คนมีกิน...ก็เพราะมีผืนดินให้เพาะปลูกพืชพันธุ์ธัญญาหาร มีที่อยู่...ก็เพราะมีผืนดินให้ปลูกบ้าน สร้างอาคารพักอาศัย แต่เมื่อมีคนมากขึ้น ต้องการที่อยู่อาศัยมากขึ้น พื้นที่ป่าหลายแห่งก็ถูกรุกล้ำ ป่าไม้ถูกแผ้วถางทำลาย ดินเสื่อมคุณภาพ สัตว์ป่าถูกล่า ถูกฆ่า บ้างเพื่อเป็นอาหารยังชีพ บ้างเพื่อความบันเทิงหรือเพื่อการกีฬา เพื่อทำเครื่องประดับ และส่วนหนึ่งก็ถูกส่งเป็นสินค้าออก
• มหาวิทยาลัยรัฐโคโลราโด สหรัฐอเมริกา เปิดเผยงานวิจัยว่า ปี 2010-2012 ช้างแอฟริกา ถูกฆ่าเอางาไม่ต่ำกว่า 100,000 ตัว
• กระทรวงสิ่งแวดล้อมของรัฐบาลแอฟริกาใต้ระบุว่า เฉพาะในปี 2014 เพียงปีเดียว มีแรดสายพันธุ์ต่างๆ ถูกล่าในเขตแดนของแอฟริกาใต้ไปถึง 1,215 ตัว ส่งผลให้ปี 2014 เป็นปีที่มีสถิติแรดถูกล่าสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ของแอฟริกาใต้ โดยการถูกคุกคามอย่างหนักนี้เกิดจากขบวนการลักลอบล่าสัตว์ป่าที่ต้องการนำ “นอ” ไปสนองความต้องการของลูกค้าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ยังมีค่านิยมในการนำนอแรดไปประดับตกแต่งและเป็นส่วนผสมของยาบำรุงกำลังทางเพศ
• ในวันช้างโลกประจำปี 2558 มีข้อมูลว่า ปัจจุบันทั้งช้างแอฟริกาและช้างเอเชียกำลังถูกคุกคามอย่างหนัก การสำรวจขององค์กรอนุรักษ์ช้าง (Save the Elephants) เมื่อปี 2557 พบว่ามีช้างแอฟริกาเหลืออยู่ประมาณ 400,000 ตัว แต่พวกมันกำลังถูกล่าอย่างหนักและหากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ คาดว่าช้างแอฟริกาจะสูญพันธุ์ภายในปี 2568 หรือในอีก 10 ปี ขณะที่ช้างเอเชียมีประชากรเหลืออยู่เพียง 40,000 ตัว และได้รับการขึ้นบัญชีเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์โดยสหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์ (IUCN)
• ช้างป่ายังถูกคุกคามเพื่อธุรกิจทางการค้า เช่น การลักลอบฆ่าช้างเพื่อเอางา เนื่องจากงาช้างมีราคาสูง หรือความเชื่อที่ว่าหากครอบครองงวงช้างจะทำให้มีศิริมงคล รวมถึงการลักลอบนำลูกช้างป่ามาเป็นช้างเลี้ยง ปัจจุบันช้างในประเทศไทยเหลือประมาณ 7,000-8,000 ตัว ในจำนวนนี้เป็นช้างป่าประมาณ 2,000-3,000 ตัว ที่เหลือเป็นช้างเลี้ยง
• ต้นปี 2559 ป่าไม้ที่อยู่บนภูดินแดง เทือกเขาภูพานน้อย บ้านโพนไฮ ต.หนองแคน อ.ดงหลวง จ.มุกดาหาร ถูกขบวนการตัดไม้ลักลอบตัดต้นพะยูงขนาดใหญ่จำนวนมาก โดยเฉพาะต้นพะยูงขนาดใหญ่ที่มีอายุ 100-200 ปี
• กลุ่มเกษตรกรกาแฟบริเวณ Central Aceh อินโดนีเซีย ได้รับผลกระทบจากอากาศที่อุ่นขึ้นซึ่งส่งผลให้มีการระบาดของศัตรูพืช เกษตรกรจึงเคลื่อนย้ายที่ทำกินไปเหนือระดับน้ำทะเลกว่า 1,000 เมตรเพื่อผลิตกาแฟอะราบิกาชื่อก้องโลก โดยเกษตรกรได้บุกรุกเข้าไปในพื้นที่คุ้มครอง หักร้างถางป่าพื้นที่เพื่อใช้ทำการเกษตร
โลกของเราจัดเป็นระบบนิเวศที่ใหญ่ที่สุด เรียกว่า โลกของสิ่งมีชีวิตหรือชีวภาค (Biosphere) ซึ่งรวมระบบนิเวศหลากหลายระบบไว้ด้วยกัน ซึ่งหากจำแนกจากระบบนิเวศตามธรรมชาติ ก็จะมี ระบบนิเวศทางบก (Terrestrial Ecosystem) เช่น ป่าไม้ บึง ทุ่งหญ้าทะเลทราย ระบบนิเวศทางน้ำ (Aquatic Ecosystem) เช่น แม่น้ำลำคลอง ทะเล หนอง บึง มหาสมุทร ป่าครอบคลุม 30% ของพื้นผิวโลก และนอกเหนือจากการให้ความมั่นคงด้านอาหารและที่อยู่อาศัย ยังเป็นกุญแจสำคัญในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ การปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ และที่อยู่อาศัยของประชากรในประเทศ ด้วยผลจากการกระทำของมนุษย์ อย่างลักลอบตัดไม้ทำลายป่าเพื่อนำไม้ไปขาย เพื่อเปิดพื้นที่ทำการเกษตร เป็นการทำลายระบบนิเวศและทำลายแหล่งกักเก็บก๊าซคาร์บอนได-ออกไซด์ที่สำคัญ จากป่าที่อุดมสมบูรณ์ หลายแห่งก็กลายเป็นป่าเสื่อมโทรม ความเสื่อมโทรมของที่ดินในขณะนี้ก็เกิดขึ้นแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ส่งผลให้สภาพอากาศแปรปรวน เกิดภัยพิบัติ เกิดน้ำท่วม เกิดภัยแล้ง เพราะไม่มีป่าเข้ามาช่วยอุ้มน้ำเหมือนในอดีต การแปรสภาพผืนดินเป็นทะเลทรายก็เพิ่มขึ้นทุกปี หากพิจารณาตั้งแต่ปี 2000-2010 รวมจำนวนการสูญเสียที่ดินถึง 12 ล้านเฮกเตอร์
ในด้านสายพันธุ์สัตว์ จากสัตว์ที่เป็นที่รู้จัก 8,300 สายพันธุ์ มีจำนวน 8% ที่กำลังจะสูญพันธุ์ และอีก 22% เสี่ยงที่จะสูญพันธุ์ หลายประเทศจึงมุ่งมั่นที่จะอนุรักษ์และฟื้นฟูประโยชน์จากระบบนิเวศทางบก อาทิ ป่าไม้ พื้นที่ชุ่มน้ำ พื้นที่กึ่งแห้งแล้ง และภูเขา แต่ก็ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วนกิจกรรมของมนุษย์และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นความท้าทายที่สำคัญในการพัฒนาอย่างยั่งยืนและมีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่และวิถีชีวิตของผู้คนเป็นล้านๆ ในเมื่อเรายืนบนผืนดินเดียวกัน อยู่ร่วมกันบนโลกกลมๆ ที่นับวันจะยิ่งร้อนขึ้น แล้งขึ้น หนาวมากขึ้น สิ่งที่อยู่ใกล้ชิดเราอย่าง ระบบนิเวศทางบก (Terrestrial Ecosystems) จึงเป็นหัวใจสำคัญที่ทุกคน ทุกชาติ ต้องใส่ใจ ปกป้อง ฟื้นฟู ดูแล และส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศทางบกอย่างยั่งยืน และเพื่อให้ธรรมชาติยังคงอยู่ สิ่งมีชีวิตนานาชนิดดำรงเผ่าพันธุ์ต่อไปได้และไม่สูญพันธุ์ UN จึงประกาศขอความร่วมมือจากนานาชาติด้วยเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ว่า
• ภายในปี 2020 สร้างความมั่นใจให้ได้ว่ามีการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และเกิดการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนของระบบนิเวศทางบก ระบบนิเวศของแหล่งน้ำจืดบนดิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ป่า พื้นที่ชุ่มน้ำ ภูเขา และพื้นที่แห้งแล้ง โดยบริหารจัดการให้สอดคล้องกับความรับผิดชอบภายใต้ข้อตกลงระหว่างประเทศ
• ส่งเสริมให้เกิดการดำเนินงานด้านการจัดการป่าทุกประเภทอย่างยั่งยืน พร้อมทั้งยับยั้งการตัดไม้ทำลายป่า เพื่อฟื้นฟูผืนป่าที่เสื่อมโทรม และร่วมมือร่วมใจกันปลูกป่าเพื่อให้พื้นที่ป่าทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญภายในปี 2020
• ต่อจากนี้ไปจนถึงปี 2030 จะเป็นช่วงเวลาแห่งการต่อสู้ไม่ให้พื้นที่ใดในโลกแปรสภาพเป็นทะเลทราย ควบคู่ไปกับการฟื้นฟูผืนดิน ดิน รวมถึงฟื้นสภาพผืนดินที่ได้รับผลกระทบจากสภาวะการเปลี่ยนเป็นทะเลทราย และอุทกภัย ตลอดจนมุ่งมั่นที่จะพลิกฟื้นให้ทุกผืนดินทั่วโลกได้รับการพัฒนาให้กลับมามีความอุดมสมบูรณ์ต่อไป
