December 22, 2024

ลาซาด้า ประเทศไทย เผยภาพรวมความสำเร็จ ตอกย้ำตำแหน่งแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่ครองใจนักช้อปและผู้ขาย พร้อมชู 3 กลยุทธ์เสริมแกร่งอีโคซิสเต็ม มุ่งขยายฐานนักช้อปขาประจำในเซ็กเมนต์สินค้าพรีเมียม-แฟชัน-ความงาม เสริมแกร่งนวัตกรรมเพื่อสร้างการมีส่วนร่วม และขยายสิทธิประโยชน์และบริการเสริมสำหรับร้านค้า ตั้งเป้าสานต่อการเติบโตอย่างยั่งยืน หลังธุรกิจทั่วภูมิภาคมีผลกำไรเป็นบวกครั้งแรกในปีนี้

วาริสฐา เกียรติภิญโญชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ลาซาด้า ประเทศไทย กล่าวว่า “ตลอดระยะเวลากว่า 12 ปี ลาซาด้าได้ขับเคลื่อนนวัตกรรมและเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ควบคู่ไปกับการพัฒนาธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่แข็งแกร่ง สะท้อนได้จากสถานะ EBITDA จากการดำเนินธุรกิจใน 6 ประเทศของลาซาด้า กรุ๊ป ที่มีผลเป็นบวกเป็นครั้งแรกในเดือนกรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา ความสำเร็จดังกล่าวชี้ให้เห็นถึงการก้าวสู่ยุคใหม่ของอีคอมเมิร์ซ ซึ่งให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพและความมั่นคงในการดำเนินธุรกิจ มากกว่าการบรรลุเป้าหมายในระยะสั้น เพื่อมุ่งสู่การเติบโตระยะยาวอย่างยั่งยืน”

อุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซไทยมีศักยภาพในการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2566 ไทยเป็นตลาดที่มีมูลค่าสูงเป็นอันดับที่ 2 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยอัตราการเติบโต 20% เทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาค ลาซาด้า ยังเดินหน้าลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยให้ความสำคัญกับกลยุทธ์ 3 ด้าน ได้แก่ การยกระดับประสบการณ์นักช้อป นวัตกรรมและเทคโนโลยี และการสนับสนุนผู้ประกอบการไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน

 ยกระดับประสบการณ์แบบเฉพาะบุคคล

เพื่อตอบรับการขยายตัวของกลุ่มนักช้อปหญิงและบทบาทที่เพิ่มขึ้นของผู้บริโภคกลุ่ม Gen Z ลาซาด้า เดินหน้ากลยุทธ์เพิ่มประสบการณ์การช้อปที่แตกต่าง ภายใต้แนวคิด “Customer-First” เน้นการตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะบุคคลได้ดียิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มอัตราการซื้อซ้ำและความเหนียวแน่นของนักช้อป โดยสร้างความแตกต่างในหมวดหมู่สินค้าพรีเมียม แฟชัน และความงาม ซึ่งเป็นจุดแข็งของแพลตฟอร์ม เห็นได้จากยอดขายรวมของ LazMall ในช่วงเมกะแคมเปญ ซึ่งก้าวกระโดดมากกว่า 7 เท่า เมื่อเทียบกับวันปกติ ในขณะที่ LazBEAUTY มีจำนวนสมาชิกในไทยกว่า 1 ล้านราย

ในโค้งสุดท้ายของปี 2567 ลาซาด้า จะเสริมความแข็งแกร่งของ LazMall ผ่านการขยายพันธมิตรแบรนด์เอ็กซ์คลูซีฟ และรุกเซ็กเมนต์สินค้าลักชูรี ผ่านหมวดสินค้า LazMall Premium Brand นอกจากนี้ ยังตอกย้ำ LazLOOK ในฐานะจุดหมายสินค้าแฟชัน ผ่านแคมเปญรายสัปดาห์ที่จะเข้ามาสร้างความตื่นเต้นและสีสันให้แก่นักช้อปอย่างต่อเนื่อง

 

