SIAM PIECES โมเดลการจัดการขยะพลาสติกอย่างยั่งยืน

August 27, 2021 5827

การคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทางเป็นชิ้นส่วนสำคัญในการเพิ่มสัดส่วนการนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาพฤติกรรมและแนวทางการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภค

ความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง เช่น ภาคธุรกิจด้านการจัดเก็บและคัดแยกประเภท ธุรกิจรีไซเคิล เป็นต้น รวมถึงการรวบรวมข้อมูลสำหรับจัดทำแบบแผนธุรกิจเพื่อเพิ่มอัตราการนำขยะพลาสติกไปใช้ประโยชน์และป้องการขยะพลาสติกหลุดรอดออกสู่สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน จึงเป็นที่มาของ  “โครงการศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคเพื่อพัฒนาแบบแผนธุรกิจสำหรับการบริหารจัดการขยะพลาสติกหลังการใช้โดยใช้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในพื้นที่เขตเมืองชั้นใน (เขตปทุมวัน)” ซึ่งดำเนินการศึกษาบนพื้นที่ศูนย์กลางธุรกิจค้าปลีกของประเทศไทยที่ประกอบด้วยศูนย์การค้า 3 แห่ง ได้แก่ สยามพารากอน สยามเซ็นเตอร์ และสยามดิสคัฟเวอรี่ ตลอดจนส่งต่อแนวคิดให้ผู้คนในสังคมร่วมกันตระหนักถึงความสำคัญของวิกฤตขยะพลาสติกในปัจจุบัน ซึ่งจะเป็นแนวทางสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนให้เกิดวัฏจักรของการบริหารจัดการพลาสติกใช้แล้วที่ยั่งยืนได้อย่างแท้จริงตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน

ภาพรวมของโครงการวิจัย

การวิเคราะห์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders’ motivation & Incentive)

การวิจัยในส่วนนี้มีเป้าหมายเพื่อวิเคราะห์ความต้องการและ/หรือแรงจูงใจต่อการนำขยะพลาสติกไปใช้ประโยชน์ในทางเศรษฐกิจหมุนเวียนของผู้ที่เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่อุปทานการจัดการขยะพลาสติกหลังการใช้ เช่น ผู้บริโภค  ภาคธุรกิจ  ห้างสรรพสินค้า เป็นต้น โดยมุ่งเน้นศึกษาลักษณะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มในแง่ความต้องการ ความสนใจ อำนาจหน้าที่ อิทธิพลและความสัมพันธ์กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง รวมไปถึงปัจจัยทางสังคมที่มีผลต่อการจัดการขยะเพื่อการรีไซเคิลของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในระบบ

การศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการแยกขยะของผู้บริโภค (Behavioral study)

การศึกษาและวิเคราะห์พฤติกรรมและแรงจูงใจในการแยกขยะของผู้บริโภคเพื่อประเมินปัจจัยที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการคัดแยกขยะของกลุ่มตัวอย่าง[1] ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการดำเนินโครงการ การประชาสัมพันธ์ หรือการให้ความรู้ด้านการแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง เพื่อนำไปใช้ในการออกแบบการทดลองด้านเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมให้เกิดพฤติกรรมการแยกขยะ โดยในการศึกษาวิจัยได้มีการพัฒนาแบบจำลองทฤษฎีพฤติกรรมตามแผน (Extended theory of planned behavior) ด้วยการเพิ่มปัจจัยในการศึกษา คือ ปัจจัยด้านสถานการณ์หรือการตั้งจุดรับขยะพลาสติกหรือ Drop-off point ในห้างสรรพสินค้าหรือพื้นที่อื่น ๆ ซึ่งน่าจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่มีผลต่อการเกิดเจตนาและนำไปสู่พฤติกรรมการจัดการขยะในครัวเรือนก่อนจะนำมาส่งที่จุดรับ

การศึกษาเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ด้วยการทดลองทางพฤติกรรม (Behavioral Experiment)