• ภายในปี 2030 ต้องทำให้เกิดการอนุรักษ์ระบบนิเวศ รวมถึงความหลากหลายทางชีวภาพของภูเขา เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการใช้ประโยชน์จากธรรมชาติซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน
• ก่อนจะถึงปี 2020 จะต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนและมุ่งมั่นที่จะป้องกันไม่ให้สภาพแวดล้อม แหล่งพักพิงตามธรรมชาติ และความหลากหลายทางชีวภาพถูกทำลาย รวมถึงต้องพิทักษ์และป้องกันสิ่งมีชีวิตทุกชนิดไม่ให้สูญพันธุ์
• ส่งเสริมให้เกิดกิจกรรมและการแบ่งปันผลประโยชน์ที่เกิดจากการใช้แหล่งพันธุกรรมอย่างยุติธรรม รวมถึงส่งเสริมให้เกิดการเข้าถึงแหล่งทรัพยากรต่างๆ ให้เป็นไปตามข้อตกลงนานาชาติร่วมกัน
• ดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อยุติการบุกรุกเข้าไปล่าสัตว์ การค้าสัตว์ป่า ปกป้องสัตว์ป่าและพืชพันธุ์ทุกสายพันธุ์ และจัดการกับความต้องการผลิตภัณฑ์ที่ทำจากสัตว์ป่าทุกชนิด
• ภายในปี 2020 ต้องมีมาตรการที่จะปรับใช้เพื่อป้องกันผลกระทบจากการแพร่กระจายของสิ่งมีชีวิตทุกสายพันธุ์ที่แปลกปลอม ทั้งระบบนิเวศทางบกและในน้ำ รวมถึงควบคุมหรือกำจัดสายพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตที่มีความเสี่ยงที่จะกลายพันธุ์ด้วย
• รวบรวมเรื่องราวเกี่ยวกับคุณค่าของระบบนิเวศ ความหลากหลายทางพันธุกรรม เข้ากับการกำหนดแผนพัฒนาประเทศชาติและท้องถิ่น และยุทธศาสตร์การขจัดความยากจนของชาติ ให้ได้ภายในปี 2020
• ขับเคลื่อนและเพิ่มจำนวนแหล่งเงินทุนให้มีความหลากหลาย เพื่ออนุรักษ์และพัฒนาให้เกิดการใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศและความหลากหลายทางพันธุกรรมอย่างยั่งยืน
• ขับเคลื่อนให้เกิดการระดมทุนจากทุกแหล่งเข้าสู่การสร้างระบบการจัดการและดูแลผืนป่าอย่างยั่งยืน และทำให้เกิดสิ่งจูงใจที่ช่วยในการพัฒนาประเทศ ช่วยในการทำให้เกิดการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงการอนุรักษ์และฟื้นฟูที่เหมาะสม
• ส่งเสริมให้เกิดการสนับสนุนและช่วยเหลือในการต่อสู้กับการล่าสัตว์ป่าและการค้าสัตว์ป่าเพื่อป้องกันการสูญพันธุ์ของสัตว์ป่าหายาก รวมถึงการเพิ่มขีดความสามารถของชุมชนท้องถิ่นที่จะเข้าถึงโอกาสในการดำรงชีพได้อย่างสงบสุข โดยยังคงความสมบูรณ์ของผืนป่า ระบบนิเวศและความหลากหลายทางพันธุกรรมของโลกไว้ได้อย่างยั่งยืน
Case
ในปี 2558 มีแรดประมาณ 1,175 ตัว ถูกฆ่าเพื่อเอานอและเนื้อในแอฟริกาใต้ ลูกแรดขาวถูกทิ้งให้กำพร้า เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าจึงพาพวกมันไปอยู่ในสถาบันเลี้ยงแรด ภายในอุทยานสัตว์อุมโฟโลซี ในมณฑลควาซูลู-เนทัล ทางตะวันออกเฉียงใต้ของแอฟริกา เพื่อป้องกันการลักลอบล่าสัตว์ แอฟริกาใต้เริ่มใช้โดรนตามแหล่งอนุรักษ์สัตว์ป่าต่างๆ โดยองค์การต่อต้านลักลอบล่าสัตว์ของสหรัฐอเมริกา Air Shepherd Initiative ได้จัดส่งโดรนที่ควบคุมด้วยรีโมทคอนโทรลที่ติดกล้องตรวจจับเวลากลางคืนและกล้องตรวจจับความร้อน หรือที่เรียกว่า Thermal Camera เพื่อติดตามกลุ่มลักลอบล่าสัตว์จำพวกแรดและช้าง เมื่อไรที่โดรนพบกลุ่มลักลอบล่าสัตว์จะส่งสัญญาณถึงเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าเพื่อสกัดจับก่อนที่สัตว์จะถูกล่า ซึ่งเจ้าหน้าที่หวังว่า ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยมากขึ้นจะช่วยชีวิตสัตว์โลกจากการถูกล่าได้อีกมาก
