January 08, 2025
×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 805

ผู้หญิงและเด็ก ต้องยืนหยัดอย่างทัดเทียม

October 12, 2017 3502

อาจไม่มี วันสตรีสากล (International Women’s Day) เกิดขึ้น ถ้าโลกนี้มีความเท่าเทียมกันระหว่างชายและหญิงตั้งแต่มีสังคมมนุษย์

 

ที่สหรัฐอเมริกา แรงงานหญิงในโรงงานทอผ้าในนิวยอร์กถูกเอารัดเอาเปรียบ ใช้แรงงานเยี่ยงทาส และถูกกดค่าแรงจากนายจ้าง จึงพากันประท้วงเรียกร้องสิทธิในการทำงาน แต่แรงงานหญิงจำนวน 119 คนเสียชีวิตจากการถูกฆาตกรรมเพราะมีคนเผาโรงงานขณะที่พวกเธอชุมนุมประท้วงในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ. 1857 

 

ในชิคาโก กรรมกรหญิงถูกนายจ้างใช้งานอย่างหนักถึงวันละ 12-15 ชั่วโมง ค่าจ้างก็ได้ไม่คุ้มกับที่ลงแรงไป และยังไร้อำนาจต่อรอง พวกเธอจึงต้องหักโหมทำงานจนเจ็บป่วยล้มตาย และถ้าหญิงคนใดตั้งครรภ์ก็จะถูกไล่ออก บรรดากรรมกรหญิงจึงรวมตัวประท้วงให้ลดเวลาการทำงานลง โดยมี Clare Zetkin นักสังคมนิยมชาวเยอรมันเป็นผู้นำ

 

ปัญหาการไม่ได้รับค่าจ้าง สิทธิ สวัสดิการต่างๆ อย่างที่ควรจะเป็น เกิดขึ้นจากระบบทุนนิยมในประเทศอุตสาหกรรมที่นายจ้างต้องการผลผลิตจนไม่เห็นความสำคัญของชีวิตมนุษย์ และมองว่าผู้ชายเป็นแรงงานหลัก ผู้หญิงเป็นแรงงานสำรอง จึงนำไปสู่เรียกร้องสิทธิ ความเสมอภาคของแรงงานสตรี 

 

การเรียกร้องสิทธิสตรีประสบความสำเร็จในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ. 1910 ในการประชุมสมัชชาสตรีสังคมนิยม สมัยที่ 2 ที่เมืองโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก โดยมีมติให้เคลื่อนไหวระบบ 3 แปด คือ ให้ทำงาน 8 ชั่วโมง ศึกษาพัฒนา 8 ชั่วโมง และพักผ่อน 8 ชั่วโมง เรียกร้องให้หญิงชายได้ค่าจ้างเท่าเทียมกันหากเป็นงานในลักษณะเดียวกัน ต้องคุ้มครองสวัสดิภาพแรงงานหญิงและเด็ก ตลอดจนเรียกร้องให้มีสันติภาพโลก และรับรองข้อเสนอของ Clare Zetkin ให้วันที่ 8 มีนาคมเป็นวันสตรีสากล 

 

ปี 1961 มีการสำรวจผู้หญิงทั่วสหรัฐ-อเมริกา พบว่าผู้หญิงได้รับค่าจ้างน้อยกว่าผู้ชายเมื่อทำงานในลักษณะเดียวกัน โดยผู้หญิงได้รับค่าจ้าง 59% เมื่อเทียบกับค่าจ้างเฉลี่ยที่ผู้ชายได้รับจากการทำงานประเภทเดียวกัน 

 

ที่นอร์เวย์ ความไม่เสมอภาคของชายหญิงในอดีตมีหลากหลายด้าน แต่ภายหลังมีการเรียกร้องสิทธิทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่นำไปสู่ความเสมอภาคมากขึ้น

 

ปี 1854 ผู้หญิงมีสิทธิในการรับมรดกเท่าเทียมกับผู้ชาย

 

ปี 1870 ผู้หญิงได้รับสิทธิในการเป็นครู 

 

ปี 1910 ผู้หญิงได้รับสิทธิให้ลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้งท้องถิ่น

 

ปี 1978 รัฐบาลประกาศใช้กฎหมายความเท่าเทียมกันทางเพศ เพื่อเป็นหลักประกันว่าชายและหญิงจะได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน 

 

