January 22, 2025

นับตั้งแต่ที่ ไมเคิล อี พอร์เตอร์ ได้นำเสนอแนวคิดเรื่อง Creating Shared Value (CSV) ร่วมกับ มาร์ค เครเมอร์ ในปี พ.ศ.2554 ว่าเป็นบทบาทของภาคธุรกิจที่จะร่วมพัฒนาสังคมด้วยการนำทรัพยากรและความเชี่ยวชาญหลักขององค์กรมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการสร้างคุณค่าร่วมระหว่างองค์กรและสังคมควบคู่ไปพร้อมกัน ซึ่งมีความแตกต่างจากการขับเคลื่อน CSR ในรูปแบบเดิม จนในปัจจุบัน มีองค์กรธุรกิจที่ขานรับเอาแนวคิดดังกล่าวไปใช้กันอย่างแพร่หลายในทุกสาขาอุตสาหกรรม

สำหรับองค์กรที่ต้องการนำแนวคิด CSV เคลื่อนไปสู่ภาคปฏิบัติ ข้อแนะนำของไมเคิล อี พอร์เตอร์ และมาร์ค เครเมอร์ ที่ได้ให้ผ่านทางชุมชนนักปฏิบัติ “Shared Value Initiative” ซึ่งทั้งสองได้ร่วมกันก่อตั้งในปี พ.ศ.2555 มีจุดเริ่มต้นจากการสร้างให้เกิดสภาพแวดล้อมหรือเงื่อนไขสนับสนุนใน 3 ประการสำคัญ ได้แก่ การกำหนดเป็นข้อผูกมัดหรือข้อยึดมั่นในระดับองค์กร การจัดวางโครงสร้างพื้นฐานที่เปิดทางให้เกิดการขับเคลื่อน การเฟ้นหาและบ่มเพาะบุคลากรให้มีไฟและมีพลังนำการขับเคลื่อน

 

Source: Shared Value Initiative, Shared Value at the Enterprise Level: Conditions for an Enabling Environment, 2013.

แนวทางของการกำหนดเรื่องการสร้างคุณค่าร่วมให้เป็นข้อผูกมัดหรือข้อยึดมั่นในระดับองค์กร มีจุดที่เริ่มต้นได้จากการปรับเจตจำนงขององค์กรและการกำหนดวิสัยทัศน์ที่แสดงให้เห็นการคำนึงถึงคุณค่าร่วม การเชื่อมโยงความต้องการทางสังคมในประเด็นที่กำหนดเข้ากับกลยุทธ์ทางธุรกิจ และการสร้างให้เกิดเป็นวัฒนธรรมองค์กร

ส่วนการจัดวางโครงสร้างพื้นฐานที่เปิดทางให้เกิดการขับเคลื่อน CSV ในระดับองค์กร ประกอบด้วย การออกแบบโครงสร้างการดำเนินงานใหม่จากการพิจารณาภาวะความพร้อมของเงื่อนไขอื่นๆ ประกอบการแสวงหาหุ้นส่วนการทำงานร่วมกับองค์กรภายนอกซึ่งมีความเชี่ยวชาญจำเพาะในประเด็นทางสังคมนั้นๆ การพัฒนาหรือดัดแปลงกระบวนการธุรกิจ รวมถึงการสร้างระบบการวัดผลในเชิงคุณค่าร่วม

ในแง่ของการเฟ้นหาและบ่มเพาะบุคลากรให้มีไฟและมีพลังนำการขับเคลื่อนเรื่อง CSV มีข้อพิจารณาตั้งแต่การสร้างแรงจูงใจหรือให้สิ่งจูงใจในรูปแบบที่เหมาะสมแก่พนักงาน การพัฒนาบ่มเพาะความรู้ สมรรถภาพ และภาวะผู้นำ รวมถึงการเฟ้นหาบุคลากรที่มีความสามารถโดดเด่นในเรื่องดังกล่าวเข้ามาร่วมงาน

