แต่สำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี 3 รายนี้ ได้แก่ บริษัท เบสท์ แอนด์ บิลเลี่ยน บิวตี้ จำกัด เจ้าของเครื่องสำอาง แบรนด์ ซิสต้าร์ (SISTAR), บริษัท ซันฟลาว โทกาจิ ฟู๊ด อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เจ้าของขนมไดฟูกุ แบรนด์ โทกาจิ (TOKACHI) และ บริษัท เอสพีอาร์ ฟู๊ด อินดัสทรี จำกัด เจ้าของผลิตภัณฑ์ขนมขบเคี้ยว แบรนด์ “โอเดนย่า-โคโคริ-สแนคทาวน์” ซึ่งมีวางจำหน่ายในร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ได้พิสูจน์ให้เห็นว่า การสร้างยอดขายให้เพิ่มขึ้นไม่ใช่เรื่องยาก แถมยังโชว์ยอดขายในช่วงที่ผ่านมาว่ามีตัวเลขสูงถึงกว่า 100 ล้านบาท ซึ่งผู้ประกอบการแต่ละรายก็มีวิธีการและกลยุทธ์แตกต่างกัน
ซิสต้าร์ : เข้าใจ รู้ใจ สร้างการรับรู้แบรนด์
จากความที่เชื่อว่า “ผู้หญิงทุกคนอยากสวย” สมหญิง กรอบเพ็ชร, อัจฉรา-อังคณา ชุติไพจิตร จึงจับมือเดินหน้าทำธุรกิจผลิตภัณฑ์ดูแลผิวหน้า จนประสบความสำเร็จเติบโตสู่ธุรกิจครีมซองระดับประเทศ ภายใต้แบรนด์ ซิสต้าร์ ที่มียอดขายจากร้านเซเว่น อีเลฟเว่นในปี 2564 สูงถึง 154 ล้านบาท จากยอดขายรวมทั้งบริษัท 235 ล้านบาท และคาดว่าในปี 2565 ยอดขายจะโตประมาณ 9%
หญิง-สมหญิง กรอบเพ็ชร กรรมการบริษัท เบสท์ แอนด์ บิลเลี่ยน บิวตี้ จำกัด เจ้าของแบรนด์ ซิสต้าร์ (SISTAR) เล่าว่า ซิสต้าร์ เปิดตัวและวางจำหน่ายครั้งแรกในปี 2561 ที่ร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ด้วยสินค้าเพียง 2 รายการ สร้างชื่อนั่นคือ ซิสต้าร์ วอเตอร์เมลอน อีอี ครีม (EEแตงโม) และเซรั่มแครอทวิตซี ที่สามารถทำยอดขายต่อเนื่องได้มากกว่า 40 ล้านบาทต่อปีตั้งแต่เริ่มจำหน่ายปีแรก กระทั่งเผชิญวิกฤติโควิด-19 ส่งผลให้ยอดขายลดลง ทำให้ต้องมาดูระบบหลังบ้านอย่างเรื่องสต๊อกสินค้าให้อยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ พร้อมการบริหารระบบหน้าบ้าน แจ้งลูกค้าให้ทราบถึงช่องทางการขายที่สามารถหาซื้อได้ ลงพื้นที่สำรวจตลาด เพื่อดูว่าสินค้ามีจำหน่ายเพียงพอหรือไม่ และทำงานควบคู่ไปกับเซเว่น อีเลฟเว่น ทำโปรโมชั่นส่งเสริมตลาดและสร้างการรับรู้ในแบรนด์ ผ่านช่องทางออฟไลน์และออนไลน์อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ยอดขายกลับมาอีกครั้ง และเพิ่มขึ้นอย่างน่าพอใจ
