ความริเริ่ม CSV

November 15, 2019 2693

การสร้างคุณค่าร่วม หรือ CSV เป็นแนวคิดที่มีรากฐานมาจากเรื่อง CSR ที่ถูกปรับแต่งเพื่อให้ตอบโจทย์ทางกลยุทธ์ในการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจ เพื่อสร้างให้เกิดคุณค่าร่วมระหว่างองค์กรและสังคมไปพร้อมๆ กัน

จุดที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดระหว่าง CSR และ CSV คือ คุณค่าที่องค์กรได้รับในบริบทของ CSR นั้น เป็นเรื่องของการยอมรับ ภาพลักษณ์ ชื่อเสียง หรือปัจจัยที่นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ขณะที่คุณค่าที่องค์กรได้รับในบริบทของ CSV จะเป็นเรื่องของการได้มาซึ่งความสามารถในการสร้างผลกำไรในระยะยาว

ส่วนจุดที่เป็นเอกลักษณ์ของ CSV คือ การขับเคลื่อนการพัฒนาหรือแก้ไขปัญหาสังคมในบริบทของ CSV จะมุ่งเน้นในเรื่องหรือประเด็นทางสังคมที่เปิดโอกาสให้เกิดการใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์และจากความเชี่ยวชาญขององค์กรเป็นสำคัญ ขณะที่ในบริบทของ CSR การดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคม จะครอบคลุมทั้งในเรื่องและประเด็นทางสังคมที่องค์กรต้องปฏิบัติตามกฎหมายเป็นพื้นฐาน รวมถึงเรื่องและประเด็นที่สังคมหรือผู้มีส่วนได้เสียของกิจการคาดหวังให้องค์กรดำเนินการ โดยไม่จำกัดว่าเรื่องนั้น องค์กรจะมีสินทรัพย์หรือมีความเชี่ยวชาญเป็นทุนเดิมอยู่หรือไม่ก็ตาม

Source: Shared Value Initiative, Designing a Shared Value Initiative: Initiative Components, 2014.

 

ในการออกแบบความริเริ่มหรือแผนงานการสร้างคุณค่าร่วม มีองค์ประกอบสำคัญ 5 ประการที่พึงพิจารณา ซึ่งประกอบด้วย

  • การร่วมกับหุ้นส่วนดำเนินการภายนอก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และการปรับปรุงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเพื่อขยายพื้นที่ดำเนินการ
  • การพัฒนากรณีทางธุรกิจ เพื่อตัดสินใจลงทุนดำเนินการ โดยชี้ให้เห็นคุณค่าทางสังคมและคุณค่าทางธุรกิจที่คาดว่าจะได้รับ
  • การกำหนดกิจกรรมและเม็ดเงินลงทุน สำหรับการขับเคลื่อน
  • การจัดโครงสร้างทรัพยากรภายในองค์กร และการบริหารจัดการ สำหรับรองรับการดำเนินงาน
  • การกำหนดและติดตามวัดผลลัพธ์ทางธุรกิจ และผลลัพธ์ทางสังคม

นัยที่สำคัญของแนวคิด CSV คือ การวางรูปแบบของการทำธุรกิจที่นำประเด็นปัญหาสังคมมาเป็นโจทย์ร่วมในการคิดค้นและพัฒนาแนวทางการดำเนินธุรกิจขององค์กร โดยให้ความสำคัญกับการทำงานร่วมกับภาคีหุ้นส่วนภายนอกซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการมุ่งพัฒนาและแก้ไขปัญหาสังคมเป็นหลัก แตกต่างจากการดำเนินธุรกิจทั่วไป ซึ่งมีรูปแบบที่มุ่งตอบโจทย์ผลได้ทางธุรกิจเป็นหลัก โดยมีหุ้นส่วนซึ่งเป็นพันธมิตรในห่วงโซ่ธุรกิจที่มีวัตถุประสงค์ในการมุ่งแสวงหาผลกำไรเหมือนกัน

กล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ แนวคิด CSV เป็นเรื่องของการทำธุรกิจ เป็นเรื่องที่ธุรกิจต้องการดูแลแก้ไขปัญหาสังคมไปพร้อมกับการทำธุรกิจ ด้วยเหตุนี้ CSV จึงเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างผลกำไรทางธุรกิจ

จะเห็นว่า แนวคิด CSV มิได้ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อมาทดแทนเรื่อง CSR หรือเรื่องความยั่งยืน แต่ธุรกิจที่นำแนวคิด CSV มาใช้ สามารถแสดงให้เห็นถึงความรับผิดชอบต่อสังคมผ่านการทำธุรกิจที่แต่ละองค์กรได้ใช้ความถนัดและความเชี่ยวชาญของตนเองอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลสูง โดยมีแรงจูงใจจากผลตอบแทนทางธุรกิจเป็นตัวขับเคลื่อนในตัวเอง และไม่จำเป็นต้องอาศัยแรงกดดันจากภายนอก

การขับเคลื่อนการพัฒนาหรือแก้ไขปัญหาสังคมตามแนวคิด CSV จะคำนึงถึงเรื่องหรือประเด็นทางสังคมที่เปิดโอกาสให้เกิดการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรและความเชี่ยวชาญขององค์กร โดยมีการนำประเด็นปัญหาสังคมดังกล่าวมาใช้เป็นโจทย์ร่วมในการคิดค้นและพัฒนาแนวทางการดำเนินธุรกิจขององค์กร และให้ความสำคัญกับการทำงานร่วมกับภาคีหุ้นส่วนภายนอกเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และปรับปรุงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

ความท้าทายของแนวคิด CSV ที่ใช้แรงจูงใจภายในด้วยผลกำไรทางธุรกิจ อาจจะมีความยั่งยืน และได้รับการตอบรับจากองค์กรธุรกิจมากกว่าเรื่อง CSR ที่มักอาศัยแรงกดดันภายนอกให้แสดงความรับผิดชอบเป็นตัวขับเคลื่อนก็เป็นได้


เรื่อง  ดร. พิพัฒน์ ยอดพฤติการ | ประธาน สถาบันไทยพัฒน์
----------------------------------------------
นิตยสารMBA ฉบับที่ 182 November - December 2014

Rate this item
(0 votes)
Last modified on Friday, 15 November 2019 13:06
X

Right Click

No right click