ที่จีน ผู้หญิงสมัยก่อนต้องอยู่แต่ในบ้านทำงานบ้าน ทำอาหาร ผู้หญิงจีนไม่มีสิทธิเลือก คู่ครองด้วยตนเอง โดยจะถูกบังคับให้แต่งงานและต้องมีลูกชายเพื่อสืบสกุล ถ้ามีสามี มีลูกก็ต้องอยู่ปรนนิบัติสามีและเลี้ยงลูก ในขณะที่ผู้ชายมีตำแหน่งสำคัญทางการเมือง มีบทบาทสำคัญด้านการปกครอง รับภาระงานนอกบ้าน หาเงินเลี้ยงดูครอบครัว สถานะของผู้หญิงจีนที่อยู่แต่ในบ้านจึงต่ำกว่าผู้ชายมาก โดยการแบ่งภาระหน้าที่ระหว่างผู้ชายและผู้หญิงนี้มาจาก คำสอนตามตำราของขงจื๊อ ซึ่งการที่ผู้ชายต้องไปทำงานนอกบ้าน เด็กผู้ชายจึงต้องเรียนหนังสือ ส่วนเด็กผู้หญิงก็ต้องเชื่อฟังพ่อแม่ เมื่อถึงวัยแต่งงานก็ต้องเชื่อฟังสามี

 

ที่อินเดีย การมีลูกผู้หญิงมักถูกมองว่าเป็นภาระหนักและการมีลูกสาวแล้วไม่ได้ออกเรือนเป็นเรื่องน่าอายมากกว่าการไปกู้ยืมเงินเพื่อแต่งลูกสาว การทำแท้งหรือกำจัดเด็กผู้หญิงตั้งแต่อยู่ในท้องจึงเป็นวิธีหลีกเลี่ยงปัญหาเรื่องสินสอดที่จะตามมา

 

สังคมอินเดียมีค่านิยมที่ส่งผลต่อการล่วงละเมิดทางเพศคือ ผู้หญิงที่ถูกกระทำชำเราคือผู้หญิงที่มีรอยด่างพร้อย และไม่สมควรที่ผู้ชายคนใดจะแต่งงานด้วย วิธีการแก้ปัญหาที่ดีที่สุดสำหรับผู้หญิงเหล่านี้คือ แต่งงานกับชายที่ข่มขืนเธอเพื่อรักษาชื่อเสียงของวงศ์ตระกูล ซึ่งหากผู้ชายอินเดียต้องการผู้หญิงที่ตนรักมาเป็นภรรยา วิธีหนึ่งที่จะทำให้ฝ่ายหญิงตกเป็นของตนคือ การข่มขืนกระทำชำเรา ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่ส่งผลให้ผู้หญิงยังคงถูกข่มขืนในปัจจุบันนี้ 

 

ที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก องค์การสหประชาชาติเปิดเผยว่า ปี 2013 มีหญิงสาวและเด็กผู้หญิงตกเป็นเหยื่อของการข่มขืนซึ่งถูกนำตัวเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลมากถึง 300 คนต่อเดือน และเชื่อว่ามีผู้หญิงที่ถูกข่มขืนอีกมากที่ไม่ได้เข้ารับการรักษาหลังตกเป็นเหยื่อความรุนแรงทางเพศ 

 

ความไม่เท่าเทียมทางเพศ เกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย ได้แก่ ปัจจัยทางชีวภาพ คือ ความแข็งแรง แข็งแกร่งตามโครงสร้างร่างกายซึ่งเพศชายมีมากกว่าหญิง ปัจจัยด้านครอบครัว การแบ่งงานกันทำระหว่างเพศ คือแนวคิดทางฝั่งตะวันตกที่ให้ผู้ชายดูแลรับผิดชอบเรื่องที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจ สังคม การเมือง โดยเป็นแบบสาธารณะ (Public) หรือแบบที่เป็นงานนอกบ้าน ส่วนผู้หญิงให้ทำงานที่เป็นส่วนตัว (Private) หรือที่อยู่ในบ้าน ดูแลงานบ้านและสมาชิกในบ้าน เมื่อผู้ชายทำงานนอกบ้าน หารายได้เข้าบ้าน จึงอยู่ในฐานะที่สูงกว่า มีอำนาจเหนือกว่าผู้หญิง และ ปัจจัยทางวัฒนธรรมและบรรทัดฐานทางสังคม ในแต่สังคม แต่ละประเทศ หญิงชายจะถูกปลูกฝังให้ปฏิบัติตัวแตกต่างกันไป ซึ่งการเป็นประชากรของประเทศนั้นๆ ชายหญิงก็ต้องยอมรับบทบาทที่สังคมกำหนด

