มูลนิธิสานอนาคตการศึกษา คอนเน็กซ์อีดี (CONNEXT ED Foundation) นับเป็นหนึ่งในความร่วมมือครั้งสำคัญของภาคเอกชน 47 องค์กรในการยกระดับคุณภาพการจัดการการศึกษาไทยสู่มาตรฐานสากล แต่ละองค์กรที่เข้าร่วมกับมูลนิธิต่างเดินหน้าลงพื้นที่ร่วมพัฒนาการศึกษาไทยอย่างต่อเนื่อง
เช่นเดียวกับบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CP ALL ผู้บริหารเซเว่น อีเลฟเว่น และเซเว่น เดลิเวอรี่ ที่ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาเข้าไปสนับสนุนโรงเรียนถึงมากกว่า 573 โรงเรียน นับเป็นหนึ่งในองค์กรที่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่โรงเรียนต่างๆ ภายใต้ CONNEXT ED ได้อย่างโดดเด่น
นายประสิทธิ์ ฉกาจธรรม รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารเซเว่น อีเลฟเว่นและเซเว่น เดลิเวอรี่ และ รองประธานคณะกรรมการบริหาร ซีพี ออลล์ คอนเน็กซ์ อีดี (CP ALL CONNEXT ED) เล่าว่า ซีพี ออลล์เข้ามาร่วมขับเคลื่อนโครงการตามปณิธานองค์กร “ร่วมสร้างสรรค์และแบ่งปันโอกาสต่อกัน” นับตั้งแต่ปีแรกของ CONNEXT ED โจทย์ใหญ่ที่สุดของซีพี ออลล์ ไม่ใช่แค่การเข้าไปช่วยยกระดับการศึกษา แต่คือ “การสร้างความยั่งยืน” ทำอย่างไรให้โรงเรียนยังเดินหน้าพัฒนาการศึกษาต่อได้ ในวันที่ทีมงานออกมาแล้ว ทำอย่างไรให้บุคลากรของโรงเรียนเห็นเป้าหมายของการพัฒนาเป็นภาพเดียวกัน ทำอย่างไรให้การพัฒนาการศึกษาสอดคล้องกับวิถีชีวิต อัตลักษณ์ จุดแข็งของโรงเรียนและท้องถิ่นนั้นๆ และทำอย่างไรให้ทั้งโรงเรียนและชุมชนใกล้โรงเรียนเกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต หรือ Life Long Learning
จากโจทย์ดังกล่าว บริษัทจึงดำเนินการหลายอย่างพร้อมกัน คือ 1.สนับสนุนทั้งงบประมาณ องค์ความรู้ อุปกรณ์การศึกษา วัสดุอุปกรณ์ ตลอดจนบุคลากรในบริษัท ที่ผ่านการพัฒนาทักษะและมีจิตสาธารณะ เข้าไปเป็นผู้นำรุ่นใหม่ (School Partner) พร้อมทั้งจัดเวิร์คช้อปที่เกี่ยวข้องกับการยกระดับการศึกษาอย่างต่อเนื่อง 2.แบ่งสาขาการสนับสนุนให้สอดคล้องกับความต้องการของแต่ละโรงเรียนผ่านโครงการที่โรงเรียนเสนอเข้ามา ทั้งโครงการด้านวิชาชีพ ด้านเกษตรกรรม ด้านวิชาการ ด้านเทคโนโลยี ด้านศิลปวัฒนธรรม ด้านสิ่งแวดล้อม 3.แบ่งกลุ่มตามระดับความสำเร็จของการพัฒนา ได้แก่ โรงเรียนที่เพิ่งเข้าร่วม (Newcomer School) โรงเรียนที่ดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ (Best Practice School) โรงเรียนต้นแบบ (School Model) โรงเรียนร่วมพัฒนา (Partnership School) และล่าสุดระดับใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นปีนี้ คือระดับวิสาหกิจโรงเรียน (School Enterprise) โดยเพิ่มแรงจูงใจ อาทิ การเพิ่มงบประมาณการสนับสนุนให้ในระดับที่สูงขึ้น
“การแบ่งระดับความสำเร็จ เป็นทั้งการสร้างกำลังใจและสร้างเป้าหมายให้แต่ละโรงเรียนในการเดินหน้ายกระดับการศึกษาของตัวเองอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน เมื่อผ่าน 1 ระดับ โรงเรียนจะได้ทั้งความภาคภูมิใจ ได้งบประมาณสนับสนุนเพิ่มขึ้น และได้เป้าหมายใหม่ในการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง แต่ละระดับจะมีเป้าหมายหรือเกณฑ์การผ่านของตัวเอง ยิ่งระดับสูงก็จะยิ่งมีเป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนเข้มข้นขึ้น เมื่อได้รับระดับ School Model ขึ้นไป ก็มีโอกาสได้รับการนำโมเดลไปขยายผลยังโรงเรียนอื่นๆ เพิ่มเติม” นายประสิทธิ์ กล่าว
