January 06, 2025

สสว. จัดเวทีสัมมนาประจำปี “SME Symposium 2024” ชี้ทิศทางธุรกิจ SME ปี 2568 กลุ่มดาวรุ่ง ได้แก่ การผลิตสื่อคอนเทนต์ การขายสินค้าออนไลน์ การผลิตเครื่องดื่มอัดแก๊ส บริการจัดเลี้ยง ธุรกิจฟิตเนส ยิม และการจัดการแข่งขันกีฬา ส่วนธุรกิจหอพักนักเรียนนักศึกษา ต้องเฝ้าระวัง 3 ปีซ้อน เนื่องจากมูลค่าธุรกิจลดลงต่อเนื่อง ผลจากความต้องการของกลุ่มเป้าหมายและรูปแบบการเรียนการสอนที่เปลี่ยนแปลงไป สสว. เชื่อมั่นทางรอดเอสเอ็มอีแข่งขันได้ คือ การค้นหาเอกลักษณ์ สร้างอัตลักษณ์ เพิ่มความแตกต่างจากคู่แข่ง และใช้ ESG ช่วยสร้างโอกาสในการแข่งขันทั้งในประเทศและต่างประเทศ และสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนได้ต่อไป

นางสาวปณิตา ชินวัตร รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) รักษาการ ผอ.สสว. กล่าวว่า สสว. จัดงาน SME Symposium 2024 ให้เป็นงานสัมมนาประจำปีเพื่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย โดยจัดต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 3 เป้าหมายสำคัญเพื่อสะท้อนถึงสถานการณ์ของเอสเอ็มอีในปัจจุบันและแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในปี 2568 รวมทั้งข้อมูลที่เป็นประโยชน์สำหรับผู้ประกอบการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาตนเอง รวมทั้งแนวทางการส่งเสริมสนับสนุนเพื่อสร้างการเติบโตที่ยั่งยืน

สำหรับสถานการณ์เอสเอ็มอีปัจจุบัน พบว่าเอสเอ็มอีไทยมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยธุรกิจเอสเอ็มอีมีจำนวนทั้งสิ้น 3.2 ล้านราย เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 จากปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและธุรกิจขนาดย่อมที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นสูงในอัตราร้อยละ 8.2 และ 5.4 ตามลำดับ ด้านการจ้างเอสเอ็มอีได้สร้างงานกว่า 12.93 ล้านตำแหน่ง คิดเป็นสัดส่วนกว่า 70% ของการจ้างงานทั้งประเทศ โดยเฉพาะธุรกิจในภาคการบริการและภาคการค้าที่เอสเอ็มอีมีบทบาทอย่างมากทั้งในด้านจำนวนธุรกิจและการจ้างงาน

โดยเอสเอ็มอีสร้างมูลค่าให้กับเศรษฐกิจไทยสะสมตั้งแต่ไตรมาส 1 - ไตรมาส 3 ปี 2567 มากกว่า 4.81 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 35 ของ GDP ประเทศ ขยายตัวได้ร้อยละ 3.0 โดยภาคการค้า การผลิต และการบริการ ยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่ง การบริโภคจากนักท่องเที่ยวและการส่งออกที่เติบโตขึ้นได้ช่วยเสริมแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจเอสเอ็มอีให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้จะมีปัจจัยเสี่ยงจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงและภัยพิบัติหลายครั้งที่กระทบภาคธุรกิจการเกษตรอย่างมาก

ด้านการค้าระหว่างประเทศ 10 เดือนแรก เอสเอ็มอีไทยสามารถสร้างรายได้เข้าประเทศมากกว่า 1.15 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 13 ของรายได้จากการส่งออกรวม ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึงร้อยละ 18.6

โดยเฉพาะการส่งออกไปยังตลาดสำคัญอย่างจีนและสหรัฐอเมริกา ในกลุ่มสินค้าอุปกรณ์ไฟฟ้า อัญมณีและเครื่องประดับ ผลไม้ ซึ่งมีอัตราการเติบโตสูง ขณะที่การนำเข้าของเอสเอ็มอีไทยเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.2 โดยเกือบร้อยละ 50 เป็นการนำเข้าสินค้าจากจีน โดยเฉพาะสินค้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางสำหรับใช้ในการผลิตทั้งเพื่อใช้ในประเทศและเพื่อส่งออก เนื่องจากสินค้าจีนมีราคาถูกกว่าและช่วยลดต้นทุนการผลิตให้กับผู้ประกอบการไทยได้

จากผลการสำรวจและวิเคราะห์ข้อมูลของ สสว. ในปี 2567 เทียบกับปี 2566 เพื่อสะท้อนให้เห็นว่าธุรกิจใดขยายตัวหรือธุรกิจใดมียอดขายลดลง โดยใช้เกณฑ์ยอดขายมากกว่า หรือน้อยกว่า 30% จากปีก่อน พบว่า ปัจจัยที่ส่งผลต่อการขยายตัวหรือการลดลงของยอดขายในธุรกิจ  มีผลมาจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคหลังสถานการณ์โควิด-19 สภาพเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและไม่แน่นอน เทรนด์หรือแนวโน้มการปรับตัวไปสู่ธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม โดยธุรกิจที่มีรายได้ขยายตัวมากกว่า 30% จากปีก่อน หรือที่เรียกว่ากลุ่มดาวรุ่ง

