×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 805

The Global Goals For Sustainable Development-ความจริงของความจน

October 04, 2017 2902

ที่ประชุมสหประชาชาติกำหนดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขึ้นมา ด้วยความหวังว่าโลกใน พ.ศ 2573 จะเป็นโลกที่สงบสุข ผู้คนอยู่ร่วมกันอย่างมีเสรีภาพ มีความเข้มแข็ง มีความสุขสบายตามอัตภาพ มนุษย์ไม่ทำร้ายทำลายธรรมชาติซึ่งเป็นทั้งถิ่นที่อยู่อาศัยและแหล่งทรัพยากรอันสำคัญของตัวเองจนลูกหลานต้องมารับผลกระทบ เป้าหมายเหล่านี้สามารถนำมาใช้กำหนดนโยบายแห่งรัฐ แนวคิดขององค์กรธุรกิจในการผลิตสินค้าและบริการ รวมถึงเป็นส่วนหนึ่งในวิธีคิดของประชาชนทั่วไปในการเลือกใช้นโยบายของนักการเมือง เลือกซื้อหาสินค้าและบริการต่างๆ เพื่อสนับสนุนให้มนุษย์และดาวเคราะห์โลกอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนต่อไป

 

ความจริงของความจน

สมัยยังเป็นนักศึกษาหนังเรื่องหนึ่งที่อาจารย์วิชาสังคมศึกษา Man and Modern World หยิบยกมาสอนเพื่อให้เห็นภาพยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมในตะวันตกและการทำงานของลูกจ้างที่ถูกนายจ้างเอารัดเอาเปรียบ “Modern Times” ตัวแสดงเอกตลกหน้าตาย ชาร์ลี แชปลิน (Charlie Chaplin) กำลังขันน็อต และเดินเครื่องสายพานการผลิต แทบไม่มีเวลามีพักกินข้าวหรือสูบบุหรี่ การแข่งขันของคนในสังคมเมืองใหญ่เปิดฉากด้วยฝูงแกะขาว และ มีแกะดำ โผล่มา โดยระบบสายพานการผลิตยังคงเดินหน้าและทำหน้าที่ของมันต่อไป

 

หนังเรื่องดังกล่าวอาจารย์ได้ให้นักศึกษาวิเคราะห์สภาพสังคมตะวันตกว่าเป็นอย่างไร มีอะไรที่น่าสนใจในหนังบ้าง สิ่งที่นึกได้คือ ภาพทุนนิยม การปฏิวัติอุตสาหกรรม สายพานการผลิต การแบ่งงานกันทำ นอกจากจะเป็นภาพที่สื่อให้เห็นการเริ่มต้นผลิตสินค้าจำนวนมากแล้ว (Mass Production) ยังเป็นภาพที่เสียดสีนายทุนที่ให้ลูกน้องใช้แรงงานให้มากที่สุดเพื่อลดต้นทุนการผลิตให้มากที่สุดอีกด้วย   

 

“แกะขาว” และ “แกะดำ” จึงอาจไม่ใช่เป็นแค่ภาพของนายจ้าง (แกะขาว) และ ลูกจ้าง (แกะดำ) แต่ยังเป็นตัวแทนสัญลักษณ์ของ คนรวย และ คนจน ในโลกสมัยใหม่ สิ่งที่ตามมาในใจเมื่อดูหนังเรื่องนี้แล้วสะท้อนให้เห็นว่า สิ่งที่แกะขาวต้องการคือผลผลิตและกำไรที่มากพอที่จะทำให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้ พร้อมกับการอยู่ดีกินดีของตัวเอง โดยใช้ฐานการผลิต กำลังแรงงานของแกะดำเข้าแลกด้วยหยาดเหงื่อ แรงกาย บทสรุปของเรื่องนี้จะดำเนินไปอย่างไร ในเมื่อเกิดความเอารัดเอาเปรียบตั้งแต่ต้นเรื่อง 

 

ดูเรื่องนี้จบหลายปีผ่านมาเกิดคำถามในใจว่า ที่ผ่านมา “เราต้องการช่วยเหลือคนจนจริงๆ หรือเปล่า?” หรือเราเพียงแค่ใช้ฐานของคนจนนำมาสร้างประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนของตนเอง เพื่อแผ่ขยายอาณาจักรการทำธุรกิจ และครอบครองอุตสาหกรรมนั้นไว้ในมือ 

 

คำถามต่อมา ความจน วัดจากอะไร คนจนในเมือง กับ คนจนในชนบท ใช้มาตรฐานอะไรขีด “เส้นความยากจน” 