เคยได้ยินไหมว่า เสือโคร่งเป็นสัตว์ป่าที่อยู่บนยอดพิระมิดของห่วงโซ่อาหาร ป่าที่มีเสือโคร่ง จึงเป็นป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์สำหรับประเทศไทย เสือโคร่ง เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2546 ประเภทสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ปี 2553 ไทยได้เป็นเจ้าภาพการประชุมเสือโลกร่วมกับกลุ่มประเทศที่มีเสือในป่าธรรมชาติจำนวน 13 ประเทศทั่วโลก ซึ่งการประชุมดังกล่าวได้มีการให้สัตยาบันร่วมกันว่าภายในปี 2565 ทุกประเทศจะต้องทำให้ประชากรเสือโคร่งในป่าอนุรักษ์เพิ่มขึ้นอีกเท่าตัวของปริมาณที่มีอยู่เดิม ซึ่งหมายถึงเพิ่ม 100-125 ตัว จากที่มี 200-250 ตัวในประเทศไทย
ไทยมีปัญหาเรื่องการบุกรุกทำลายป่าซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของเสือโคร่ง และคนล่าสัตว์ป่าที่เป็นเหยื่อของเสือซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะเพิ่มปริมาณเสือในป่าธรรมชาติ ในด้านป่าที่มีเสือโคร่งอาศัยอยู่มากที่สุด พบว่าอยู่ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง โดยมีการพบประมาณ 70 ตัว แสดงให้เห็นว่า ป่าในพื้นที่ดังกล่าวยังอุดมสมบูรณ์อยู่เพราะมีเหยื่อให้เสือกินอย่างพอเพียง แต่ในพื้นที่อุทยานแห่งขาติเขาใหญ่ มีข่าวออกมาว่าอาจจะไม่เหลือเสือโคร่งในป่าแล้ว เนื่องจากไม่พบร่องรอยของเสือ พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจึงเกิดความคิดว่าจะนำเสือโคร่งที่ห้วยขาแข้งไปปล่อยในเขาใหญ่เพื่อให้เกิดความสมดุลของระบบนิเวศ อย่างไรก็ตาม ยังต้องใคร่ครวญให้ถ้วนถี่ เนื่องจากเขาใหญ่มีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก และการเพิ่มจำนวนเสือได้ ต้องดูแลที่อยู่และเหยื่อของเสือให้ดีและอุดมสมบูรณ์ไปพร้อมๆ กัน
อีกตัวอย่างในด้านการบุกรุกพื้นที่ป่า จากสถิติพบว่า ป่าน่านหายไปปีละ 50,000 ไร่ และ 5 ปีหลังสุดมีอัตราการสูญเสียป่าเร็วขึ้นปีละ 1-1.5 แสนไร่ เนื่องจากเกษตรกรไม่มีที่ดินทำกินจึงบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ตัดไม้ ถางป่า เพื่อปลูกข้าวโพด บัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งลงพื้นที่สำรวจป่าที่เป็นแหล่งต้นน้ำ มองเรื่องนี้ว่า การคืนผืนป่าโดยการปลูกป่า ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ถูกจุด เพราะปัญหาไม่ได้อยู่ที่การปลูกป่า แต่อยู่ที่ไม่มีผืนป่าคืนมาให้ปลูกเนื่องจากป่าถูกถางเตียนไปแล้วอย่างน้อย 25% ทางแก้คือต้องหาพืชหรือหาวิชาชีพอื่นให้ชาวบ้านมีกินมีใช้ มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ก็จะลดการบุกรุกพื้นที่ป่า ทั้งป่า สัตว์ป่า และชาวบ้านก็จะอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน
เผยแพร่ นิตยสาร MBA ฉบับครบรอบ เดือนมีนาคม 2016
เรื่อง : กองบรรณาธิการ