ได้แก่ กลุ่มธุรกิจห้องพักรายเดือน ขยายตัวตามพฤติกรรมคนรุ่นใหม่ที่ไม่นิยมการซื้ออสังหาริมทรัพย์และต้องการใช้ชีวิตในเมือง กลุ่มธุรกิจการขายสินค้าบนช่องทางออนไลน์ ขยายตัวจากพฤติกรรมการซื้อที่เปลี่ยนแปลงและง่ายต่อการเข้าถึง กลุ่มธุรกิจผลิตสื่อคอนเทนต์ ขยายตัวจากการผลิตสื่อบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่เติบโตสูง กลุ่มธุรกิจฟิตเนส/ยิมและการจัดแข่งกีฬา ที่ขยายตัวตามเทรนด์การดูแลสุขภาพและการเติบโตของกิจกรรมการแข่งกีฬา และธุรกิจการผลิตบรรจุภัณฑ์ที่ขยายตัวได้ตามความนิยมการซื้อของออนไลน์

ส่วนธุรกิจเฝ้าระวัง พบว่า อยู่ในกลุ่มธุรกิจที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงกระบวนการผลิตได้ง่าย และต้องใช้เทคโนโลยีดั้งเดิม ยากต่อการปรับตัวเพื่อให้เข้าสู่ธุรกิจสีเขียวและคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมได้ยาก ได้แก่ กลุ่มธุรกิจการผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติก การผลิตเคมีภัณฑ์ การผลิตเครื่องหนัง การผลิตสิ่งทอ และกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากพฤติกรรมผู้บริโภครวมถึงการแข่งขันที่สูงขึ้น

ได้แก่ กลุ่มธุรกิจหอพักนักเรียนหรือนักศึกษาที่มีตัวเลือกมากและหลากหลายรูปแบบในปัจจุบัน ธุรกิจสวนสนุก เช่น สวนน้ำที่มีการแข่งขันสูงกับธุรกิจสวนสนุกขนาดใหญ่ที่มีเครื่องเล่นหลากหลาย มีความเฉพาะในรูปแบบการท่องเที่ยวที่ต้องเน้นไปยังกลุ่มวัยรุ่นและเด็ก ต้องอยู่ในแหล่งท่องเที่ยวหลักที่มีนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศ การทำโปรโมชั่นที่แข่งขันอย่างรุนแรงในตลาด

โดยกลุ่มธุรกิจที่ได้กล่าวไปนั้น ทั้งในส่วนที่เป็นกลุ่มดาวรุ่งและกลุ่มธุรกิจเฝ้าระวัง ยังคงต้องติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่องในปี 2568 จากความผันผวนทางเศรษฐกิจ กำลังซื้อภาคประชาชน เทรนด์หรือแนวโน้มใหม่ที่จะเกิดขึ้น

รักษาการ ผอ. สสว.  เผยอีกว่า ส่วนการคาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์เอสเอ็มอีปี 2568 สสว. คาดว่า GDP เอสเอ็มอีไทยจะขยายตัวที่ร้อยละ 2.5-3.5 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชน การลงทุนภาครัฐ และการส่งออกที่ยังคงเติบโตได้ โดยเฉพาะในภาคการเกษตรและการผลิต เช่น อาหารและเครื่องดื่ม อิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์ ที่มีแนวโน้มเติบโตสูง แต่ยังคงต้องกังวลกับสถานการณ์การแข่งขันด้านราคาจากสินค้าจีนบุกตลาดไทยและทั่วโลก เอสเอ็มอีไทยจำเป็นต้องเร่งปรับตัวจากความท้าทายดังกล่าว โดยสร้างความแตกต่าง มีเอกลักษณ์ หรือการสร้างคุณค่าผ่านอัตลักษณ์ไทย

จากการศึกษาของ สสว. ในช่วงที่ผ่านมา พบว่า ไทยมีศักยภาพสูงในหลายด้าน ทั้งในด้านการท่องเที่ยว แหล่งผลิตอาหารคุณภาพสูงของโลก ศิลปวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่า แต่ยังขาดการเชื่อมโยงไปยังสินค้าและบริการที่จะส่งผ่านคุณค่าไปยังกลุ่มเป้าหมาย หากเอสเอ็มอีไทยจะก้าวข้ามและสามารถแข่งขันได้ในระยะต่อไป จำเป็นต้องสู้ในธุรกิจมูลค่าสูง โดยการยกระดับสินค้าและบริการด้วยคุณค่าที่มากกว่าการซื้อสินค้าและบริการตามความจำเป็นในการใช้ชีวิต แต่ต้องสร้างสินค้าและบริการที่ตอบสนองความต้องการเชิงอารมณ์ ที่สามารถเข้าถึงประสบการณ์ใหม่ ประสบการณ์ที่แตกต่าง ประสบการณ์ที่สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตที่เหนือกว่าความปกติ สามารถส่งผ่านประสบการณ์ผ่าน Social Media ได้

ทั้งนี้ การยกระดับ พัฒนาสินค้าและบริการให้ไปถึงความต้องการนั้นได้ ประกอบด้วย 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ แนวความคิดของผู้ประกอบการ การเข้าใจลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย การสร้างคุณค่าของสินค้าและบริการได้ตรงความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย ทั้ง 3 ปัจจัยหลักถูกเชื่อมโยงกันและขับเคลื่อนเป็นพลวัต ไม่สามารถทำอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วจะประสบความสำเร็จได้ โดยปัจจัยด้านแนวคิดของผู้ประกอบการ ประกอบด้วย วิสัยทัศน์ของตัวผู้ประกอบการเองที่มีความสามารถในการมองเห็นโอกาส ทิศทาง หรือแนวโน้มอนาคตที่จะเกิดขึ้นได้ การสร้างคอนเนคชั่นในเชิงธุรกิจที่สามารถเชื่อมโยงและนำไปต่อยอดได้อย่างเป็นรูปธรรม

