December 22, 2024
×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 802

Sustainable Agriculture

August 08, 2018 6687

รศ.ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล รองคณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกกับ MBA ว่า Sustainable Agriculture หรือเกษตรยั่งยืนน่าจะเป็นคำตอบให้กับการพัฒนาเกษตรในประเทศไทย

ซึ่งคณะวิศวกรรมศาสตร์สามารถเข้าไปช่วยเหลือได้ผ่าน 3 กลไก คือ Skill โดยการนำเทคโนโลยีและองค์ความรู้ไปแก้ปัญหาที่เผชิญอยู่ Skill การพัฒนาทักษะเกี่ยวกับอุปกรณ์และเทคโนโลยีต่างๆ และ Smart ที่จะใช้เทคโนโลยีต่างๆ เชื่อมโยงสองข้อแรก

เหตุที่ รศ.ดร.พิสุทธิ์ ให้ความสนใจเรื่องนี้เพราะประเทศไทยมีประชากรที่เกี่ยวข้องกับภาคเกษตรจำนวนมาก หากสามารถช่วยให้เกษตรกรมีความสามารถเพิ่มขึ้น ก็จะช่วยประหยัดทรัพยากรและจัดการกับมลพิษในประเทศไปได้มาก เช่นใช้น้ำ ใช้ปุ๋ย ใช้สารเคมีลดลง และที่สำคัญคือทำให้อาหารที่เรารับประทานไม่ปนเปื้อน ลดค่ารักษาพยาบาลที่คนในประเทศต้องใช้จ่ายจากสุขภาพที่เสื่อมโทรมจากอาหารที่รับประทานเข้าไป

วิถีแห่งเกษตรยั่งยืนในความหมายที่ รศ.ดร.พิสุทธิ์กล่าวถึงคือ การทำให้เกษตรกรมีส่วนร่วมกับเรื่องนี้ การปรับให้เข้ากับวัฒนธรรมในแต่ละพื้นที่ และความสมาร์ตซึ่งหมายถึงการแก้ปัญหาที่มีอยู่ได้ ไม่เกินความสามารถของเกษตรกร และมีความจับใจสามารถดึงดูดคนรุ่นใหม่เข้ามาทำอาชีพเกษตรกรได้

รศ.ดร.พิสุทธิ์ ยกตัวอย่างว่า “มังคุดอยู่ได้ 3- 4 วัน ถ้าจะสมาร์ตต้องทำให้อยู่ได้ 8 วัน ก็ต้องดูว่าคุ้มหรือไม่ ต้องคำนวณว่าวิธีใหม่ทำให้เกษตรกรที่เป็นหนี้ลดลงหรือไม่ ถ้าไปหามาใหม่แล้วเป็นหนี้มากกว่าเดิมจะทำไปเพื่ออะไร มูลค่าที่เพิ่มควรจะกลับไปหาเกษตรกร ไม่ใช่ยิ่งทำเกษตรกรยิ่งจน แล้วไม่มีใครอยากมาเป็นเกษตรกร ผมว่าอย่างนี้ไม่ถูก”

โดยการจะทำให้เกษตรกรไทยไปสู่เกษตรยั่งยืนได้ รองคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์บอกว่าต้องเป็นไปตาม Level of Engagement คือ 1 การทำให้เกิดความตระหนัก 2 ให้ความรู้ที่ถูกต้อง 3 ปรับให้เกษตรกรมีทัศนคติและพร้อมจะลงมือทำ 4 ทำให้เกษตรกรรู้สึกความเป็นเจ้าของและพร้อมจะไปชวนคนอื่นเข้ามาร่วม

โดยใน 2 ข้อแรก อาจจะใช้แคมเปญหรือการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ ที่ลงพื้นที่ไปสร้างความตระหนักและให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องเกษตรยั่งยืน ส่วนสถาบันการศึกษาอย่างเช่นคณะวิศวกรรมศาสตร์ก็สามารถเข้าไปช่วยได้ในขั้นตอนที่ 3 และ 4 ด้วยการนำองค์ความรู้และเทคโนโลยีต่างๆ เข้าไปช่วย

วิศวะจะช่วยเกษตรได้อย่างไร

รองคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ บอกว่า สิ่งที่ตนเองมองในการที่คณะจะเข้าไปช่วยเหลือภาคเกษตรได้น่าจะเป็นด้านเครื่องจักรกล แอปพลิเคชัน ระบบเซนเซอร์ ระบบอัตโนมัติต่างๆ และอีกเรื่องที่น่าจะช่วยได้มาก คือการทำ Flow Diagram เพื่อให้เห็นภาพรวมของทั้งระบบ และทำ Materaial Flow Analysis ที่จะช่วยให้เห็นว่าในการผลิตพืชผลการเกษตรชนิดหนึ่งเกิดอะไรขึ้นบ้าง ของเสียที่เกิดขึ้นตรงจุดใด

