ปัญหาการเข้าถึงแหล่งน้ำดิบและน้ำสะอาด ตลอดจนปัญหาการเข้าถึงสุขอนามัยและห้องส้วมกลายเป็นปัญหาระดับโลกที่ทำให้ผู้คนทั่วโลกนับล้านเสียชีวิตอย่างไม่น่าเชื่อจากโรคต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับน้ำ เช่น อาหารเป็นพิษ ท้องร่วง ฯลฯ โดยเฉพาะแอฟริกาที่เด็กมักจะตายก่อนอายุ 5 ขวบจากสาเหตุเหล่านี้
ดูผิวเผิน สองปัญหานี้อาจดูเป็นเรื่องที่แยกจากกัน แต่จริงๆ แล้ว นี่คือปัญหาที่มีความเกี่ยวเนื่องกันในห่วงโซ่อุปทาน หากทราบข้อเท็จจริงที่ว่า น้ำเสียกว่า 80% มาจากฝีมือมนุษย์ที่ปล่อยลงสู่แม่น้ำหรือทะเล โดยไม่ได้บำบัดหรือแยกสารพิษออกมา มิหนำซ้ำพลโลกอย่างน้อย 1,800 ล้านคนใช้แหล่งน้ำดิบที่มีอุจจาระเจือปนอยู่ ที่สำคัญอาจเป็นอุจจาระที่ปนเปื้อนจุลินทรีย์หรือปรสิตด้วย!
น้ำ – ห้องน้ำขาดแคลน
น้ำที่หลายคนเคยรับรู้ว่าเป็นทรัพยากรที่ไม่มีวันหมดไปกลายเป็นเรื่องท่องจำเหลวไหลในยุคนี้ ในโลกแห่งความเป็นจริง ภาวะขาดแคลนน้ำของพลโลกที่เคยมีกว่า 40% จะขยับเพิ่มขึ้น แม้ว่าช่วงปี 2533 – 2558 สัดส่วนประชากรโลกที่ได้ใช้แหล่งน้ำดิบที่ได้รับการปรับสภาพแล้วจาก 76% เพิ่มเป็น 91% ขณะที่ตัวเลขปี 2533 คนกว่า 2,600 ล้านคนเข้าถึงแหล่งน้ำที่มีการปรับสภาพแล้ว แต่ก็ยังมีอีก 663 ล้านคนที่เข้าไม่ถึง นอกจากนี้ องค์การสหประชาชาติก็ยังคาดการณ์ว่า ราวปี พ.ศ.2593 จะมีประชากรอย่างน้อย 1 ใน 4 ที่อาศัยในประเทศที่มีปัญหาขาดแคลนน้ำจืดเป็นนิจศีล
ปัญหาภัยแล้ง ปัญหาขาดแคลนแหล่งน้ำดิบและปัญหาคุณภาพน้ำที่ไม่ได้มาตรฐาน ส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงความมั่นคงทางด้านอาหาร การเพาะปลูกและรายได้ของครัวเรือนที่น้อยลง ทางเลือกในการดำรงชีวิตที่ถูกตีวงให้คับแคบ อีกทั้งยังส่งผลต่อเนื่องถึงโอกาสทางการศึกษาของสมาชิกในครอบครัว หรือแม้แต่ทำให้เด็กๆ หิวโหย เกิดภาวะทุพโภชนาการจากความยากจน นอกจากนี้ ยังมีรายงานที่ระบุว่า มีเด็กเกือบ 1,000 คนที่ต้องตายจากน้ำที่เราสามารถป้องกันได้ (ทว่าไม่ได้ป้องกัน) และโรคที่เกี่ยวกับท้องร่วง
ขณะเดียวกัน ปัญหาการขาดแคลนห้องน้ำและการเข้าไม่ถึงสุขอนามัยของผู้คนทั่วโลกก็ส่งผลกระทบต่อเนื่องกับโรคภัยไข้เจ็บที่เกี่ยวข้องกับการขาดแคลนน้ำอีกด้วย โดยเฉพาะโรคที่เกี่ยวกับทางเดินอาหาร โรคพยาธิและจุลินทรีย์หรือปรสิต เช่น พยาธิตัวตืด ฯลฯ ที่ปนเปื้อนมากับอุจจาระของคนและสัตว์ลงสู่พื้นดินและแหล่งน้ำ ซึ่งปัญหานี้เกี่ยวข้องกับพลโลก 2,400 ล้านคนที่ยังไม่สามารถเข้าถึงบริการด้านสุขอนามัยขั้นพื้นฐานอย่างห้องน้ำ – ห้องส้วมได้