ส่วนปัจจัยในด้านกลุ่มเป้าหมาย หรือ กลุ่มลูกค้า พบว่า ปัจจัยที่มีความสำคัญ อาทิ ความเข้าใจและจำแนกกลุ่มลูกค้าของตนได้อย่างชัดเจน  สามารถสร้างสินค้าและบริการที่ตอบสนองความต้องการได้ตรงจุด พัฒนากลยุทธ์การตลาดกับกลุ่มเป้าหมายให้สามารถเข้าถึงและเกิดความต้องการ

เช่น การสร้างเรื่องราวที่สัมพันธ์กับสินค้าหรือบริการ การดึงจุดเด่นที่สามารถเชื่อมโยงกับศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ สามารถใช้กลยุทธ์และเครื่องมือการตลาดทั้งออฟไลน์และออนไลน์ เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่กำหนดไว้

ส่วนปัจจัยด้านคุณค่าของสินค้าและบริการ เป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินธุรกิจ เพื่อส่งต่อคุณค่าไปยังกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งสามารถตอบสนองความต้องการของกลุ่มเป้าหมายได้ โดยมีพื้นฐานจากการใช้วัตถุดิบที่ดีและมีคุณภาพ การมีทักษะการผลิตหรือการให้บริการขั้นสูง มีมาตรฐานหรือผ่านการประกวด ได้รับรางวัลจากเวทีต่าง ๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในตัวสินค้าและบริการ 

ในส่วนการสร้างธุรกิจมูลค่าสูงนั้น  ผู้ประกอบการต้องมีแนวคิดและเข้าใจลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย สามารถส่งผ่านคุณค่าของสินค้าและบริการนั้น ไปยังเป้าหมายที่กำหนด เพื่อให้เกิดความต้องการเชิงอารมณ์ มากกว่าแค่ความจำเป็นในการดำรงชีวิต

โดยสามารถเชื่อมโยงกับความเป็นไทย ศิลปะท้องถิ่น ทรัพยากรเฉพาะถิ่น นำมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาสินค้าและบริการ รวมทั้งการใช้เครื่องมือการตลาดที่เหมาะสม เพื่อเข้าถึงลูกค้ากลุ่มเป้าหมายได้ถูกต้อง คุณค่าดังกล่าวสามารถทำให้ผู้บริโภคมองข้ามปัจจัยด้านราคา และยอมจ่ายในราคาที่เหมาะสมกับคุณค่าที่ได้รับ และเป็นการสนองตอบความต้องการของลูกค้าได้

อย่างไรก็ดี ภายในงาน SME Symposium 2024” ยังมีการเสวนาในหัวข้อ “สรรค์สร้างอัตลักษณ์
ฝ่าวงล้อมมังกรใหญ่ ทางรอดธุรกิจ
SME ไทย” โดยวิทยากรที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ มาร่วมให้ข้อมูลรวมถึงมุมมองแนวคิดที่เป็นประโยชน์ ได้แก่

1) นายตฤณ วุ่นกลิ่นหอม นายกสมาคมการค้าดิจิทัลไทย (TDTA) มาให้ข้อมูลแนวทางการรับมือกับการเข้ามาของสินค้าจีนและสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยในการเข้าสู่ตลาดจีน

2) นายดุลยพล ศรีจันทร์ Co-Founder ของ PDM Brand ผู้จำหน่ายสินค้าเฟอร์นิเจอร์ เสื่อตกแต่งบ้านที่มีความโดดเด่นเฉพาะตัว มีการจัดจำหน่ายสินค้าโดยไม่ต้องมีโรงงานผลิต ไม่มีสินค้าในคลังสินค้าให้เป็นต้นทุนหลัก

3) นางสาวณัฐธิดา พละศักดิ์ เจ้าของธุรกิจร้านอาหารซาว ร้านอาหารอีสานพรีเมี่ยมที่มี Style เฉพาะตัวด้วยเมนูอีสานแท้หาทานยากและมีความหลากหลาย เน้นวัตถุดิบคุณภาพ สะอาด รสชาติที่มีความเป็นอีสานอย่างมีเอกลักษณ์ไม่ซ้ำใคร

และ 4) นายจิรายุทธ ภูวพูนผล Co-Founder ร้าน โอ้กะจู๋ กิจการฟาร์มผักออแกนิคสู่ร้านสลัดพันล้าน ผู้ให้ความสำคัญกับเกษตรกรที่ถือเป็นต้นทางของวัตถุดิบคุณภาพและการพัฒนาเครือข่ายสังคมให้ท้องถิ่นเติบโตไปพร้อมกัน การสร้างธุรกิจที่อยู่ในกระแสสุขภาพ รวมถึงการขยายธุรกิจโดยมีผู้ประกอบการรายใหญ่ร่วมทุนด้วยทำให้สามารถเสริมศักยภาพกิจการให้เติบโตได้เร็วขึ้น

เนื่องจากปัจจุบันแนวโน้มตลาดทั้งในและต่างประเทศให้ความสำคัญกับปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้นจากการเลือกใช้สินค้าหรือบริการที่มีการผลิต หรือมีส่วนของการดำเนินการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การคิดเพื่อสังคม รวมถึงการดำเนินธุรกิจที่เชื่อถือได้ ตามแนวทาง ESG  (Environment, Social, และ Governance) เพื่อความยั่งยืน (Sustainability) ในการดำเนินธุรกิจด้วย

ดังนั้น เอสเอ็มอีที่เริ่มลงทุนใหม่หรือวางแผนลงทุนเพิ่มเติม ควรคำนึงถึงเรื่องเหล่านี้ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า แม้กระทั่งการเป็นส่วนหนึ่งของ Supply Chain ธุรกิจทั้งในและต่างประเทศที่ให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าว