 

ส่วนหนึ่งของสิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงและเด็กทั่วโลกดังกล่าวมาแล้ว เป็นกระจกสะท้อนว่า ความไม่เท่าเทียมทางเพศเกิดขึ้นมาแต่ไหนแต่ไรและยังดำรงอยู่ในหลายพื้นที่ เราจึงต้องวางแนวทางร่วมกันเพื่อช่วยให้คนในสังคมมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยสนับสนุนให้เกิด ความเท่าเทียมทางเพศ (Gender Equality) 

 

เพื่อบรรลุถึงความเท่าเทียมทางเพศ และเสริมสร้างพลังให้แก่สตรีและเด็กผู้หญิงทุกคน ตั้งแต่ปี 2543 โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ร่วมกับพันธมิตรขององค์การสห-ประชาชาติ (UN) และประชาคมโลกให้ความเสมอภาคทางเพศเป็นศูนย์กลางในการทำงาน และได้เห็นความสำเร็จว่ามีผู้หญิงที่ได้เรียนในโรงเรียนมากขึ้นเมื่อเทียบกับ 15 ปีที่ผ่านมา และในภูมิภาคส่วนใหญ่ มีความเท่าเทียมกันทางเพศด้านการศึกษาในระดับประถมศึกษา และในขณะนี้ ผู้หญิงสามารถทำงานนอกบ้านและได้รับค่าแรงจากการทำงานที่ไม่ใช่ทำการเกษตรได้ถึง 41% เมื่อเทียบปี 2533 ซึ่งมีเพียง 35% 

 

SDGs มีจุดมุ่งหมายที่จะสร้างความสำเร็จเพื่อให้แน่ใจว่า ได้ยุติการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงและเด็กผู้หญิงในทุกที่ แต่ในบางภูมิภาคยังคงมีความไม่เท่าเทียมกันในด้านการเข้าถึงค่าจ้าง และยังคงมีช่องว่างที่มีนัยสำคัญระหว่างชายและหญิงในตลาดแรงงาน มีความรุนแรงทางเพศ การละเมิดทางเพศ การใช้แรงงานที่ผิดกฎหมาย และการแบ่งแยกชนชั้นของประชาชนก็ยังคงเป็นอุปสรรคใหญ่

 

ทั้งนี้ เป้าหมายที่องค์การสหประชาชาติวางไว้ว่าจะเกิดขึ้นในปี 2030 มีดังนี้

 

• ยุติการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงและเด็กผู้หญิงในทุกที่ 

 

• ขจัดความรุนแรงทุกรูปแบบที่จะเกิดแก่ผู้หญิงและเด็กผู้หญิงทั้งในพื้นที่สาธารณะและพื้นที่ส่วนตัว รวมทั้งการค้ามนุษย์ การค้าประเวณี และการแสวงหาประโยชน์อื่นๆ 

 

• ไม่กระทำสิ่งที่อาจเป็นอันตรายต่อร่างกาย เช่น การบังคับให้แต่งงานในวัยเด็ก การขริบอวัยวะเพศหญิง 

 

• ตระหนักรู้ถึงคุณค่าของงานที่ไม่ได้รับค่าจ้างผ่านบทบัญญัติเกี่ยวกับงานบริการทางสังคม โครงสร้างพื้นฐาน และนโยบายการคุ้มครองทางสังคม รวมถึงสนับสนุนให้เกิดการมีส่วนร่วมภายในครัวเรือนตามความเหมาะสมของแต่ละเชื้อชาติ

 

• สร้างความมั่นใจได้ว่าผู้หญิงต้องมีส่วนร่วมในเรื่องต่างๆ ได้อย่างเต็มที่ และมีโอกาสเท่าเทียมกับผู้ชายในการเป็นผู้นำทุกระดับที่มีอำนาจตัดสินใจ ทั้งในทางการเมือง เศรษฐกิจ และในพื้นที่สาธารณะ

 

• สนับสนุนให้ทุกคนสามารถเข้าถึงความรู้ด้านเพศ อนามัยเจริญพันธุ์ได้ทั่วโลก และมีสิทธิด้านอนามัยเจริญพันธุ์สอดคล้องตามการประชุมระหว่างประเทศว่าด้วยประชากรและการพัฒนา กับปฏิญญาและแผนปฏิบัติการปักกิ่ง และเอกสารเผยแพร่เกี่ยวกับการประชุม

