January 22, 2025
×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 805

ขอชิดใกล้ ในความเท่าเทียม

October 30, 2017 9457

ก่อนปีสหัสวรรษ คำว่า ”ความเหลื่อมล้ำ” หรือ ”ความไม่เท่าเทียม” ที่เรามักพบเจอจะเป็นเนื้อหาในสาขาด้านสังคมวิทยาที่ขบวนของเนื้อหาโน้มไปในเรื่องทางภาคสังคมและพัฒนาการที่ต่อเนื่องมาจากประวัติศาสตร์นับพันปี

 

โดยประเด็นในเรื่องนี้มีระบุไว้ว่ามนุษย์เราดำรงอยู่ภายใต้ภาวะความเหลื่อมล้ำกันมาโดยตลอดนับตั้งแต่ลืมตาขึ้นมาดูโลก ทารกน้อยจากครรภ์มารดาผู้หนึ่ง กับทารกน้อยจากครรภ์มารดาอีกผู้หนึ่ง ได้รับการตัดสินนับแต่วินาทีที่ลืมตาดูโลกแล้วว่า หาได้มีความเท่าเทียมกันได้ไม่ โดยปัจจัยที่เป็นตัวชี้ชะตาและกำหนดว่า เด็กน้อยผู้นี้เป็นผู้มีวาสนาใช้เหตุผลที่ว่าถือกำเนิดเกิดมาในครรภ์มารดาผู้ใด เป็นบุคคลในชนชั้นไหน ถ้าผู้ให้กำเนิดเกิดเด็กน้อยเป็นคนในตระกูลและชนชั้นสูง หนูน้อยผู้นั้นก็จะได้รับการจัดลำดับนับชั้นเป็นบุคคลในชั้นสูงเช่นกัน ส่วนหนูน้อยที่ด้อยวาสนาก็เพราะกำเนิดเกิดมาในท้องแม่สามัญชน ตัวชี้วัดและการกำหนดชนชั้นได้แบ่งแยกความเท่ากันของมนุษย์เราในหลายแห่งหนเป็นเวลาช้านาน  

 

ความเหลื่อมล้ำที่เลือนราง

ในการดำรงอยู่ภายใต้การไม่รู้ในอดีต เพราะวิทยาการและความรู้ของมนุษย์นั้นยังด้อยและจำกัด เพียงฝนฟ้าถล่ม ดินทลาย น้ำป่าไหลหลาก เกิดโรคระบาดผู้คนล้มตาย ผีพุ่งไต้ สุริยุปราคา จันทรุปราคา ภูเขาไฟระเบิดและอีกหลายสาเหตุที่มนุษย์เห็นเป็นอาเภทและไม่รู้ที่มา แต่ได้สร้างความหวั่นกลัวอันสั่นไหวและสิ่งที่ช่วยสงบใจมนุษย์ลงได้คือ ศาสนาและความเชื่อที่มีต่อสิ่งที่เหนือธรรมชาติ การสยบยอมและมอบความศรัทธาไว้กับภูติผีปีศาจและเทวดา จนพัฒนามาเป็นความเชื่อในสมมุติเทพ เทพจุติและผู้มีบุญญาธิการ ได้พัฒนาและสร้างความแตกต่างในรูปแบบของชนชั้นผู้ปกครองและผู้ถูกปกครองนับแต่โบราณ โดยสิ่งนั้นได้รับการอรรถาธิบายภายใต้ทฤษฎีการหน้าที่ (functionalism) อย่างไรก็ดี วิวัฒนาการของความเหลื่อมล้ำนับแต่อดีตได้ทำหน้าที่สร้างและส่งต่ออาณาจักรอันรุ่งโรจน์และเรืองรองจนสุดท้ายมักพบกาลล่มสลายลงไป เสมือนบทพิสูจน์ถึงความยั่งยืนที่คงยากหากปัจจัยของความไม่เท่าเทียมยังคงอยู่และได้รับการอธิบายในบริบทในแบบใหม่ ความรู้ที่มากขึ้นของมนุษย์และความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ ได้ทำหน้าที่อรรถาธิบายและปลดภาระหน้าที่ของเหล่าภูติผีและปีศาจ กระทั่งเหล่าเทพเทวดาให้คืนกลับสู่สวรรค์ชั้นฟ้า และมอบความเท่าเทียมแห่งมนุษยชาติผ่านสิ่งที่เรียกว่า “สิทธิมนุษยชน”

 

