×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 805

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 802

บรรยากาศเช้าวันเวิร์คช้อป The Ozonor Hackathon จัดขึ้นที่ NAP LAB จุฬาลงกรณ์ ซอย 6 หนึ่งในกิจกรรมน่าสนใจภายใต้โครงการ “เรื่องโอโซน เรื่องของเรา” ซึ่งเป็นการร่วมมือกันของหลายภาคส่วน รวมถึงหน่วยงานอย่างธนาคารโลกเต็มไปด้วยความกระตือรือร้นและซุ้มเสียงของผู้เข้าร่วมงานรุ่นใหม่ ที่ต่างก็พกเอาไอเดียและความคิดสร้างสรรค์ใส่กระเป๋ามาจากบ้าน พร้อมสำหรับการระดมความคิดนำเสนอให้ได้ผลิตผลตลอดสองวันหนึ่งคืนเพื่อจะเอาไปต่อยอดพัฒนานโยบายในการจัดการสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น

ดร. วิรัช วิฑูรย์เธียร ผู้แทนธนาคารโลก หนึ่งในพันธมิตรผู้ร่วมจัดกิจกรรมในครั้งนี้ ได้อธิบายถึงจุดยืนและบทบาทของธนาคารโลกต่อเป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจในประเทศไทยไว้ว่า “เราถือเป็นธนาคารเพื่อการพัฒนา (Development Bank) ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ เพราะฉะนั้นเราจะให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีที่อาจจะยังไม่สามารถทำในเชิงพาณิชย์ได้ เนื่องจากยังมีความเสี่ยงค่อนข้างสูงในการผลิตออกสู่ตลาด โดยคำนึงถึงและให้ความสำคัญในการกระจายความช่วยเหลืออย่างเท่าเทียมกัน ใครที่สนใจมีสิทธิเข้าร่วมทุกคนหากผ่านเงื่อนไขต่างๆ เพราะฉะนั้น ทีมของเราจึงมีทั้งนักการเงิน นักเศรษฐศาสตร์ นักสังคมวิทยา นักสิ่งแวดล้อมและวิศวกรร่วมมือกันเพื่อการพัฒนา ซึ่งคนทั่วไปอาจจะยังไม่เข้าใจถึงความแตกต่างในจุดนี้ และสำหรับองค์กรเอกชนที่ต้องการเพิ่มปริมาณหรือพัฒนาธุรกิจที่สามารถทำการค้าได้แล้วในระดับหนึ่ง ทางธนาคารโลกก็มีหน่วยงานที่เรียกว่า บรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (International Finance Corporation: IFC) ซึ่งจะมีบทบาทเข้าไปร่วมลงทุนในภาคเอกชนได้โดยตรง”