ทั้งนี้ สสว. ได้ให้การสนับสนุนผู้ประกอบการ ทั้งด้านการให้ความรู้เตรียมความพร้อมให้ การเพิ่มศักยภาพ การให้คำปรึกษาเฉพาะด้าน การจัดทำมาตรฐาน การจัดทำข้อมูลการใช้คาร์บอน ผ่านงานส่งเสริมต่าง ๆ ของ สสว. และหน่วยร่วมดำเนินการ โดยสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ SME Connext และยังสามารถสอบถามรายละเอียดหรือข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์ให้บริการ SME ครบวงจรซึ่งตั้งอยู่ในทุกจังหวัดทั่วประเทศ หรือที่ สสว. Call Center โทร. 1301

สสว. จับมือ สภาอุตฯ ผลักดันโครงการส่งเสริมและพัฒนาการเริ่มต้นเป็นผู้ประกอบการ SME ด้วย Soft Power เพื่อส่งเสริมและพัฒนาผู้ที่ต้องการเป็นเอสเอ็มอีรายใหม่กลุ่มอาหาร กลุ่มท่องเที่ยว กลุ่มออกแบบแฟชั่น กลุ่มภาพยนตร์ จากจำนวน 740 ราย คัดเหลือ 79 ราย คาดสร้างมูลค่าได้กว่า 180 ล้านบาท

นาวสาวณหทัย ทิวไผ่งาม ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการเป็นประธานเปิดงานพิธีปิดและแถลงความสำเร็จ โครงการส่งเสริมและพัฒนาการเริ่มต้นเป็นผู้ประกอบการ SME ด้วย Soft Power ว่า รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุน ซอฟต์ เพาเวอร์ (Soft Power) ของประเทศ เพื่อยกระดับและพัฒนาความสามารถด้านความรู้ ความสามารถ และความคิดสร้างสรรค์ของคนไทย ให้สร้างมูลค่าและสร้างรายได้ รวมทั้งการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และพัฒนาต่อยอดศิลปะ วัฒนธรรม และส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อนำมาต่อยอดในการสร้างมูลค่าเพิ่ม และรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งได้เห็นถึงความสำเร็จในก้าวแรก โดย สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ได้วางแนวทางการส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอีด้วยซอฟต์ พาวเวอร์ (Soft Power) ได้ดี ตรงกับภารกิจของหน่วยงานและสอดรับกับนโยบายของรัฐบาล มีสินค้าและบริการหลายๆ อย่างที่สามารถต่อยอดและผลักดันไปสู่เวทีโลกได้ โดยเฉพาะเรื่องอาหารไทยและการท่องเที่ยวที่เป็นฟันเฟืองเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย โดยรัฐบาลคาดหวังว่า ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน จะร่วมกันพัฒนา ส่งเสริมและช่วยเหลือผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีความเข้มแข็ง เติบโต และเตรียมความพร้อมเข้าสู่ระบบอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งยังส่งเสริมให้ผู้ประกอบการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน สามารถเข้ามาขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยในอนาคตต่อไป

นายวชิระ แก้วกอ รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวว่า ในช่วงการดำเนินธุรกิจตั้งแต่เริ่มต้นจนถึง 3 ปีแรก เป็นช่วงที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐ เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจและอยู่รอดได้ ดังนั้นการสร้างกลไกต่าง ๆ ในการต่อยอดธุรกิจ การหาช่องทางตลาด การเข้าถึงแหล่งเงินทุน ฯลฯ ล้วนมีความสำคัญสำหรับผู้ประกอบการใหม่ และเป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการเป็นลำดับแรก เพื่อให้ธุรกิจสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน สำหรับผลสำเร็จของการดำเนินงานโครงการส่งเสริมและพัฒนาการเริ่มต้นเป็นผู้ประกอบการ ด้วยซอฟต์ พาวเวอร์ในวันนี้ จากผู้ประกอบการ 740 ราย และได้เลือกเฟ้นผู้ประกอบการที่มีความโดดเด่น ที่สามารถสื่อสารอัตลักษณ์ของท้องถิ่นผ่านสินค้าและบริการได้อย่างน่าสนใจ วันนี้ และต้องขอแสดงความยินดีกับทั้ง 79 ราย หลังจากนี้ สสว. ยังมีกิจกรรมและโครงการที่จะสนับสนุนและส่งเสริมผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งหวังที่จะสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทุกราย รวมถึง สสว.ยังมีศูนย์ให้บริการเอสเอ็มอีครบวงจรหรือศูนย์ OSS ที่ประจำอยู่แต่ละจังหวัดซึ่งสามารถไปรับบริการและขอคำปรึกษาได้ตลอดเวลา

 

นายอภิชิต ประสพรัตน์  ประธานสถาบันวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมอุตสาหกรรมการผลิต (SMI) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวสรุปข้อมูลการดำเนินงานว่า โครงการส่งเสริมและพัฒนาการเริ่มต้นเป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีด้วยซอฟต์ พาวเวอร์ (Soft Power) ครั้งนี้ สามารถอบรมให้ความรู้ในการดำเนินธุรกิจแก่ผู้ที่ต้องการเป็นผู้ประกอบการและผู้ประกอบการายใหม่ จำนวน 740 ราย สามารถต่อยอด/เชื่อมโยงกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชนและสถาบันการเงินได้ 148 ราย และที่สำคัญสามารถจดทะเบียนกับหน่วยงานภาครัฐได้จำนวน 126 ราย ภายใต้โครงการยังได้ผลการศึกษารูปแบบการพัฒนาธุรกิจ ซอฟต์ เพาเวอร์ (Soft Power) ในอุตสาหกรรมเป้าหมายจำนวน 1 ฉบับที่จะสามารถนำไปเป็นแนวทางในการพัฒนาอุตสาหกรรม ซอฟต์ เพาเวอร์ (Soft Power) ในอนาคตต่อไปได้ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่ผ่านการคัดเลือกเข้าโครงการ ได้ถูกต่อยอดเพื่อสร้างโอกาสทางการตลาดอย่างต่อเนื่อง โดยทางโครงการได้คัดเลือกผู้ประกอบการที่มีความโดดเด่นของแต่ละพื้นที่ เข้ารับโล่ประกาศเกียรติคุณและใบประกาศนียบัตรจำนวน 79 ราย ซึ่งคาดการณ์ว่าจะเกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจภายใต้โครงการมากกว่า 180 ล้านบาทในระยะเวลา 1 ปี นับจากนี้

