December 22, 2024
×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 807

“Energy 4.0” การขับเคลื่อนนโยบายด้านพลังงานด้วยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม

July 09, 2017 7253

สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เดินหน้านโยบายพลังงานฐานนวัตกรรม “Energy 4.0” ยกระดับประสิทธิภาพของระบบพลังงาน ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ช่วยเพิ่มมูลค่า ผสานกับการใช้พลังงานสะอาด เปิดตัวคลิปวิดีโอประชาสัมพันธ์เรื่อง “Energy 4.0” ดึงมาสคอต ‘ฮีโร่พลังคิด’ มาเป็นตัวเอกเดินเรื่องด้วยข้อมูลที่ย่อยง่ายเพื่อสร้างการเข้าใจถึงทิศทางพลังงานยุคใหม่ ซึ่งจะมีส่วนช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของประชาชน

ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และโฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยกำลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม เพื่อสร้างเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นคุณค่า (Value-Based Economy) ซึ่งกระทรวงพลังงานได้มีแผนขับเคลื่อนด้านพลังงานของประเทศด้วยแนวนโยบาย “Energy 4.0” เพื่อให้สอดรับนโยบายของรัฐบาล โดยการพัฒนาพลังงานฐานนวัตกรรมจะยกระดับประสิทธิภาพการใช้พลังงาน มุ่งสู่การใช้พลังงานสะอาดสอดรับกับกระแสเทคโนโลยีที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงไปในการนี้เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจต่อทุกภาคส่วนเกี่ยวกับ Energy 4.0 สนพ.ได้จัดทำคลิปวิดีโอเรื่อง “Energy 4.0” เพื่อเผยแพร่เนื้อหาในรูปแบบแอนิเมชันให้เกิดความน่าสนใจชวนติดตามชม พร้อมสรุปเนื้อหาให้เกิดความเข้าใจในข้อมูลแบบง่ายๆ Energy 4.0 เป็นการขับเคลื่อนนโยบายด้านพลังงานด้วยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม พัฒนาการใช้พลังงานของประเทศให้มีประสิทธิภาพและเพิ่มมูลค่ามากขึ้น ผสมผสานการใช้พลังงานสะอาด ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนไปพร้อมกัน

ปัจจุบันมีโครงการที่กำลังดำเนินการภายใต้นโยบาย Energy 4.0 ที่เริ่มเห็นเป็นรูปธรรม ทำให้เกิดพลังงานฐานนวัตกรรมใหม่ๆ ประกอบด้วย 4 โครงการหลัก ได้แก่ กลุ่มยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle : EV) ซึ่งเป็นทางเลือกการใช้พลังงาน ลดการพึ่งพาน้ำมันเชื้อเพลิงและส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีเป้าหมายภายในปี 2579 ประเทศไทยจะมีรถ EV 1.2 ล้านคัน และสถานีอัดประจุไฟฟ้า (EV Charging Station) 690 สถานี

โดยตั้งเป้าหมายในปี 2560 จะสนับสนุนการติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า 150 สถานี รวมถึงโครงการสนับสนุนเปลี่ยนรถตุ๊กตุ๊กเก่าเป็นรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า ซึ่ง สนพ. โดยกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานสนับสนุนงบประมาณปรับเปลี่ยนรถตุ๊กตุ๊กทั่วประเทศที่มีอยู่ประมาณ 20,000 คัน เป็นรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า ภายใน 5 ปี โดย 2 ปีแรกนำร่องจำนวน 100 คัน ในด้านเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage Systems) ในระบบผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเพื่อสนับสนุนการพัฒนาพลังงานทดแทนให้มีเสถียรภาพ โดยกองทุนเพื่อการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานได้ให้ทุนวิจัยด้านนี้ เป็นงบประมาณ 765 ล้านบาท มีโครงการที่ได้รับการสนับสนุนรอบแรก 32 โครงการ และอยู่ระหว่างเตรียมจัดทำกรอบวิจัยเพื่อเปิดรับข้อเสนอระยะที่ 2 ต่อไป