ลงทุนด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี

ด้วยความมุ่งมั่นที่จะทำให้การช้อปเป็นเรื่องสะดวกและสนุกยิ่งขึ้น ลาซาด้า ยังนำเทคโนโลยี AI เข้ามาขับเคลื่อนการพัฒนานวัตกรรมและฟีเจอร์ต่าง ๆ โดยมี Gamification เป็นกลยุทธ์สำคัญในการสร้างการมีส่วนร่วมกับนักช้อป ที่ผ่านมา LazGame ได้รับผลตอบรับที่ดีเป็นอย่างมากในประเทศไทย โดยมีผู้เล่นเกมกว่า 1 ล้านคนต่อวัน ซึ่งนักช้อปกลุ่มนี้มีการใช้งานแอปพลิเคชันนานกว่าค่าเฉลี่ยของแพลตฟอร์มถึง 3 เท่า และราว 82% กลับมาใช้งานแอปพลิเคชันเป็นประจำทุกวัน

อีกหนึ่งฟีเจอร์ที่สะท้อนถึงความสำเร็จของการลงทุนด้านนวัตกรรมของลาซาด้า คือ ฟีเจอร์ “ถามผู้ใช้งานจริง (Ask the Buyer)” ซึ่งนำเทคโนโลยี AI มาช่วยตั้งคำถามเชิญชวนให้ผู้ซื้อรายก่อน ๆ มาร่วมรีวิวสินค้า เพื่อช่วยให้ผู้ซื้อรายใหม่ตัดสินใจได้ง่ายขึ้น โดยปัจจุบันมีการตอบคำถามจากผู้ซื้อจริงไปแล้วกว่า 1.5 ล้านครั้ง

 

ส่งเสริมและเพิ่มศักยภาพผู้ขายไทย

ด้วยพันธกิจในการสนับสนุนเอสเอ็มอีไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน ลาซาด้า ให้ความสำคัญกับการพัฒนาโซลูชันการตลาดเพื่อสนับสนุนผู้ขายให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างมืออาชีพ เช่น เครื่องมือที่ใช้เทคโนโลยี AI ช่วยปรับแต่งรูปภาพ เขียนคำอธิบายสินค้า และให้บริการลูกค้า โดยพบว่าสามารถเพิ่มอัตราการซื้อได้กว่า 30%  ลาซาด้า ยังนำเสนอโปรแกรมสิทธิประโยชน์ที่ออกแบบให้เหมาะสมกับร้านค้าในทุกกลุ่มและทุกก้าวของธุรกิจนอกจากนี้ ยังพัฒนาบริการเสริมที่จะช่วยให้ผู้ขายนำเสนอประสบการณ์ช้อปปิงออนไลน์ที่ผสานกับออฟไลน์ได้อย่างไร้รอยต่อ เช่น บริการติดตั้งเครื่องใช้ไฟฟ้าและเฟอร์นิเจอร์ การประกันสินค้าประเภทต่าง ๆ รวมถึงการนำสินค้าเก่ามาแลกสินค้าใหม่ในหมวดโทรศัพท์มือถือ เป็นต้น

ในขณะเดียวกัน ลาซาด้า ประเทศไทย ยังได้ผนึกความร่วมมือระยะยาวกับหน่วยงานภาครัฐ เพื่อส่งเสริมศักยภาพการดำเนินธุรกิจอีคอมเมิร์ซของผู้ประกอบการไทยและขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ อาทิ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และกรุงเทพมหานคร ผ่านโครงการต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง

สินค้าจีนทะลักเข้ามาตีตลาดในไทยเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงอย่างต่อเนื่องในสื่อ ซึ่งเริ่มเห็นสินค้าจีนหลากหลายประเภทหลั่งไหลเข้ามาในไทยมากขึ้นเรื่อย ๆ KKP Research ประเมินว่าแนวโน้มดังกล่าว ไม่เพียงแต่จะกระทบต่อผู้ประกอบธุรกิจที่ต้องแข่งขันกับจีนโดยตรงเท่านั้น แต่ยังจะกระทบเศรษฐกิจไทยในภาพรวม ทั้งรายได้ธุรกิจและแรงงาน การขาดดุลทางการค้า ซึ่งเป็นประเด็นที่ภาครัฐจำเป็นต้องพิจารณามาตรการในการช่วยดูแลผลกระทบอย่างเหมาะสม

