January 10, 2025
×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 805

สุขภาพดีถ้วนหน้า

October 09, 2017 4584

อาโรคยปรมา ลาภา แปลว่า ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ พุทธปรัชญาที่เป็นความจริงอันเที่ยงแท้นี้ น่าจะเพียงพอที่จะทำให้พุทธศาสนิกชนทุกคนยอมรับได้ว่า เรื่องของสุขภาพและโรคภัยไข้เจ็บ เป็นสิ่งที่มนุษย์ ทุกเพศ ทุกวัย ควรที่จะใส่ใจและดูแลตลอดชีวิต เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีและยืนยาว

 

ไม่ใช่แค่ชาวพุทธ แต่เชื่อว่า ทุกคนบนโลก ก็มองเห็นถึงความจริงข้อนี้เช่นกัน ด้วยเหตุนี้ การดูแลทุกชีวิตบนโลกใบนี้ ให้สามารถเข้าถึงวิถีแห่งสุขภาพดี ไร้โรคภัยมาเบียดเบียน จึงเป็นอีกหนึ่งความมุ่งมั่นที่ องค์การสหประชาชาติ หรือ UN ได้กำหนดไว้เป็น 1 ใน 17 Sustainable Development Goals โดยเริ่มต้นรณรงค์ในปี 2016 และนับต่อไปอีก 15 ปี จะมุ่งเน้นไปที่การขจัดปัจจัยอันเป็นโรคร้าย อาการเจ็บป่วย ในวัยเด็กและคนเป็นแม่ผู้ให้กำเนิดให้หมดไป ทุกคนก็จะได้อยู่ร่วมกันท่ามกลางความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ประชากรโลกก็จะเพิ่มขึ้นและเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพ 

 

นอกจากนั้น เพื่อสร้างสุขอนามัยที่ดี UN ประกาศชัดเจนว่าจะต้องสร้างการเข้าถึงแหล่งน้ำสะอาดให้ประชากรทั่วโลก ขณะเดียวกันต้องลดจำนวนผู้ป่วยโรคร้าย อย่างโรคไข้มาลาเรีย โรควัณโรค โรคโปลิโอ ตลอดจนการแพร่กระจายของโรคเอดส์ หรือเชื้อ HIV ควบคู่ไปกับการเฝ้าระวังไม่ให้เกิดปัจจัยเสี่ยงก่อโรคร้ายขึ้นให้ได้ที่กล่าวมานี้ คือทั้งหมดที่ UN วาดหวังไว้ว่าจะเกิดขึ้นในปี 2030 สิ่งที่น่าคิด คือการตอบคำถามว่า แล้วระหว่างทาง นับแต่ปี 2016 เป็นต้นไป สิ่งที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรดำเนินการเพื่อเดินทางไปสู่จุดหมายเดียวกันของการสร้าง Well Being & Healthy World คืออะไร นั่นเป็นสิ่งที่ต้องมาคิด วิเคราะห์ กันอย่างจริงจัง

 

เริ่มจากประเด็นที่ UN ให้ความสำคัญกล่าวถึงเป็นเรื่องแรกในการมุ่งสู่ Goal นี้ คือ สุขภาพของแม่และเด็กทั่วโลก หากมองในบริบทของประเทศไทย หน่วยงานภาครัฐที่พวกเราต่างทราบกันดีว่า เป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบดูแลสุขภาพของคนไทยทุกเพศทุกวัย คือ กระทรวงสาธารณสุข ที่มีหน่วยงานในสังกัดอย่าง กรมอนามัย

 

