“เรารู้ถึงอำนาจการศึกษาที่จะขจัดความยากจน เป็นการค้นพบอันยิ่งใหญ่ต่อเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน”
Irina Bokova Director-General UNESCO
เวลาเราไปห้างสรรพสินค้า จะเห็นว่าลูกค้า 40 คน จาก 100 คนเดินออกจากห้างด้วยมือเปล่า ทำให้เจ้าของห้างต้องคิดแล้วว่าจะขายอะไรที่เป็นจุดดึงดูดหรือหาสินค้าอะไรก็ได้ที่จะดึงลูกค้าเหล่านั้นไว้ และมีของติดมือกลับบ้าน
แต่ไม่ง่ายเมื่อนำแบบทดสอบนี้มาใช้กับการศึกษาในโรงเรียน เห็นชัดมากว่าเด็กกลุ่มหนึ่งถูกจัดว่าเป็นเด็กหลังห้อง เพราะไม่สนใจเรียน แต่ไม่ได้หมายความว่า พวกเขาไม่เฉลียวฉลาด แต่อาจเพราะไม่มีสิ่งกระตุ้นหรือดึงดูดใจมากพอที่จะให้พวกเขาสนใจ และเดินจากห้องเรียนไปด้วยความว่างเปล่าเช่นกัน
เรากำลังเผชิญกับโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา การผลิตเกิดขึ้นทุกวันคราวละมากๆ ทักษะเดิมหรือความรู้เก่าคงไม่พอกับความท้าทายที่เกิดขึ้นบนโลกนี้ นักเรียนมีสิ่งที่น่าสนใจมากกว่าห้องเรียนอยู่ในมือ ครูจึงต้องสอนเด็กให้เหมือนกับว่า ถ้าไม่ได้เรียนวิชานี้จะทำให้พลาดเรื่องดีๆ ในชีวิตไป หรือจำลองว่าเป็นวิชาที่จะเป็นเครื่องมือหากินตลอดชีพ โรงเรียนจึงต้องเตรียมเด็กสำหรับอนาคตที่มาพร้อมความเปลี่ยนแปลง เด็กสามารถแก้ปัญหาและรู้วิธีจัดการกับปัญหาอย่างเป็นขั้นตอน ความสำเร็จของการศึกษาจึงไม่ได้อยู่ที่ว่าผลิตองค์ความรู้ซ้ำ แต่อยู่ที่การนำมาประยุกต์ใช้กับสถานการณ์ตรงหน้า อยู่ที่การคิดการวิเคราะห์ปัญหา แก้ไข และลงมือปฏิบัติจริง
ยิ่งสังคมเข้าสู่ยุค knowledge based society เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ เราจึงต้องเร่งลูกหลานของเราให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงและสามารถออกไปแข่งขันกับโลกภายนอกได้ องค์ความรู้ในด้านต่างๆ ได้รับการพัฒนาและมีความซับซ้อนมากขึ้น ซึ่งเป็นผลพวงมาจากการพัฒนาเทคโนโลยี การแพทย์ที่ล้ำสมัยและก้าวหน้าล้วนเป็นส่วนหนึ่งของความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การดัดแปลงทางพันธุกรรม อุตสาหกรรมแต่ละแขนงต่างพัฒนาและแข่งขันภายใต้บริบทแห่งการเรียนรู้
ประธานาธิบดีบารัก โอบามา มักพูดเรื่องการศึกษา ซึ่งเป็นนโยบายหลักของสังคมอเมริกันต้องพัฒนาการศึกษาอย่างจริงจังเพื่อพร้อมสำหรับการแข่งขัน หรือมีความพยายามถอดบทเรียน เลียนแบบรูปแบบการศึกษาของแต่ละประเทศมาประยุกต์ให้เหมาะสม ตัวอย่างโรงเรียนไทยหลายแห่งได้ไปศึกษาดูงานระบบการศึกษาในต่างประเทศ เช่น อังกฤษ สหรัฐอเมริกา นิวซีแลนด์ แล้วนำหลักสูตรเหล่านั้นมาใช้กับโรงเรียนของตนเอง
เพราะเชื่อว่าพวกฝรั่งมีแนวคิดด้านการศึกษาที่พัฒนาไปไกลกว่าเราหลายเท่าตัว หรือแม้กระทั่งในไทย ปัจจุบันเริ่มเห็นแล้วว่า ระบบการศึกษาไม่ตอบสนองต่อการเรียนรู้ของเด็กและสร้างภาวะกดดันและความเครียดให้กับเด็ก ย่อมไม่ส่งผลดีต่อการเรียนรู้ จึงเกิดการศึกษาทางเลือกมากมายที่ให้ผู้ปกครองไม่ต้องหวังพึ่งแต่การศึกษาในระบบเท่านั้น