สิ่งสำคัญที่ทำให้เราโตเร็วและสามารถก้าวผ่านปัญหาและอุปสรรคต่างๆ มาได้ คือ เราจะต้องเข้าใจคู่ค้า และรู้ใจลูกค้า การเข้าใจคู่ค้าคือเราต้องรู้ระบบการทำงาน ตลอดจนความต้องการของคู่ค้า ขณะที่ลูกค้า เราต้องรู้ใจว่าลูกค้าต้องการอะไร เพื่อผลิตสินค้าให้ตอบโจทย์ตรงความต้องการ รักษาคุณภาพให้ได้มาตรฐาน ควบคู่สร้างการรับรู้ในแบรนด์อย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้ลูกค้าลืมเรา ในช่วงปีแรกเรามุ่งสร้างแบรนด์ให้เป็นที่จดจำ เมื่อลูกค้าจดจำเราได้ ขั้นตอนต่อมาคือการพัฒนาสินค้าอย่างต่อเนื่อง เพราะตลาดนี้เป็นตลาดที่มีการแข่งขันสูง
โทกาจิ : พันธมิตรช่วยธุรกิจให้ง่ายขึ้น
จากบริษัทส่งออกแป้งข้าวเหนียวและข้าวเจ้าเพื่อใช้ทำขนมไดฟูกุในประเทศญี่ปุ่น วันนี้ บริษัท ซันฟลาว โทกาจิ ฟู๊ด อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ก้าวสู่การเป็นผู้ผลิตขนมไดฟูกุ ภายใต้แบรนด์ โทกาจิ ที่ได้รับโนฮาว์จากบริษัท โทกาจิ ไดฟูกุฮอนโป ประเทศญี่ปุ่น ที่มีความเชี่ยวชาญในการทำขนมสไตล์ญี่ปุ่นมากว่า 60 ปี เพียงเจ้าเดียวในประเทศไทย ทำให้มั่นใจได้ว่า ขนมไดฟูกุโทกาจิ จะให้กลิ่นอายของความเป็นญี่ปุ่นได้อย่างแท้จริง
บีม-สุทธินี สีตะประดิษฐ กรรมการบริษัทฯ ผู้ริเริ่มธุรกิจผลิตขนมไดฟูกุ กล่าวว่า หลังตกลงร่วมเดินหน้าธุรกิจ กับพันธมิตรประเทศญี่ปุ่น เราได้นำองค์ความรู้ที่ได้รับมาปรับใช้และพัฒนาสินค้าให้เหมาะกับคนไทย จนได้มาเป็นขนมไดฟูกุ 2 รสชาติ ได้แก่ มัทฉะไส้ถั่วแดงและไส้สตรอเบอรี่ โดยเริ่มวางจำหน่ายในร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ช่วงเดือนตุลาคมปี 2564 ปัจจุบันพัฒนาสินค้าเพิ่มอีก 1 รสชาติคือไส้ช็อกโกแลต คาดว่าในปี 2565 บริษัทจะมียอดขายจากร้านเซเว่น อีเลฟเว่นอยู่ที่ประมาณกว่า 100 ล้านบาท
การที่เราประสบความสำเร็จได้อย่างทุกวันนี้ ส่วนสำคัญคือเรื่องพันธมิตร ตั้งแต่พันธมิตรด้านการผลิต อย่าง โทกาจิ ไดฟูกุฮอนโป ที่ทำให้เราสามารถผลิตสินค้าที่มีเอกลักษณ์ทั้งรสสัมผัสและผิวสัมผัส ซึ่งไม่มีใครสามารถลอกเลียนได้ ในส่วนของ เซเว่น อีเลฟเว่น ก็เช่นเดียวกัน เพราะเรามาจากธุรกิจส่งออกแป้ง ไม่เคยทำตลาดขนม ดีที่ได้ทีมเซเว่น อีเลฟเว่น มาช่วยให้คำปรึกษาในทุกเรื่องตั้งแต่เรื่องการจัดการระบบหลังบ้าน และการบริหารระบบหน้าบ้าน เรียกว่าได้พันธมิตรที่ดีคอยให้การช่วยเหลือเราในทุกด้าน จึงทำให้เรามีวันนี้
โอเดนย่า-โคโคริ-สแนคทาวน์ : รักษาจุดเด่น ขยาย customer community
