หลายเรื่องราวเพื่อสิ่งแวดล้อมได้เกิดขึ้นมาบนโลก มีหลายโครงการที่ยังคงเป็นเพียงแนวคิด หลายโครงการเกิดขึ้นเป็นรูปเป็นร่างและถูกนำไปใช้ในทางปฏิบัติแล้ว เช่นเดียวกับโครงการที่เรากำลังจะพูดถึงกันในฉบับนี้ โครงการเมืองสีเขียว มาสดาร์ ซิตี้ (Masdar City) ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) โดยหากย้อนกลับไปสัก 10 ปีก่อน มาสดาร์ ซิตี้ อาจถูกมองว่าเป็นโครงการที่ยากที่จะเกิดขึ้นได้จริง แต่ ณ ปัจจุบันนี้ โครงการดังกล่าวก็ได้เกิดขึ้นและกำลังก้าวหน้าต่อไป ผู้เขียนจึงอยากหยิบยกประเด็นดังกล่าวขึ้นมาพูดคุยให้ฟังกันโดยมีรายละเอียดดังนี้
มาสดาร์ ซิตี้ คือ...
มาสดาร์ ซิตี้ คือ เมืองสีเขียวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในทุกด้าน ออกแบบโดยบริษัท Foster and Partners โดยจุดเริ่มต้นและแนวคิดในการสร้างเมืองมาจากการแสวงหาแนวทางการแก้ไขวิกฤตการณ์พลังงาน ปัญหาภาวะโลกร้อน รวมถึงตอบสนองเป้าหมายด้านพลังงานในปี 2020 ของกรุงอาบูดาบี ที่กำหนดให้ “พลังงานหมุนเวียน” มีสัดส่วนเป็นร้อยละ 7 ของการใช้พลังงานทั้งหมด โครงการดังกล่าวก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ. 2006 ด้วยเงินลงทุนตั้งต้น 15,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (เฉพาะจากภาครัฐ) ในพื้นที่ทะเลทรายเนื้อที่กว่า 6 ตารางกิโลเมตร แบ่งเป็นพื้นที่อยู่อาศัย พื้นที่ธุรกิจและพาณิชย์ พื้นที่ชุมชน สถานศึกษาและร้านค้าปลีกครบครัน โดยที่ มาสดาร์ ซิตี้ ได้ถูกคาดหวังให้เป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีสะอาดของโลก ที่มีการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่ชั้นบรรยากาศน้อย “The World’s First Carbon-Neutral“ พลังงานที่ใช้กันภายในเมืองจึงได้มาจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนหลายประเภท เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานความร้อนใต้พิภพและพลังงานไฮโดรเจน รวมถึงการผลักดันให้กลายเป็นเมืองแห่งความร่วมมือของภาคีต่างๆ เพื่อการพัฒนาเมืองที่ยั่งยืนอีกด้วย
เทคโนโลยีสะอาดที่สอดคล้องและกลมกลืน
ปัจจุบันเมืองที่ถูกมองว่าเป็นเพียงความฝันได้มีประชากรเข้าอยู่อาศัยแล้ว โดยประชากรชุดแรก คือ คณาจารย์และนักศึกษา ของ “สถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งมาสดาร์ (Masdar Institute of Science and Technology)” ซึ่งมีสถานะเป็นมหาวิทยาลัยด้านการวิจัยที่ทำการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับ “พลังงานทางเลือก” และ “ความยั่งยืนของโลกอนาคต” โดยเมื่อเราเข้าไปในเมืองเราจะพบกับเทคโนโลยีสะอาดที่ถูกวางรากฐานไว้ให้มนุษย์สามารถอยู่ร่วมสิ่งแวดล้อมได้อย่างสอดคล้องลงตัวดังนี้
การออกแบบและวางผังเมือง
สถาปัตยกรรมสไตล์อาหรับดั้งเดิมถูกนำมาปรับใช้งานให้มีความสอดคล้องและเหมาะสมกับสภาพแวดล้อม อาคารและสิ่งก่อสร้างจะเป็นอาคารประหยัดพลังงานที่ถูกออกแบบให้มีชั้นดูดซับความร้อนชนิดพิเศษ โดยมีการใช้ประโยชน์จากพลังงานลมให้มากที่สุด ซึ่งเมื่อผสานเข้ากับเทคโนโลยีการควบคุมอุณหภูมิ ทำให้มวลอากาศที่วิ่งผ่านตัวเมืองทั้งหมดกลายเป็นลมเย็นสบาย (Cool Air) ทั้งนี้อาคารแต่ละหลังจะถูกก่อสร้างให้ชิด เกาะกลุ่มและไม่มีอาคารสูง เพื่อให้เงาตกกระทบของอาคารข้างเคียงช่วยกันแดดอีกทางหนึ่งด้วย
การคมนาคม
เป็นระบบรางและไม่อนุญาตให้มีการใช้รถยนต์ ระบบโครงข่ายคมนาคมถูกออกแบบให้สามารถเชื่อมโยงกับเมืองต่างๆ โดยรอบ ประกอบด้วยการคมนาคม 3 รูปแบบ ได้แก่
1.Personal Rapid Transit (PRT) เป็นระบบการขนส่งส่วนบุคคลหรือเรียกว่าระบบแท็กซี่ยานพาหนะอัจฉริยะ (ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า) ที่คอยให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง
2.Light Rail Transit (LRT) เป็นระบบขนส่งมวลชนที่เชื่อมระหว่างเมืองหลวงและสนามบินนานาชาติ
3.Metro and High Speed Rail ซึ่งเป็นการสัญจรในอนาคต ราวปี พ.ศ. 2573 ที่จะถูกพัฒนาสู่ระบบรถไฟฟ้าใต้ดินเพื่อรองรับจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นในอนาคต
น้ำกินน้ำใช้
มาจากโรงงานผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล (Desalination) ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ในการเดินระบบเป็นหลัก โดยที่ร้อยละ 80 ของน้ำที่ถูกใช้แล้วจะกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ หรือหากเป็นน้ำเสียที่มีสกปรกมากไม่คุ้มค่าในการบำบัดก็จะถูกนำไปใช้ต่อในภาคการเกษตรและอื่นๆ ต่อไป
ขยะเป็นศูนย์
มาสดาร์ ซิตี้ พยายามที่จะลดปริมาณขยะให้เหลือน้อยที่สุด (Zero Waste Policy) ด้วยการนำขยะอินทรีย์จากการบริโภคจะถูกนำไปผลิตเป็นปุ๋ย ใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตพลังงานและ
ผลิตดินเพื่อใช้ในการเกษตร ในส่วนของขยะอุตสาหกรรม เช่น พลาสติกหรือโลหะ จะถูกนำไปรีไซเคิลและนำกลับมาใช้ใหม่อีกครั้ง
จากทะเลทรายที่แห้งแล้งกลับกลายมาเป็นเมืองแห่งอนาคตที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย และนี่คืออีกหนึ่งเสียงเรียกร้องที่ทรงพลังให้นานาประเทศหันมาให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมกันอย่างจริงจัง ซึ่งมาสดาร์ ซิตี้ ก็ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ทุกสิ่งทุกอย่างนั้นเป็นไปได้
เรื่องโดย : รศ.ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย