เมืองคือพื้นที่ที่มนุษย์มาอยู่รวมกันจำนวนมาก เป็นที่สร้างสังคม วัฒนธรรม ผลิตสินค้า ค้าขาย ศึกษาเล่าเรียน คิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ เพราะเมืองมักจะเป็นศูนย์รวมของหน่วยราชการ องค์กรเอกชนขนาดใหญ่ สถานศึกษาที่มีคุณภาพ เมื่อรวมกันกลายเป็นชุมชนขนาดใหญ่ที่มีความหนาแน่นของจำนวนประชากรสูง
การย้ายถิ่นฐานจากชนบทเข้าสู่เมือง มีมาอย่างต่อเนื่องตามการพัฒนาของประเทศส่งผลให้เมืองมีขนาดใหญ่ขึ้น ข้อมูลของสหประชาชาติระบุว่า ในปี 2553 มี 10 เมืองใหญ่ที่มีพลเมืองจำนวน 10 ล้านคนหรือมากกว่านั้น ในปี 2557 มีเมืองขนาดใหญ่ถึง 28 เมือง ผู้อยู่อาศัยรวม 453,000,000 คน
ข้อมูลของสหประชาชาติยังบอกอีกว่า ปัจจุบันมนุษย์บนโลกกว่าครึ่งหนึ่งหรือประมาณ 3,500 ล้านคนอาศัยอยู่ในเมือง คาดว่าภายในปี 2573 ประชากรโลกเกือบ 60 เปอร์เซ็นต์จะเข้ามาอาศัยอยู่ในเขตเมือง โดยการขยายตัวของพื้นที่เมืองในทศวรรษต่อไปส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว
ขณะเดียวกันก็มีประชากรกว่า 828 ล้านคนอาศัยอยู่ในสลัมทั่วโลกและตัวเลขก็ยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และการขยายตัวของเมืองก็สร้างปัญหาในหลายพื้นที่อย่างเช่น การขาดแคลนน้ำอุปโภค การจัดการของเสียต่างๆ ปัญหาสุขภาพอนามัยของคนในเมือง รวมถึงสภาพแวดล้อมในการใช้ชีวิตของมนุษย์
อีกด้านหนึ่ง ข้อดีของการเป็นเมืองคือ ประสิทธิภาพในการดึงเอาเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้ได้อย่างคุ้มค่าจากจำนวนผู้ใช้งานที่มากขึ้น ช่วยการลดการบริโภคและการใช้พลังงานลงได้ การที่มีคนเข้ามาอยู่อาศัยในเมืองจำนวนมาก ก็ยังสร้างความท้าทายให้กับวิธีการสร้างเมืองให้สามารถรองรับจำนวนคน การจ้างงาน การใช้พื้นที่และทรัพยากรต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพ ความท้าทายของรัฐบาลและผู้บริหารเมืองขนาดใหญ่ต่างๆ คือการจัดการความแออัดของประชากรที่อยู่ในเมือง การจัดหาที่อยู่อาศัย การสร้างและการดูแลรักษาสาธารณูปโภคเพื่อให้บริการผู้คน
นอกจากนี้การจัดการมลภาวะต่างๆ การลดความยากจน ก็เป็นปัญหาที่สังคมเมืองหลายแห่งยังต้องเผชิญอยู่ เมืองที่จะยั่งยืน ต่อไปในอนาคตจึงต้องเป็นเมืองแห่งโอกาสสำหรับทุกคน ให้ประชาชนในเมืองทุกคนสามารถเข้าถึงบริการพื้นฐานต่างๆ ได้อย่างทั่วถึง ทั้งเรื่องพลังงาน ที่พักอาศัย ระบบขนส่งและบริการต่างๆ สหประชาชาติตั้งเป้าหมายในปี 2573 สำหรับประเด็นเมืองยั่งยืนไว้ว่า จะต้องทำให้มีที่พักอาศัยที่ปลอดภัยและสามารถซื้อหาได้อย่างพอเพียงสำหรับประชากรทุกคน รวมถึงการให้บริการพื้นฐานต่างๆ จะต้องมีระบบขนส่งที่เข้าถึงได้ง่าย ปลอดภัย ราคาไม่แพงสำหรับทุกคน มีความปลอดภัยบนท้องถนนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในระบบขนส่งสาธารณะ และให้ความสำคัญกับกลุ่มคนที่ด้อยโอกาส ตัวอย่างเช่น เด็ก คนพิการ คนชรา