อดีตที่ผ่านมาจากการที่ประเทศไทยได้ลงนามในพิธีสารมอนทรีออล (Montreal Protocol) ทำให้เรามีนโยบายในการลดละ เลิก การใช้สารทำความเย็นกลุ่ม CFCs (Chlorofluorocarbon) ในการผลิตตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ รถยนต์และกระป๋องสเปรย์ และพยายามผลักดันทุกภาคส่วนให้หันไปใช้สารอื่นทดแทน นั่นก็คือ HFC (Hydro chlorofluorocarbon) ซึ่งไม่ค่อยมีอันตราย ไม่ติดไฟ เมื่อผู้ผลิตเริ่มเปลี่ยนไปหมด ตลาดก็ไม่มีตัวเลือกมาก เหตุการณ์นี้คือการเปลี่ยนแปลงตลาดในฝ่ายผู้ผลิต จึงจะเห็นว่าในอดีตเราใช้กลยุทธ์นี้ในการเข้าถึงผู้บริโภคและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการออกกฎหมาย เพียงเท่านี้ก็สามารถเปลี่ยนแปลงตลาดได้ทั้งหมด แต่ปัจจุบันเราก็พบว่า HFC เป็นก๊าซเรือนกระจกที่มีผลต่อชั้นบรรยากาศทำให้โลกร้อนค่อนข้างสูง ก็เริ่มมีการคิดค้นสารตัวต่อไปคือ HC (hydrocarbon) ที่จะเข้ามาทดแทน แต่ติดปัญหาตรงที่มีคุณสมบัติค่อนข้างอันตรายคือติดไฟได้หรือมีความเป็นพิษสูง อาจมีอัตรายต่อทั้งผู้ผลิตและผู้ใช้งาน เพราะฉะนั้นผู้ใช้จึงจำเป็นต้องคอยดูแลและระมัดระวัง ต้องรู้จักการบำรุงรักษาเพื่อให้ประสิทธิภาพของการใช้งานของเครื่องใช้ไฟฟ้าเหล่านี้คงที่ ยกตัวอย่าง สมัยนี้ที่เรามักได้ยินว่าเครื่องปรับอากาศระบบอินเวอร์เตอร์ช่วยประหยัดพลังงานได้ดี แต่พอซื้อมาเรากลับไม่ค่อยได้ดูแลรักษาเท่าไหร่ จนกระทั่งเครื่องปรับอากาศเสียเราก็จะเรียกช่างมาซ่อม ซึ่งถ้าลองไปเปิดดูจะพบว่ามีฝุ่นเกาะจำนวนมากทำให้การถ่ายเทความร้อนไม่ดี แทนที่จะประหยัดพลังงานกลับทำให้เกิดการใช้พลังงานมากขึ้นกว่าปกติ ดังนั้น ถ้ามีการส่งเสริมเรื่องเทคโนโลยีที่จะช่วยในการประหยัดพลังงาน ก็มีความจำเป็นที่ภาคประชาชนต้องเข้ามามีส่วนร่วม ทางธนาคารโลกจึงหันมาส่งเสริมเรื่องความปลอดภัยและการประหยัดพลังงานโดยการสร้างการตระหนักรู้ต่อพฤติกรรมผู้บริโภคมากขึ้น เพื่อให้ทุกคนสามารถใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัยสูงสุด

เป้าหมายและความคาดหวังต่อ โครงการ “เรื่องโอโซน เรื่องของเรา”

สำหรับโครงการนี้เป็นความร่วมมือหนึ่งที่ทางธนาคารโลกดำเนินการร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ในประเทศไทย ในเรื่องของโอโซนนี้ ทางธนาคารโลกได้มีการทำงานร่วมกันกับทางรัฐบาลไทยโดยเฉพาะกับกระทรวงอุตสาหกรรม ในช่วงแรกเรื่องของโอโซนอาจเป็นเรื่องที่เรายังไม่ค่อยได้ยินกันมากนัก เพราะว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่จะอยู่ที่ภาคอุตสาหกรรมซึ่งเป็นผู้ผลิต ทางภาคประชาชนจะไม่ค่อยได้เกี่ยวข้อง แต่ช่วงที่ผ่านมาเรื่องโอโซนได้ส่งผลกระทบต่อภาวะโลกร้อนและมีเรื่องความปลอดภัยต่างๆ จากสารทดแทนเข้ามาเกี่ยวข้อง ภาคประชาชนจึงจำเป็นที่จะต้องเข้ามารับรู้และมีส่วนร่วมมากขึ้น จึงทำให้กระทรวงอุตสาหกรรมเล็งเห็นว่าน่าจะขยายงานและประยุกต์กิจกรรมต่างๆ ให้เข้ากับภาคประชาชนมากขึ้น โดยมีเป้าหมายคือ อยากให้เกิดความรู้ความเข้าใจในเรื่องการป้องกันชั้นบรรยากาศว่าคืออะไร เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างไร และจะมีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมได้อย่างไร นอกเหนือไปกว่านี้ยังคาดหวังถึงความคิดเห็น ข้อมูลต่างๆ และความคิดใหม่ๆ ของผู้ที่มาเข้าร่วม ในแง่ของประชาชนคนรุ่นใหม่ ซึ่งมีบริบทการใช้ชีวิตต่างจากอดีตว่า ควรใช้สื่อประเภทไหนที่จะสามารถเข้าถึงและดึงดูดความสนใจของประชาชนได้มากกว่า เพื่อเป็นข้อมูลที่จะนำมาทำแผนในการลด หรือ เลิก ใช้สารที่กำลังถูกควบคุมในอนาคตเพื่อนำมาเป็นแนวทางในการดำเนินงานในอนาคต

ทิศทางและแนวโน้มต่อมุมมองเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย ทั้งในเรื่องดิน น้ำ และอากาศ ซึ่งหมายรวมถึงเรื่องโอโซนด้วย

ดร.วิรัช เปิดเผยเรื่องนี้กับทาง MBA ว่า เรื่องของการรณรงค์เพื่อเป้าหมายในการลดภาวะโลกร้อนเป็นเรื่องที่เราทุกคนต่างมีส่วนร่วมและการกระทำของเราก็ส่งผลต่อคนอื่นๆ จึงอาจเกิดปัญหาการว่าใครควรเริ่มก่อน แม้แต่เรื่องของการป้องกันชั้นบรรยากาศหรือโอโซนที่เริ่มกันมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2530 ก็ไม่มีใครคิดว่าจะประสบความสำเร็จ แต่การที่ประสบความสำเร็จได้ก็เพราะเราสามารถทำปัญหานี้ให้กลายเป็นเรื่องที่ชัดเจนสามารถแก้ไขได้ อย่างเรื่องน้ำยาที่มีผลต่อชั้นบรรยากาศก็มีการหาทางปิดโรงงานที่ผลิตสารเหล่านี้ แล้วเอาสารทดแทนตัวอื่นไปให้ผู้ใช้หรือโรงงานที่นำสารนี้ไปใช้ต่อ ปัญหาเลยถูกแก้ไขได้ง่าย เราสามารถใส่ทรัพยากรต่างๆ ลงไปทดแทนเพื่อแก้ปัญหาได้สำเร็จ แต่ในแง่ของสภาพภูมิอากาศมีปัจจัยมากมาย เพราะฉะนั้น ในตอนนี้เราทุกฝ่ายต้องมีการจับมือร่วมกัน สิ่งไหนที่ทำได้เร็วทำได้ก่อนก็ต้องเริ่มทันที อย่างเรื่องสาร HFCs ที่ประเทศไทยนำเข้ามา หากเราไม่ลงมือทำอะไรเลย ภายในปี พ.ศ.2565 หรือ พ.ศ.2566 อาจจะมีปริมาณสูงถึง 120 ล้านตัน ถ้าเราสามารถลดการนำเข้าลงเพียง 20 เปอร์เซ็นต์ ทำให้เกิดการรั่วไหลน้อยลง เราก็สามารถลดปริมาณสารไปได้มากกว่า 30 ล้านตัน ที่รัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายว่าจากปี 2563 ถึง 2566 เราจะลดอัตราการปล่อยก๊าซที่ทำลายชั้นบรรยากาศ 20 – 25 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 110 – 130 ล้านตัน ถ้าประชาชนเราสามารถบำรุงรักษาใช้เครื่องไฟฟ้าเหล่านี้ได้มีประสิทธิภาพและเกิดการรั่วไหลน้อยที่สุด แค่เรื่องของการใช้เครื่องปรับอากาศถ้านับจากการใช้ทั่วประเทศเราอาจลดการนำเข้าสารนี้ไปได้ 10 – 20 เปอร์เซ็นต์ ส่วนอีก 5 เปอร์เซ็นต์ก็คือเป้าหมายที่จะไปจัดการในส่วนของการลดอัตราการปลดปล่อยสารเหล่านี้ออกสู่บรรยากาศ เพราะฉะนั้นเรื่องไหนที่เราทำได้ก่อนเราก็ทำเลย เรื่องไหนที่ยังทำไม่ได้เราก็พยายามพัฒนาต่อ ถ้าเราไม่ทำตอนนี้ภายในปี พ.ศ.2573 อุณหภูมิโลกอาจเพิ่มขึ้น 1.5 องศาเซลเซียสแน่นอน”