หลังจากที่ได้ดำเนินการจัดวางเงื่อนไขสนับสนุนและสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยให้เกิดขึ้นแล้ว ข้อพิจารณาต่อมา คือ การจัดวางองค์ประกอบที่ช่วยในการออกแบบความริเริ่มหรือแผนงานในการสร้างคุณค่าร่วม ซึ่งประกอบด้วย การพัฒนากรณีทางธุรกิจ การเข้าร่วมกับหุ้นส่วนดำเนินการภายนอก การกำหนดกิจกรรมและเม็ดเงินลงทุน การจัดโครงสร้างทรัพยากรในองค์กร การกำหนดตัวชี้วัดผลลัพธ์ทางธุรกิจและทางสังคม

การขับเคลื่อน CSV ควรเริ่มต้นจากการสำรวจและทำให้เกิดสภาพแวดล้อมหรือเงื่อนไขที่เอื้อต่อการลงมือปฏิบัติใน 3 ประการสำคัญ ได้แก่ การกำหนดให้ CSV เป็นข้อผูกมัดหรือข้อยึดมั่นในระดับองค์กร การจัดวางโครงสร้างพื้นฐานที่เปิดทางให้เกิดการขับเคลื่อน CSV การเฟ้นหาและบ่มเพาะบุคลากรให้มีไฟและมีพลังนำการขับเคลื่อน CSV

ทั้งนี้ การที่องค์กรจะสามารถจัดวางองค์ประกอบสำหรับความริเริ่มหรือแผนงานในการสร้างคุณค่าร่วม องค์กรจำเป็นที่จะต้องทราบหรือกำหนดระดับการสร้างคุณค่าร่วมที่ประสงค์จะดำเนินการ โดยพิจารณาจากความพร้อมของทรัพยากรและเงื่อนไขที่องค์กรมีอยู่ในขณะนั้นว่าสอดคล้องกับระดับที่เป็นการส่งมอบคุณค่าให้แก่สังคมโดยตรงผ่านทางตัวสินค้าและบริการ หรือเป็นการกำหนดบรรทัดฐานใหม่ในเรื่องผลิตภาพ โดยให้ความสำคัญกับประเด็นทางสังคมตลอดห่วงโซ่คุณค่า หรือเป็นการร่วมพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในท้องถิ่น เช่น การสร้างงาน การสาธารณสุข การศึกษา เศรษฐกิจชุมชน สวัสดิการสังคม

เมื่อองค์กรสามารถกำหนดระดับการสร้างคุณค่าร่วมที่จะดำเนินการ สิ่งที่จะต้องคำนึงถึงในขั้นต่อไป คือ การระบุตัวชี้วัดที่เป็นผลลัพธ์ทั้งในเชิงธุรกิจและในเชิงสังคมของความริเริ่มหรือแผนงานที่สอดคล้องกับระดับการสร้างคุณค่าร่วมที่เลือกดำเนินการ

Source: Shared Value Initiative, Measuring Shared Value: Common Initiative-Level Outcomes, 2013.

ตัวอย่างของคุณค่าทางธุรกิจที่ได้รับ ได้แก่ ยอดรายได้เพิ่มขึ้น ส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้น การเติบโตของตลาด ต้นทุนลดลง การมีแหล่งจัดหาที่มั่นคง ผลิตภาพดีขึ้น คุณภาพดีขึ้น โครงสร้างพื้นฐานสำหรับการกระจายสินค้าและบริการดีขึ้น ระดับการเข้าถึงแรงงานสูงขึ้น ขีดความสามารถในการทำกำไรสูงขึ้น

