×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 805

เมื่อความหิวโหย ยังคงมาเยือน

October 09, 2017 6452

โลกที่ปราศจากความอดอยากหิวโหยหมายถึงโลกที่ทุกคนสามารถตอบสนองต่อความต้องการด้านอาหารได้อย่างเพียงพอต่อการดำรงชีวิต ในโลกแบบนี้จะไม่มีผู้คนที่อดอยากหิวโหยหรือต้องทนทุกข์ทรมานจากการขาดสารอาหาร และนี่คือโลกที่เป็นเป้าหมายที่ผู้นำทุกประเทศเรียกร้องให้เกิดขึ้น แต่ไม่เคยมีคำตอบที่ชัดเจนและสามารถก้าวไปสู่ภาวะที่ปราศจากความอดอยาก หรือ Zero Hunger ได้เลย

 

ทุกวันมีเด็กทั่วโลกตายจากสาเหตุความหิวโหย และเป็นปัญหาเรื้อรังมานาน เกือบ 800 ล้านคนบนโลกไม่ได้รับอาหารเพียงพอต่อการดำรงชีวิต ดูเหมือนว่าความอดอยากหิวโหยจะยิ่งเพิ่มขึ้นพร้อมกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ บางประเทศอย่างบราซิล รัฐบาลมีความพยายามอย่างหนักในการลดความอดอยากในประเทศ ประสบผลสำเร็จได้ไม่มาก แต่ก็ยังคงเดินหน้าลดภาวะทุพโภชนาการให้ลดลงเรื่อยๆ โดยตระหนักว่าเรื่องนี้เป็นภารกิจเร่งด่วนที่ต้องทำทุกวัน 

 

นายพัน กี-มุน เลขาธิการสหประชาชาติ เรียกร้องให้ทุกชาติร่วมแก้ไขปัญหาความอดอยาก จึงได้เริ่มต้นโครงการ Zero Hunger Challenge หรือ ZHC ขึ้นในปี 2555 โดยมีเป้าหมายเพื่อขจัดความ อดอยากให้หมดไปอย่างสิ้นเชิง แผน ZHC นำไปสู่การวางแผนเรื่องความมั่นคงด้านอาหาร โภชนาการ และความยั่งยืนทางการเกษตร ทั้งหมดจะเกิดขึ้นและสำเร็จไม่ได้หากผู้มีส่วนได้เสียทั้งระบบ

ไม่ลงมือและร่วมกันแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ภาครัฐต้องเข้ามาช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน โดยมีภาคเอกชนเป็นตัวขับเคลื่อนและเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงการทำธุรกิจที่ไม่มุ่งแสวงหาผลกำไร หรือใช้ช่องว่างในระบบทุนนิยมเป็นตัวเร่งให้เกิดความได้เปรียบทางการแข่งขัน หากธุรกิจมุ่งแข่งขันและแสวงหากำไรอย่างบ้าคลั่ง เราก็จะได้เห็นแต่กลุ่มทุนเพียงไม่กี่กลุ่มยึดครองอุตสาหกรรมที่ครั้งหนึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักขององค์กร และเริ่มแผ่ขยายอิทธิพลและอาณาเขตไปสู่การเปิดตัวทำอุตสาหกรรมใหม่เรื่อยไป เนื่องจากความได้เปรียบในเรื่องเงินทุนที่ไม่มีวันหมดสิ้น ท้ายสุดยึดครองทุกอุตสาหกรรม 

 

ระบบทุนนิยม เป็นตัวชักพาให้เกิดภาวะอดอยากเพิ่มขึ้น แม้บางประเทศได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่ร่ำรวยที่สุด แต่คนในประเทศบางส่วนกลับอดอยากและรอความช่วยเหลือ ขณะที่บางประเทศยากจนอยู่แล้ว กลับยิ่งจนหนัก เพราะการแบ่งสรรปันส่วนผลผลิตที่ไม่เท่าเทียม อำนาจ การกระจายรายได้ที่มีแต่ห่างชั้นมากขึ้น 

 

การ “เข้าถึง” ตลาดที่เป็นเครื่องกีดขวางและมาตรการคุ้มครองตลาดโลกที่ไม่ได้ช่วยคนตัวเล็กตัวน้อยได้เงยหน้าอ้าปากและเอาตัวรอดจากระบบทุนนิยมนี้ได้ง่ายนัก บางประเทศอ้างว่าต้องใช้มาตรการคุ้มครองตลาดเพื่อประโยชน์ต่อคนยากจนและผู้คนหิวโหย แต่คนที่ได้รับประโยชน์จริงๆ กลับเป็นประเภท “คนรวย” และ “คนฉลาด” ที่รู้วิธีฉกฉวยโอกาสในระบบ ความเป็นจริงคนจนมีโอกาสในตลาดเปิดขนาดใหญ่ มากกว่าตลาดปิดขนาดเล็ก เพื่อที่ทุกคนจะได้รับประโยชน์และแข่งขันได้อย่างเสรีในผลผลิตของตัวเอง แต่ไม่เป็นเช่นนั้น 

 

ตัวอย่างใกล้ตัวคือ ไทยได้ชื่อว่าเป็น “ครัวของโลก” ติดอันดับ 5 ของประเทศที่ส่งออกด้านอุตสาหกรรมอาหารมากที่สุด แต่เหตุใดคนไทยอีกหลายล้านคนยังอยู่ในภาวะอดอยากและหิวโหย เพราะกลุ่มทุนที่ผลิตอุตสาหกรรมอาหารมีเพียงไม่กี่กลุ่มเข้ามายึดครองพื้นที่การเกษตรและอุตสาหกรรมเลี้ยงสัตว์ คนตัวเล็กตัวน้อยแข่งขันกับบริษัทใหญ่ที่เข้ามาตั้งโรงงาน และทำฟาร์มไม่ได้ ต้องล้มเลิกแผนการ เกษตรกรเลี้ยงสุกรรายย่อยมีสุกรมากมายในฟาร์ม แต่อุตสาหกรรมเลี้ยงสัตว์ของบริษัทใหญ่เข้ามาแทนที่เล้าเป็ดเล้าไก่และฟาร์มสุกรแบบดั้งเดิม กลุ่มทุนมีแผนการที่ฉลาดและแยบคายมากในการเข้ามาเจ้ากี้เจ้าการ จัดการเรื่องอาหาร เรื่องสุขอนามัยของสุกร เรื่องโรคร้ายต้องฉีดยาป้องกันโดยมีสัตวแพทย์ประจำโรงงานเข้ามาดูแลและจัดสรรอย่างเป็นระบบ และรับซื้อเนื้อสุกรทั้งฟาร์ม ท้ายสุดแล้ว เกษตรกรรายย่อยกลับไม่ได้เป็นเจ้าของฟาร์มอย่างแท้จริง มีบริษัทอาหารเป็นเจ้าของ ครัวไทยจึงตกไปอยู่ในมือบริษัทผลิตอาหารใหญ่แทบทั้งสิ้น 

 

การค้าเสรีและการค้าระหว่างประเทศ เป็นคำตอบที่รัฐบาลพยายามจะช่วยแก้ไขปัญหาความอดอยาก เพื่อให้ประเทศก้าวสู่ประเทศที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง แต่กลับเป็นเพียงแค่ทฤษฎี เพราะเชื่อเรื่องความได้เปรียบทางการแข่งขัน การส่งออกสามารถผลิตได้มากขึ้นและในราคาถูก ดังนั้น ประเทศที่หิวโหยและยากจนจะสามารถเพิ่มการส่งออกสินค้าได้มากเช่นกัน แต่ในทางกลับกัน ถ้าเพิ่มการส่งออก หลายประเทศก็ยิ่งเพิ่มการส่งออก ขณะที่ผู้หิวโหยและยากจนยังคงดำเนินอยู่ กำไรที่มาจากการส่งออกทำให้ผู้ส่งออกต้องเพิ่มการส่งออกมากขึ้นเรื่อยๆ และเมื่อส่งออกด้วยธัญพืชแทนอาหาร เกษตรกรเล็กๆ จะเป็นคนส่วนใหญ่ที่ยังหิวโหย จะมีคนเพียงหยิบมือเดียวที่ประสบความสำเร็จในการควบคุมอาหาร

 

สภาพอากาศ ตัวแปรสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะความอดอยาก เอลนีโญ ลานีญา อากาศเปลี่ยนมีผลต่อการเพาะปลูก แนวโน้มหายนะทางธรรมชาติรุนแรงมากขึ้น ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อภาวะความอดอยากที่เพิ่มขึ้น 20% มีการคาดการณ์ว่า ปี 2050 หายนะทางธรรมชาติจะทวีความรุนแรง ซึ่งจะเกิดขึ้นในแอฟริกา 30% และในเอเชีย 20% ขณะที่ผ่านมา ภัยธรรมชาติได้กวาดพืชผลทางการเกษตร นาข้าวที่กำลังตั้งรวงหายไปในพริบตา ซ้ำเติมให้ผู้คนอดอยากหิวโหยมากขึ้น ตัวอย่างประเทศที่ไม่อาจทำการเกษตรได้อย่างต่อเนื่องเพราะประสบภัยธรรมชาติตลอดทั้งปี อย่าง บังกลาเทศประสบภัยธรรมชาติเสียจนบริเวณใดบริเวณหนึ่งในพื้นที่ ซึ่งอาจเจอภัยธรรมชาติหลายชนิดในปีเดียวกัน หมู่บ้าน รัฐ หรือภูมิภาคทั้งภูมิภาคหลายแห่งประสบปัญหาน้ำท่วมถึง 4 ครั้ง ใน 1 ปี ซึ่งให้ครอบครัวต้องเสียเงินออมและสินทรัพย์ไปหมด เพื่อนำมาซ่อมแซมบ้าน หาซื้ออุปกรณ์ดำรงชีพ และไม่อาจทำการเกษตรได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน 

