November 21, 2024
×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 805

Climate Change มหันตภัยใกล้ตัว

November 02, 2017 13454

Climate Change กลายเป็นมหันตภัยใกล้ตัวผู้คนมากขึ้น จากสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนอย่างมาก วิกฤตโลกร้อนที่รุนแรงขึ้นสะท้อนให้เห็นได้ชัดจากน้ำแข็งขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ที่มีปริมาณลดน้อยลงเป็นสถิติใหม่ทุกปี ที่ผ่านมาเราอาจจะพูดถึงปริมาณน้ำแข็งที่ละลายมากเป็นปรากฏการณ์ในช่วงฤดูร้อน แต่ในช่วงฤดูหนาวจะเป็นช่วงเดียวที่น้ำแข็งขั้วโลกจะสามารถฟื้นตัวคืนกลับมาได้

 

ทว่าในช่วงฤดูหนาวปี 2558 น้ำแข็งขั้วโลกเหนือและใต้กลับเหลือปริมาณน้อยที่สุดทุบสถิติ 35 ปี จากที่ก่อนหน้านี้ในปี 2554 ก็มีประเด็นให้หวาดหวั่นกันมาครั้งหนึ่งแล้วว่า มีปริมาณน้ำแข็งที่หายไป 130,000 ตร.กม. หรือเทียบเท่ากับรัฐเทกซัสและแคลิฟอร์เนียเลยทีเดียว

 

การละลายของชั้นน้ำแข็งแอนตาร์กติกาเร็วขึ้นถึง 70% ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ทั้งนี้ ข้อมูลจากดาวเทียมชี้ว่า ช่วงเวลา 18 ปี ชั้นน้ำแข็งได้ละลายไป 310 ตร.กม.ทุกปี ทำให้แต่ละชั้นนั้นเสียความหนาแน่นไป 18% เรื่องทะเลน้ำแข็งอาร์กติกน้ำแข็งละลายอาจฟังดูเหมือนนิยายวิทยาศาสตร์และไกลตัว แต่ที่จริงแล้วส่งผลกับผู้คนทั่วโลกอย่างเลี่ยงไม่พ้น เพราะการสูญเสียทะเลน้ำแข็งนั้น จะยิ่งซ้ำเติมและเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศรุนแรงหนักยิ่งขึ้น นอกจากนี้ เมื่อชั้นน้ำแข็งซึ่งเป็นส่วนที่ประคองก้อนน้ำแข็งขนาดใหญ่ละลายเร็วขึ้น แล้วน้ำแข็งบนพื้นดินหล่นลงสู่มหาสมุทร ก็ย่อมจะเพิ่มปริมาณน้ำในทะเล ทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น คาดการณ์ว่าระดับน้ำทะเลจะเพิ่มขึ้นอีก 24 - 30 ซม. และ 40 - 63 ซม. ในปี พ.ศ. 2608 และ 2643 ตามลำดับ หากไม่มีการดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับ Climate Change

 

Climate Change เป็นเป้าหมายที่ 13 ขององค์การสหประชาชาติ เนื่องจากผลกระทบที่เกิดขึ้นในวงกว้างกับทุกประเทศ ทุกภูมิภาคและได้รับผลกระทบทั้งในแง่ของการแปลงของสภาวะอากาศ ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นและภัยพิบัติต่างๆ ที่เกิดจากสภาวะอากาศ โดยมีมนุษย์เป็นตัวแปรสำคัญของการปล่อยแก๊สเรือนกระจก ที่นับวันก็ยิ่งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซ้ำๆ สูงสุดเป็นประวัติการณ์ สำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อม (EPA) ของสหรัฐอเมริกาได้จัดอันดับผู้ปล่อยแก๊สเรือนกระจกของภาคส่วนผู้ใช้ขั้นสุดท้าย (End-User Sectors) ไว้ดังนี้ อุตสาหกรรม, การขนส่ง, การพักอาศัย, พาณิชยกรรมและเกษตรกรรม ขณะที่แหล่งปลดปล่อยแก๊สเรือนกระจกส่วนบุคคลมาจากการให้ความอบอุ่นและการทำความเย็นในอาคาร การใช้ไฟฟ้าและการขนส่ง ทั้งนี้ หากไม่มีการดำเนินการใดๆ กับการปล่อยแก๊สเรือนกระจก ประเมินกันว่า ในศตวรรษที่ 21 โลกจะร้อนขึ้นโดยเฉลี่ยอีก 3 องศาเซลเซียส หรือมากกว่านี้ในบางพื้นที่ ดังนั้น ประเทศต่างๆ จึงต้องร่วมมือกันในระดับนานาชาติ เพื่อช่วยให้ประเทศกำลังพัฒนาสามารถเดินหน้าไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ (Low-Carbon Economy) ซึ่งที่ผ่านมา ประเทศต่างๆ ก็ได้เข้าร่วมประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 21 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อปลายปี 2558 ขณะเดียวกัน แต่ละประเทศก็ต้องรณรงค์ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านพฤติกรรมของประชาชน ให้ลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจก รวมทั้งใช้พลังงานที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ เพื่อจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกโดยเฉลี่ย 2 องศาเซลเซียส 