กรมควบคุมโรค กรมสุขภาพจิต กรมการแพทย์ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เป็นต้น ที่มีหน้าที่ร่วมกันในการวางแผน ยุทธศาสตร์สุขภาพกระทรวงสาธารณสุขด้านส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในแต่ละปีงบประมาณ โดยในปีงบประมาณล่าสุดคือ ปี 2557 นั้น ปรากฎข้อเท็จจริงที่น่าสนใจว่า หญิงตั้งครรภ์ทั่วประเทศ ฝากครรภ์คุณภาพ 5 ครั้งตามเกณฑ์ คิดเป็นร้อยละ 61.80 ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วก็เป็นอัตราที่เกินครึ่ง ที่เป็นเช่นนี้ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่าเป็นเพราะรัฐบาลจัดให้มีโครงการฝากท้องทุกที่ ฟรีทุกสิทธิ์ ด้วยบัตรสุขภาพแม่และเด็ก เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ตั้งแต่ปี 2556 ที่ให้โอกาสหญิงไทยทุกคนสามารถเข้าถึงบริการฝากครรภ์คุณภาพ ที่ต้องครบ 5 ครั้งตามระยะเวลาที่กำหนดในมาตรฐานสากล จนกว่าจะคลอด 

 

ระบบนี้สามารถดูแล ตรวจคัดกรองความเสี่ยงต่างๆ เพื่อลดปัญหาพัฒนาการเด็กล่าช้า ไปจนถึงการติดตามผล ดูแลสุขภาพเด็กแรกเกิดจนถึง 5 ขวบ เพื่อให้เด็กเติบโตสมวัย ได้รับวัคซีนครบถ้วน ซึ่งช่วยลดปัญหาได้มากมาย เช่น แม่มีอัตราการขาดสารไอโอดีน ภาวะโลหิตจาง ทารกแรกเกิดมีน้ำหนักตัวน้อยกว่า 2,500 กรัม หรือมีภาวะดาวน์ซินโดรม ภาวะพร่องไทรอยด์แต่กำเนิด ไปจนถึงเด็กติดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูกได้อย่างมีนัยสำคัญ

 

ไม่ใช่แค่ภาครัฐเท่านั้น หากแต่ยังมีองค์กรธุรกิจภาคเอกชนที่เห็นความสำคัญในประเด็นสุขภาพแม่และเด็กนี้  ขอยกตัวอย่าง โครงการ CSR ในรูปแบบของการตอบแทนคืนกลับให้กับสังคมของ บริษัท พีชชี่ วิลเล็จ จำกัด ผู้คิดค้นและจัดจำหน่ายอาหารเสริมสำหรับเด็กแบรนด์พีชชี่ ที่ได้ร่วมมือกับภาคการศึกษาอย่างภาควิชาโภชนวิทยา คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดโครงการ “Feed For The Future” เพื่อพัฒนาหลักสูตรอบรมแนวใหม่ด้านโภชนาการ มอบความรู้ที่ถูกต้องให้แก่คุณแม่ตามศูนย์เด็กเล็กทั่วประเทศ เพื่อให้แม่มีความรู้และตระหนักในการมอบโภชนาการที่ดีให้กับลูก 

 

หากพิจารณาโครงการนี้นับว่าเป็นความตั้งใจดีของภาคธุรกิจที่สานความร่วมมือกับภาคการศึกษาไทย ซึ่งนับว่าตอบโจทย์ปัญหาระดับโลกตามที่ระบุไว้ในเว็บไซต์ของ UN ได้ตรงประเด็น นั่นคือ “เด็กที่เกิดจากแม่ที่รับการศึกษา แม้จะแค่ชั้นประถมศึกษา จะเติบโตได้ดีกว่าเด็กที่เกิดจากแม่ที่ไม่มีการศึกษาเลย” ดังนั้น การที่โครงการนี้มีวัตถุประสงค์หลักที่จะเชิญอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญมาให้ความรู้กับคุณแม่ผู้ด้อยโอกาส มีฐานะยากจน และมีการศึกษาที่ไม่สูงนัก ในชุมชนแออัดคลองเตย ให้ได้เรียนรู้หลักสูตรโภชนศึกษาแนวใหม่โดยใช้สื่อการสอนที่จูงใจและเข้าใจง่าย เพื่อนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันกับการเลี้ยงดูลูกด้วยอาหารที่มีประโยชน์ ก็มีส่วนช่วยให้เด็กที่อาศัยอยู่ในชุมชนแออัด ที่จากเดิม มักจะได้กินอาหารที่มีสารอาหารไม่ครบถ้วน จนเป็นจุดเริ่มต้นของภาวะทุพโภชนาการ ได้มีโอกาสเติบโตขึ้นมาอย่างมีคุณภาพและสุขภาพแข็งแรงมากขึ้นได้ในที่สุด