 

อุตสาหกรรมเกษตรพืช GMO ที่คิดว่าสามารถเลี้ยงประชากรทั้งโลกได้ด้วยเครื่องจักรกลที่เพิ่มผลผลิต โมเดลการทำฟาร์มที่ไม่ยั่งยืนแผ่ขยายส่งผลไปทั่ว แต่ยังไม่สามารถช่วยให้ลดปริมาณคนอดอยากได้มากขึ้น เพราะรูปแบบอุสาหกรรมติดอยู่กับการควบคุมเหนือพื้นดิน และการแสวงหาแหล่งทรัพยากรอื่น รวมทั้งการทำฟาร์มออร์แกนิกที่ไม่อาจตอบสนองได้อย่างเพียงพอ การเข้าควบคุมพื้นดินเป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้น อุตสาหกรรมเกษตร 1 ใน 6 ของสหรัฐฯมีการควบคุมพื้นดิน ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งทำให้เกิดความไม่มั่นคงด้านอาหาร 

 

อาหารเหลือทิ้ง ปัจจัยที่ส่งผลให้ภาวะความอดอยากเพิ่มขึ้น เมื่อผู้คนจากประเทศมีอันจะกิน กินอาหารทิ้งขว้างและเหลือทิ้ง ลองคิดดูเล่นๆ อาหารเหลือทิ้ง 1 จาน สามารถทำให้คนหิวโหยอิ่มไปได้หนึ่งมื้อ และเมื่อรวมอาหารเหลือทิ้งอีกหลายเท่ารวมกันก็จะสามารถเลี้ยงผู้ที่อดอยากได้ไม่น้อย ไม่เพียงเท่านั้น พลังงานที่สูญเสียไประหว่างทางกว่าที่อาหารรสเลิศจะเสิร์ฟถึงโต๊ะอาหารในภัตตาคารหรูหรา หรือห้องอาหารที่แพงระยับ ต้องสูญเสียเมล็ดธัญพืช เครื่องปรุงแต่ง บรรจุภัณฑ์ ค่าโลจิสติกส์ ค่าแรงงานของพนักงาน ค่าเก็บขยะ แต่ความจริงแล้ว สิ่งเหล่านี้ต้องสูญเสียไปในระหว่างทางของกระบวนการผลิตอาหารทั้งสิ้น 

 

สิ่งเหล่านี้คือเหตุผลหลักที่รัฐสภาฝรั่งเศส สนับสนุนให้ห้างสรรพสินค้าที่เหลืออาหารเป็นจำนวนมากในแต่ละวัน บริจาคเข้า “ธนาคารอาหาร” ซึ่งจะช่วยให้ผู้คนอดอยากหิวโหยเป็นล้านคนได้มีอาหารหลายมื้อ แค่บริจาค 15% ก็เพิ่มปริมาณอาหารในระบบได้มากขึ้น หมายถึงคน 10 ล้านคน ต่ออาหารมากกว่า 1 มื้อต่อปี และอาหารจะไม่ถูกทิ้งลงถังขยะเป็นจำนวนมาก อย่างพวกขนมปัง 350,000 ตันต่อปี มะเขือเทศสด 320,000 ตันต่อปี นม 290,000 ตันต่อปี อาหารแต่ละมื้อ 270,000 ตันต่อปี น้ำอัดลม 230,000 ตันต่อปี 

 

โมเดล “ธนาคารอาหาร” จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจและทำขึ้นได้อย่างจริงจัง ในการร่วมมือสร้างเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน ห้างสรรพสินค้าที่บริจาคอาหาร และนำอาหารเหล่านั้นกลับเข้าคลังอาหารสดที่สามารถแบ่งปันให้กับผู้คนอดอยากได้ทันที ส่วนอาหารแห้งก็สามารถเก็บได้ และพร้อมที่จะนำออกมาช่วยเหลือประชากรที่อดอยากในพื้นที่ห่างไกลเมื่อประสบภัยหรือต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน อย่างน้อยการมีอาหารอยู่ในมือก็ยังช่วยบรรเทาทุกข์ได้ในกรณีเกิดวิกฤต 

 