ด้าน นายตรีเทพ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา ประธานคณะทำงานโครงการสานอนาคตการศึกษา CONNEXT ED บมจ.ซีพี ออลล์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมา โรงเรียนส่วนใหญ่มีองค์ความรู้ทางวิชาการอยู่แล้ว แต่อาจยังขาดความเชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการโครงการอย่างยั่งยืน ตลอดจนแนวทางการบูรณาการหลักสูตร สิ่งที่ซีพี ออลล์ ดำเนินการ จึงเป็นการเข้าไปให้แนวทางการบริหารจัดการโครงการอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งตั้งเกณฑ์กรอบความยั่งยืน 3 มิติ ได้แก่ การเป็นโรงเรียนที่พึ่งพาตนเองได้ การบูรณาการความรู้สู่หลักสูตรสถานศึกษาหรือหลักสูตรท้องถิ่น และการพัฒนาสู่ศูนย์การเรียนรู้ชุมชน เพื่อเป็นแนวทางให้โรงเรียนที่ต้องการก้าวขึ้นสู่ระดับ School Model ขึ้นไป นำไปปฏิบัติ เพื่อยกระดับการศึกษา พร้อมทั้งสร้างอาชีพ สร้างรายได้ ให้แก่นักเรียน โรงเรียน และชุมชน
“ในปีแรกๆ ยุทธศาสตร์ของเราคือการขยายฐานจำนวนโรงเรียนที่เข้าร่วม CONNEXT ED มุ่งเน้นสนับสนุนโรงเรียนที่ผ่านการกลั่นกรองคัดเลือกตามเกณฑ์ของโครงการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ. เป็นหลัก ส่วนในปีนี้เปิดโอกาสให้โรงเรียนอื่นๆ ที่มีศักยภาพความพร้อม ตามบริบทโครงการเพื่อสังคม สิ่งแวดล้อมของบริษัทเช่น การปลูกป่า การจัดการขยะและสิ่งแวดล้อมซึ่งพิจารณาจากทีมเวิร์คของโรงเรียน ชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นสำคัญ เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน พร้อมทั้งยกระดับโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการกับเราแล้ว ให้ก้าวสู่ระดับความสำเร็จที่สูงขึ้น คาดว่าสิ้นปีการศึกษา 2566 จะมีโรงเรียนที่เราดูแลรวม 573 โรงเรียน ครอบคลุมจำนวนนักเรียนกว่า 140,000 คน” นายตรีเทพ กล่าว
ล่าสุด เฟสปัจจุบัน มีโรงเรียนที่ผ่านการคัดเลือกสู่ระดับความสำเร็จที่สูงขึ้นทั้งสิ้น 79 แห่ง แบ่งเป็นโรงเรียนที่เพิ่งเข้าร่วม (Newcomer School) 27 แห่ง โรงเรียนที่ดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ (Best Practice School) 18 แห่ง โรงเรียนต้นแบบ (School Model) 13 แห่ง โรงเรียนร่วมพัฒนา (Partnership School) 9 แห่ง และวิสาหกิจโรงเรียนที่ปลูกฝังอาชีพ สร้างคลัสเตอร์รายได้ (School Enterprise) 12 แห่ง โดยมีหลายโรงเรียนที่ดำเนินโครงการได้อย่างน่าสนใจ อาทิ โครงการอุทยานการเรียนรู้ “Happy School” ความสุขที่ยิ่งใหญ่ของการเรียนรู้และการท่องเที่ยว ของ โรงเรียนบ้านเขาเฒ่า จ.พัทลุง ที่สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวกลับสู่ชุมชนปีละกว่า 90,000 บาท และได้รับการคัดเลือกขึ้นมาเป็น School Model และ โครงการดาวเรืองร้อยใจร้อยล้านของโรงเรียนวังไพรวิทยาคม จ.สระแก้ว ที่ได้รับการคัดเลือกขึ้นมาเป็น Best Practice School
นางวรรณวนา พิทักษ์สงคราม ผู้อำนวยการโรงเรียนวังไพรวิทยาคม จ.สระแก้ว กล่าวว่า ชุมชนโดยรอบของโรงเรียนเป็นพื้นที่ปลูกดาวเรืองเพื่อจำหน่ายดอกสด ซึ่งมีผลผลิตออกสู่ตลาดจำนวนมาก ไซส์เล็กขายไม่ได้ หากนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นก็จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มได้ จึงปรึกษาพันธมิตรภาคส่วนต่างๆ ในพื้นที่ อาทิ วิทยาลัยอาชีวะ ปราชญ์ชาวบ้าน โดยแนะนำให้ปลูกแบบออร์แกนิก เพื่อนำมาผลิตเป็นสินค้าออร์แกนิก แนะนำเทคนิคการมัดย้อม จนได้มาเป็นโครงการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากดอกดาวเรือง การได้เข้าร่วมโครงการเป็นการช่วยกระตุ้นให้เกิดพลังในการพัฒนาโครงการ ผ่านการให้การสนับสนุนด้านงบประมาณและองค์ความรู้ ที่สำคัญคือโรงเรียนได้มีการปรับหลักสูตรใหม่ ครูได้มีการคิดนอกกรอบ บูรณาการหลักสูตรแบบ Life Long Learning โดยแบ่งการเรียนรู้ออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มแปรรูปเพื่อการบริโภค กลุ่มแปรรูปเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์มัดย้อม และกลุ่มปลูก ปัจจุบันได้มีการพัฒนาต่อยอดสู่เทคนิค Eco Printing ให้ลวดลายที่สวยงามนำวัสดุธรรมชาติ เช่น ใบไม้ มาพิมพ์ลายบนผ้า เด็กได้มีส่วนร่วมทุกขั้นตอน สร้างองค์ความรู้อย่างยั่งยืน สู่อาชีพสร้างรายได้ในอนาคต
คำกล่าวที่ว่า “สินค้า SME ไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก” แถมยังเป็น Soft Power สำคัญของประเทศ