จีนก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจในการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมและกำลังรุกคืบเข้ามาไทย จีนก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจในภาคการผลิตโลกอย่างรวดเร็วนับตั้งแต่ประเทศจีนเข้าร่วมองค์กรการค้าโลก (World Trade Organization : WTO) ในปี 2001 อย่างไรก็ตามในช่วงวิกฤตโควิด มีหลายการเปลี่ยนแปลงที่เร่งให้สินค้าจากจีนสามารถส่งออกไปยังโลกและไทยได้เร็วมากขึ้น โดยแบ่งออกเป็นสองปัจจัยผลักจากจีน คือ (1) พัฒนาการการเติบโตที่รวดเร็วของแพลตฟอร์ม e-Commerce ในจีนโดยและธุรกรรมในประเทศจีนมีขนาดใหญ่กว่า 50% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งโลก และยังขยายธุรกิจส่งออกโดยอาศัย e-Commerce ข้ามประเทศ (Cross-border e-Commerce) ซึ่งเติบโตขึ้นถึง 15% ในปี 2021 โดยประเทศไทยมีสัดส่วนจากการส่งสินค้าข้ามประเทศจากจีนขนาดประมาณ 24% ของมูลค่า e-Commerce ทั้งหมด (2) เศรษฐกิจภายในประเทศของจีนที่ชะลอตัวลงจากปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ ทำให้จีนต้องหันมาพึ่งพาภาคการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจ

 อย่างไรก็ตาม KKP Research ประเมินว่ามี 4 ปัจจัยในไทยเอง ที่มีส่วนดึงดูดสินค้าจากจีนให้เร่งเข้ามามากกว่าในหลายประเทศ คือ

1) ประเทศไทยมีกฎระเบียบที่เอื้อต่อการนำเข้าสินค้าจากจีน ตัวอย่างเช่น การคิดอัตราภาษีจากสินค้าจีนในระดับต่ำ

2) การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่จีนเป็นผู้นำ เช่น รถยนต์ไฟฟ้า

3) การเกิดขึ้นของ e-Commerce ในประเทศไทย โดยคนไทยมีความคุ้นเคยและนิยมซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้นเรื่อย ๆ โดยพิจารณาจากราคา ไม่ยึดติดกับแบรนด์

4) การให้ Free visa กับนักท่องเที่ยวจากจีน ทำให้ไม่มีการตรวจสอบการเข้าออกประเทศอย่างเข้มงวด เปิดช่องทางให้คนจีนเข้ามาทำการค้าทำธุรกิจในไทยได้โดยง่าย

ปัจจัยทั้งหมดส่งผลให้ไทยเป็นหนึ่งในเป้าหมายการส่งออกสินค้าจากจีน ไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการเร่งตัวของการขาดดุลการค้ากับจีนเร็วมากที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ โดยเพิ่มขึ้นจาก 2.5% ของ GDP ในปี 2012 เป็น 7.5% ของ GDP ในปี 2022 หรือเพิ่มขึ้นกว่า 5 p.p. ซึ่งเกิดจากทั้งการนำเข้ามาเพื่อบริโภคในประเทศเอง และการนำเข้าเพื่อส่งออกสินค้าต่อไปยังต่างประเทศ

สินค้าที่ทะลักเข้าไทยมากที่สุด

KKP Research ประเมินว่าหากพิจารณาพัฒนาการของการค้าระหว่างไทยกับจีนในรายละเอียดอาจสามารถแบ่งได้เป็น 5 กลุ่มสินค้าสำคัญที่น่าสนใจ คือ

1) กลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ จะเป็นกลุ่มที่ส่งผลให้มีการขาดดุลมากที่สุด โดยสินค้าที่สำคัญที่ไทยนำเข้าจากจีนค่อนข้างมาก คือ สินค้าในกลุ่ม smartphone ซึ่งเป็นสินค้าที่สามารถซื้อขายได้ผ่าน e-Commerce Platform ทำให้เห็นภาพว่า e-Commerce มีบทบาทสำคัญเช่นกันในการส่งผ่านสินค้าจากจีนมายังไทยมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