 

แม้ MBA ไม่อาจตัดสินคำตอบที่ชัดเจนได้ แต่งานของ มุฮัมมัด ยูนุส นายธนาคารเพื่อคนจนเป็นคำตอบที่อธิบายเรื่องนี้ได้ดีและทำให้มองเห็นภาพความยากจนในบังกลาเทศประเทศที่เขาได้เข้าไปศึกษาและแก้ไขปัญหาความยากจน ไม่เพียงเท่านั้น แนวคิดและงานของเขายังมีอิทธิพลนำไปปรับใช้ทั่วโลก รวมทั้งในประเทศที่ร่ำรวยที่สุดอย่างสหรัฐอเมริกา ซึ่งยังมีคนจนอยู่จำนวนไม่น้อย เพื่อให้คนจนเหล่านั้นพ้นจาก “เส้นความยากจน” 

 

มุฮัมมัด ยูนุส ให้นิยามและความหมายของคนจนไว้อย่างน่าสนใจว่า คนจนมี 3 ประเภท จากที่ได้เข้าไปศึกษาคนจนในบังกลาเทศ ประชากรกลุ่มที่ 1 เรียกว่า P1 เป็นผู้ที่จนที่สุดร้อยละ 20 ของประเทศ ประชากรลุ่มที่ 2 เรียก P2 จนที่สุดร้อยละ 35 ของประเทศ และประชากรกลุ่มที่ 3 เรียกว่า P3 เป็นกลุ่มที่จนที่สุดร้อยละ 50 ของประเทศ โดยนำเรื่องอาชีพ ศาสนา ชาติพันธุ์ เพศ อายุ ขึ้นมาพิจารณา ความจนจึงมีลักษณะที่ไม่เฉพาะตัวอย่างมากเมื่อนำเกณฑ์นี้มาคิด 

 

แต่ในเชิงเศรษฐศาสตร์ ความยากจน พิจารณาที่ระดับรายได้หรือฐานะทางเศรษฐกิจของบุคคลว่ามีรายได้ไม่เพียงพอกับการดำรงชีวิตตามมาตรฐานขั้นต่ำหรือมีรายได้ต่ำกว่ามาตรฐานคุณภาพชีวิตขั้นต่ำที่ยอมรับได้ในสังคมเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ความยากจนยังคงมีอีกหลายมิติอื่นที่มิใช่วัดที่ตัวเงิน แต่ยังรวมไปถึง การไม่มีที่อยู่อาศัย ขาดโอกาสในการเข้าถึงบริการสาธารณสุข โอกาสทางการศึกษา การไม่มีงานทำ การไร้อำนาจ (World Bank) แต่โดยสรุปแล้ว ความยากจนมักวัดจากระดับรายได้หรือการบริโภคของคน โดยถือว่าคนคนหนึ่งเป็นคนจนเมื่อระดับรายได้การบริโภคนั้นต่ำกว่าระดับรายได้ขั้นต่ำที่จะสามารถบริโภคสินค้าและบริการจำเป็นพื้นฐาน

 

ในโลกความเป็นจริง เรายังคงเห็นคนจนเต็มท้องถนน คนที่อาศัยอยู่ในสลัม คนขายอาหารริมบาทวิถี คนจรจัด คนนอนใต้สะพาน แม้กระทั่งคนที่เดินสวนทางกับเราไปบนถนน เรายังอยากรู้ไหมว่า พวกเขาเหล่านั้นมีเงินในกระเป๋ามากกว่าเราหรือไม่ และถ้ามากกว่า พวกเขาถือว่าเป็นคนที่รวยกว่าเราใช่หรือเปล่า

 

แล้ว คนจนในเมือง กับ คนจนในชนบท ต่างกันอย่างไร ? 

 

คำตอบคือ ความยากจนในเมืองมีความซับซ้อนกว่ามาก และได้รับผลกระทบจากภาวะการว่างงาน การไม่มีที่อยู่อาศัย ความไม่มั่นคงในด้านชีวิตความเป็นอยู่ 31.6% อาศัยอยู่ในสลัม ส่วนใหญ่อยู่ในประเทศกำลังพัฒนา และอีก 6% อยู่ในประเทศที่พัฒนาแล้ว จึงไม่แปลกที่สหรัฐอเมริกายังมีคนจนอยู่ในประเทศ คุณภาพชีวิตของคนจนได้รับอิทธิพลจากความเป็นเมือง ยิ่งมีความเป็นเมืองมากขึ้นเท่าไหร่ คนจนคนนั้นก็ดูเหมือนว่าจะยิ่งจนหนักขึ้น และขยายไปสู่คนจนคนต่อไป เนื่องจากคนจนไม่สามารถสะสมทรัพย์หรือมีสินทรัพย์ได้ทันเท่ากับคนรวย 