คุณภาพชีวิตที่ย่ำแย่เช่นนี้ของผู้คนนับล้านในประเทศด้อยพัฒนาและประเทศกำลังพัฒนากลับยิ่งจะบอบช้ำเพิ่มขึ้นไปอีก เมื่อมีปัจจัยภายนอกเข้ามาซ้ำเติมทั้งจากภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยดีนัก ซึ่งหมายถึงเม็ดเงินจากภาครัฐและกำลังซื้อของประชาชนที่หดตัวหรือชักหน้าไม่ถึงหลัง, โครงสร้างพื้นฐานของบางพื้นที่ที่ยังไม่ค่อยดีนัก ฯลฯ
จากการประชุมของกลุ่มคณะทำงานที่ว่าเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนและองค์การน้ำแห่งสหประชาชาติ (UN Water) ช่วงวันที่ 15 - 17 ม.ค. 2558 ถึง 4 หัวข้อหลัก ได้แก่ น้ำ สุขอนามัยและสุขลักษณะ การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ คุณภาพน้ำและความเสี่ยง ได้กำหนด 6 เป้าหมายเพื่อการบริหารจัดการอย่างยั่งยืนที่เกี่ยวกับน้ำและสุขอนามัยสำหรับทุกคน ดังนี้
ปี พ.ศ. 2563
• ปกป้องและรักษาระบบนิเวศที่เกี่ยวข้องกับน้ำ รวมทั้งภูเขา ป่า พื้นที่ที่มีน้ำท่วมขัง เช่น หนอง บึง ฯลฯ แม่น้ำ ชั้นหินอุ้มน้ำและทะเลสาบต่างๆ โดยดำเนินการภายใต้ข้อตกลงของระดับนานาชาติ
• บรรลุการบริหารจัดการที่เกี่ยวกับของเสียและสารเคมีในวงจรชีวิตทั้งหมด ด้วยกรอบข้อตกลงระดับสากลและลดการปล่อยของเสียอย่างจริงจังสู่อากาศ น้ำและดินเพื่อลดผลกระทบที่มีต่อสุขภาพมนุษย์และสิ่งแวดล้อมให้เหลือน้อยที่สุด
ปี พ.ศ. 2573
• บรรลุการเข้าถึงน้ำดื่มที่ปลอดภัยและสามารถซื้อหาได้สำหรับทุกคนอย่างเท่าเทียม
• บรรลุการเข้าถึงสุขอนามัยและสุขลักษณะสำหรับทุกคนอย่างเท่าเทียม และต้องทำให้การอุจจาระอย่างเปิดเผยในที่สาธารณะนอกห้องส้วมหมดสิ้นไป ตลอดจนการให้ความ
สำคัญเป็นพิเศษกับผู้หญิงและเด็กในสถานการณ์ที่เปราะบางต่างๆ
• ปรับปรุงคุณภาพน้ำด้วยการลดมลภาวะและลดการปล่อยของเสียที่เป็นวัตถุดิบและสารพิษลงแหล่งน้ำให้น้อยที่สุด ตลอดจนการลดสัดส่วนน้ำเสียที่ไม่ได้รับการบำบัดลงครึ่งหนึ่ง รวมทั้งเพิ่มการรีไซเคิลและการนำสิ่งเหล่านี้กลับมาใช้ใหม่ทั่วโลก
• เพิ่มการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพในทุกภาคส่วน พร้อมกับทำให้มั่นใจได้ว่า การใช้น้ำจืดและการนำน้ำกลับมาใช้อย่างยั่งยืนนั้น จะแก้ปัญหาน้ำขาดแคลนและลดจำนวนประชากรที่ได้รับความเดือดร้อนจากการขาดแคลนน้ำด้วย
• ใช้การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำพร้อมทั้งบูรณาการในทุกระดับ รวมทั้งความ
ร่วมมือกับประเทศต่างๆ อย่างเหมาะสม