สหประชาชาติตั้งเป้าจะลดจำนวนผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับผลกระทบจากภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจซึ่งเป็นผลจากภัยพิบัติต่างๆ เป้าหมายนี้มุ่งไปที่กลุ่มคนยากจนและผู้ด้อยโอกาสเป็นหลัก โดยใน พ.ศ. 2563 เป้าหมายคือให้มีนโยบายและแผนงานเพื่อการใช้ทรัพยากรต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ และรองรับกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และรับมือกับ ภัยพิบัติต่างๆ ด้วยการบริหารจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติในทุกระดับ
ทางด้านมลภาวะ ก็ควรจะลดค่าใช้จ่ายในการจัดการมลภาวะต่างๆ เมื่อเทียบต่อหัวประชากรให้ลดลง รวมทั้งจัดให้มีพื้นที่สีเขียวสำหรับที่ปลอดภัยและเข้าถึงได้ง่ายสำหรับทุกคน
ใน พ.ศ. 2573 สหประชาชาติคาดหวังว่าทุกประเทศจะมีแผนงานบริหารจัดการการขยายตัวของเมืองและสามารถรองรับการเคลื่อนย้ายของประชากรได้อย่างกว้างๆ ขณะเดียวกันก็ควรรักษาศิลปวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมาและเป็นมรดกของโลกไว้ได้ นอกจากนี้ประเทศต่างๆ ควรจะมีแผนพัฒนาที่เชื่อมโยงกิจกรรมทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมระหว่างเมืองและชนบท อีกเป้าหมายของสหประชาชาติ คือ การสนับสนุนประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งรวมถึงด้านการเงินและการสนับสนุนด้านเทคนิค เพื่อสร้างความยั่งยืนและยืดหยุ่นกับการใช้ทรัพยากรในแต่ละพื้นที่ รัฐบาลระดับชาติและระดับท้องถิ่นต้องพยายามจัดการเพื่อรองรับการเพิ่มขึ้นของประชากรในพื้นที่เหล่านั้น การทำให้เมืองปลอดภัยและยั่งยืน หมายถึง การทำให้เข้าถึงที่อยู่อาศัยที่ปลอดภัยและเหมาะสม และพัฒนาการตั้งถิ่นฐานของชุมชนแออัด และยังเกี่ยวข้องกับการลงทุนเรื่องระบบขนส่งสาธารณะ การสร้างพื้นที่สาธารณะสีเขียวและการปรับปรุงการวางผังเมืองและการจัดการในลักษณะแบบมีส่วนร่วม
ลักษณะเช่นนี้กำลังเกิดขึ้นแล้วในหลายเมืองใหญ่ทั่วโลก เราขอยกตัวอย่างแผนงานของเมืองเมลเบิร์น รัฐวิกตอเรีย ประเทศออสเตรเลีย ที่วางแผนงานปรับปรุงเมืองมาตั้งแต่ปี 2555 ในชื่อ “Plan Melbourne” เป็นการพัฒนาแผนงานร่วมกันของทั้งภาครัฐและประชาชนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องรวม ถึงประชาคมอื่นๆ กว่า 2 ปี เพื่อสรุปหาแผนพัฒนาเมืองให้เกิดความยั่งยืน แผนงานนี้เริ่มด้วยการเปิดเวทีพูดคุยเกี่ยวกับอนาคตของเมืองที่ทุกฝ่ายต้องการจะให้เดินหน้าในเดือน ต.ค. 2555 แค่ 5 เดือนหลังจากนั้น คนหลายพันคนที่มาจากทุกภาคส่วน รวมถึงผู้แทนหน่วยงานต่างๆ เข้ามาร่วมพูดคุยถึงขอบเขตของกิจกรรม เริ่มทำการสำรวจ และวางแผนงานกัน