 

ขณะที่คนจนในชนบทมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น อันเนื่องจากผลผลิตทางการเกษตรที่แปรเปลี่ยนไปตามสภาพอากาศ ภัยธรรมชาติ อัตราประชากรที่เพิ่มขึ้น สุขภาพ การมีรายได้น้อย การเข้าไม่ถึงระบบสาธารณูปโภคหรือโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต การอ่านเขียนไม่ออก พบว่าประชากรวัยเด็กจำนวนมากยังไม่สามารถอ่านออกเขียนได้ ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญที่สุด เนื่องจากภาวะการอ่านหนังสือไม่ออกส่งผลกระทบในระยะยาวต่อการทำงานและมีรายได้ รวมทั้งการเข้าถึงทรัพยากรและแหล่งยังชีพ ภาพคนจนในชนบทจึงดูชัดเจนกว่าคนจนในเมือง 

 

การบริโภคความยากลำบากและความไม่เท่าเทียมกัน มักยกแนวคิดของนักเขียนคาร์ล มากซ์ และ ชาร์ล ดิกเกนส์ ให้เห็นเรื่องความไม่เท่าเทียมกันในระบบที่มีแต่จะสูงขึ้น การพัฒนาเศรษฐกิจและรายได้ ก่อให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันที่มากขึ้น นัยคือความยากจนที่เพิ่มขึ้น นับแต่การแบ่งทรัพยากรจำนวนน้อยนิด โดยเลือกแจกจ่ายให้แก่คนที่อยู่บนสุดของการผลิต นอกจากนี้ ความไม่เท่าเทียมกันที่มากขึ้น อาจเป็นผลจากการเติบโตที่มากขึ้นทางเศรษฐกิจ และยิ่งความไม่เท่าเทียมกันมีมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งสะท้อนให้เห็นว่ามีความยากจนเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น เนื่องจากการแบ่งทรัพยากรหรือผลประโยชน์ไม่เท่ากันนั่นเอง

 

การแก้ไขปัญหาความยากจนจึงไม่ใช่เรื่องง่ายเมื่อคิดถึงคอนเซ็ปต์ความยากจนที่กล่าวมาข้างต้น ทั้งคนจนในเมืองและคนจนในชนบท ต่างก็มีปัจจัยแวดล้อมหรือบริบทที่บังคับให้เกิดความจน ซึ่งเป็นความจนที่ยังไม่เท่าเทียมกันอีก คนจนในเมืองยังพอสามารถเข้าถึงแหล่งทรัพยากรพื้นฐานได้มากกว่า ขณะที่คนจนในชนบทห่างไกลเข้าไม่ถึงสาธารณูปโภคพื้นฐานหรือโครงสร้างพื้นฐานได้แม้แต่น้อย

 

การขจัดความยากจนให้หมดไปแบบยั่งยืนเป็นแนวทางที่รัฐควรช่วยเหลือและบรรเทาทุกข์โดยมุ่งไปที่ การลงทุนในมนุษย์ คือ การพัฒนามนุษย์ให้ได้รับการศึกษาที่ดีและมีคุณภาพ อย่างน้อยก็เป็นการศึกษาภาคบังคับขั้นพื้นฐานที่พอจะทำให้คนคนหนึ่งสามารถเลี้ยงชีพได้  

 

ประเทศไหนเป็นประเทศเกษตรกรรม ก็ควรให้เกิดการว่าจ้างงาน หรือให้ความรู้แก่เกษตรกรในการเลี้ยงตัวเองได้หลังจากเก็บเกี่ยวข้าวในนาแล้ว ควรปลูกพืชผักที่สลับกับการทำงาน ปลูกไร่ผสมผสานจะทำให้เกิดรายได้หมุนเวียนตลอดปี ไม่แค่รอเฉพาะฤดูทำนา ปีไหนน้ำแล้งก็หันมาปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาและทำให้เกษตรกรเลี้ยงตัวเองได้โดยไม่ต้องหวังพึ่งพารัฐบาลเพียงอย่างเดียว 

 