การศึกษาเครื่องมือหรือการแทรกแซง (Intervention) ที่จะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคในการคัดแยกขยะและการทิ้งขยะ ซึ่งเน้นไปที่การศึกษาพฤติกรรมมนุษย์ โดยการกำหนด Institution หรือ Environment ที่เหมาะสมต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ผ่านการทดลองโดยสมมติสถานการณ์ให้ผู้ทดลองได้เผชิญหน้าแตกต่างกันไป โดยควบคุมตัวแปรอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องให้คงที่ให้มากที่สุด และสังเกตพฤติกรรมของผู้ทดลองที่อยู่ภายใต้สถานการณ์สมมติดังกล่าว (Field experiment) ว่ามีความแตกต่างกันหรือไม่ อย่างไร โดยมีปัจจัยหลายประการที่กำหนดลักษณะพฤติกรรมการทิ้งขยะของมนุษย์

การประเมินการจัดการขยะ (Assessment of MSW)

การวิเคราะห์ข้อมูลชนิดและปริมาณของขยะที่เกิดขึ้น โดยมุ่งเน้นข้อมูลของขยะรีไซเคิลและขยะพลาสติกทั้งที่มีมูลค่ามากและมูลค่าน้อยจากการรวบรวมข้อมูลปฐมภูมิและข้อมูลทุติยภูมิที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ รวมถึงวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อพิจารณาร่วมกับผลการทดลองเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ โดยประเมินแนวทางการจัดการขยะด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม เพื่อสรุปแนวทางการจัดการขยะที่เหมาะสมเพื่อประกอบการจัดทำแบบแผนธุรกิจ

การสร้างแบบแผนธุรกิจในการจัดการขยะ (Business model)

การทำความเข้าใจภาพรวมของธุรกิจในการจัดการขยะ จำเป็นที่จะต้องศึกษาปัจจัยที่ส่งผลกระทบกับธุรกิจมีมีผลเป็นทั้งโอกาสและอุปสรรค โดยอาศัยแนวคิด PESTEL analysis ซึ่งใช้ในการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมมหภาคของธุรกิจสำหรับการศึกษาแบบแผนธุรกิจเพื่อความยั่งยืน (Sustainable business model)[2] โดยประกอบด้วยปัจจัยด้านการเมือง (Political) เศรษฐกิจ (Economical) สังคม (Social) เทคโนโลยี (Technological) สิ่งแวดล้อม (Environmental) และกฎหมาย (Legal) ซึ่งจะทำให้เห็นถึงโอกาสทางธุรกิจที่เป็นไปได้ และข้อจำกัดหรืออุปสรรคในการประกอบธุรกิจของจากสภาพแวดล้อมในพื้นที่เป้าหมาย รวมถึงการวิเคราะห์หารูปแบบแบบแผนธุรกิจในการจัดการขยะที่เหมาะสมกับพื้นที่นั้นต้องทำความเข้าใจความสัมพันธ์ของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อหาแนวทางสร้างการร่วมพันธมิตรของกลุ่มต่าง ๆ และนำไปสู่การออกแบบแบบแผนธุรกิจที่ได้รับการยอมรับจากทุกภาคส่วนในธุรกิจการจัดการขยะ

เนื่องจากข้อกำจัดช่วงสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้ไม่สามารถดำเนินโครงการในพื้นที่จริงได้ จึงประยุกต์ใช้นวัตกรรมสังคม (Social innovation) และดำเนินงานวิจัยในรูปแบบออนไลน์ภายใต้โครงการ “SIAM PIECES” ด้วยการจัดชุดกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การเปิดตัวโครงการ  การศึกษาปัจจัยและแนวทางการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค  การประกวดการออกแบบโมเดลธุรกิจ เป็นต้น โดยคาดว่าผลจากการดำเนินการนี้จะสร้างการเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้างหรือกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ได้ ผ่านการกระทำการ (Action) ของผู้กระทำการ (Actor) หรือเครือข่าย (Network)[3] ตามทฤษฎี Multi-level perspective (MLP) ในมุมมองการเปลี่ยนผ่าน รวมถึงผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นนั้นสามารถเป็นองค์ความรู้และสร้างแรงบันดาลใจให้แก่สังคมได้[4] ตามกรอบแนวความคิดของทฤษฎี Transformative social innovation