หนึ่งปีหลังจากเริ่มต้น Plan Melbourne ก็ออกมาเพื่อให้สาธารณชนแสดงความคิดเห็น ที่สุดแผนการทำงานก็ออกมาด้วยความร่วมมือร่วมใจของคนในสังคมและหน่วยงานองค์กรต่างๆ ในเดือนพฤษภาคมปี 2557 เป็นกรอบหลักในการวางนโยบายพัฒนาเมืองของภาครัฐ รัฐบาลรัฐวิกตอเรียรับแผนงานที่ร่วมกันคิดของประชาคมต่างๆ และปรับใช้เป็นแผนงานระยะยาวในด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัย การเพิ่มตำแหน่งงาน การพัฒนาคุณภาพชีวิต การเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานระบบคมนาคมสาธารณะเข้าด้วยกัน และการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศ
ตัวอย่างกลยุทธ์และเป้าหมายของ Plan Melbourne เช่น จะสนับสนุนการมีที่พักอาศัย การมีงานทำ การศึกษา การดูแลสุขภาพ รวมไปถึงการมีคุณภาพชีวิต สิ่งอำนวยความสะดวกในการสันทนาการ และการพักผ่อนให้กับคนในเมือง การเชื่อมโยงกับโลกผ่านการค้า ผู้คน และข้อมูลข่าวสารต่างๆ ทำให้เมลเบิร์นต้องการปรับปรุงผลิตภาพเพื่อเชื่อมโยงและสร้างความสามารถในการแข่งขัน การสร้างเมืองที่ประสบความสำเร็จด้วยการเชื่อมโยงชุมชนต่างๆ และส่งเสริมคุณค่าที่มีอยู่ในแต่ละชุมชน การบริหารจัดการการใช้ทรัพยากร โดยเฉพาะอย่างยิ่งพลังงานและน้ำ การรักษาพื้นที่สีเขียวของเมือง ซึ่งจะช่วยให้เมลเบิร์นสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศได้ โดยในแผนงานระบุว่าทั้งหมดจะสำเร็จได้จะต้องได้รับความร่วมมือกันทั้งจากภาครัฐ รัฐบาลท้องถิ่น ภาคธุรกิจและชุมชน เพื่อที่จะสร้างเมลเบิร์นที่พวกเขาปรารถนาใน 40 ปีข้างหน้า
Plan Melbourne มีการคาดการณ์การขยายตัวของเมืองไว้อย่างเช่น จากจำนวนประชากรใน พ.ศ. 2556 ที่ 4.3 ล้านคน คาดว่าเมืองจะเติบโตและมีประชากรราว 7.7 ล้านคนใน พ.ศ. 2594 ตำแหน่งงานใหม่ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นใน พ.ศ. 2594 คือ 1.7 ล้านตำแหน่ง จากที่มีอยู่ในปัจจุบันประมาณ 2 ล้านตำแหน่ง ที่อยู่อาศัยจะต้องสร้างขึ้นใหม่ประมาณ 1.6 ล้านหน่วย ขณะที่การเดินทางจะเพิ่มขึ้นเป็นราว 24.9 ล้านเที่ยว จากที่เป็นอยู่ในปัจจุบันประมาณ 14.2 ล้านเที่ยวในเขตเมืองเมลเบิร์น ข้อมูลเหล่านี้ทำให้ผู้เกี่ยวข้องสามารถวางแผนงานรองรับการเติบโต เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้และเตรียมการรองรับความเปลี่ยนแปลง สร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้นกับเมืองได้ไปพร้อมกันอย่างมีประสิทธิภาพ