ปัญหาอาจไม่ได้หยุดอยู่ที่ว่า โลกผลิตอาหารได้มากน้อยแค่ไหน ไม่ได้อยู่ที่ประชากรโลกเพิ่มขึ้นมากจนต้องทำอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ปลูกพืช GMO หรือ เพิ่มปริมาณอาหารเข้าในระบบให้มากขึ้น แม้กระทั่งการเกิดภัยธรรมชาติที่จ้องทำลายและเล่นงานพืชผลการเกษตรเมื่อไหร่ไม่มีใครรู้ได้ ในเมื่อทุกวันนี้สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดยังคงดำเนินอยู่ แต่ผู้คนก็ยังอดอยากหิวโหย แม้แต่ในประเทศที่ร่ำรวยที่สุดก็ตาม การปกป้องให้เกิดความยุติธรรมของคนที่จะสามารถ “เข้าถึง” และ การได้ “ครอบครอง” อาหารได้มากน้อยแค่ไหน พร้อมกับการสร้างองค์ความรู้ขึ้นมาเพื่อให้เห็นคุณค่าของห่วงโซ่อาหารทั้งระบบต่างหาก ที่น่าจะเป็นเครื่องมือช่วยให้ลดจำนวนคนอดอยากได้ 

 

Case 

ตัวอย่างที่ MBA จะยกขึ้นมา เป็นตัวอย่างของประเทศบราซิลที่พยายามจะลดผู้อดอยากหิวโหย โดยมีความน่าสนใจตรงที่การพยายามปลูกฝังและสร้างการรับรู้ให้กับเยาวชนในท้องถิ่นได้เข้าใจถึงความสำคัญของอาหาร ซึ่งกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นได้อย่างยั่งยืนมากกว่าการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ 

 

ความพยายามในการลดความอดอยากเริ่มเห็นผลในประเทศบราซิล โรงเรียนในบราซิลสร้างโปรแกรมที่ชื่อว่า “Zero Hunger Program” เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้เรื่องอาหาร ประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็นประเทศใหญ่ต้องเลี้ยงเด็กในโรงเรียน 42 ล้านคน โครงการอาหารกลางวันไม่เพียงแต่ช่วยลดจำนวนเด็กอดอยากและทุพโภชนาการเท่านั้น แต่ยังเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงกรอบความคิดที่เชื่อมโยงไปสู่ความเข้าใจเรื่องอาหารของเด็กและครอบครัว พร้อมสนับสนุน ส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตรในพื้นที่อีกด้วย 

 

บราซิลต้องการส่วนประกอบของอาหารที่มาจากพื้นที่ทางการเกษตร 30% ในการทำเกษตรกรรมในครัวเรือน การทำเช่นนี้ ประเทศได้ช่วยให้เกษตรกร 4 ล้านคน ได้รับการสนับสนุนและพัฒนาชนบทมากขึ้น ก่อนหน้านี้บราซิลเผชิญปัญหาหนักเกี่ยวกับเรื่องภาวะทุพโภชนาการและประชากรอ้วนเพิ่มขึ้น เด็กยากจนเข้าไม่ถึงอาหาร อาหารประเภทจังก์ฟู้ดได้รับความนิยม ทำให้ประชากรในประเทศอ้วนขึ้นมาก ส่งผลต่อสุขภาพอนามัย โรงเรียนรัฐจึงได้พยายามแก้ปัญหา โดยสร้างแปลงเพาะปลูกพืชผักขึ้นในโรงเรียน เพื่อให้เด็กๆ ได้ปลูกพืชและนำมาใช้ประกอบอาหารในโรงเรียน การทำเช่นนี้ทำให้โรงเรียนมีผลผลิตทางการเกษตรเพื่อนำมาปรุงเป็นอาหารกลางวันในโรงเรียนได้ทุกวัน ผลพลอยได้คือ การรับรู้ และปลูกฝังเด็กๆ ให้เข้าใจถึงความสำคัญของอาหารและประโยชน์ของการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เด็กได้เรียนรู้วิธีทำการเกษตรและสามารถนำไปเพาะปลูกที่บ้านได้ เท่ากับว่ามีวิชาเกษตรกรรมติดตัว

 

บทสรุปของการไปให้ถึง Zero Hunger คงไม่ใช่แค่การพยายามรับรู้ว่ามีปัญหานี้อยู่ แต่ต้องพยายามอย่างมากที่ทุกประเทศทั่วโลกต้องตระหนักและปรับทัศนคติ วิถีการดำเนินชีวิต วิถีการทำธุรกิจที่ไม่เอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มทุนของตนเอง พร้อมกับเผื่อแผ่เพื่อให้ผู้อื่นสามารถ “เข้าถึง” ทรัพยากรและแหล่งอาหารที่สามารถสร้างขึ้นเองได้โดยไม่ต้องพึ่งพาธุรกิจทั้งหมด เพื่อให้โลกขจัดผู้อดอยากหิวโหยให้หมดไปและเป็นสังคมแห่งการปราศจากความอดอยากหิวโหย 

เรื่อง : กองบรรณาธิการ

 

X

Right Click

No right click