            โดยกิจกรรมแรกที่ดำเนินการภายใต้โครงการ SIAM PIECES คือ การแถลงข่าวเพื่อเปิดตัวโครงการ (Project Launch) ในรูปแบบออนไลน์ผ่านระบบ ZOOM และ Facebook Live รวมถึงมีการจัดเสวนาหัวข้อ “Siam Pieces โมเดลเส้นทางการจัดการพลาสติกใช้แล้วครบวงจร” ซึ่งได้รับเกียรติจากผู้บริหารของหน่วยงานเครือข่ายหลายภาคส่วน ทั้ง (1) ภาคสังคม/สื่อต่าง ๆ (2) ภาคเอกชน เช่น บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด  กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย  สถาบันพลาสติก  โครงการ PPP Plastics (3) ภาควิชาการ เช่น บพข. (หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ)  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ (4) ภาครัฐ เช่น เขตปทุมวัน  สำนักสิ่งแวดล้อมกรุงเทพมหานคร  กรมควบคุมมลพิษ  รวมถึงกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่เข้ามามีส่วนร่วมในการส่งเสริมให้เกิดการร่วมงานในลักษณะภาคีความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งสอดคล้องกับพันธกิจของหน่วยงานในการส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ด้านสิ่งแวดล้อม ประกอบกับการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน

งานแถลงข่าวเปิดตัวโครงการ SIAM PIECES [5],[6]

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

[1] Bortoleto, A. P., Kurisu, K. H., & Hanaki, K. (2012). Model development for household waste prevention behaviour. Waste Management, 32, 2195-2207.

[2] Stubbs, W., & Cocklin, C. (2008). Conceptualizing a “sustainability business model”. Organization & environment, 21, 103-127.

[3] Geels, F. W. (2011). Survey The multi-level perspective on sustainability transitions: Responses to seven criticisms. Environmental Innovation and Societal Transitions, 1, 24-40.

[4] ASEAN CITIES think of Aseancities. (2021). นวัตกรรมทางสังคม. สืบค้นเมื่อ 8 มิถุนายน 2564 จาก http://aseancities.net/?page_id=633&lang=th

[5] ไทยโพสต์. (2564). ยกพื้นที่'วันสยาม'วิจัย-รวบรวมข้อมูลปั้นแผนธุรกิจจัดการขยะพลาสติกใช้แล้วครบวงจร. สืบค้นเมื่อ 25 กรกฎาคม 2564 จาก https://www.thaipost.net/main/detail/109598 

[6] สำนักข่าวเออีซีไทยนิวส์. (2564). สยามพิวรรธน์ จับมือ สถาบันพลาสติก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย PPP PLASTICS และ DOW เดินหน้าโครงการ SIAM PIECES สร้างโมเดลจัดการขยะพลาสติกอย่างยั่งยืน. สืบค้นเมื่อ 25 กรกฎาคม 2564 จาก http://introradiofm.com/3442


บทความโดย:

ศ.ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล1,2,3  

  ดร.ณัฐวิญญ์ ชวเลิศพรศิยา2,3,4

  • และ ภาวินี พงศ์พันธ์พฤทธิ์1

1 ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

2 หน่วยปฏิบัติการวิจัยเทคโนโลยีการจัดการน้ำมันรั่วและปนเปื้อนของน้ำมัน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

3 โปรแกรมวิจัยการพัฒนาเทคโนโลยีและแนวทางการจัดการเพื่อสร้างต้นแบบเมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืน ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสารและของเสียอันตราย

4 โครงการความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

Rate this item
(1 Vote)
Last modified on Friday, 27 August 2021 12:01
X

Right Click

No right click