ความเหลื่อมล้ำแห่งยุคสมัย

ล่าสุดนิตยสาร Forbes ได้ออกรายงานผลของการสำรวจและจัดอันดับเศรษฐีผู้มั่งคั่งของโลกแห่งปี 2016 โดยข้อมูลล่าสุดพบว่าเศรษฐีผู้มีสินทรัพย์นับรวมถึงระดับหลักพันล้านเหรียญขึ้นไปของโลกมีอยู่ 1,810 คนลดน้อยถอยลงจากปี 2015 แต่โดยสะระตะ สินทรัพย์เมื่อนับรวมกันของผู้ติดอันดับเหล่านี้มีมูลค่าความมั่งคั่งรวมกันอยู่ที่ 6.5 ล้านล้านเหรียญ หากจะมองตัวเลขที่หยาบๆ แต่มโนภาพให้แจ่มชัด ก็ให้นึกว่าสินทรัพย์และความมั่งคั่งของเศรษฐีเพียงพันกว่าคนเป็นผู้ถือครองความมั่งคั่งของสินทรัพย์ร่วมกันได้เกือบครึ่งหนึ่งของคนทั้งโลกรวมกัน 6,000 ล้านคน

 

ส่วนภายในของประเทศไทยเราเองก็ไม่ได้ แตกต่างจากโครงสร้างของสากล เพียงหดและลดขนาด ย่อสเกลลงมาเพราะเมื่อพิจารณาจะพบว่าเจ้าสัว 10 คนที่รวยที่สุดของไทยเรา ถือครองสินทรัพย์นับรวมกันได้ถึง 37.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือตัวเลขสินทรัพย์รวมกันที่หลักล้านล้านบาทไม่น้อยไปกว่านั้น 

 

ภายใต้เป้าหมายการพัฒนาความเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกด้วยเงื่อนไขและกติกาของระบบทุนนิยมได้ช่วยสร้างความเติบโตและยิ่งใหญ่ให้กับโลกและประเทศนานับ แต่กลับสร้างได้เพียงความมั่งคั่งให้กับบางเสี้ยวส่วน ในจำนวนผู้คนอันน้อยนิดภายใต้กลไกการใช้ทรัพยากรแลกมาด้วยทั้งกำลังคน กำลังสติปัญญาและทรัพยากรจากธรรมชาติอย่างหลากหลายจนกลายเป็นวิกฤติปัญหาไปทั่วโลก ทั้งบนแผ่นดิน ในผืนน้ำ บนฟากฟ้าและอากาศ แต่ใช้สร้างความร่ำรวยให้กับคนเพียงหยิบมือ 

 

คำถามคือเงื่อนไขและกติกาที่สากลและประเทศได้กำหนดใช้ มีบริบทและโครงสร้างของการจัดสรรและแบ่งปันผลตอบแทนเช่นไร ที่ได้ส่งผลให้ความมั่งคั่งได้บังเกิดขึ้นกับคนเป็นเพียงส่วนน้อย ของทั้งโลก

 

อย่างไรก็ดี หากเราจะใช้เพียงตัวเลขแสดงสินทรัพย์และดัชนีในทางเศรษฐกิจในการชี้ชัดความรวยความจน ความมีความไร้ อาจไม่ได้แสดงความหมายที่แท้จริงเสียทีเดียว เพราะผู้ที่มีดัชนีชี้วัดว่าเป็นคนจนที่สุดในทางตัวเลขก็คือผู้ที่มีตัวเลขติดลบ ก็คือคนที่มีหนี้ เมื่อเทียบกับคนจนผู้ยากไร้และไม่มีแม้แต่ที่อยู่อาศัยและข้าวปลาอาหารประทังชีวิต แปลว่ามีสินทรัพย์เท่ากับศูนย์ แต่ไม่มีหนี้ (เพราะไม่มีแม้โอกาสที่จะสร้างหนี้ได้) แล้วดัชนีที่ใช้ตัวเลขในการชี้วัดจะมีความหมายอย่างไร เพราะคนจนผู้ยากไร้คือไม่มีอะไรเลย แต่ผู้เป็นหนี้นับร้อยล้านอาจดำเนินชีวิตแบบผู้มีอันจะกินทั่วไปและใช้ชีวิตสุขสบายหรูหราเพียงแต่ว่ามีตัวเลขติดลบในทางบัญชี แล้วตัวเลขเหล่านี้จะเป็นดัชนีชี้วัดความมั่งคั่งและความยั่งยืนให้กับเราได้อย่างไร

 