“นี่คือจุดแข็งของวิศวะ จะได้รู้ทำไมนี่ใช้น้ำเยอะจัง จะเอาอะไรไปแก้ นี่เกิดควันเยอะแล้วจะเอาอะไรไปแก้” ดร.พิสุทธิ์กล่าว

นอกจากนี้ การที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ลงไปเกี่ยวข้องกับการเกษตรน่าจะมีส่วนช่วยดึงดูดคนรุ่นใหม่ให้เข้ามาด้วยภาพลักษณ์ความใหม่ของเทคโนโลยีต่างๆ ที่จะนำลงไป เป็นการช่วยแก้ปัญหาจำนวนเกษตรกรในประเทศที่ลดลงอย่างต่อเนื่องอีกทางหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม รศ.ดร.พิสุทธิ์มองว่า การเข้าไปช่วยเหลือไม่ใช่การไปบอกให้เกษตรกรทำตามแล้วจะประสบความสำเร็จ สิ่งสำคัญคือการปรับให้เข้ากับบริบทวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่เพื่อสร้างความยั่งยืน เกษตรกรจึงควรเป็น

ผู้เลือกที่จะใช้หรือไม่ใช้คำแนะนำต่างๆ ที่ลงไปยังพื้นที่ เพราะผู้ที่เชี่ยวชาญด้านการเกษตรมากที่สุดคือตัวเกษตรกรเอง

เรื่องที่ รศ.ดร.พิสุทธิ์พูดส่วนใหญ่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีหรือความรู้วิทยาศาสตร์สมัยใหม่ แต่กลับเน้นถึงการสร้างความตระหนักรู้ การพัฒนาบุคลากรด้านการเกษตร เพื่อสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้น โดยเทคโนโลยีและเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ จะไปช่วยให้เกษตรกรไทย มุ่งสู่ความเป็นเกษตรกรยั่งยืนได้อย่างแท้จริง

ตัวอย่างโครงการของคณะวิศวะ

รศ.ดร.พิสุทธิ์ยกตัวอย่างโครงการที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทำเกี่ยวกับการเกษตรอยู่ว่า
- Smart and Precision Farm จากทีมของอาจารย์ในภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ ที่ทำระบบที่ช่วยให้ทราบถึงพยากรณ์อากาศที่แม่นยำ การตรวจดูแร่ธาตุต่างๆ ในดิน เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรเท่าที่จำเป็น ช่วยเพิ่มผลผลิตให้สูงขึ้น
- โครงการที่ทำร่วมกับสถาบันส่งเสริมเทคโนโลยีไทยญี่ปุ่น โดยเข้าไปร่วมศึกษาการทำกรีนรูฟสู่กรีนบิวดิ้ง รวมไปถึงการทดลองนำระบบแขนกลให้น้ำไปทดลองที่ดาดฟ้าอาคารในซอยสุขุมวิท 29
- โครงการฟาร์มบอต ของนิสิตวิศวกรรมเครื่องกลที่ทำหุ่นยนต์ช่วยหยอดเมล็ดข้าว เพราะจากการศึกษาว่าการหว่านข้าวอาจเกิดความสูญเสียจำนวนมาก ฟาร์มบอตจะมาช่วยขุดหลุม คัดและใส่เมล็ดข้าวลงในหลุม
- โครงการทำระบบหอคอยกรองน้ำให้กับหมู่บ้านในจังหวัดน่าน เนื่องจากการปลูกข้าวโพดในพื้นที่ใช้สารเคมีจำนวนมาก ทำให้คนในพื้นที่ไม่กล้าดื่มน้ำในพื้นที่ตัวเอง ต้องเสียค่าใช้จ่ายกับน้ำดื่มจำนวนมาก
- และอีกโครงการคือ Sensor Weather Station ที่จังหวัดน่าน ที่ติดตั้งเซนเซอร์ตรวจจับความร้อน ฝุ่น คาร์บอนไดออกไซด์ต่างๆ ทำให้สามารถปรับแบ่งกำหนดการเผาปรับพื้นที่เกษตรกรรมได้โดยไม่กระทบมลภาวะมากเกินไป ช่วยลดปัญหามลภาวะทางอากาศที่เผชิญกันอยู่

Rate this item
(1 Vote)
Last modified on Wednesday, 02 October 2019 11:38
X

Right Click

No right click