สสว. ประกาศความสำเร็จ กิจกรรมส่งเสริมและพัฒนาการเริ่มต้นเป็นผู้ประกอบการที่มีศักยภาพในพื้นที่ EEC และพื้นที่ต่อเนื่อง ปีงบประมาณ 2567 เพื่อช่วยยกระดับนวัตกรรมในธุรกิจ พร้อมเพิ่มโอกาสทางการค้าทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ให้กับผู้ประกอบการในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง และจันทบุรี ได้ผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจ มีเอสเอ็มอีรับการพัฒนายกระดับศักยภาพการดำเนินธุรกิจผ่านกิจกรรมต่างๆ ระหว่าง เดือนกันยายนถึงเดือนธันวาคม 2567 กว่า 150 ราย สร้างมูลค่าทางธุรกิจ 126 ล้านบาท

นางสาวปณิตา ชินวัตร รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม  รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)  เปิดเผยว่า สสว.ได้จัดให้มี กิจกรรมส่งเสริมและพัฒนาการเริ่มต้นเป็นผู้ประกอบการที่มีศักยภาพในพื้นที่ EEC (Eastern Economic Corridor) และพื้นที่ต่อเนื่อง ปีงบประมาณ 2567 ประกอบด้วย จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง และจันทบุรี เป็นการส่งเสริมและเพิ่มขีดความสามารถ เพื่อยกระดับนวัตกรรมในอุตสาหกรรมเป้าหมายให้เกิดการลงทุนหรือสามารถก่อตั้งธุรกิจได้ พร้อมช่วยเชื่อมโยงแหล่งเงินทุนให้กับผู้ประกอบการที่ยกระดับนวัตกรรมในธุรกิจได้ และยังเป็นการเพิ่มโอกาสทางการค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศให้กับผู้ประกอบการในเขตพื้นที่ โดยมีการจัดกิจกรรมการพัฒนาผู้ประกอบการในพื้นที่ ที่เข้าร่วมโครงการมาตั้งแต่เดือนกันยายน จนถึงสิ้นเดือนธันวาคม 2567 โดยมุ่งเน้นผู้เข้าร่วมโครงการกลุ่มเป้าหมายหลัก คือ ผู้ประกอบการที่จดทะเบียนแล้วไม่เกิน 3 ปี มีสถานประกอบการตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ข้างต้น ที่มีการดำเนินกิจการ ได้แก่ 1.อุตสาหกรรมที่ต่อยอดอัตลักษณ์เชิงพื้นที่สร้าง Value creation 2. อุตสาหกรรมเกษตรและเทคโนโลยี/แปรรูปอาหาร และ 3. อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

 

“ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการฯ ต่างได้รับประโยชน์หลายมิติ ทั้งความรู้และทักษะที่จำเป็นสำหรับการเป็นผู้ประกอบการใหม่ เพื่อเปิดประตูสู่ธุรกิจและนวัตกรรม ได้รับการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการเชิงลึกเพิ่มคุณค่าผ่านการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมการตลาดในประเทศ มีโอกาสนำสินค้าเข้าร่วมในงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุน จากสถาบันการเงินของภาครัฐ และการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และเชื่อมโยงธุรกิจระหว่างกลุ่มธุรกิจที่เข้าร่วมโครงการ” รักษาการ ผอ.สสว. ระบุ

สำหรับกิจกรรมการพัฒนาผู้ประกอบการตลอดโครงการ ตั้งแต่เดือนกันยายน ถึง เดือนธันวาคม 2567 ประกอบไปด้วย

กิจกรรมที่ 1 :  ฝึกอบรมหลักสูตรการอบรมเชิงปฏิบัติการให้ความรู้ Entrepreneurship เปิดประตูสู่ความ เป็นผู้ประกอบการและนวัตกรรม (เดือนกันยายน 2567)

กิจกรรมที่ 2 : กิจกรรมการพัฒนาศักยภาพการดำเนินธุรกิจเชิงลึกโดยรับการพัฒนารายละ 6 ครั้ง (เดือนกันยายน – ตุลาคม 2567)

กิจกรรมที่ 3  : สนับสนุนและส่งเสริมกิจกรรมทางการตลาดในประเทศและต่างประเทศ

กิจกรรมที่ 3.1 : สนับสนุนและส่งเสริมกิจกรรมทางการตลาดต่างประเทศ 24 ราย (เดือนพฤศจิกายน 2567)

กิจกรรมที่ 3.2 : สนับสนุนและส่งเสริมกิจกรรมทางการตลาดในประเทศ 20 ราย (เดือนธันวาคม 2567)  

และกิจกรรมที่ 4 : เชื่อมโยงแหล่งเงินทุน SME D Bank และสถาบันการเงินอื่นๆ 31 ราย (เดือนพฤศจิกายน 2567)