• ขยายความร่วมมือในระดับนานาชาติและการสนับสนุนเพื่อสร้างขีดความสามารถกับกิจกรรมและนำสุขอนามัยให้กับประเทศกำลังพัฒนา ผ่านกิจกรรมและโครงการต่างๆ รวมทั้งการเก็บเกี่ยวน้ำ (Water Harvesting : การเก็บกักน้ำฝนและรักษาน้ำให้สะอาด ปราศจากมลภาวะ), การแยกเกลือออกจากน้ำ, การใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ, การบำบัดน้ำเสีย ตลอดจนเทคโนโลยีการนำกลับมาใช้ใหม่และการรีไซเคิล
ส่วนเป้าหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับสองประเด็นดังกล่าวคือ การขจัดการแพร่ระบาดของโรคเอดส์ วัณโรค มาลาเรีย โรคตับอักเสบ รวมทั้งโรคที่มาจากน้ำ ขณะเดียวก็มีเป้าหมายที่จะลดอัตราการตายและลดจำนวนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ภัยพิบัติรวมทั้งภัยพิบัติจากน้ำเพื่อป้องกันพลโลกมิให้เผชิญกับปัญหาความยากไร้และสถานการณ์ที่น่าวิตกกังวล
เพราะน้ำคือชีวิต
กรณีตัวอย่างของประเด็น น้ำคือชีวิต เห็นได้จากโครงการของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ที่บริจาคแท็งก์ให้เพื่อการเก็บกักน้ำที่เรียกว่า ‘การเก็บเกี่ยวน้ำ’ ในยูกันดา พร้อมเงินบริจาค 7,400 ล้านดอลลาร์-สหรัฐให้กับองค์กรที่มีชุมชนที่เข้มแข็ง 250 แห่ง ขณะเดียวกันก็เป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลและชุมชน เพื่อรับมือกับความแห้งแล้ง อันเป็นผลจากปัญหา Climate Change ด้วยการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนและรู้คุณค่า
ที่สำคัญ การมีน้ำใกล้ๆ บ้านก็มีความสำคัญกับความปลอดภัยของผู้หญิงมาก เพราะมีผู้หญิงและเด็กในแอฟริกาจำนวนมากที่ถูกข่มขืนขณะขนน้ำจากบ่อในตอนกลางคืน หนำซ้ำในจำนวนนี้ 15 ใน 20 คนติดโรคเพศสัมพันธ์จากการถูกข่มขืนด้วย
“ปกติที่บ่อน้ำในเวลากลางวันจะมีคนเยอะมาก ทำให้ต้องคอยคิวนาน ฉะนั้น ฉันจึงต้องตื่นกันตั้งแต่ตีสาม แม้จะกลัวเรื่องความปลอดภัยก็ไม่กล้าบอกให้สามีไปเป็นเพื่อน เพราะเราถือว่าเป็นหน้าที่ของผู้หญิงที่จะทำหน้าที่ขนน้ำเข้ามาใช้ในบ้าน แต่เมื่อมีแท็งก์น้ำก็ทำให้เรารู้สึกปลอดภัยมากขึ้น” แม่บ้านคนหนึ่งของหมู่บ้านกล่าว
ในส่วนของภาคธุรกิจก็มีแนวคิดในการสร้างสังคมที่เข้าถึงน้ำสะอาดอย่างเช่นกรณีของพรอคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล (P&G) กรรณิการ์ จรัสอุไรสิน ผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ กล่าวถึง P&G Purifier of Water ว่า เป็นนวัตกรรมการทำให้น้ำสะอาดในรูปผงบรรจุในซองขนาดเท่าถุงชา ทำให้พกพาง่าย P&G แจกจ่ายน้ำสะอาดไป 8,900 ล้านลิตร ในกว่า 75 ประเทศและได้มาแจกในประเทศไทยเมื่อครั้งน้ำท่วมใหญ่ทั่วประเทศปี 2554 ซึ่งเป็นน้ำดื่มน้ำใช้ในพื้นที่อุทกภัยขาดแคลน ทั้งนี้ จนถึงปี 2558 P&G ได้แจกจ่ายผงดังกล่าว ไปแล้วกว่า 130 ล้านซอง พร้อมกับขยายการดำเนินการไปใน 20 ประเทศ รวมถึงอาร์เจนตินา อินโดนีเซียและเคนยา อีกทั้งตั้งเป้าที่จะขจัดปัญหาวิกฤตน้ำของโลกและจะนำส่งน้ำสะอาดจำนวน 1.5 หมื่นล้านลิตรในปี 2563 ด้วย