การกระจายรายได้ การปล่อยเงินกู้ และออกแบบระบบจัดเก็บภาษีให้มีความยุติธรรม ในตลาดแรงงานโดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อยต้องเข้าไปช่วยเหลืออย่างจริงจัง ตัวอย่างธนาคารกรามีนข้างต้น แนวคิดจัดตั้งธนาคารเพื่อคนจนผู้ที่มีรายได้น้อยจะไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้เพราะเข้าไม่ถึงแหล่งทุนหรือทรัพยากรที่คนมีอำนาจเหนือกว่า high net worth สามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้ทุกเมื่อ และมีข้อเสนอจากธนาคารวิ่งเข้าหา ขณะที่พวกที่จัดเป็น no net worth ธนาคารไม่ปล่อยกู้ให้ง่ายๆ   

 

กรณีตัวอย่าง 3 ตัวอย่างต่อไปนี้ สะท้อนได้ดีว่า คนจน ไม่ได้อยากจะจนไปตลอดชีวิต หากแต่พวกเขาเหล่านั้นเข้าไม่ถึงทรัพยากรและไม่มีโอกาสที่จะเข้าถึงแหล่งทุน แต่เมื่อได้รับโอกาสและเข้าถึงทรัพยากรได้แล้ว ก็ก้าวข้ามเส้นความยากจนขึ้นมาได้อย่างปลอดภัย 

 

“เมอร์ซิดา” กู้เงินจากธนาคารกรามีน 1,000 ตากาไปซื้อแพะ และสามารถใช้หนี้คืนได้หมดภายใน 6 เดือน ด้วยกำไรจากการขายนมแพะ จากนั้นใจกล้าขึ้นในการกู้เงินอีก 2,000 ตากา ไปซื้อผ้าดิบและหูกทอผ้า เริ่มทอผ้าพันคอสำหรับผู้หญิง ตอนนี้เธอขายส่งผ้าพันคอแบบมีพู่ในราคา 100 ตากา และแบบไม่มีพู่ราคา 50 ตาก้า กิจการของเมอร์ซิดาไปได้ดีจนช่วงที่มีออร์เดอร์เยอะๆ เธอต้องจ้างผู้หญิงในหมู่บ้านมากถึง 25 คน มาช่วยผลิตผ้าพันคอ และเอากำไรไปซื้อที่ดิน 1 เอเคอร์สร้างบ้านด้วยสินเชื่อจากกรามีน และให้ทุนน้องชายไปเริ่มธุรกิจ เช่น ค้าผ้าส่าหรี และค้าฝ้ายดิบ เมอร์ซิดาเป็นลูกหนี้ตัวอย่างประจำหมู่บ้าน ฟังดูอาจเหลือเชื่อ หญิงลูก 8 คน สามีติดการพนัน สามารถฟื้นตัวเองได้จากการกู้หนี้จากธนาคารที่กล้าปล่อยเครดิตให้กับคนจน 

 

ฟาร์มเล็กๆ ในชนบท ช่วยให้เยาวชนได้มีงานทำ ทางตะวันออกและเหนือของแอฟริกา เยาวชน 17 ล้านคนหรือมากกว่า 20% ของประชากรในประเทศไม่มีงานทำ นับแต่คนหนุ่มสาวเผชิญกับความยากจนที่เพิ่มขึ้น ก็แยกตัวออกจากบ้านเพื่อแสวงหาโอกาสที่ดีกว่าที่ไหนสักแห่ง แต่เมื่อหนุ่มสาวได้กลับเข้ามาสู่รั้วการเกษตร ไม่เพียงแต่ช่วยให้ชีวิตดีขึ้นแต่มีแนวโน้มที่จะช่วยพัฒนาและปรับปรุงเทคโนโลยีการเกษตรได้อีกด้วย การพัฒนารูปแบบการทำการเกษตร ซึ่งช่วยให้ชาวนาได้ทำนาและเลี้ยงประชากรต่อไปได้อีกยาวนาน หนุ่มสาวในชนบทจึงเป็นตัวอย่างที่ดีมากของการมีแนวคิดสมัยใหม่ IFAD ได้สนับสนุนความฝันของหนุ่มสาวโดยว่าจ้างงาน และให้โอกาสในการที่จะปั้นหนุ่มสาวเหล่านั้นให้เป็นผู้ประกอบการเสียเองเลย ซึ่งจะช่วยให้เกิดการจ้างงานหนุ่มสาวที่มีอายุระหว่าง 15-35 ปีมากขึ้นในชนบท 

 