รักษาการ ผอ.สสว. เผยอีกว่า สสว. ได้ดำเนินกิจกรรมส่งเสริมและพัฒนาการเริ่มต้นเป็นผู้ประกอบการที่มีศักยภาพในพื้นที่ EEC และพื้นที่ต่อเนื่อง ซึ่งบรรลุตัวชี้วัดผลผลิต คือ ดำเนินการประชาสัมพันธ์ รับสมัคร และคัดเลือกผู้ที่ต้องการเป็นผู้ประกอบการ หรือเอสเอ็มอีรายใหม่ ที่อยู่ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย รับการพัฒนายกระดับศักยภาพการดำเนินธุรกิจ ด้วยการใช้เทคโนโลยีในการเพิ่มผลิตภาพ หรือนวัตกรรมใหม่ หรืองานวิจัยต่างๆ รวมทั้งสิ้น 150 ราย ประกอบด้วยผู้ประกอบการในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา 27 ราย ชลบุรี 48 ราย ระยอง 42 ราย และจันทบุรี 33 ราย โดยภายหลังจากรับการพัฒนาคาดว่าจะสามารถสร้างรายได้/การลดต้นทุน/การขยายการลงทุน/การจ้างงาน/มูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์ ฯลฯ มากกว่า 28 ล้านบาท นอกจากจะได้รับการยกศักยภาพทางธุรกิจแล้ว โครงการฯ ยังได้ดำเนินการเชื่อมโยงแหล่งเงินทุนให้กับผู้ประกอบการที่มีศักยภาพและพร้อมต่อยอดการลงทุนในธุรกิจจำนวน 31 ราย ซึ่งมีแผนการลงทุนกว่า 64 ล้านบาท

“เรายังสนับสนุนและส่งเสริมด้านตลาดเชิงรุกในต่างประเทศให้ผู้ประกอบการ จำนวน 20 ราย เข้าร่วมการนำเสนอสินค้าในงาน Taiwan Int’l Food Industry ณ ประเทศไต้หวัน เมื่อวันที่ 15-18 พฤศจิกายน 2567 ซึ่งสามารถสร้างยอดขายและการเจรจาธุรกิจ มูลค่ากว่า 30 ล้านบาท และยังได้ส่งเสริมการเชื่อมโยงภาคการท่องเที่ยวให้กับผู้ประกอบการจำนวน 4 ราย ผ่านการจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) กับผู้ประกอบการภาคการท่องเที่ยวของไต้หวัน โดยสามารถสร้างยอดขายจากการจับคู่ค้าทางธุรกิจได้ กว่า 3 ล้านบาท และกิจกรรมสุดท้ายภายใต้โครงการเป็นการดำเนินการสนับสนุนและส่งเสริมด้านตลาดเชิงรุกในประเทศ ในงาน “SME SOFT POWER Marketplace” ณ ลาน Avenue A ชั้น G ศูนย์การค้า เอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ กรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 10-12 ธ.ค. 2567 โดยได้คัดเลือกผู้ประกอบการ จำนวน 20 ราย เข้าร่วมในกิจกรรมดังกล่าว โดยคาดว่าจะสามารถสร้างยอดขายรวมได้กว่า 1 ล้านบาท” นางสาวปณิตา กล่าว ทิ้งท้าย

สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) จับมือ มูลนิธิเอเชีย (The Asia Foundation: TAF) และ หอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย (Joint Foreign Chambers of Commerce in Thailand: JFCCT) ร่วมกันจัดงานภายใต้ชื่อ “สัมมนาพัฒนาธุรกิจ SME สู่ความยั่งยืนในตลาดโลกด้วย ESG และการเปิดตัว ESG Toolkit สำหรับ SMEs” โดยงานสัมมนานี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ SMEs Go Global – Go Green ที่ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงการต่างประเทศและการค้าของออสเตรเลีย (Department of Foreign Affairs and Trade: DFAT) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดตัวคู่มือปฏิบัติ ESG (Environmental, Social, and Governance) พร้อมให้คำแนะนำเชิงปฏิบัติและเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายและบริการของภาครัฐที่สนับสนุนการปฏิบัติตาม ESG รวมถึงการสร้างความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างหน่วยงานรัฐบาลและผู้เชี่ยวชาญจากภาคเอกชนเพื่อสนับสนุนการเติบโตของ SMEs ที่ยั่งยืน ตั้งเป้าเสริมแกร่งให้กับ SMEs ไทยสามารถแข่งขันในตลาดโลกและสามารถเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว  โดยงานดังกล่าว มี ดร.ปณิตา ชินวัตร รองผู้อำนวยการสำนักงาน รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เป็นประธานกล่าวเปิดงาน พร้อมด้วยผู้แทนจาก สสว. DFAT และ TAF ร่วมในพิธีเปิด ณ ห้องบอลรูม โรงแรมอมารี ประตูน้ำ กรุงเทพฯ

 

นางสาวปณิตา  ชินวัตร รองผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เปิดเผยผลสำรวจโอกาสและความท้าทายของธุรกิจเอสเอ็มอีสู่เทรนด์ธุรกิจ ESG (Environment, Social และ Governance) หรือแนวคิดการดำเนินธุรกิจที่มุ่งเน้นความยั่งยืน ซึ่ง สสว. ได้ทำการสำรวจผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจำนวน 2,675 ราย ใน 6 ภูมิภาคทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 21 – 31 ตุลาคม 2567 พบว่า เอสเอ็มอีไทย ร้อยละ 65.3 มีความรู้เกี่ยวกับแนวคิด ESG โดยพิจารณาสัดส่วนการรับรู้เอสเอ็มอี ร้อยละ 96.2 มีความรู้อยู่ในระดับพื้นฐาน เช่น รูปแบบการดำเนินธุรกิจแนว ESG จะช่วยลดการสร้างมลพิษ และรักษาสิ่งแวดล้อม แต่ยังไม่มีความเข้าใจเชิงลึกและผลลัพธ์ที่สามารถจับต้องได้ ขณะที่ร้อยละ 3.8 มีความรู้ ความเข้าใจพื้นฐานและมีการเชื่อมโยงนำไปสู่ผลลัพธ์ได้

