November 21, 2024
×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 7637

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 802

วันโอโซนโลก (Ozone Day) ตอนที่ 2

December 04, 2018 5046

จากบทความเรื่อง “วันโอโซนโลก ตอนที่ 1” ที่กล่าวถึงภาพรวมของชั้นโอโซน อาทิ ความสำคัญของชั้นโอโซน ผลกระทบที่เกิดขึ้นเมื่อชั้นโอโซนถูกทำลาย

ไปจนถึงการร่วมมือกันของนานาประเทศในการจัดทำข้อกำหนดและมาตรการเพื่ออนุรักษ์และยับยั้งการทำลายชั้นโอโซน ที่รู้จักกันเป็นอย่างดีในชื่อ “พิธีสารมอนทรีออล” อันเป็นที่มาของวันโอโซนโลกจนถึงทุกวันนี้กันไปแล้วนั้น ในบทความนี้ซึ่งเป็นตอนที่ 2 จะกล่าวถึงรายละเอียดของความสัมพันธ์ระหว่างโอโซน ชั้นบรรยากาศ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมไปถึงบทบาทของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนในการร่วมกันดูแลรักษาชั้นโอโซนและสิ่งแวดล้อม

อย่างที่ทราบกันดีว่าชั้นบรรยากาศของโลกประกอบไปด้วย โอโซน ไอน้ำ และก๊าซหลากหลายชนิด ซึ่งทำหน้าที่ในการกรองรังสีจากดวงอาทิตย์ที่จะผ่านมาตกกระทบพื้นผิวโลก โดยรังสีที่ตกกระทบพื้นผิวโลกส่วนหนึ่งจะสะท้อนกลับออกนอกชั้นบรรยากาศไป ขณะที่อีกส่วนหนึ่งจะถูกดูดกลืนไว้ที่ชั้นบรรยากาศและพื้นผิวโลก จากนั้นก็จะคายพลังงานออกมาในรูปรังสีอินฟราเรด แผ่กระจายออกนอกชั้นบรรยากาศไปส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งนั้นชั้นบรรยากาศก็จะดูดกลืนไว้และคายพลังงานความร้อนออกมา ด้วยกลไกดังกล่าวจึงทำให้โลกสามารถรักษาสภาพสมดุลทางภูมิอากาศไว้ได้ แต่ในปัจจุบันมีการสะสมของก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse gases) ในชั้นบรรยากาศมากขึ้นจนเกินสมดุลของธรรมชาติ อาทิ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซมีเทน ก๊าซไนตรัสออกไซด์ และก๊าซคลอโรฟลูออโรคาร์บอน เป็นต้น ซึ่งก๊าซเหล่านี้สามารถทำปฏิกิริยาเคมีกับก๊าซอื่นๆ เกิดเป็นก๊าซเรือนกระจกชนิดใหม่ขึ้นมา หรือสามารถรวมตัวกับโอโซนได้จนทำให้ปริมาณของโอโซนในชั้นบรรยากาศลดลง อีกทั้งมีความสามารถในการดูดซับคลื่นรังสีความร้อน หรือรังสีอินฟาเรดได้ดี และจะคายความร้อนที่สะสมไว้ออกสู่ชั้นบรรยากาศที่หนาแน่นไปด้วยก๊าซเรือนกระจก จึงเกิดการกักเก็บความร้อนในชั้นบรรยากาศและแผ่กลับมายังพื้นผิวโลก อุณหภูมิของโลกจึงสูงขึ้น หรือที่รุ้จักกันในนาม “ภาวะโลกร้อน (Global warming)” อันเป็นสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมและภูมิอากาศ (Climate change) ซึ่งก่อให้เกิดปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่ผิดเพี้ยนไปจากฤดูกาล เช่น การที่น้ำแข็งขั้วโลกและบนยอดเขาสูงละลาย ทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้เกิดการกัดเซาะ การพังทลาย และการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศชายฝั่ง การเกิดภัยแล้งหรือการเกิดอุทกภัย เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของปริมาณน้ำฝนและการระเหยของน้ำจากการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลก เป็นต้น

 

รูปที่ 1 กลไกรักษาสภาพสมดุลและการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศของโลก
(ที่มา: IPCC, 2007)

ปัจจุบันกรมโรงงานอุตสาหกรรม (Department of industrial works, DIW) เป็นหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ชั้นโอโซนและรณรงค์การลดใช้สารทำลายชั้นโอโซน โดยมีการจัดตั้งกลุ่มอนุรักษ์โอโซน สังกัดกองบริหารจัดการวัตถุอันตรายขึ้นสำหรับเป็นหน่วยงานกลางในการประสานงานกับองค์กรภายในและต่างประเทศ ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อให้การปฏิบัติเป็นไปตามพิธีสารมอนทรีออล รวมไปถึงศึกษาและติดตามงานนโยบายของคณะกรรมการบริหารกองทุนพหุภาคี (Executive committee of the multilateral fund) ซึ่งเป็นผู้พิจารณาอนุมัติเงินช่วยเหลือโครงการเพื่อการลดและเลิกใช้สารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซนของประเทศภาคีสมาชิก เพื่อให้การดำเนินการจัดทำโครงการขอรับความช่วยเหลือจากกองทุนดังกล่าวของประเทศไทยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและภาคอุตสาหกรรมของไทยได้ประโยชน์สูงสุด

สำหรับแนวทางและบทบาทของประชาชนในการลดใช้สารทำลายชั้นโอโซนสามารถเริ่มต้นได้จากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ในชีวิตประจำวันที่ใช้ หรือมีส่วนประกอบของสารทำลายชั้นโอโซน อาทิ การเลือกใช้น้ำยาแอร์ให้ถูกประเภทเพื่อยืดอายุการใช้งานของระบบปรับอากาศ การเลือกใช้อุปกรณ์ดับเพลิงชนิดสารทดแทน เช่น ผงเคมีแห้ง ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือโฟมน้ำ หรือการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช้สารกลุ่ม CFCs ซึ่งสามารถสังเกตได้จากฉลาก CFCs free หรือ Ozone friendly เป็นต้น เพียงเท่านี้เราก็สามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยกันดูแลรักษาชั้นโอโซนและสิ่งแวดล้อมให้คงอยู่ในสภาพที่อุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การดำรงชีวิตต่อไป

รูปที่ 2 ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีส่วนประกอบของสารกลุ่ม CFCs
(ที่มา: http://ozoneal.com/home และ http://www.thailandtrustmark.com)

 


 

บทความ โดย : รศ.ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล

รองคณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ และอาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม

คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Rate this item
(0 votes)
Last modified on Wednesday, 02 October 2019 11:36
X

Right Click

No right click