สำหรับการทำการเกษตรและปศุสัตว์ที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (ก๊าซมีเทนและไนตรัสออกไซด์) ส่งผลต่อชั้นบรรยากาศ ก็ต้องมีการเข้าไปสำรวจและพูดคุยกันจากหลายๆ ฝ่าย ในการนำเทคโนโลยีมาใช้ รวมถึงส่งเสริมให้มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคให้ลดปริมาณการบริโภคเนื้อสัตว์ เพราะกระบวนการผลิตนั้นใช้คาร์บอนไดร์ออกไซด์ในอัตราที่สูง ทั้งนี้ ก็เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาในการส่งเสริมให้มีการประยุกต์และปรับเปลี่ยน และอีกด้านก็คือการเพิ่มประสิทธิภาพให้กับระบบขนส่ง อย่างอาหารทะเล บ้านเราถือเป็นประเทศที่ส่งออกอาหารทะเลอันดับต้นๆ ของโลก ประเด็นคือเราจะทำอย่างไรให้อุตสาหกรรมนี้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ใช่ว่าจับได้มากขึ้นแต่เป็นการเพิ่มอัตราการส่งอาหารหรือทรัพยากรเหล่านี้ไปให้ถึงมือผู้บริโภคให้มากขึ้น จากเดิมเราจับมาได้ 100 เปอร์เซ็นต์แต่ไปถึงผู้บริโภคเพียง 60 - 70 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถ้าเราสามารถเพิ่มเป็น 100 เปอร์เซ็นต์ได้ก็อาจช่วยลดอัตราการจับสัตว์น้ำให้น้อยลงได้ ธนาคารโลกเองมีบทบาทในการส่งเสริมเทคโนโลยีระบบทำความเย็นทำให้สามารถควบคุมอุณหภูมิได้ดี โดยมีการกำหนดกลยุทธ์และแผนการในการขนส่งที่มีการเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมและประหยัดพลังงาน อาจไม่ต้องเป็นเทคโนโลยีใหม่ก็ได้ แต่ต้องมีการมองอย่างเป็นระบบ วิธีการนี้จะทำให้เกิดการแข่งขันที่มากขึ้น ราคาสินค้าก็ถูกลง เพราะเราไม่ต้องจ่ายให้กับส่วนต่างของมูลค่าสินค้าที่สูญเสียไประหว่างทาง ซึ่งสินค้าเหล่านี้เองที่ทำให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอัตราที่สูงที่สุด

และสำหรับประเด็นทางสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ทางธนาคารโลกก็มีกระบวนการทำงานที่ต่างจากอดีต คือการมองปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศไทย (Strategic Country Diagnostic : SCD) แล้วจึงมากำหนดว่าอะไรที่ควรให้ความสำคัญก่อน โดยทางรัฐบาลจะมีการกำหนดขึ้นมาว่าต้องการให้ทางธนาคารโลกให้ความช่วยเหลือในด้านใดบ้าง มีการสร้างขอบเขตความร่วมมือระหว่างธนาคารโลกกับประเทศไทยขึ้นมาภายในระยะเวลาประมาณ 5 ปี อย่างเร็วๆ นี้ก็จะเป็นประเด็นการลดขยะพลาสติก ซึ่งถือเป็นปัญหาระดับโลกที่เกิดขึ้นในหลายประเทศทั้งในอินโดนีเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ จีนและไทย ต่างก็ต้องเผชิญกับวิกฤตในครั้งนี้

การดำเนินงานตามนโยบายส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและการสร้างนวัตกรรมสามารถทำควบคู่การแก้ไขหรือป้องกันปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างไร

