November 21, 2024
×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 7637

วิวัฒนาการจาก ENV 0.0 ถึง 4.0 Featured

July 12, 2018 4076

ท่านผู้อ่านรู้สึกคุ้นเคยกับตัวเลข “4.0” บ้างไหมครับ ไม่ว่าจะเป็น Industry 4.0 / Education 4.0 / Marketing 4.0 ตัวเลขดังกล่าวแสดงถึงวิวัฒนาการหรือการเปลี่ยนผ่านที่เกิดขึ้นกับวงการหรือกิจกรรมต่างๆ นั่นเอง

เนื่องจากทุกวงการมีการกำหนดและบอกเล่าถึงวิวัฒนาการต่างๆ ของตัวเอง ผ่านตัวแปรบางอย่าง สิ่งที่ถูกคิดค้นขึ้นใหม่ รูปแบบวิธีการคิดการทำงานที่ถูกพัฒนาขึ้น ฯลฯ ซึ่งทำให้เกิดแนวทางการเรียนรู้อธิบายให้แก่ผู้คนรุ่นต่อๆ ไป เพื่อก่อให้เกิดการพัฒนาที่ก้าวหน้า
เรื่องของสิ่งแวดล้อมเริ่มเข้ามาอยู่ในสารบบความคิดในช่วง 20 กว่าปีที่ผ่านมา ดังนั้น เพื่อให้นิยามตัวเลข “4.0” ในวงการสิ่งแวดล้อมชัดเจนและมีน้ำหนักมากขึ้น ผมจึงขอเล่าเป็นยุคต่างๆ ตั้งแต่ยุค 0.0 จนถึง 3.0 เพื่อให้ทุกท่านเข้าใจง่ายขึ้น ดังนี้

ENV 0.0 ภัยซ่อนเร้น (<1800)
เริ่มต้นที่ยุค 0.0 เรื่องสิ่งแวดล้อมยังเป็นเรื่องที่ไม่มีใครให้ความสนใจ อาจเป็นเพราะมนุษย์ยังเพลิดเพลินกับการใช้ทรัพยากรธรรมชาติไปกับการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมและการคมนาคมขนส่ง แต่หารู้ไม่ว่ากิจกรรมต่างๆ เหล่านั้นได้ก่อให้เกิดมลพิษสะสมอยู่ในสิ่งแวดล้อมขึ้นแล้ว เพียงแต่มลพิษดังกล่าวยังไม่ก่อให้เกิดปัญหาที่ชัดเจนมากนัก ด้วยเหตุผลนี้ในช่วงเวลา “0.0” จึงไม่มีประวัติศาสตร์หรือข้อมูลใดๆ ที่บันทึกเอาไว้ หรืออาจจะเรียกว่า “เรายังไม่รู้จักกับคำว่ามลพิษ” อย่างไรก็ตาม ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและมลพิษต่างๆ เริ่มสะสมและก่อตัวขึ้นแล้วในช่วงเวลานี้

ENV 1.0 เสียงเตือนภัย (1800 – 1920)
ENV 1.0 นั้นหากเปรียบเทียบคงจะเป็นฉากที่นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยชื่อดังในประเทศมหาอำนาจบังเอิญค้นพบว่า กระบวนการผลิตของภาคอุตสาหกรรม หรือของเสียต่างๆ จากกิจกรรมของมนุษย์นั้น ก่อให้เกิดมลพิษที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในวงกว้าง โดยเรื่องดังกล่าวได้ถูกนำเสนอต่อผู้นำประเทศ หลังจากนั้นจึงมีการแต่งตั้งทีมวิจัย (Research group) เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยมักจะมีหน่วยงานของรัฐและสถาบันการศึกษาชั้นนำเป็นผู้รับผิดชอบดูแลเป็นหลัก ในช่วงเวลานี้เองที่เริ่มเกิดการคิดค้นและออกแบบระบบบำบัดมลพิษต่างๆ รวมถึงมีการแนะนำแนวทางการบำบัดมลพิษจากประเทศหรือชุมชนที่พัฒนาแล้ว เพื่อให้องค์ความรู้ดังกล่าวได้ถูกเผยแพร่ต่อๆ กันไป
อย่างไรก็ตาม นโยบายและกระบวนการบำบัดต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานี้มักจะถูกกำหนดโดยส่วนกลาง (Centralization management / control) เป็นหลัก ส่วนในภาคประชาชนนั้น ยังไม่มีข้อมูลใดๆ ออกมาให้รับรู้รับทราบกันสักเท่าไร