โรงเรียนทางเลือก จึงเข้ามาเป็นตัวแปรในระบบการศึกษาไทย ที่ไม่เพียงแต่เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น แต่ยังเป็นสิ่งที่ชี้วัดให้กับระบบการศึกษาไทยที่มีการพัฒนาไปในทิศทางที่หลากหลาย เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับผู้ปกครองและเด็ก โดยไม่ติดกรอบความคิดของเด็กไว้แต่ในห้องเรียน เด็กได้เรียนรู้ด้วยตนเองผ่านการทำกิจกรรมที่หลากหลาย ได้อยู่กับธรรมชาติที่จะช่วยสร้างจินตนาการได้มากกว่าในห้องอย่างแน่นอน อย่างน้อยที่สุด เมื่อมีการศึกษาทางเลือก เราก็ยังกล้าบอกได้ว่า การศึกษาไทยไม่หยุดนิ่งหรือถูกแช่แข็งหรือถอยหลังเข้าคลองเสียทีเดียว แต่มียังพอมีความหวังให้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่ในอนาคตอาจกลายเป็นกระแสหลัก ปรับเปลี่ยนและพัฒนาไปในแนวทางที่น่าจะดีขึ้นได้
ขณะเดียวกัน คุณภาพการศึกษาที่ดีนำไปสู่การกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ กระบวนการเรียนรู้จะช่วยพัฒนาองค์ความรู้ ต่อยอดไปสู่การพัฒนาในระดับต่อไป ผลลัพธ์คือ เกิดการเรียนรู้อย่างไม่จบสิ้น ผู้เรียนมีสิ่งเร้าเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ที่มากขึ้น สมมติ การทดลองทางวิทยาศาสตร์ มีสิ่งเร้าที่อยากให้เด็กลงมือทดลอง เมื่อทดลองไปขั้นหนึ่งอาจเกิดความผิดพลาดทางการทดลอง เกิดการทดลองซ้ำ ผลลัพธ์ที่ได้ไม่เหมือนกัน ทำให้เกิดการตั้งสมมติฐานใหม่ และนำไปสู่การทดลองในขั้นตอนต่อไป นี่คือบทสรุปของการเรียนรู้ที่สัมฤทธิผล เกิดความงอกงามทางความคิด ต่อยอดทางการกระทำ เรียนรู้ไม่จบสิ้น ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญในสังคมแห่งการเรียนรู้ และเมื่อไปถึงจุดนี้ได้ ความสำเร็จในการศึกษาเกิดขึ้น เกิดอำนาจในมือ นำไปสู่การพัฒนาประเทศ และโอกาสในการแข่งขันกับภายนอกได้อย่างไม่ยากเย็นนัก
หลายปีที่ผ่านมา จึงได้เห็นความพยายามของโลกในการพัฒนาและทุ่มงบประมาณให้เกิดขึ้นในระบบการศึกษาไม่แต่กับเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนาแล้วเท่านั้น อย่างบางประเทศที่เรียกได้ว่าเป็นประเทศที่ยากจน ก็เชื่อว่า รัฐบาลต่างพยายามพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้กับคนในประเทศ เพื่อยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้นกว่าเดิม
ความสำเร็จในการพัฒนาการศึกษาของประเทศเหล่านั้น แม้ไม่มากเมื่อเทียบกับหลายประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อังกฤษ นิวซีแลนด์ แต่นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีกว่าที่ผ่านมา เมื่อเทียบแล้วจำนวนเด็ก 184 ล้านคนได้เข้าเรียนในปฐมวัย ในมาลี กินี เซียร์ราลีโอน เบนิน เอธิโอเปีย โมซัมบิก มีเด็กที่เรียนจบชั้นประถมศึกษาเพิ่มขึ้นมากกว่า 20% นับว่าเป็นข่าวดีและเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของประเทศเหล่านั้นที่สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามที่จะเปิดโอกาสและพัฒนาการศึกษาของรัฐบาลให้มีคุณภาพมากขึ้น อัตราการเข้าเรียนเพิ่มขึ้น 27% ทั่วโลก โดยที่จำนวนเยาวชนที่ไม่ได้เข้าโรงเรียนลดลงจาก 99 ล้านคนในปี 2542 เป็น 63 ล้านคนในปี 2555
การศึกษาที่ดีจึงไม่เพียงแต่ตอบโจทย์ด้านการพัฒนาบุคลากรเท่านั้น แต่ตอบโจทย์ความเจริญก้าวหน้าในระบบเศรษฐกิจ สังคมที่เต็มไปด้วยคนที่มีการศึกษา และร่ำรวยวัฒนธรรม ประชากรของประเทศมีคุณภาพ
Case
บริษัทใหญ่ด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ให้การสนับสนุนบุคลากรไทยเนื่องจากเห็นศักยภาพของการที่ไทยเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมยานยนต์ จึงต้องการบุคลากรไทยเป็นจำนวนมากเข้ามาในระบบสายพานการผลิต แต่กระบวนการเรียนของไทยยังต้องได้รับการพัฒนาและยกระดับคุณภาพการศึกษา