2) สินค้าในกลุ่มเครื่องจักร เคยเป็นหนึ่งในประเภทสินค้าที่ไทยเกินดุลการค้ากับจีนจากสินค้าอย่าง Hard Disk Drive อย่างไรก็ดี ในภายหลังสินค้าเครื่องจักรจากจีนเริ่มเข้ามาในตลาดไทยมากขึ้น นำโดย Laptop และเครื่องใช้ไฟฟ้า

3) สินค้าในกลุ่มยานยนต์ สินค้าที่ขาดดุลกับจีนเป็นอันดับต้น ๆ ส่วนใหญ่เป็นชิ้นส่วนรถยนต์ ขณะที่สินค้าที่เกินดุลการค้ากับจีนเป็นสินค้ารถยนต์ที่ประกอบสำเร็จแล้ว โดยในปี 2022 เริ่มเห็นสัญญาณความเสี่ยงจากการที่ไทยเริ่มขาดดุลการค้ากับจีนในสินค้ารถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV โดยมีการขาดดุลเพิ่มขึ้นแซงหน้าชิ้นส่วนยานยนต์ทุกประเภท

4) เหล็กกล้าและอะลูมิเนียม พบว่าเหล็กและอะลูมิเนียมขาดดุลการค้ามากขึ้นทุกปีกับจีน โดยมีสาเหตุจากกำลังการผลิตที่เกินอุปสงค์ภายในประเทศจีนที่ชะลอตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจ สุดท้ายจึงต้องส่งออกเหล็กสำเร็จรูปเหล่านั้นมาที่ประเทศอื่น ๆ รวมถึงประเทศไทย

5) เคมีภัณฑ์และพลาสติก เปลี่ยนจากการเกินดุลการค้าเป็นขาดดุลการค้าในช่วงที่ผ่านมา โดยข้อมูลจากองค์กรพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ระบุว่าในปัจจุบันจีนมีการพัฒนาเพื่อรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจและภาคอุตสาหกรรม โดยมีกำลังผลิตรวมมากกว่ายุโรป ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้รวมกันเสียอีก จีนจึงไม่จำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าอีกต่อไป

 e-Commerce platform คลื่นยักษ์ลูกใหม่ที่เร่งการทะลักของสินค้าจีนมาไทย

KKP Research ประเมินว่าหนึ่งในปัจจัยเร่งการส่งสินค้าจีนมายังไทย คือ การเติบโตของ e-Commerce platform โดยข้อมูลชี้ว่ามูลค่า e-Commerce เติบโตเฉลี่ยถึงปีละ 10.5% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยการเติบโตเร่งขึ้นมากในช่วงโควิดส่งผลให้ในปี 2023 ตลาด e-Commerce มีมูลค่าโดยรวมอยู่ที่ราว 5.96 ล้านล้านบาท โดยสัดส่วนกว่า 50% เป็นธุรกิจประเภท Business-to-Consumer (B2C) คือการขายของออนไลน์จากธุรกิจไปยังผู้บริโภคโดยตรง ในด้านช่องทางการซื้อขายออนไลน์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดอันดับแรก คือ e-Marketplace

สาเหตุที่ทำให้ e-Commerce ในประเทศไทยเติบโตอย่างรวดเร็วและยังมีโอกาสเติบโตต่อไปได้สูงจากหลายปัจจัย ได้แก่

(1) การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่อยู่ในระดับสูง โดยสัดส่วนประชากรที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตสูงถึง 88% จัดอยู่ในอันดับต้น ๆ ของโลก เทียบกับค่าเฉลี่ยโลกที่ 66%