ENV 2.0 กระจายความรู้ (1920 - 1992)
ในช่วงนี้ ความรู้จากการศึกษาวิจัยในส่วนกลางและสถาบันการศึกษาได้ถูกต่อยอดออกไปในวงกว้างมากขึ้น (ผ่านบริษัท องค์กร และภาคเอกชน) ทำให้มนุษย์รู้จักชนิดและความอันตรายของมลพิษต่างๆ นำไปสู่กระบวนการวิจัยและพัฒนาระบบบำบัดสำหรับมลสารชนิดต่างๆ ในวงกว้าง รวมถึงก่อเกิดการพัฒนาเครื่องมือตรวจวัดวิเคราะห์ที่จะช่วยให้การทำงานสะดวกและแม่นยำมากยิ่งขึ้น โดยในช่วงเวลานี้ยังถือเป็นช่วงที่มีการพัฒนาด้านบุคลากรผู้ปฏิบัติงาน โดยผู้ปฏิบัติงานจะได้เรียนรู้การใช้งาน การควบคุมระบบ และได้รับรู้ถึงปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการเดินระบบบำบัดจากหน้างานจริง
อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีที่เกิดขึ้นในยุคนี้ยังเป็นที่รู้จักกันในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว การถ่ายทอดเทคโนโลยีต่างๆ ไปยังประเทศกำลังพัฒนาหรือด้อยพัฒนานั้น ยังถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศเหล่านั้น รวมถึงค่าใช้จ่ายในการลงทุนและดำเนินการที่สูง ถือเป็นข้อจำกัดสำคัญที่เทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อมไม่ได้เผยแพร่หรือใช้งานเท่าที่ควรในหลากหลายพื้นที่ของโลก

ENV 3.0 ปัญหาที่ทุกคนต้องรู้ (1992 - Present)
ในช่วงนี้ สภาพสิ่งแวดล้อมที่รับเอามลพิษเอาไว้จนภาระบรรทุกหรือความสามารถในการรองรับมลพิษโดยธรรมชาติ (Natural carrying capacity) ลดลงจนถึงขีดจำกัด ส่งผลให้เกิดภัยพิบัติ (Disaster) รวมถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มีความถี่สูงและมีแนวโน้มที่จะเพิ่มความรุนแรงมากขึ้น ตัวอย่างหนึ่งที่ชัดเจนของ ENV 3.0 กล่าวคือ ในช่วงเวลานี้ทุกคนจะต้องรับรู้เรื่องราวเกี่ยวกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก (Climate change) หรือที่เรียกกันติดปากว่า โลกร้อน ซึ่งกลายเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งที่แสดงว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมนั้น เป็นปัญหาที่ทุกคนจะต้องรับรู้และมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบ จนมีนิยามคำว่า CSR (Corporate Social Responsibility) เกิดขึ้น หมายถึง ความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมขององค์กร โดยองค์กรหรือธุรกิจควรดำเนินธุรกิจภายใต้หลักจริยธรรมและการจัดการที่ดี รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมทั้งในระดับใกล้และระดับไกล กระทั่งกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ที่แทบจะทุกหน่วยงานหรือองค์กรต้องดำเนินการ
การค้นคว้าวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมจึงยังคงดำเนินต่อไปผ่านการวิจัยและพัฒนาแนวทางการบำบัดและจัดการสิ่งแวดล้อมขั้นสูง เพื่อตอบรับกับจุลมลสารกำเนิดใหม่ (Emerging or Micro-pollutant) หรือผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ในช่วงเวลานี้เองที่ทุกภาคส่วนออกมาเรียกร้องถึงความรับผิดชอบต่อการสร้างมลพิษให้โลก แต่ทว่าบทบาทของการมีส่วนร่วมอย่างเป็นรูปธรรมยังคงไม่ชัดเจน เนื่องจากยังมีความขัดแย้งกันในเรื่องของ สิ่งแวดล้อมและการพัฒนา (Environment - Development Nexus) ด้วยเหตุผลที่ว่า การพัฒนายังคงต้องเกิดขึ้นขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้เพื่อรองรับความต้องการต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต แต่การกระทำดังกล่าวต้องอาศัยทรัพยากรธรรมชาติและก่อให้เกิดมลพิษตามมาด้วยเช่นกัน
ดังนั้นประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาจึงเป็นประเด็นสำคัญที่จะต้องสร้างความสมดุลให้เกิดขึ้นให้ได้ โดยผมมั่นใจว่าพวกเราทุกคนในสังคมคาดหวังว่ามันจะเกิดขึ้นในช่วงของ ENV 4.0 ซึ่งจะเป็นมุมมองของการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมจากวันนี้จนถึงอนาคต

 

เรื่องโดย : รศ.ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Rate this item
(0 votes)
Last modified on Wednesday, 02 October 2019 11:43
X

Right Click

No right click