โครงการ “นา 1 ไร่ได้เงิน 1 แสน” ภายใต้หอการค้าไทย ที่นำโดย อดีตประธานสภาหอการค้าไทย ดุสิต นนทะนาคร บอกเล่าเรื่องราวของการช่วยเหลือตัวเองของเกษตรกร จุดเริ่มต้นของโครงการเกิดจาก ปัญหาความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้ที่ไม่เท่าเทียมเกิดขึ้นในสังคมไทย ทำให้ภาคเอกชนของไทย หอการค้าไทยและสภาหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและสมาคมธนาคารไทย ได้ร่วมกันเสนอมาตรการที่เป็นกรอบแนวทางในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยด้วยการส่งเสริมให้เกษตรกรมีความร่วมมือระหว่างชุมชน การลดต้นทุนการผลิต การปรับโครงสร้างการเกษตร การสนับสนุนการประกันรายได้เกษตรกรแทนนโยบายการรับจำนำผลผลิตการส่งเสริมระบบจัดการโลจิสติกส์ การสร้างกรณีตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จและการส่งเสริมอาชีพนอกการทำนา เพื่อให้เป็นกระบวนการในการสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนของสังคม

 

โครงการ “นา 1 ไร่ได้เงิน 1 แสน” เป็นโครงการที่ให้ประโยชน์กับชาวนาและเกษตรกรไทยเพื่อจะได้หลุดพ้นจากความยากจน เป็นการสร้างรายได้และอาชีพที่ยั่งยืนให้กับเกษตรกรโดยเน้นเกษตรทฤษฎีใหม่ขั้นที่ 3 คือ เน้นให้เกษตรกรพึ่งพาตนเองเป็นหลักโดยใช้ทรัพยากรการเกษตรที่มีอยู่ในพื้นที่อย่างรู้คุณค่า และทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด 

 

กระบวนการเกษตรแบบผสมผสาน (Integrated Farming) และภูมิปัญญาชาวบ้านพื้นที่นา 1 ไร่ แบ่งออกเป็น 4 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 คันนากว้าง 1.5 เมตรใช้ปลูกพืช อาทิ พริก มะนาว มะรุม หรือผักสวนครัวทุกชนิดสร้างรายได้ให้เกษตรกร ส่วนที่ 2 ร่องน้ำ เพื่อทำประมง เช่น เลี้ยงปลา เลี้ยงกุ้ง เลี้ยงกบ มูลสัตว์จะกลายเป็นปุ๋ยแก่นาข้าว ส่วนที่ 3 พื้นที่ปลูกข้าว และส่วนที่ 4 พื้นที่เลี้ยงเป็ดไข่ ปล่อยให้เป็ดไข่หาอาหารจากแปลงนาได้

 

ลุงชื่น ผู้ทดลองทำนา 1 ไร่ได้เงิน 1 แสน ได้ไปดูแปลงนาที่นครปฐมแล้วตัดสินใจเข้าร่วมโครงการทันทีโดยปรับพื้นที่แปลงนาตามรูปแบบโครงการ โดยเพาะกล้า ใส่ปลาดุก ใส่กบ ปลูกพริก ตะไคร้ กล้วย หอมแดง แต่ก็ประสบปัญหาเรื่องการนำน้ำเข้านา ต้องใช้เครื่องสูบน้ำ ดูแลพืชผล แต่ได้รับคำแนะนำให้รู้จักการบริหารจัดการให้เป็นระบบมากขึ้น ผ่านไป 1 เดือน เริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลง ข้าวออกรวงงามกบ ปลา ตัวโต สภาพดินดี และเชื่อมั่นว่าไร่ละ 1 แสนเป็นไปได้

 

เรื่องจริงของคนจน 3 ประเทศ ที่สะท้อนให้เห็นว่า ไม่มีใครที่ไม่อยากหลุดพ้นจากความยากจน และพยายามแสวงหาโอกาสที่จะหลุดพ้นสภาวะนั้น เพราะไม่ได้หมายความว่าคนจนเป็นคนไม่ฉลาด แต่พวกเขาเข้าไม่ถึงทรัพยากรและโอกาสต่างหาก ฉะนั้นแล้ว สิ่งที่เราได้เห็นว่านายทุนหรือผู้ประกอบการจึงไม่ใช่ร่ำรวยมหาศาล หรือคนที่ดูดีเกินไป ผู้ประกอบการก็ไม่ใช่คนที่มีพรสวรรค์เป็นพิเศษเหนือคนอื่น ตรงกันข้าม ทุกคนสามารถเป็นผู้ประกอบการและลงมือสร้างฐานะได้ เมื่อมีโอกาสได้แสดงความสามารถออกมา คนจนที่สุดยังสามารถเขยิบฐานะขึ้นมาเป็นคนที่อยู่เหนือเส้นความยากจนได้เลย

เรื่อง : กองบรรณาธิการ

 

X

Right Click

No right click