 

• ปฏิรูปให้ผู้หญิงมีสิทธิเท่าเทียมกันในการเข้าถึงทรัพยากรทางเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับการเป็นเจ้าของธุรกิจ และควบคุมที่ดิน และรูปแบบอื่นๆ ของสถ​​านที่ให้บริการ, บริการทางการเงิน, มรดก และทรัพยากรธรรมชาติ ตามที่กฎหมายของประเทศนั้นกำหนดไว้

 

• สนับสนุนให้เกิดการใช้เทคโนโลยีที่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เทคโนโลยีที่เกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของผู้หญิงให้มากขึ้น

 

• ทำให้กฎหมายที่เกี่ยวกับการสร้างความเสมอภาคทางเพศถูกนำไปบังคับใช้อย่างเข้มงวด เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมทางเพศและเพิ่มขีดความสามารถของผู้หญิงและเด็กหญิงในทุกระดับ

 

มีข้อมูลวิจัยระดับโลกบ่งชี้ว่า การลดความไม่เท่าเทียมระหว่างชายและหญิงช่วยเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรได้ จากการจัดสรรปัจจัยการผลิตและให้การศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน ดังที่ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations : FAO) ศึกษาพบว่า การได้รับสิทธิไม่เท่าเทียมกันระหว่างชายและหญิงเป็นอุปสรรคอย่างหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจเติบโตช้าและขัดขวางความเจริญก้าวหน้าในทางเกษตรกรรม เพราะผู้หญิงเป็นแรงงานหลักของภาคเกษตรกรรม เมื่อไม่ได้รับสิทธิที่เท่าเทียมจึงทำให้ผลผลิตทางการเกษตรที่ได้รับจากพื้นที่ที่ผู้หญิงเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบนั้นมีผลผลิตต่ำกว่าพื้นที่ที่มีผู้ชายเป็นผู้ดูแล ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เกษตรกรหญิงได้ผลผลิตน้อยกว่าไม่ใช่เพราะทำงานได้แย่กว่า แต่เป็นเพราะว่าผู้หญิงไม่ได้รับสิทธิเท่าเทียมกันในการขอกู้ยืมเงินมาลงทุนจากธนาคาร การใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย การใช้ปุ๋ย และการได้รับโอกาสในการศึกษาเพิ่มเติมหรือได้รับความรู้เพิ่ม เช่นที่สาธารณรัฐแคเมอรูน มีผู้หญิงน้อยกว่า 10% ที่เป็นเจ้าของที่ดิน ทำการเกษตร ทั้งๆ ที่เกษตรกรส่วนใหญ่ของประเทศเป็นผู้หญิง นั่นเป็นเพราะทางรัฐบาลให้ผู้หญิงเป็นเจ้าของที่ดินเพียงส่วนน้อย และให้ผู้ชายเป็นเจ้าของที่ดินส่วนใหญ่ ส่วนที่เคนยา เกษตรกรหญิงที่มีการศึกษา มีโอกาสได้เรียนรู้เทคโนโลยีเช่นเดียวกับผู้ชาย และมีประสบการณ์ในการทำงานและใช้อุปกรณ์ต่างๆ ได้อย่างคล่องแคล่ว สามารถเพิ่มผลผลิตได้ถึง 22% ดังนั้น หากสังคมหรือประเทศใดสร้างความเท่าเทียม ขจัดการเลือกปฏิบัติทางเพศได้ พลังและศักยภาพที่แตกต่างของทั้งผู้หญิงและผู้ชายก็จะปรากฏชัดขึ้น ทั้งชายและหญิงก็จะดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผลผลิตที่ได้ก็จะมีคุณภาพ มีรายได้ดีขึ้น มีความเป็นอยู่ดีขึ้น ส่งผลให้ GDP ของประเทศสูงขึ้นได้

 