 

ต่อมาในบทบาทของการเฝ้าระวังและป้องกันไม่ให้เกิดโรคร้าย นอกจากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขที่กล่าวถึงไปข้างต้นแล้ว ยังมี สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่มิใช่ส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกองทุน ซึ่งนับแต่ก่อตั้งโดยพระราชบัญญัติกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ. 2544 ก็เดินหน้าตามภารกิจที่กำหนดไว้ชัดเจนว่า 

 

“สสส. เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ริเริ่ม ผลักดัน กระตุ้น สนับสนุน และร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ในสังคม ในการขับเคลื่อนกระบวนการสร้างเสริมสุขภาพ เพื่อให้คนไทยมีสุขภาพดีครบ 4 ด้าน กาย จิต ปัญญา สังคม และร่วมสร้างประเทศไทยให้น่าอยู่”

 

ที่ผ่านมา สสส. ดำเนินการตามภารกิจที่มอบหมายมานี้ ด้วยกลไกที่น่าสนใจอย่างการสื่อสารผ่านเว็บไซต์และสื่อออนไลน์ทั้งหลาย โดยใช้เครื่องมือที่สามารถเข้าถึงคนรุ่นใหม่อย่างการสื่อสารด้วยการ์ตูนแอนิเมชัน สโลแกนสั้นๆแต่โดน อย่าง “ให้เหล้าเท่ากับแช่ง” หรือแม้แต่สร้างสรรค์สื่อเข้าใจง่ายในแนว Info graphic ควบคู่ไปกับการเดินทางไปสนับสนุนกิจกรรม กีฬา ต่างๆ ในแต่ละจังหวัดทั่วประเทศ ที่คุ้นหูเห็นจะเป็น การร่วมจัดงานในธีมปลอดเหล้า ไม่ว่าจะเป็น กฐินปลอดเหล้า รับน้องปลอดเหล้า แข่งเรือปลอดเหล้า สงกรานต์ปลอดเหล้า ฯลฯ ที่...ปลอดเหล้าอีกมาก ที่แม้จะห้ามไม่ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็สามารถสร้างบรรยากาศที่ดีขึ้นกว่าก่อนหน้าที่ไม่มีโครงการนี้ได้ไม่มากก็น้อย

 

ด้วยการกำหนดให้มีหน่วยงานภาครัฐที่มีหน้าที่รับผิดชอบชัดเจนด้านการรณรงค์ ที่คาดหวังผลเป็นสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชากรชาวไทยตามแนวทาง Sustainable Development Goals ของ UN เรื่องของการให้ความสำคัญต่อการดำเนินภารกิจด้านนี้ทั้งภาครัฐและเอกชน ไม่ใช่เรื่องที่น่าห่วง หากแต่สิ่งที่ต้องเน้นให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องสำหรับประเทศกำลังพัฒนา ที่ UN ได้แนะนำไว้ ต่อไปนี้ต่างหาก

 

• การสาธารณสุขต้องเข้าถึงกลุ่มคนที่ด้อยโอกาส มีฐานะยากจน หรืออยู่ในถิ่นทุรกันดาร เพิ่มมากขึ้น 

 

• ต้องมีการสื่อสารถึงคำเตือน วิธีการป้องกัน ภาวะโรคร้ายที่มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นได้ในประเทศกำลังพัฒนาอย่างทันการณ์

 

• ส่งเสริมให้เกิดวงจรคุณภาพของคนทำงานที่จะขับเคลื่อนในเรื่องสุขภาพให้ครบวงจรและเพียงพอต่อความต้องการของประชากร

 

• สร้างสรรค์งานวิจัยทางการแพทย์ที่ตอบโจทย์ประเด็นด้านสาธารณสุขของประเทศ รวมถึงคิดค้น วิจัย วัคซีน ยา เพื่อป้องกันและรักษาโรค ทั้งโรคที่มีสาเหตุ และโรคที่ยังหาสาเหตุไม่ได้

 

เรื่อง : กองบรรณาธิการ  

X

Right Click

No right click