เมื่อพิจารณาสัดส่วนกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีการนำแนวคิดดังกล่าวมาใช้ พบว่า เอสเอ็มอีร้อยละ 74.9 รับทราบเกี่ยวกับแนวคิด ESG แต่ยังไม่มีการนำไปใช้ และมีเอสเอ็มอีเพียงร้อยละ 25.1 เริ่มมีความตระหนักรู้ เนื่องจากเอสเอ็มอีให้ความสำคัญกับการนำมาปรับใช้กับธุรกิจในขั้นพื้นฐาน และบางขั้นตอนสามารถเริ่มทำได้ง่าย เช่น การลดการใช้พลาสติกและการแยกขยะ

ในการสำรวจยังพบว่า เอสเอ็มอีมีการประเมินถึงผลที่จะเกิดขึ้นหากนำแนวคิด ESG มาปรับใช้ในธุรกิจ พบว่า เอสเอ็มอีร้อยละ 29.4 มองว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงต่อธุรกิจโดยจะส่งผลต่อต้นทุนการผลิตสินค้า/บริการเพิ่มขึ้น รองลงมาคือ ขั้นตอนการทำงาน การจดรับรองมาตรฐาน ต้นทุนในการจ้างผู้ตรวจสอบตามมาตรฐานต่าง ๆ เป็นต้น

ดร.วิมลกานต์ โกสุมาศ ที่ปรึกษามูลนิธิเอเชีย เปิดเผยว่า ปัจจุบัน ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ของไทยกำลังเผชิญแรงกดดันมากขึ้นในการปฏิบัติตามมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการที่ดี  (ESG) ในตลาดโลก และ ธุรกิจ SMEs ของไทยหลายแห่งประสบปัญหาในการปฏิบัติตามมาตรฐานเหล่านี้ เนื่องจากขาดความรู้และทรัพยากร ทำให้จำกัดโอกาสในการเข้าถึงตลาดโลก เหตุนี้ จึงเป็นที่มาของการจัดสัมมนา ภายใต้หัวข้อ “การเปิดตัวคู่มือปฏิบัติ ESG สำหรับ SMEs ไทย”

งานสัมมนาดังกล่าว มุ่งเน้นที่จะลดช่องว่างระหว่างมาตรฐาน ESG ระดับสากลและความเป็นจริงในการดำเนินธุรกิจของ SMEs ไทยให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ โดยนอกจากจะเปิดตัวคู่มือปฏิบัติ ESG พร้อมให้คำแนะนำเชิงปฏิบัติและเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายและบริการของภาครัฐที่สนับสนุนการปฏิบัติตาม ESG แล้ว ยังดำเนินการสร้างความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ โดยส่งเสริมความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและผู้เชี่ยวชาญจากภาคเอกชนเพื่อสนับสนุนการเติบโตของ SMEs รวมถึงสร้างความแข็งแกร่งให้กับ SMEs ไทยให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกและส่งเสริมการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว 

สำหรับงานสัมมนาครั้งนี้ ประกอบด้วยกันทั้งหมด 3 ช่วง โดย ช่วงที่หนึ่ง เป็นการแนะนำคู่มือปฏิบัติ ESG ซึ่งออกแบบมาโดยเฉพาะสำหรับ SMEs ไทย โดยเน้นการใช้งานที่เป็นรูปธรรมและผลกระทบที่เกิดขึ้นจริง การนำเสนอจะให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับวิธีที่คู่มือปฏิบัติ ESG ช่วยแก้ไขความท้าทายเฉพาะที่ SMEs ต้องเผชิญในการปฏิบัติตามมาตรฐาน ESG พร้อมแนะแนวทางทีละขั้นตอนสำหรับการผสานหลักการ ESG เข้ากับการดำเนินธุรกิจ เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในห่วงโซ่การผลิตโลก ซึ่งช่วงที่หนึ่งนี้จะช่วยให้ผู้ประกอบการ SMEs เข้าใจถึงประโยชน์ที่แท้จริงของการนำ ESG มาประยุกต์ใช้ในองค์กร นอกจากนี้ ยังมีผู้เชี่ยวชาญจากภาคการผลิต ได้แก่ บริษัทเดอะ คลาสสิก แชร์ส จำกัด บริษัทจุลไหมไทย จำกัด และบริษัทเอชแอลเอ็ม คอร์ปอเรท จำกัด มาให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับวิธีที่คู่มือปฏิบัติ ESG จะช่วยแก้ไขปัญหาที่ SMEs ไทยต้องเผชิญในเรื่อง ESG พร้อมแนะแนวทางที่มีประสิทธิภาพสำหรับการนำไปใช้จริง

ช่วงที่สอง  นำเสนอภาพรวมที่ครอบคลุมเกี่ยวกับบริการและโครงการปัจจุบันของหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ ที่สนับสนุนการปฏิบัติตามมาตรฐาน ESG โดยวิทยากรจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า (DBD) กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กองส่งเสริมเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อมโรงงาน และกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจะอธิบายถึงวิธีการที่บริการและการรับรองจากภาครัฐเหล่านี้สอดคล้องกับคู่มือปฏิบัติ ESG และช่วยในการนำไปใช้ในธุรกิจได้อย่างเป็นรูปธรรม

