีการจัดตั้งคณะทำงาน สำหรับ IBS Life เพื่อศึกษารายละเอียดและดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

หัวข้อที่ 6 การพัฒนาแพลตฟอร์มระบบการให้บริการการออกใบอนุญาตตัวแทน/นายหน้าประกันภัย/ผู้ประเมินวินาศภัยทางอิเล็กทรอนิกส์ (E-Licensing) แบบครบวงจร ซึ่งได้มีการรายงานความคืบหน้าให้ที่ประชุมรับทราบถึงแพลตฟอร์มดังกล่าว ทั้งนี้ ระบบ E-Licensing อยู่ในระยะแรกของการใช้งาน ภาคธุรกิจสามารถแจ้งผลการใช้งานระบบต่อสำนักงาน คปภ. เพื่อรวบรวมปัญหาและพิจารณาปรับปรุงเพื่อให้การใช้งานสะดวกยิ่งขึ้น

หัวข้อที่ 7 แนวทางการกำกับการลงทุนในกิจการที่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องกับบริษัทประกันภัย โดยที่ประชุมรับทราบแนวทางการกำกับการลงทุนดังกล่าว และกรอบระยะเวลาในการพัฒนาแนวทางการกำกับดูแลแบบรวมกลุ่มของธุรกิจประกันภัย เพื่อสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจประกันภัยไทยไปพร้อม ๆ กับการคำนึงถึงปัจจัยความเสี่ยงเชิงระบบ (Systemic Risk) เป็นสำคัญ

เลขาธิการ คปภ. กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า เวทีการประชุม OIC Meets CEO 2024 มีประเด็นที่ต้องผลักดันให้ประกันภัยเป็นกลไกขับเคลื่อนชีวิต เศรษฐกิจ และสังคมของคนในชาติ โดยนำการประกันภัยเข้าไปรองรับทุกช่วงของการใช้ชีวิต เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนร่วมกันอีก 5 เรื่องหลัก ดังนี้

หัวข้อที่ 1 แนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการประกันภัยสุขภาพ เนื่องจากปัจจุบันค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยมาจากหลายปัจจัยที่บริษัทประกันภัยไม่สามารถควบคุมได้ จากปัจจัยดังกล่าวส่งผลกระทบให้เบี้ยประกันภัยสุขภาพปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพได้ยากขึ้น จึงมีแนวคิดในการกำหนดมาตรการควบคุมค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลให้มีความเหมาะสม และการพัฒนากรมธรรม์ประกันภัยสุขภาพให้มีความเหมาะสมกับประชาชน โดยที่ประชุมร่วมกันหารือมาตรการควบคุมค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล และแนวทางการพัฒนากรมธรรม์ประกันภัยสุขภาพให้มีความเหมาะสมกับประชาชน โดยให้มีการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษารายละเอียดและดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง

หัวข้อที่ 2 ความร่วมมือในการส่งเสริม Insurance literacy ระหว่างสำนักงาน คปภ. และภาคธุรกิจประกันภัย โดยที่ประชุมเห็นชอบในการร่วมมือกันส่งเสริมความรู้ความเข้าใจด้านการประกันภัย และจะได้มีการหารือในการจัดตั้งคณะทำงานในการดำเนินการต่อไป

หัวข้อที่ 3 การจัดทำ Service Level Agreement (SLA) มาตรฐานกรอบระยะเวลาสำหรับการให้บริการของธุรกิจประกันภัย โดยที่ประชุมเห็นชอบในหลักการการจัดทำ SLA ในรูปแบบ Principle-Based โดยจะมีการหารือและปรับปรุงในรายละเอียดเพิ่มเติมในคณะทำงานต่อไป

หัวข้อที่ 4 การนำส่งข้อมูลในระบบรายงานข้อมูลการรับประกันภัยรถภาคบังคับ (CMIS) โดยจะมีการเร่งรัดและติดตามให้บริษัทประกันภัยนำส่งข้อมูลการรับประกันภัยรถภาคบังคับเป็น Real-time ตามเป้าหมายที่สำนักงาน คปภ. กำหนดโดยเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อรองรับการดำเนินการตรวจสอบข้อมูลประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ (พ.ร.บ.) โดยกรมการขนส่งทางบกสำหรับการรับชำระภาษีรถประจำปี ผ่านระบบเชื่อมโยงข้อมูลเพียงอย่างเดียว และรับทราบบทลงโทษกรณีบริษัทประกันภัยฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามประกาศกำหนด

หัวข้อที่ 5 การบริหารจัดการเงินกรมธรรม์ประกันภัยล่วงพ้นอายุความ โดยมีการขอความร่วมมือบริษัทประกันภัยเร่งรัดติดตามและดำเนินการจ่ายผลประโยชน์/ค่าสินไหมทดแทน ให้แก่ผู้เอาประกันภัยหรือผู้มีสิทธิได้รับเงินให้แล้วเสร็จก่อนที่จะล่วงพ้นอายุความ 10 ปี สำหรับประกันชีวิต และ 2 ปี สำหรับประกันวินาศภัย เพราะหากเกินระยะเวลาที่กำหนดบริษัทประกันภัยจะต้องนำส่งเงินดังกล่าวเข้ากองทุนประกันชีวิต/กองทุนประกันวินาศภัยตามกฎหมาย โดยกองทุนฯ จะติดตามและดำเนินการจ่ายคืนให้แก่ผู้เอาประกันภัยหรือผู้มีสิทธิต่อไป

การประชุม OIC Meets CEO 2024 ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม โดยสำนักงาน คปภ. ได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากภาคอุตสาหกรรมประกันภัย และหวังว่าการประชุมในครั้งนี้จะเป็นก้าวสำคัญในการประสานความร่วมมือเพื่อกำหนดทิศทางการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมประกันภัยไทยร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อยกระดับและสร้างความแข็งแกร่งให้ระบบประกันภัยไทย รวมถึงผลักดันให้การประกันภัยเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของคนในชาติ อันจะส่งผลต่อประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติอย่างยั่งยืนต่อไป

X

Right Click

No right click