การกำหนดกฎเกณฑ์ กติกา และนโยบายเพื่อความเสมอกันอันจะนำไปสู่ความยั่งยืนนั้นมีความสำคัญเป็นยิ่งยวด แต่ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือการนำข้อกำหนดและกฎเกณฑ์เหล่านั้นไปสู่การปฏิบัติให้ได้ตามที่บัญญัติไว้ เพราะหากว่ากฎและกติกาได้รับการสร้างขึ้นเพียงเพื่อใช้เป็นเครื่องมือให้แลดูดี หรือเป็นเครืองมือในทางการเมืองไม่ว่าจะเป็นการเมืองระหว่างประเทศหรือภายในประเทศเองก็ตาม การจะขจัดหรือลดความไม่เท่าเทียมแม้ไม่ต้องหมดไป แค่ให้ลดน้อยถอยลง คงเป็นเพียงคำนิยามอันหรูหราที่แต่งขึ้นมาและบรรจุเนื้อหาเพื่อสร้างจินตนาการและความคาดหวัง ต่อสิ่งที่ไม่มีวันจะเป็นความจริง

 

เป้าหมายโลก เป้าหมายเรา ธ.ก.ส. เปลี่ยนผู้ด้อยเป็นผู้ได้ 

อุปสรรคสำคัญหนึ่งอันนำมาซึ่งความเหลื่อมล้ำของผู้ด้อยในระบบเศรษฐกิจทุนนิยมคือการด้อยใน “โอกาส” โดยโอกาสที่ว่าคือโอกาสในการเข้าถึงซึ่งแหล่งทุน โดยทุนที่ว่าคือ “ทุนทางความรู้และทุนเพื่อใช้ในการผลิตและประกอบการ” ความด้อยต่อสิ่งเหล่านี้ สามารถมีผลชีวิตผู้ด้อยที่อาจคงความเป็น “ผู้ด้อย” อย่างยั่งยืนหากปราศจากการแตะถึงซึ่งโอกาสเยี่ยง “ผู้ได้”

 

ฉายภาพง่ายๆ ไปที่ตลาดเงิน สถานที่ที่คนนำเงินไปฝากและมีคนไปขอกู้ เงินเหล่านี้มีที่มาจากการเก็บหอมรอมริบของคนเล็กคนน้อย หรือคนทั่วไปในประเทศ ไปจนถึงคนที่เหลือกินเหลือใช้ นำไปฝากกองรวมกันในสถาบันรับฝากเพื่อทำการจัดสรร “ความมั่งคั่งที่รับฝากมา” ไปสร้างผลกำไรเพื่อนำกลับมาตอบแทนเจ้าของเงินฝากและเป็นผลตอบแทนการดำเนินการของตัวกลางหรือธนาคาร ผ่านข้อตกลงการจ่ายผลตอบแทนในรูปดอกเบี้ย ตัวกลางผู้รับฝาก ถือเป็นผู้ได้รับสิทธิในการจัดสรรเงินเหล่านั้นเพื่อไป สร้างผลตอบแทนในฝั่งของการปล่อยกู้ หรือการลงทุนที่คาดว่าจะสร้างผลตอบแทนการลงทุนที่มากกว่า แต่ไหนแต่ไรมาในอดีต เงินกู้เหล่านั้นมีทิศทางและเป้าหมายอยู่ที่การทำกำไรของการปล่อยสินเชื่อ และนั่นคือตรรกะที่ยอมรับกันว่าสมเหตุสมผล เพราะคือการแสดงความรับชอบต่อเจ้าของเงินที่เอามาฝากที่ธนาคารต้องดูแลทั้งเงินต้นและดอกผลเพื่อตอบแทน ผลสะท้อนต่อมาจึงวกมาที่การปล่อยกู้ ที่ต้องมองทั้งความเสี่ยงและยังมีเรื่องของโอกาส การทำกำไร เช่นนั้นแล้ว เงื่อนไขการปล่อยสินเชื่อโดยทั่วไปจึงมักเอื้อและอนุมัติเงินกู้ให้กับผู้ที่แลดูมีเครดิตน่าเชื่อถือ ซึ่งมักเป็นผู้ที่มีความมั่งคั่งเป็นทุนเดิม (หรือไม่มี) เพราะทุนเดิมนั้นมักเป็นสินทรัพย์ที่มาค้ำประกัน 

 