Case

สำหรับประเทศไทย แต่เดิมสังคมไทยให้ผู้ชายเป็นผู้นำ โดยอยู่ในฐานะ “ช้างเท้าหน้า” ให้ผู้หญิงเป็นผู้ตาม โดยอยู่ในฐานะ “ช้างเท้าหลัง” ซึ่งการที่ไทยมีแนวคิดว่าผู้หญิงเป็นช้างเท้าหลังมานาน ทำให้ผู้หญิงไม่ได้รับความเชื่อมั่น จากสังคมว่าจะเป็นผู้นำได้ ไม่ได้รับโอกาสทางการศึกษาเท่าที่ควร เพราะมีค่านิยมว่าเรียนสูงๆ ไปก็เท่านั้น มีครอบครัวแล้วก็ต้องอยู่บ้านเลี้ยงลูก ไม่จำเป็นต้องเรียนสูงๆ หรอก

 

แต่เมื่อสังคมไทยเปิดกว้างให้ผู้หญิงได้เรียนหนังสือ ได้ทำงานนอกบ้าน ผู้หญิงก็จะมีภาระงานมากกว่าผู้ชาย เพราะนอกจากต้องทำงานแล้วยังต้องรับผิดชอบงานบ้าน ผู้หญิงจึงมีชั่วโมงทำงานมากกว่าผู้ชาย ทำให้ไม่มีเวลาส่วนตัวและขาดการพักผ่อนอย่างเพียงพอ

 

เมื่อเข้าทำงาน ผู้หญิงจำนวนไม่น้อยถูกล่วงละเมิดทางเพศในที่ทำงาน แต่ยอมให้เจ้านายหรือผู้ชายกดขี่ข่มเหง ข่มขู่ เพราะกลัวเสียชื่อเสียง เกิดเรื่องน่าอับอาย หรือกลัวตกงานจึงไม่กล้าบอกใคร ไม่กล้าแจ้งความ หรือฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมองว่าเป็นปัญหาส่วนตัว ประเด็นนี้จึงเป็นปัญหาที่ไม่ได้รับการแก้ไข 

 

เกี่ยวกับภาพรวมภาวะสังคมไทย สถานการณ์ความรุนแรงของผู้หญิงและเด็กเป็นปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไข มีตัวเลขของผู้หญิงและเด็กที่ถูกทำร้าย ถูกกระทำรุนแรงจากศูนย์พึ่งได้ในปี 2556 พบว่า ผู้หญิงและเด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ถูกกระทำรุนแรงเฉลี่ย 81 คนต่อวัน หรือเกือบ 3 คนต่อชั่วโมง

 

ร้อยละ 80 ของเด็กที่ถูกกระทำรุนแรงอายุต่ำกว่า 15 ปี และในจำนวนนี้เป็นการกระทำรุนแรงทางเพศเกือบร้อยละ 70 ส่วนในปี 2558 มีผู้หญิงและเด็กถูกกระทำความรุนแรง 23,977 คน เป็นเด็ก 10,712 คน ผู้หญิง 13,265 คน หรือโดยเฉลี่ยจะมีผู้หญิง และเด็กเป็นเหยื่อความรุนแรงวันละ 66 คน และจากข้อมูลสถิติดัชนีช่องว่างระหว่างเพศที่ทางสภาเศรษฐกิจโลกได้รวบรวมและเปรียบเทียบไว้ทั้งหมด 145 ประเทศทั่วโลก พบว่าประเทศที่มีความชัดเจนและความเท่าเทียมทางเพศมากที่สุดคือ ไอซ์แลนด์ รองลงมาคือ นอร์เวย์ ส่วนไทยเป็นประเทศมีช่องว่างระหว่างเพศในระดับพอสมควร โดยจัดอยู่ในลำดับที่ 60 จาก 145 ประเทศทั่วโลก 

 

เพื่อแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมด้านต่างๆ รัฐบาลไทยจึงมีนโยบายให้เยาวชนหญิงชายมีโอกาสได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียม ปรับปรุงและพัฒนากฎหมายเพื่อส่งเสริมสิทธิและความเสมอภาคระหว่างเพศ คุ้มครองผู้หญิงจากความรุนแรงในครอบครัว การถูกล่วงละเมิดและคุกคามทางเพศในการทำงาน รวมทั้งดำเนินการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ตลอดจนมีมาตรการดูแลและฟื้นฟูผู้เสียหายที่ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้หญิงและเด็ก และสำหรับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของไทยฉบับต่อไป ที่เรียกว่าฉบับที่ 12 ก็จะส่งเสริมบทบาทสตรีให้มีส่วนร่วมผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างเท่าเทียม สอดคล้องกับ SDGs ที่ทั่วโลกกำลังให้ความร่วมมือในขณะนี้

 

เรื่อง กองบรรณาธิการ 

X

Right Click

No right click