ฟอร์ด มอเตอร์ เข้ามาลงทุนในไทยโดยต้องการเพิ่มจำนวนพนักงานในประเทศที่เข้าไปลงทุน เปิดสำนักงานในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และแอฟริกา โดยตั้งสำนักงานใหญ่ในภูมิภาคที่กรุงเทพฯ พร้อมความร่วมมือในการผลิตกับ Mazda manufacturing และ Auto Alliance Thailand (AAT) โดยจะว่าจ้างพนักงานพวก white collar ที่มีทักษะที่เหมาะสมกับงาน
การทำธุรกิจในไทยขึ้นอยู่กับทักษะและความสามารถที่จะนำมาประยุกต์ใช้กับงานได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับความสามารถ แม้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์และมีศักยภาพที่พร้อมจะเติบโต และฟอร์ดต้องการร่วมมือกับคนไทยมาก แต่ติดตรงปัญหาที่ว่าทักษะแรงงานไทยเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้ไทยไม่สามารถก้าวไปได้ไกลกว่านี้
ฟอร์ดได้จ้างพนักงานท้องถิ่นจำนวน 100 คน ในกรุงเทพฯ โดยมีการแนะแนวทางในการทำงานกับคนไทยเรื่องระบบการทำงานกับฟอร์ด ทักษะการสื่อสาร ประสบการณ์การทำงาน และเรียนรู้ในการแก้ปัญหา โดยได้อธิบายลักษณะการทำงานของฟอร์ดในต่างประเทศ การทำงานในภูมิภาคเอเชียและแอฟริกา อเมริกาเหนือยุโรป ที่มีความแตกต่างกันด้วยลักษณะทางกายภาพ เพื่อให้เข้าใจสภาพการทำงานของแต่ละที่
ฟอร์ดแสวงหาพนักงานที่สามารถเข้าใจภาษาอังกฤษ พูดและเขียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งยังได้กล่าวถึงประโยชน์ของการเป็นอินเทิร์นชิป (internship) ซึ่งเป็นเรื่องปกติในระบบการศึกษาของสหรัฐอเมริกา มีการส่งนักเรียนไปต่างประเทศเป็นจำนวนมาก มีการสำรวจโดย Vault พบว่า มากกว่า 84% นักศึกษาสหรัฐฯ อย่างน้อยไปเป็นอินเทิร์นชิป สำหรับไทย ฟอร์ด และบริษัทอื่นๆ เริ่มต้นเสนอให้มีการทำอินเทิร์นชิปกับนักเรียนที่มีคุณสมบัติที่น่าพอใจ อย่างไรก็ตาม การทำธุรกิจกับไทย ต้องพึ่งพามหาวิทยาลัยจะเป็นสื่อกลางอำนวยความสะดวกในด้านการเรียนจะเป็นผู้ที่กระตุ้นผู้เรียนได้ในอนาคต
เด็กไทยจำเป็นต้องมีการเรียนรู้ในการแก้ไขปัญหาอย่างซับซ้อน โดยฟอร์ดได้อธิบายให้เห็นถึงความซับซ้อนในงานออกแบบในอุตสาหกรรมการผลิตและการตลาดยานยนต์ การนำรถที่ตลาดต้องการมาเป็นกลยุทธ์ในการคิดให้พนักงานได้ร่วมคิดและสร้างสรรค์ไอเดีย ประกอบกับการตัดสินใจที่สัมพันธ์กันและความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดระหว่างคนที่ทำงาน
ความคิดสร้างสรรค์มีความสำคัญและมีความจำเป็นอย่างมากในสังคมแห่งการเรียนรู้ แต่วัฒนธรรมไทยส่งผลเสียต่อการทำงานของพนักงาน เนื่องจากไม่ได้สอนให้พวกเขามีทักษะในการคิดเอง ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญสำหรับการพัฒนาทักษะในการทำงานต่อโลกสมัยใหม่ “ไม่ว่าจะปฏิรูปอย่างไรต้องให้ทันกับเศรษฐกิจของประเทศ เพราะกว่าแรงงานใหม่จะเข้าสู่ตลาดใช้เวลาเป็นปี”
ดังกล่าวข้างต้นเป็นการสะท้อนภาพการศึกษาไทยที่วัดจากประสิทธิภาพของแรงงานไทยที่ทำงานให้กับบริษัทต่างชาติ นับว่าเป็นการมองภาพจากภายนอกเข้ามา จึงทำให้เห็นจุดแข็งและจุดอ่อนของการศึกษาไทยที่ยังต้องช่วยกันผลักดันให้เกิดการพัฒนาคุณภาพทางการศึกษาให้มากกว่าที่เป็นอยู่ ไม่ใช่เพื่อใคร แต่เพื่อการเติบโตและการมีประชากรที่มีคุณภาพในประเทศ
ท้ายสุดแล้ว การศึกษาคือการลงทุนในคนเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงให้โลกใบนี้ดีขึ้นกว่าเดิม
เรื่อง : กองบรรณาธิการ