Plan Melbourne กำหนดเป้าหมายแต่ละระยะไว้โดยเริ่มจากการวางแผนการเตรียมจัดหาเงินทุน การวางแผนงานด้านโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคมทางรางเพื่อเชื่อมโยงส่วนต่างๆ ของเมือง ทั้งในตัวเมืองและส่วนขยายที่วางแผนไว้ นอกจากนี้ยังมีแผนงานด้านการขยายท่าเรือสินค้า และพัฒนาท่าเรือแห่งใหม่ การเชื่อมโยงการเดินทางกับสนามบินที่อยู่ใกล้เคียงซึ่งจะทำให้การขนส่งทั้งคนและสินค้าทำได้สะดวกยิ่งขึ้น รวมถึงแผนการพัฒนาย่านชานเมืองและชุมชนต่างๆ ที่วางเอาไว้ ตัวอย่างแผนการพัฒนาชุมชนของเมลเบิร์นคือ แผน ‘20-Minute Neighbourhoods’ เป็นหนึ่งในแผนที่ทำให้เห็นถึงความพยายามจะสร้างชุมชนน่าอยู่ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงความต้องการต่างๆ เช่น ร้านค้า โรงเรียน สวนสาธารณะ แหล่งงาน และบริการชุมชนต่างๆ ใน 20 นาทีจากประตูบ้าน แผนงานนี้จึงเป็นการสร้างขนาดตลาดที่เหมาะสมและการวางแผนงานด้านการจัดการสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ โดยปัจจุบันมีบางชุมชนในเมลเบิร์นสามารถทำเช่นนี้ได้แล้ว โดยเฉพาะเขตใจกลางเมือง ที่ผู้อยู่อาศัยสามารถเดินไปใช้บริการต่างๆ และสามารถเชื่อมกับระบบขนส่งสาธารณะได้ใน 20 นาที และอีกหลายพื้นที่กำลังวางแผนจะให้เป็นพื้นที่ที่เหมาะกับการเดินและกิจกรรมของชุมชน แผนงานนี้ต้องใช้การจัดโซนนิ่งพื้นที่ต่างๆ เพื่อให้เอื้อต่อการเติบโตของชุมชน การทำทางเท้าให้เดินได้สะดวก การสนับสนุนท้องถิ่นและชุมชนให้สามารถวางแผนและจัดการชุมชนของตน การวางแผนงานสร้างที่พักอาศัยในพื้นที่ที่สามารถเดินไปใช้งานระบบขนส่งสาธารณะ
นี่คือตัวอย่างการตอบโจทย์ความมุ่งหวังของสหประชาชาติ ในการมีชุมชนที่ปลอดภัย พร้อมกับการเสริมประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรต่างๆ ด้วยการเน้นให้ประชาชนในพื้นที่สามารถเข้าถึงบริการต่างๆ ลดการใช้พลังงาน ด้วยเมืองที่ใช้พื้นที่อย่างคุ้มค่า ลดค่าใช้จ่ายในการวางระบบสาธารณูปโภคต่างๆ เน้นการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ สามารถปรับปรุงวิธีการใช้ทรัพยากรต่างๆ ได้ง่ายขึ้น
การอยู่แบบชุมชนเมืองเป็นแนวโน้มที่เกิดขึ้นแล้ว พร้อมกับความห่วงใยในเรื่องความยั่งยืนของมนุษยชาติ เราสามารถใช้เทคโนโลยีต่างๆ รวมถึงการร่วมมือร่วมใจกันเพื่อสร้างสังคมเมืองที่ขยายตัวไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก เมืองที่มีสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมกับการอยู่อาศัย ปลอดภัยและสามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เรื่อง : กองบรรณธิการ