ช่วงที่สาม  เน้นมุมมองและข้อมูลจากภาครัฐในฐานะผู้กำหนดนโยบายและวางกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับ ESG ทั้งยังช่วยส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้ประกอบการสามารถเปลี่ยนผ่านธุรกิจสู่แนวปฏิบัติที่สอดคล้องกับ ESG  โดยเป็นการอภิปรายร่วมกันระหว่างผู้เชี่ยวชาญจากภาครัฐ ได้แก่ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มาร่วมแบ่งปันข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับแนวทางที่ SMEs ไทยสามารถนำ ESG มาใช้และประสบความสำเร็จได้ตามมาตรฐานสากล โดยมุ่งเน้นให้ข้อมูลผู้ประกอบการเกี่ยวกับกฎ ระเบียบ มาตรฐานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนโครงการมาตรการสนับสนุนที่ภาครัฐให้แก่ผู้ประกอบการ มีการถอดบทเรียนให้ผู้ประกอบการจากมุมมองของเจ้าหน้าที่รัฐ และเน้นการสร้างความเข้าใจในประโยชน์จากการปฏิบัติตามมาตรฐาน ESG เช่น เพื่อให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนและพัฒนาความยั่งยืนของธุรกิจในระยะยาว

สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เดินหน้าพัฒนาผู้ประกอบการ ภายใต้ กิจกรรมส่งเสริมและพัฒนาการเริ่มต้นเป็นผู้ประกอบการที่มีศักยภาพในพื้นที่ EEC และพื้นที่ต่อเนื่อง ปีงบประมาณ 2567  โดยมีการพัฒนาในเชิงลึก ร่วมให้คำแนะนำปรับปรุงกระบวนการผลิต/บริการ การบริหารจัดการ รวมถึงพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ของชุมชน 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดชลบุรี ระยอง จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ให้น่าสนใจ เพื่อยกระดับด้วยการใช้เทคโนโลยีในการเพิ่มผลิตภาพ หรือนวัตกรรมใหม่ๆ ตลอดจนงานวิจัยต่างๆ ที่เข้าถึงตลาดสินค้ามูลค่าสูงได้ หวังช่วยยกระดับธุรกิจ รองรับการการขยายการท่องเที่ยวและการลงทุนจากต่างประเทศ พร้อมส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชน และระดับประเทศต่อไป

โดยกิจกรรมดังกล่าว ได้ดำเนินการต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายให้เกิดการลงทุน ขยายกิจการหรือสามารถก่อตั้งธุรกิจในผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และเพิ่มโอกาสทางการค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศให้กับผู้ประกอบการที่มีความพร้อม เมื่อเร็วๆ นี้ คณะ สสว. ได้ติดตามความคืบหน้า ของการพัฒนาธุรกิจ ผลิตภัณฑ์ และการบริการในเชิงท่องเที่ยว ณ สถานประกอบการ ที่มีการใช้เทคโนโลยีมาเพิ่มผลิตภาพ เพิ่มมูลค่าและโอกาสการเข้าถึงตลาดสินค้ามูลค่าสูงได้ ดังนี้

จังหวัดชลบุรี ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม โดยมุ่งเน้นที่อาหารที่มีโภชนาการสูง ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการของตลาดในปัจจุบัน รวมถึงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพเพิ่มผลผลิตการเกษตร ลดเวลาการดำเนินงานในระบบควบคุมวาล์วจ่ายน้ำ-จ่ายปุ๋ยอัตโนมัติ

จังหวัดระยอง ได้พัฒนา Application สำหรับจัดการการดำเนินงานในองค์กร-การวางแผนและติดตาม การผลิต การซ่อมบำรุง วัตถุดิบ คลังสินค้าการขาย การขนส่ง เป็นต้น และ พัฒนาบรรจุภัณฑ์ ที่ตอบโจทย์สิ่งแวดล้อมด้วยการใช้ของที่เหลือจากกวัสดุเหลือใช้

จังหวัดจันทบุรี ให้คำแนะนำและอบรมการสร้างเรื่องราวและการนำเสนอ (Storytelling) เพื่อยกระดับอัตลักษณ์ชุมชนท่องเที่ยว Blue zone การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ อาหารสมุนไพร แพทย์แผนไทย สปา เป็นต้น

และจังหวัดฉะเชิงเทรา พัฒนาการจัดการในองค์กร และการนำเทคโนโลยีมาใช้ในตรวจสอบและติดตามความชื้นในดินและ ธาตุอาหารพืชในดิน สำหรับผู้ประกอบการที่เป็นเกษตรกร

ซึ่งในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ให้มีคุณภาพถือเป็นสัดส่วนที่ผู้ประกอบการให้ความสนใจมากที่สุด และได้มีการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ของสินค้าที่หลากหลาย ผ่านการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม อาทิ นวัตกรรมการปรับปรุงกระบวนการผลิต  การยืดอายุผลิตภัณฑ์ในกลุ่มอาหาร ลำดับต่อมาคือ ด้านการเพิ่มประสิทธิภาพ และการเพิ่มผลผลิต อาทิ เทคโนโลยี AR Application สำหรับการบริหารจัดการในองค์กร  และ IoT สำหรับการเกษตร เป็นต้น

เป็นอีกหนึ่งกิจกรรรม อันสะท้อนถึงความมุ่งมั่นของ ที่ยังคงเดินหน้าส่งเสริม พัฒนาสนับสนุนผู้ประกอบการที่มีศักยภาพในพื้นที่ EEC และพื้นที่ต่อเนื่อง เพื่อยกระดับธุรกิจชุมชน รองรับขยายการเติบโตของเศรษฐกิจไทยต่อไป

Page 1 of 2
X

Right Click

No right click