ตัวอย่างของคุณค่าทางสังคมที่ได้รับ ได้แก่ ยอดการใช้พลังงานลดลง ยอดการใช้น้ำลดลง ยอดการใช้วัตถุดิบลดลง ทักษะในการทำงานดีขึ้น รายรับของพนักงานดีขึ้น ระบบการดูแลผู้ป่วยได้รับการปรับปรุง ปริมาณรอยเท้าคาร์บอนลดลง โภชนาการที่ดีขึ้น การศึกษาที่ดีขึ้น การสร้างงานเพิ่มขึ้น สุขภาวะที่ดีขึ้น เป็นต้น

กรอบการขับเคลื่อน CSV ที่เป็นผลจากการประมวลเงื่อนไขหรือสภาพแวดล้อมที่องค์กรต้องทำให้มีขึ้น องค์ประกอบที่ใช้ในการออกแบบความริเริ่มหรือแผนงาน การกำหนดระดับการสร้างคุณค่าร่วมที่บูรณาการเข้ากับกลยุทธ์องค์กร และการกำกับการสร้างคุณค่าร่วมโดยใช้ตัวชี้วัดทั้งทางธุรกิจและทางสังคมควบคู่กัน สามารถแสดงได้ดังภาพ

Source: Thaipat Institute, Shared Value Framework, Aggregated from APS Network Training: London Cohort, 2013.

ในบริบทของการสร้างคุณค่าร่วม ตัวชี้วัดที่เป็นผลลัพธ์เชิงสังคมจะใช้เป็นตัวตัดสินใจหรือตอบโจทย์การลงทุนในความริเริ่มหรือแผนงานที่องค์กรได้ออกแบบเพื่อดำเนินการ โดยผลได้ในเชิงสังคมที่เกิดขึ้นจะใช้เป็นตัวเหนี่ยวนำให้เกิดผลลัพธ์ในเชิงธุรกิจตามมาด้วย

จะเห็นว่า การขับเคลื่อนการพัฒนาหรือแก้ไขปัญหาสังคมตามแนวคิด CSV จะมุ่งเน้นในเรื่องหรือประเด็นทางสังคมที่เปิดโอกาสให้เกิดการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรและความเชี่ยวชาญขององค์กร โดยมีการนำประเด็นปัญหาสังคมดังกล่าวมาใช้เป็นโจทย์ร่วมในการคิดค้นและพัฒนาแนวทางการดำเนินธุรกิจขององค์กร และให้ความสำคัญกับการทำงานร่วมกับภาคีหุ้นส่วนภายนอกเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และปรับปรุงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง


 

เรื่อง  ดร. พิพัฒน์ ยอดพฤติการ | ประธาน สถาบันไทยพัฒน์
----------------------------------------------
นิตยสารMBA ฉบับที่ 184 Jan - Feb 2015

แนวคิดของการสร้างคุณค่าร่วม (Creating Shared Value: CSV) เสนอให้ธุรกิจต้องสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจให้กับกิจการและสังคมไปพร้อมกันเพื่อความสำเร็จในระยะยาว

การสร้างคุณค่าร่วม หรือ CSV เป็นแนวคิดที่มีรากฐานมาจากเรื่อง CSR ที่ถูกปรับแต่งเพื่อให้ตอบโจทย์ทางกลยุทธ์ในการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจ เพื่อสร้างให้เกิดคุณค่าร่วมระหว่างองค์กรและสังคมไปพร้อมๆ กัน

กิจกรรมทางธุรกิจที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน มีทั้งที่เป็นการสร้างและการทำลายคุณค่า ส่งผลกระทบต่อผู้คนรอบข้างและสภาพแวดล้อมที่อยู่รายรอบ

บางทีการทำโฆษณาอย่างโจ่งแจ้งเพื่อบอกต่อผู้บริโภคว่าแบรนด์เราทำความดีอะไรบ้างเพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้กับองค์กรก็ไม่สามารถการันตีได้ว่าผู้บริโภคจะเชื่อในสิ่งที่แบรนด์พยายามจะบอกเสมอไป

Page 1 of 6
X

Right Click

No right click