ในเรื่องการเสริมสร้างเศรษฐกิจให้เติบโตควบคู่กับความพยายามป้องกันและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมนั้น ท่าน ดร.วิรัช ได้อธิบายแง่มุมใหม่ๆ ที่น่าสนใจให้เราฟังว่า “ในอดีตเราอาจมองว่า การพัฒนาอุตสาหกรรมกับการพัฒนาเศรษฐกิจมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่เดี๋ยวนี้โลกเปลี่ยนไป เทคโนโลยีก็เปลี่ยนไป ดังนั้น การพัฒนาอุตสาหกรรมให้เติบโตอาจไม่ทำให้เกิดความเสื่อมโทรมทางสิ่งแวดล้อมเสมอไป อยู่ที่ว่าเราจะเลือกใช้เทคโนโลยีใดมาช่วยรักษาสมดุลเพื่อจะส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด อย่างในตอนนี้ที่เราเปลี่ยนการใช้น้ำยาในเครื่องปรับอากาศจาก CFCs มาเป็น HFC ที่แยกออกมาอีกหลายประเภททั้ง R22 และ R410A ซึ่งก็ยังมีผลที่ทำให้โลกร้อนขึ้นได้ประมาณ 1,810 – 2,090 เท่าของคาร์บอนไดร์ออกไซด์ ล่าสุดภาคอุตสาหกรรมจึงหันมาเลือกใช้สารที่มีประสิทธิภาพกลางๆ คือ HFC R32 มีค่าที่ทำให้โลกร้อนเพียง 675 เท่าของคาร์บอนไดร์ออกไซด์ ไซต์ แม้จะยังเป็นค่าที่สูงแต่ก็มีการออกแบบให้มีการรั่วไหลของสารในปริมาณที่น้อยที่สุดด้วยการลงทุนทำระบบข้อต่อต่างๆ ให้ดีขึ้น ผลปรากฏว่าระบบนี้กลับมีปริมาณการรั่วน้อยและเพิ่มประสิทธิภาพในการประหยัดพลังงาน ทำให้สามารถผลิตเครื่องปรับอากาศให้มีขนาดเล็กลงได้ด้วย เพราะการทำความเย็นที่ดีกว่า ขนาดของเครื่องปรับอากาศจึงสามารถลดลงส่งผลต่อการลดต้นทุนในการผลิตและท้ายที่สุดทำให้เกิดขยะน้อยลง ฉะนั้น การปฏิบัติตามแนวทางนี้นอกจากจะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น ความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น ยังส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมด้วย เดี๋ยวนี้เทคโนโลยีที่เรามีค่อนข้างพร้อมอยู่ที่ว่าเราจะหยิบเอามาใช้ให้ได้ประโยชน์ต่อหลายๆ ฝ่าย”