‘โอเดนย่า’ แบรนด์ขนมข้าวโพดอบกรอบในตำนานที่คนยุค 90 รู้จักและคุ้นเคยเป็นอย่างดีกับภาพจำ “อร่อยแล้วยังมีของแถม” ที่มีวางจำหน่ายตามร้านค้าปลีกทั่วไป มาวันนี้มีจำหน่ายในร้านเซเว่น อีเลฟเว่นทั่วประเทศ พร้อม 2 แบรนด์ใหม่ “โคโคริ-สแนคทาวน์” โดยมีทายาทรุ่นที่ 3 กิติพัฒน์ เหรียญชัยวานิช รองกรรมการผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท เอสพีอาร์ ฟู๊ด อินดัสทรี จำกัด ร่วมนำทัพ
กิติพัฒน์ เล่าย้อนความให้ฟังว่า เรานำแบรนด์ โคโคริ ข้าวโพดอบกรอบรสปลาหมึกและรสสาหร่าย เข้ามาจำหน่ายในร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ในปี 2552 จากนั้นในปี 2555 จึงได้นำ โอเดนย่า กลับมาจัดจำหน่ายอีกครั้ง โดยเน้นกลุ่มลูกค้าเด็กและวัยรุ่นเป็นหลัก กระทั่งในปี 2564 บริษัทจึงเดินหน้านำ โอเดนย่า กลับมาทำตลาดยุค 90 อย่างเต็มตัว ด้วยการออกสินค้าย้อนยุค ขนมรสชาติดั้งเดิม พร้อมการ์ดพลัง ดราก้อนบอล ซึ่งได้รับการตอบรับจากลูกค้าอย่างล้นหลาม จนสินค้าขาดตลาดไปช่วงหนึ่ง ปัจจุบันเรามีสินค้าภายใต้แบรนด์ทั้ง 3 รวมกว่า 20 รายการ ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้บริโภค โดยคาดว่าในปี 2565 จะมียอดขายในร้านเซเว่น อีเลฟเว่นอยู่ที่กว่า 100 ล้านบาท
สิ่งที่เราให้ความสำคัญและถือเป็นกลยุทธ์หลัก คือ รักษารสชาติดั้งเดิมอย่างที่หลายคนคุ้นเคยไว้ พร้อมคิดค้นรสชาติใหม่ๆ เพื่อคนรุ่นใหม่ ในราคาไม่แพง และคงจุดเด่นของสินค้าไว้นั่นคือ ของแถมที่ตอบโจทย์กลุ่มผู้บริโภค ตั้งแต่ยุค 90 ถึงคนรุ่นใหม่ในปัจจุบัน พร้อมตั้งทีมดูแลผู้บริโภคหากเกิดปัญหา เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาได้ทันท่วงที ควบคู่กับการทำงานและขอรับคำปรึกษาจากทีมเซเว่น อีเลฟเว่น และที่สำคัญคือ เรามีการสร้าง Customer Community ให้กลุ่มผู้บริโภคที่เป็นแฟนคลับของเราได้มีกิจกรรมร่วมกันเปรียบเสมือนครอบครัว ปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 35,000 คน จากเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมามีสมาชิกเพียง 5,000 คน ถือเป็นการทำการตลาดที่ใช้งบไม่สูง แต่ให้ผลลัพธ์ที่ดี แม้ในช่วงโควิดที่ผ่านมายอดจะตกตามสถานการณ์ แต่ด้วยกลยุทธ์ดังกล่าวทำให้ยอดขายกลับมาอยู่ที่กว่า 100 ล้านบาท
แม้กลยุทธ์การทำธุรกิจสู่ยอดขาย 100 ล้านของทั้ง 3 ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี จะมีข้อแตกต่างกัน แต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือ การได้ที่ปรึกษาและมีพันธมิตรที่ดี มีการเปิดกว้างทางด้านความคิด พร้อมยอมรับฟังข้อแนะนำต่างๆ เพื่อนำไปปรับใช้กับธุรกิจ เพราะธุรกิจไม่สามารถเติบโตได้เพียงลำพัง ดังนั้นที่ปรึกษาและพันธมิตรจึงเป็นสิ่งสำคัญ