ตรรกะเหล่านี้มิใช่สิ่งผิด เพียงแต่ว่าตรรกะเหล่านี้มีผลต่อโครงสร้างทางโอกาสของผู้ด้อยนอกจากยากจะแตะถึงโอกาสของแหล่งทุน แล้วที่ยากไปกว่านั้นคือ ต้นทุนที่มักสูงกว่าแม้จะได้เงินกู้ หากสังเกตให้ดีจะพบว่า ดอกเบี้ยตอบแทนเงินฝากมักสูงกว่าสำหรับเงินฝากยอดสูง ในทางกลับกัน อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของสินเชื่อก้อนใหญ่กลับได้ข้อเสนอการเสียดอกเบี้ยที่ต่ำกว่า ลูกค้ารายย่อยที่มักจ่ายดอกเบี้ยสูงกว่า และที่เหนือไปกว่านั้นคือสถาบันการเงินมักพยายามไม่ให้ลูกค้ารายใหญ่ของธนาคารล้มหายตายจาก หากเพียงประสบปัญหาสภาพคล่อง หรือเงินสะดุด การอนุมัติสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือหรือส่งเสริมการขยายการลงทุน นั้นยิ่งถือเป็นโอกาสร่วมกันในการทำกำไรสำหรับลูกค้าสถาบัน แต่สำหรับลูกค้ารายย่อยนั้นเป็นเรื่องยากที่จะได้รับการต่อยอดและยืดโอกาส สภาพที่เห็นไม่ใช่เรื่องง่ายที่คนเล็กคนน้อย จะฝ่าทะลุด่านไปสู่การตั้งตัวขึ้นมาได้ ภายใต้ตรรกะของความน่าจะเป็นของการเอื้อโอกาสของผู้ได้ ยังคงเป็นผู้ได้อยู่เยี่ยงนั้น

 

 

การมีธนาคารอย่าง ธ.ก.ส. (ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร) ที่ถูกจัดตั้งขึ้นมาและมีเป้าหมายสำคัญในการมุ่งช่วยเหลือและสนับสนุนชาวนาและเกษตรกรไทยให้มีโอกาสได้เข้าถึงแหล่งเงินกู้ ด้วยเงื่อนไขที่มุ่งหมายในการช่วยเหลือและอัตราดอกเบี้ยที่เป็นธรรม มีส่วนในการช่วยขจัดปัญหาหนี้นอกระบบอันนำมาซึ่งปัญหาการสูญเสียที่ดินทำกินของชาวนาและเกษตรกร และหนี้สินที่เป็นเหตุตามมาของ ความยากจน หนี้ท่วมท้น และนำมาซึ่งความเหลื่อมล้ำ และอีกหลายปัญหา จากการตระหนักเห็นถึงความสำคัญของเกษตรกรว่าเป็นหน่วยผู้สร้างและผลิตอาหารที่ช่วยเลี้ยงดูคนทั้งประเทศ และผลผลิตเหล่านี้ยังเป็นสินค้าส่งออกสร้างรายได้ให้กับประเทศมาโดยตลอดหลายสิบปี แต่กลับกลายว่า ความช่วยเหลือและเอื้อโอกาสสำหรับฝ่ายผลิตสำคัญแห่งชาติช่างมีน้อยมาโดยตลอด คงเป็นภาพที่ยากจะพบเห็นได้ในปัจจุบันและอนาคต ในภาพของพนักงานธนาคารที่ปั่นจักรยาน นั่งเกวียน และเดินไต่ไปตามคันนา และร่องสวนเพื่อไปบริการรับฝากเงิน และหยิบยื่นเงินกู้ให้กับชาวบ้าน เพื่อฉุดยื้อและแย่งชิงการรักษาสมดุลแห่งนิเวศทางการเกษตรที่แข็งแกร่งเท่าที่กำลังจะทำได้ เพื่อมิให้ที่ดินและที่นาอันเป็นสินทรัพย์ทำกินของชาวบ้านต้องสูญเสียและหลุดมือไปเพียงเพราะรูปแบบการผลิตและทำกินยังต้องพึ่งพาดินฟ้าและอากาศ ธรรมชาติและความเสี่ยง อีกทั้งบ่อยครั้งที่ราคาของพืชผลไม่เป็นไปดั่งที่ตั้งใจ กลไกการตลาดที่ยังขาดความเข้มแข็ง ส่งผลให้เกษตรกรที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ ตลอด 50 ปีที่ผ่านมาต้องต่อสู้และฟันฝ่าอย่างไม่ง่าย 

 

ธ.ก.ส. นอกจากการเป็นธนาคารเพื่อการให้สินเชื่อและรับฝากเงินเพื่อสุขภาวะทางสังคมและการเงินของเกษตรกรแล้ว ที่สำคัญธนาคารแห่งนี้ยังสนับสนุนแหล่งทุนทางความรู้เพื่อเป้าหมายในการยกระดับความสามารถของเกษตรกรอันเป็นฐานรากที่สำคัญของสังคมไทยไปสู่ความเข้มแข็ง ซึ่งหากพันธกิจที่มุ่งมั่นนั้นเป็นจริงได้ ช่วงความต่างของความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยแม้ไม่หมดไปและหายไปแต่คงได้ขยับชิดเข้าใกล้ได้อีกเล็กน้อย

 

เรื่อง : กองบรรณาธิการ

 

 

X

Right Click

No right click