นอกจากนี้ยังมี โครงการ SPP Hybrid Firm เปิดให้มีการผลิตไฟฟ้าแบบผสมผสานใช้เชื้อเพลิงได้มากกว่า 1 ประเภททั้งพลังงานจากธรรมชาติ เช่น แสงอาทิตย์ ลม กับพลังงานชีวภาพ เช่น ชีวมวล ก๊าซชีวภาพ เพื่อลดความผันผวนของพลังงานทดแทน สร้างความมั่นคงต่อระบบไฟฟ้า และยังลดการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่โดยไม่จำเป็น มีเป้าหมายการรับซื้อไฟฟ้าทั่วประเทศ 300 เมกะวัตต์ โดยเป็นโรงไฟฟ้าขนาดกำลังการผลิต 10 – 50 เมกะวัตต์ทั้งนี้รวมถึง โครงการกลุ่ม Smart ประกอบด้วย โครงข่ายอัจฉริยะ (Smart Grid) เป็นการพัฒนาสายส่งไฟฟ้าเพื่อบริหารจัดการไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ พัฒนาระบบไฟฟ้าแบบกระจายศูนย์ อยู่ระหว่างการทำโครงการนำร่องที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน

 

โครงการเมืองอัจฉริยะ (Smart Cities) เป้าหมาย คือ ส่งเสริมให้มีการออกแบบเมืองอัจฉริยะ เพื่อสร้างต้นแบบเมืองที่ใช้พลังงานอย่างมี
ประสิทธิภาพ ส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน และรักษาสิ่งแวดล้อมให้กับชุมชนอื่นๆ ซึ่งปัจจุบันได้คัดเลือกแผนงาน โครงการสร้างเมืองอัจฉริยะต้นแบบ 7 แห่งเรียบร้อยแล้ว ได้แก่

1. นิด้า : มหาวิทยาลัยอัจฉริยะ รู้รักษ์พลังงาน สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

2. มช (เมือง) มหาวิทยาลัยอัจฉริยะพลังงานสะอาด

3. เมืองจุฬาฯ อัจฉริยะ

4. ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต : ต้นแบบเมืองมหาวิทยาลัยอัจฉริยะ

5. วิสซ์ดอม วัน-โอ-วัน

6. ขอนแก่น Smart City (ระยะที่ 1) : ขนส่งสาธารณะเปลี่ยนเมือง

7. เมืองใหม่อัจฉริยะบ้านฉาง โดยขั้นตอนต่อไปผู้ได้รับคัดเลือกจะต้องจัดทำโมเดลธุรกิจ (Business Model) เพื่อให้สามารถนำไปใช้ และนำไปสู่การจัดหาผู้ร่วมทุนและการพัฒนาเมืองอัจฉริยะให้เป็นรูปธรรมต่อไปได้

ดึง “ฮีโร่พลังคิด”พระเอกหนังแอนิเมชัน

สำหรับคลิปวิดีโอ “Energy 4.0” ได้นำ “ฮีโร่พลังคิด” ซึ่งเป็นคาแร็กเตอร์ของ สนพ. มาเป็นตัวเอกเดินเรื่อง โดยจัดทำในรูปแบบภาพยนตร์แอนิเมชันความยาวประมาณ 3 นาที เพื่อถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับทิศทางด้านพลังงานของไทยในอนาคตว่าจะมีรูปร่างหน้าตาเปลี่ยนโฉมไปอย่างไรบ้างในยุคที่เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

โดยใช้การถ่ายทำแบบ Stop Motion คือการสร้างภาพเคลื่อนไหวโดยการฉายภาพนิ่งหลายๆ ภาพต่อเนื่องกันด้วยความเร็วสูง ซึ่งคลิป Energy 4.0 ใช้เทคนิคปั้นดินน้ำมัน โดยขยับรูปร่างท่าทางของส่วนประกอบต่างๆ ทีละนิดๆ แล้วใช้กล้องถ่ายไว้ทีละเฟรมๆ พร้อมนำภาพที่ได้ทั้งหมดมาตัดต่อลงในโปรแกรมตัดต่อภาพ และวิดีโอ

ซึ่งจุดเด่นของเทคนิคนี้ทำให้ภาพยนตร์แอนิเมชันมีความน่าสนใจ และน่าติดตามชม ซึ่งปัจจุบันช่องทางการสื่อสารสมัยใหม่มีความสำคัญ ไลฟ์สไตล์ ของประชาชนผูกติดกับหน้าจอโทรศัพท์มือถือเป็นหลัก การประชาสัมพันธ์ผ่านคลิปวิดีโอจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งเพื่อการสื่อสารที่เข้าถึง “Create The Future Energy” สร้างสรรค์ ก้าวที่มั่นคง เพื่อพลังงานไทยยั่งยืน

Rate this item
(2 votes)
Last modified on Wednesday, 15 April 2020 16:39
X

Right Click

No right click