เธอบอกว่า “ผง Purifier of Water ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของเด็กๆ และทำให้มีเด็กที่ป่วยจากการดื่มน้ำไม่สะอาดและต้องขาดเรียนบ่อยๆ ให้กลับมาเป็นเด็กแข็งแรงที่เข้าเรียนได้ตามปกติ ที่สำคัญ เด็กๆ เหล่านี้ยังนำสุขนิสัยที่ดีไปถึงครอบครัวและชุมชนของตนเองด้วย”
น้ำคือชีวิตอีกกรณีของ มูลนิธิกลุ่มอีซูซุ ในโครงการ ‘อีซูซุให้น้ำ...เพื่อชีวิต’ ที่มุ่งส่งมอบน้ำดื่มสะอาดให้กับโรงเรียนทั่วประเทศไทย ปนัดดา เจณณวาสิน รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท ตรีเพชร อีซูซุเซลส์ จำกัด กล่าวว่า
“โครงการ “อีซูซุให้น้ำ...เพื่อชีวิต” เป็นโครงการระยะยาวต่อเนื่องจนกว่าจะไม่มีโรงเรียนในประเทศไทยที่มีปัญหาเรื่องน้ำดื่มสะอาดเหลืออีกต่อไป เนื่องจากปัญหาคุณภาพน้ำดื่มยังคงเป็นวาระเร่งด่วนสำหรับหลายพื้นที่ในประเทศไทยและยังมีโรงเรียน 11,658 แห่งที่ยังมีปัญหาน้ำดื่มสะอาด มูลนิธิฯ จึงได้ร่วมมือกับกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดำเนินโครงการนี้ ด้วยการจัดสร้างระบบผลิตน้ำดื่มสะอาดสำหรับโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล พร้อมจัดอบรมให้ความรู้เรื่องการบำรุงรักษาดูแลระบบการผลิตน้ำดื่ม แนะนำวิธีการสร้างรายได้ให้กับโรงเรียนด้วยการนำน้ำดื่มสะอาดที่ได้จากระบบบรรจุขวดจำหน่ายในชุมชนใกล้เคียงอีกด้วย ซึ่งจะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่โรงเรียนและชุมชน”
ปัญหาเรื่องน้ำไม่ใช่เรื่องไกลตัวของเราอีกต่อไปเพราะแม้แต่ในประเทศไทยที่ได้ชื่อว่าเป็นอู่ข้าวอู่น้ำ ปัจจุบันก็ยังมีปัญหาภัยแล้งที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างไปทั่วประเทศ ส่งผลให้ประชากรบางส่วนขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค บางพื้นที่ต้องจัดสรรปันส่วนน้ำใช้ในกิจกรรมต่างๆ ยังไม่รวมถึงการเข้าถึงแหล่งน้ำสะอาดที่ยังเป็นปัญหาของหลายพื้นที่ ผู้มีส่วนร่วมทุกฝ่ายจึงต้องร่วมกันหาทางออกไปพร้อมกัน
เพราะ ‘น้ำ’ คือส่วนสำคัญหลักของโซ่อุปทานที่เรียกว่า ‘สุขอนามัย’ การจะสยบปัญหาน้ำและสุขอนามัยนั้นเป็นไปได้ หากจะต้องมองปัญหาและทางออกแบบองค์รวม ดังเป้าหมายขององค์การสหประชาชาติที่ต้องการให้ขยายความร่วมมือในระดับต่างๆ เพื่อทำให้ทุกคนบนโลกนี้เข้าถึงน้ำและสุขาภิบาลอย่างยั่งยืน
เรื่อง กองบรรณาธิการ