 

 

อาเซียนและไทย

ระหว่างวันที่ 30 พ.ย. - 11 ธ.ค. 2558 โลกได้เห็นความร่วมมือระดับนานาชาติจากการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 21 ณ กรุงปารีส หรือที่เรียกว่า Paris 2015-COP 21 ซึ่งเป็นการประชุมภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ (UNFCC) ที่มีผู้เข้าร่วมประชุมราว 50,000 คนจาก 195 ประเทศ เพื่อจำกัดการเพิ่มอุณหภูมิของภาวะโลกร้อนให้อยู่ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส 

 

ก่อนหน้าการประชุมที่ปารีส ผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายภาคส่วนได้ร่วมกันจัดประชุมระดับภูมิภาคอาเซียนทางด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (RFCC) ภายใต้ความร่วมมือของสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) กระทรวงการต่างประเทศและการพัฒนาของฝรั่งเศส สำนักเลขาธิการอาเซียนและสหภาพยุโรป (EU) เมื่อเดือนกรกฎาคม 2558  เราต้องยอมรับความจริงที่ว่า แม้อาเซียนจะเป็นภูมิภาคที่อ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของโลก แต่ประเด็นนี้กลับไม่คืบหน้าเท่าไรถ้าเทียบกับความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจที่รุดหน้ามากกว่า สาเหตุหนึ่งก็เนื่องจากภูมิภาคนี้มีความหลากหลายสูง มีทั้งประเทศแถวหน้าที่พร้อมจะปรับตัวตามนโยบายของเวทีโลก แต่บางประเทศอาจต้องได้รับความช่วยเหลือทางด้านการเงินหรือด้านเทคนิค เพื่อให้ทันกับกรอบนโยบายที่ UNFCC ประกาศเป็นแนวปฏิบัติ 

 

สำหรับประเทศไทยกับประเด็น Climate Change อยู่ในระดับแกนนำของอาเซียนร่วมกับสิงคโปร์และมาเลเซีย ประเสริฐ ศิรินภาพร ผู้อำนวยการสำนักงานประสานการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พูดถึงบทบาทของไทยต่อการประชุม COP 21 ว่า ไทยเข้าเป็นสมาชิกอนุสัญญานี้มานานแล้วและมีพันธกรณีหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการทำรายงานบัญชีแก๊สเรือนกระจกที่ไทยทำมาแล้ว 2 ฉบับ นอกจากนี้ ยังได้จัดทำแผนแม่บทระยะยาวรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของครม. และอีกไม่นานก็จะออกมาเป็นแผนยุทธศาสตร์ของประเทศ คือ 1) การจับตาเรื่องการลดแก๊สเรือนกระจก 2) การปรับตัวและการเพิ่มขีดความสามารถต่างๆ ซึ่งประเทศไทยได้กรอบการดำเนินงาน คือ 

 

ก่อนหน้าปี 2563 ซึ่งไทยยังเป็นสมาชิกที่ไม่ได้ถูกบังคับให้ต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่ไทยก็ยินดีที่จะให้ความร่วมมือ กรอบหลังปี 2563 โดยในการเจรจาปลายปีที่กรุงปารีสได้มีการลงนามเป็นข้อผูกมัดรัฐภาคีในการลดแก๊สเรือนกระจกและการปรับตัวด้านต่างๆ ซึ่ง UNFCC ต้องการให้ทุกประเทศส่งตัวเลขประมาณการของตนเอง ทำให้ไทยเร่งศึกษาและประเมินขีดความสามารถของประเทศและส่งให้กับ UNFCC ในวันที่ 1 ต.ค.2558 จากนั้น UNFCC ก็จะประเมินว่าตัวเลขที่แต่ละประเทศจัดประเมินมานั้นสามารถจำกัดการเพิ่มอุณหภูมิของภาวะโลกร้อนให้อยู่ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียสได้หรือไม่ 

 

 

ชาวนากับโลกร้อน 

อุณหภูมิและระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้นจากภาวะโลกร้อนอาจส่งผลให้ประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นแหล่งปลูกข้าวผลิตข้าวได้ลดลงถึง 15% ซึ่งจะทำให้ราคาข้าวสูงขึ้นถึง 12% ภายในปี 2593 หรืออีก 34 ปีข้างหน้า แต่สำหรับที่ฟิลิปปินส์ถือเป็นกรณีตัวอย่างที่น่าสนใจกับการรับมือกับประเด็นดังกล่าว ด้วยว่าข้าวก็มีความสำคัญต่อฟิลิปปินส์ ไม่แพ้ไทยและมีชาวนาในภาคส่วนนี้ถึง 112 ล้านคน มีแรงงานที่เกี่ยวข้องรวมกันถึง 40 ล้านคน ดังนั้น เมื่อนำการปลูกข้าวมาผูกโยงกับพันธกิจด้าน Climate Change จึงเป็นยุทธศาสตร์ของประเทศที่น่าจับตา โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวสู้โลกร้อนของฟิลิปปินส์และการให้ความช่วยเหลือของ UNDP เพื่อลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจก

 

ข้าวสู้โลกร้อน สถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ (IRRI) ฟิลิปปินส์ลงทุนพัฒนาข้าวสายพันธุ์ใหม่ โดยใช้พันธุกรรมข้าว 109,000 ชนิดจากธนาคารพันธุกรรมทั่วโลก เพื่อให้ทนทานต่ออุทกภัย ภัยแล้ง ความเค็ม ทนต่อสภาพอากาศต่างๆ ที่เกิดจากภาวะโลกร้อนได้ อีกทั้งยังมีรสชาติที่ผู้บริโภคคุ้นเคย และในอนาคตยังจะแจกจ่ายข้าวสายพันธุ์นี้ให้กับชาวนาในอินเดีย บังกลาเทศ เวียดนามและอินโดนีเซียด้วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การพัฒนาสายพันธุ์ข้าวสามารถแก้ไขปัญหาได้เพียงครึ่งเดียวเท่านั้น การทำนายังมีระบบชลประธานที่ดีขึ้น ต้นทุนการผลิตที่ต่ำลง อเล็กซานเดอร์ โซเซอร์ ผู้จัดการโครงการ MDG Carbon สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ได้เข้ามาช่วยในอีกโครงการหนึ่ง เพื่อลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจก ซึ่งปกติจะถูกปล่อยออกมาจากการเก็บเกี่ยวถึง 29% อีกทั้งยังช่วยผ่อนคลายปัญหา Climate Change

 

UNDP ได้เข้ามาช่วยเหลือทางด้านเทคนิคเกี่ยวกับการชลประทาน การบริหารจัดการน้ำ เพื่อลดระยะเวลาการใช้น้ำที่ขังในนาให้น้อยลงและลดการปล่อยแก๊สมีเทน พร้อมสนับสนุนให้ชาวนาเพิ่มแหล่งรายได้จากพืชชนิดอื่นๆ เช่น เห็ด ผักและการเพาะปลูกอื่นๆ ซึ่งประมาณการว่า โครงการนี้ช่วยให้ฟิลิปปินส์สามารถลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 36,455,063 ตัน และเมื่อโครงการนี้ขยายตัวออกไปทั่วประเทศเชื่อว่า จะสามารถลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้เป็น 2 เท่า 

 

นอกจากนี้ เพื่อให้เกษตรกรมั่นใจได้ถึงการเกษตรแบบยั่งยืน อีกทั้งมีจิตสำนึกถึงเรื่อง Climate Change  UNDP ได้จัดโครงการฝึกอบรมเพื่อหวังจะเข้าถึงเกษตรกรครึ่งหนึ่งของประเทศ พร้อมกับให้ส่วนลดค่าใช้น้ำจากระบบชลประทานกับชาวนาที่สนใจการเกษตรวิธีใหม่ ซึ่งโครงการนี้ทำให้ประหยัดการใช้น้ำได้ถึง 30% โดยไม่ทำให้เกษตรกรสูญเสียรายได้ ซ้ำยังสามารถเพิ่มผลผลิตข้าวและทำให้ความมั่นคงทางด้านอาหารดีขึ้นด้วย นี่จึงยิ่งทำให้ชาวนาสนใจที่จะเรียนรู้เกษตรทางเลือกแบบ UNDP มากขึ้น อเล็กซานเดอร์กล่าวว่า การจะทำอะไรให้ประสบความสำเร็จที่ฟิลิปปินส์ จะต้องต่อยอดสิ่งที่โลกให้ความสำคัญเป็นลำดับแรกๆ เข้ากับยุทธศาสตร์และกระบวนการวางแผนของประเทศให้ได้ ถ้าเป้าหมายและยุทธศาสตร์ของโลกดำเนินไปด้วยกันกับโอกาสการเติบโตในระดับชาติ ภาครัฐก็จะเร่งเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อให้บรรลุเป้าหมายนั้นด้วยกันประเด็น Climate Change ถือเป็นหนึ่งในความท้าทายของโลกที่หนักหนาที่สุดแห่งยุคที่นานาประเทศต้องร่วมมือกัน แม้ว่า ณ วันนี้ เราอาจจะยังไม่เห็นผลสัมฤทธิ์ที่ชัดเจน แต่อย่างน้อยเชื่อว่า น่าจะมีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ 

 

เรื่อง : กองบรรณาธิการ 

X

Right Click

No right click