(2) สัดส่วนการเข้าถึง smart phone สูงถึง 77.2% เทียบกับค่าเฉลี่ยโลกที่ 69%

(3) การเข้าถึงข่องทางการชำระเงินออนไลน์ (online payments) ที่หลากหลาย ช่วยสนับสนุนการค้าปลีกออนไลน์ให้มีความสะดวกในต้นทุนที่ต่ำ ติดอันดับต้น ๆ ของโลก ในระยะข้างหน้าการแข่งขันในสมรภูมิ e-Commerce กำลังจะเข้มข้นขึ้นอีก เมื่อ มี e-Marketplace platform เจ้าใหม่ที่เจาะตลาดไปแล้วถึง 51 ประเทศทั่วโลกและได้รุกก้าวเข้ามาบุกตลาดในประเทศไทยเมื่อไม่นานมานี้

 เศรษฐกิจไทยภายใต้แรงกดดันจากสินค้าจีน

ในกรณีของประเทศไทยการเติบโตของ e-Commerce มีแนวโน้มส่งผลกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจไทยในระยะยาว โดยผลจะแตกต่างกันในแต่ละกลุ่มผู้เล่นในระบบเศรษฐกิจ 1) ผู้บริโภคมีแนวโน้มได้ประโยชน์ เพราะสามารถซื้อสินค้าได้ในราคาถูกลง 2) ผู้ผลิตในกลุ่มธุรกิจที่ได้ประโยชน์จากการใช้วัตถุดิบราคาถูก หรือธุรกิจที่โตไปพร้อมกับ e-Commerce 3) ผู้ผลิตในกลุ่มสินค้าเดียวกับสินค้าที่นำเข้าผ่าน e-Commerce มีแนวโน้มได้รับผลกระทบทางลบจากการเข้ามาทดแทนของสินค้าจีน ตัวอย่างเช่น สินค้าในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า

เมื่อพิจารณาสินค้าในกลุ่มที่มีแนวโน้มส่งออกผ่านแพลตฟอร์ม e-Commerce มายังประเทศไทย กลุ่มสินค้าที่ไทยมีแนวโน้มขาดดุลกับจีนมากขึ้นและมีแนวโน้มเกี่ยวข้องกับ e-Commerce คือ คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งมีมูลค่าเพิ่มมากถึง 8.8% ของภาคการผลิตไทย เครื่องใช้ไฟฟ้ามีมูลค่าเพิ่ม 3.5 % และอุตสาหกรรมสิ่งทอและเสื้อผ้ามีมูลค่าประมาณ 3 % โดยนับรวมเป็นมูลค่าเพิ่มในภาคการผลิตในกลุ่มที่มีความเสี่ยงนี้คิดเป็นประมาณ 18% ของ มูลค่าการผลิตทั้งหมดของประเทศ โดยเริ่มเห็นทิศทางการผลิตที่ชะลอลงแล้วในช่วงที่ผ่านมา นอกจากนี้การเข้ามาของ e-Commerce ยังมีแนวโน้มส่งผลกระทบต่อ ภาคบริการแบบเก่า คือ กลุ่มค้าปลีกมีโอกาสได้รับผลกระทบ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนใหญ่ถึงประมาณ 16% ของ GDP

KKP Research ประเมินว่าอาจมีผลกระทบสำคัญตามมาอีกอย่างน้อย 5 เรื่อง คือ 1) รายได้ของธุรกิจมีแนวโน้มถูกกระทบรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดเล็กที่ปรับตัวได้ยากกว่า 2) หนี้เสียมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น โดยในปัจจุบันเริ่มเห็นสัญญาณการเพิ่มขึ้นของหนี้เสียของธุรกิจในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งมีแนวโน้มเป็นกลุ่มสินค้าเดียวกันกับสินค้าที่ไทยขาดดุลกับจีนมากขึ้น เช่น สิ่งทอและเสื้อผ้า เหล็ก 3) ดุลการค้ามีแนวโน้มพลิกเป็นขาดดุลในระยะยาวและกดดันค่าเงินบาทจากการนำเข้าสินค้าจีนทดแทนการผลิต 4) เงินเฟ้อไทยมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง จากสินค้าราคาถูกจากจีน 5) รัฐบาลไทยสูญเสียรายได้ภาษี จากการที่การชำระเงินให้กับการซื้อสินค้าออนไลน์บนแพลตฟอร์มข้ามชาติเหล่านี้ ถูกจ่ายตรงไปยังธุรกิจในต่างประเทศ

 ไทยควรรับมืออย่างไร ?

