November 21, 2024

Social Empowerment กุญแจขับเคลื่อนการบริหารจัดการพลาสติกอย่างยั่งยืน

August 27, 2021 5027

การเพิ่มขึ้นของขยะในประเทศไทยอย่างต่อเนื่องจากหลายสาเหตุ ในขณะปริมาณขยะมูลฝอยที่ได้รับการกำจัดอย่างถูกต้องกลับมีแนวโน้มลดลง

เนื่องจากสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยที่ดำเนินการแบบรวมศูนย์หลายแห่งมีการใช้งานเกือบเต็มประสิทธิภาพที่รองรับได้ และบางแห่งไม่สามารถดำเนินการอย่างเต็มประสิทธิภาพ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมและสุขภาวะของประชาชน หน่วยงานภาครัฐจึงได้มีการผลักดันนโยบายการบริหารจัดการขยะมูลฝอยโดยเฉพาะการจัดการขยะพลาสติกและปัญหาขยะทะเล โดยมุ่งเน้นการจัดการขยะมูลฝอยให้ครอบคลุมตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง เช่น แผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก ระยะที่ 1 พ.ศ. 2563-2565 โดยมีการตั้งเป้าหมายที่จะนำพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ในระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนให้ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ภายในปี 2565

ทั้งนี้ แนวทางสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนให้เกิดวัฏจักรของการบริหารจัดการพลาสติกใช้แล้วที่ยั่งยืนได้อย่างแท้จริงตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy: CE) ที่มุ่งเน้นการหมุนเวียนทรัพยากรธรรมชาติตลอดห่วงโซ่คุณค่า (Value chain) ด้วยการคัดแยกและนำพลาสติกหลังการใช้งานกลับเข้าสู่ระบบเพื่อการรีไซเคิลกลับมาใช้เป็นทรัพยากรในกระบวนการผลิตใหม่เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ (Resource efficiency) และลดการปล่อยของเสีย (Waste) และก๊าซเรือนกระจกออกสู่สิ่งแวดล้อม

หลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)

การทำให้เกิดการบริหารจัดการพลาสติกใช้แล้วตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ต้องอาศัยการดำเนินการร่วมกันจากหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างความตระหนักด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อให้ทุกคนมีส่วนร่วมดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมสามารถอธิบายได้ด้วยแนวคิดการสร้างความมีส่วนร่วม (Engagement) 4 ระดับโดยมีรายละเอียดดังนี้ (1) ความตระหนัก (Awareness) (2) ความรู้ความเข้าใจ (Knowledge) (3) ทัศนคติ (Attitude) และ (4) ความรู้สึกเป็นเจ้าของ (Ownership) ทั้งนี้ หลักการมีส่วนร่วมทั้ง 4 ขั้น จำเป็นต้องเกิดควบคู่ไปกับ “หลัก 3C” ได้แก่ การร่วมมือ (collaboration) การสื่อสารเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ (communication) และการลงมือปฏิบัติและความพร้อมที่จะสร้างสิ่งต่าง ๆ ร่วมกัน (co-creation)

แนวคิดการสร้างความมีส่วนร่วม 4 ระดับ

หลักการมีส่วนร่วมทั้ง 4 ขั้นในข้างต้นสามารถเกิดได้ 2 แนวทาง คือ ลำดับจากข้อ (1) ถึง (4) ตามที่ได้กล่าวมาจะเรียกว่า “แนวทางแบบด้านล่างขึ้นด้านบน (bottom-up)” ซึ่งสอดคล้องกับการดำเนินงานของโครงการวิจัยนี้ และ “แนวทางแบบด้านบนลงด้านล่าง (top-down)” ผ่านความร่วมมือของหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อให้เกิด “eco mindset” โดยมุ่งเน้นการทำให้เกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของ (Ownership) หรือการเสริมสร้างพลังทางสังคม (Social Empowerment) โดยอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการผลักดันการดำเนินโครงการ ทั้ง 4 ภาคส่วน โดยประกอบด้วย ภาคสังคม/สื่อ  ภาคเอกชน  ภาควิชาการ และภาครัฐ โดยกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม  กรมควบคุมมลพิษ และสำนักสิ่งแวดล้อมกรุงเทพมหานคร ได้ร่วมเป็นภาคีเครือข่ายในการสร้างความร่วมมือและการสื่อสารเพื่อสร้างพฤติกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของโครงการนี้ ซึ่งมุ่งเน้นการบริหารจัดการพลาสติกอย่างยั่งยืนในเขตพื้นที่เมืองชั้นใน นอกจากนี้ยังมีโครงการอื่น ๆ ที่ดำเนินการในรูปแบบแนวทางแบบด้านบนลงด้านล่างเช่นกัน ตัวอย่างเช่น โครงการชุมชนปลอดขยะสู่ความยั่งยืน (โครงการสะอาดบุรี) ที่ดำเนินการภายใต้ความร่วมมือของกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมและองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย โดยมุ่งเน้นให้คนในชุมชนท้องถิ่นตระหนักถึงสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนของชุมชน ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติที่ดี (best practice) รวมถึงสามารถเชื่อมโยงและบูรณาการการจัดการองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องได้ ทั้งนี้ สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ทาง Facebook page กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม หรือทาง https://deqp.go.th

ความร่วมมือจากหน่วยงานภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง


บทความโดย: 

ศ.ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล1,2,3    

  ดร.ณัฐวิญญ์ ชวเลิศพรศิยา2,3,4

  • และ ภาวินี พงศ์พันธ์พฤทธิ์1

1 ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

2 หน่วยปฏิบัติการวิจัยเทคโนโลยีการจัดการน้ำมันรั่วและปนเปื้อนของน้ำมัน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

3 โปรแกรมวิจัยการพัฒนาเทคโนโลยีและแนวทางการจัดการเพื่อสร้างต้นแบบเมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืน ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสารและของเสียอันตราย

4 โครงการความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Rate this item
(1 Vote)
Last modified on Friday, 27 August 2021 11:43
X

Right Click

No right click