การเข้ามาบุกตลาดของสินค้าจีนอาจมีข้อดีทำให้ซื้อสินค้าในราคาถูกลง แต่ตามมาด้วยผลกระทบด้านลบต่อผู้ประกอบการไทย ทั้งนี้การออกมาตรการสกัดกั้นหรือตอบโต้สินค้าจากจีนอาจเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อนในทางการเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ KKP Research ประเมินว่าภาครัฐไม่จำเป็นต้องกีดกันสินค้าจากจีนในวงกว้าง หากแต่ควรพิจารณาออกแบบมาตรการรับมือ ที่เหมาะสมกับสถานการณ์และหลักการในมิติดังต่อไปนี้

1) Fair competition: สินค้านำเข้าเป็นการนำเข้าที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย มีการลักลอบ หรือใช้ช่องว่างทางกฎหมายต่าง ๆ เพื่อหลบเลี่ยงภาษี หรือเป็นการทุ่มตลาด ทำให้ผู้ประกอบการไทยเสียผลประโยชน์จากการแข่งขันที่ไม่เท่าเทียม

2) Quality and standards: สินค้านำเข้าเป็นการนำเข้าสินค้าที่ไม่ได้คุณภาพมาตรฐานตามที่กำหนดโดยมาตรฐานสินค้าและอาหารของหน่วยงานภาครัฐไทยหรือไม่?

3) Strategic industry: สินค้านำเข้าเป็นการนำเข้าที่มาแข่งขันกับการผลิตในประเทศในอุตสาหกรรมสำคัญที่มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์สำหรับเศรษฐกิจไทย และการจ้างงานในภาพรวมหรือไม่?

ในกรณีที่สินค้ามีลักษณะที่ตรงตามเกณฑ์ต่าง ๆ ภาครัฐควรให้ความช่วยเหลือธุรกิจไทยในกรณีที่มีการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม หรือเป็นการช่วยให้อุตสาหกรรมที่มีความสำคัญกับเศรษฐกิจมีเวลาปรับตัวมากเพื่อรักษาผลประโยชน์สูงสุดต่อเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นมาตรการใดที่จะใช้ในการตั้งรับกับการแข่งขันในสมรภูมิสินค้าที่ดุเดือดมากขึ้นนี้ก็อาจเป็นเพียงการซื้อเวลาให้ผู้ประกอบการได้พอมีเวลาปรับตัว แต่สุดท้ายแล้วผู้ชนะในตลาดนี้จำเป็นต้องแข่งกันด้วยคุณภาพของสินค้า ประสิทธิภาพในการผลิต ความคุ้มค่า รวมไปถึงการบริการที่ตอบโจทย์และได้ความพึงพอใจจากผู้บริโภค นับเป็นโอกาสที่ดีที่ภาคการผลิตไทยจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจ พัฒนาประสิทธิภาพการผลิต สร้างนวัตกรรม สร้างแบรนด์ที่มีความแตกต่าง เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มที่สูงขึ้น โดยภาครัฐอาจต้องช่วยส่งเสริมด้วยการสนับสนุนการลงทุนในเทคโนโลยีและนวัตกรรม การพัฒนาปรับปรุงการผลิต รวมถึงการบุกเบิกตลาดใหม่

พร้อมเผยปี 2023 คนไทยช้อปออนไลน์ทะลุ 7 แสนล้าน สูงเป็นประวัติการณ์ มากกว่ายอดขาย 7-11 ทุกสาขาทั้งปี

มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง พัฒนาแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ www.4localmall.com มุ่งมั่นผลักดันผู้ประกอบการและวิสาหกิจชุมชนท้องถิ่น ยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชนให้เป็นที่รู้จักแพร่หลาย

เฟดเอ็กซ์ เอ็กซ์เพรส (FedEx Express) บริษัทในเครือเฟดเอ็กซ์ คอร์ปอเรชั่น (FedEx Corp.) (NYSE: FDX)

Page 1 of 2
X

Right Click

No right click