ทั้งนี้ เทคโนโลยีในปัจจุบันอาจจะยังไม่เดินไปถึงขั้นที่เราสามารถลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ทั้งหมด นอกจากนี้เทคโนโลยีที่จะถูกนำมาใช้นั้นยังต้องขึ้นอยู่กับความพร้อมของแต่ละประเทศ ถ้าประเทศไทยมีช่างที่มีคุณภาพและประชาชนรู้ว่าการซ่อมบำรุงที่ถูกต้องคืออะไร เราสามารถควบคุมความเสี่ยงได้ เราก็สามารถเดินไปหน้าต่อไปในแนวทางนั้นได้ ปัจจุบันมีความพยายามที่จะพัฒนาและส่งเสริมขีดความสามารถของช่างซ่อมบำรุงให้มากขึ้น ดึงเอาส่วนผู้บริโภคเข้ามามีส่วนร่วมในเรื่องการดูแลรักษาของใช้ เมื่อเราพร้อมและมีความรู้ความเข้าใจในการรับมือเป็นอย่างดีเมื่อไหร่ เราจึงสามารถเดินหน้าใช้สารที่มีประสิทธิภาพมากกว่านี้ (แต่อาจมีอันตรายมากกว่าด้วย) เราไม่ควรให้ความสมบูรณ์กลายมาเป็นสิ่งที่ทำลายเราในภายหลังจะดีกว่า กรณีที่การส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมที่ประสบความสำเร็จในอดีตที่ผ่านมาคือ การทำความร่วมมือระหว่างทางธนาคารโลกกับรัฐบาลญี่ปุ่น ในการเจรจาขอนำเทคโนโลยี R32ซึ่งขณะนั้นมีบริษัทญี่ปุ่นเจ้าเดียวที่ถือครองสิทธิบัตรอยู่เข้ามาให้กับผู้ผลิตในประเทศไทย โดยสุดท้ายแล้วเราก็สามารถผลิต จัดจำหน่ายได้โดยไม่ต้องเสียค่าสิทธิบัตร และถือเป็นการเปิดโอกาสการเข้าถึงเทคโนโลยีนี้ให้โรงงานผลิตเครื่องปรับอากาศจำนวนมาก ทำให้เกิดการแข่งขันได้ในวงกว้าง ทั้งนี้ เพราะเราสามารถสร้างเงื่อนไขที่ทั้งประเทศไทยและเจ้าของสิทธิบัตรสามารถมีประโยชน์ร่วมกันได้ นอกจากนี้ ในส่วนของเทคโนโลยีภาคการผลิตในอนาคต ธนาคารโลกเองก็กำลังร่วมมือกับทางสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและกรมโรงงานอุตสาหกรรมในการทำ Business Matching โดยส่งเสริมให้บริษัทที่มีความรู้เรื่องเทคโนโลยีอินเวอร์เตอร์แต่ยังไม่สามารถเปิดตลาดและบริษัทที่มีความต้องการเทคโนโลยีตัวนี้มาทำการค้าร่วมกันทั้งในตลาดประเทศไทยเอง รวมถึงในประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามหรือฟิลิปปินส์เพื่อขยายตลาด เมื่อผู้ผลิตหันมาสั่งซื้อสินค้าที่เดียวกัน ปริมาณการซื้อขายก็มากขึ้น ราคาก็จะลดลง คนที่ให้เทคโนโลยีก็สามารถทำยอดขายได้เพิ่ม เป็นการสร้างพันธมิตรทางธุรกิจของภาคอุตสาหกรรม

ดร.วิรัช แสดงความเห็นทิ้งท้ายต่อปัญหาที่เป็นกังวลมากที่สุดในระดับสากลตอนนี้คือ เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยได้มีการประชุมและทำข้อตกลงร่วมกันเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศโลกครั้งที่ 21 หรือ COP21 ที่กรุงปารีส คือ จะพยายามควบคุมไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยโลกเพิ่มขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส หากเราไม่สามารถลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกได้อาจทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นถึง 1.5 องศาเซลเซียสในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า และเมื่ออุณหภูมิสูงขึ้นไปจนถึงจุดหนึ่งจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศทั้งหมดทำให้เปลี่ยนกลับมาไม่ได้อีก เราในส่วนของประชาชนผู้มีส่วนร่วมควรตระหนักและคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น แน่นอนว่าเรื่องความอยู่รอดและปากท้องเป็นสิ่งสำคัญ แต่หากเรามุทะลุตั้งหน้าตั้งตากอบโกยเอาแต่ผลประโยชน์เข้าตัวเพียงอย่างเดียว สักวันหนึ่งการกระทำเหล่านี้อาจย้อนกลับมาเป็นปัญหาลูกโซ่ทำร้ายลูกหลานของเราในอนาคตได้


เรื่อง : ณัฐพัชฐ์ สุมา

เมื่อพิจารณาการปล่อย CO2 ของเชื้อเพลิงฟอสซิลจะเห็นได้ว่าถ่านหินมีสัดส่วนการปล่อย CO2 สูงกว่าเชื้อเพลิงฟอสซิลชนิดอื่นๆ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนากระบวนการเผาไหม้ที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น

เมื่ออุตสาหกรรมน้ำมันถูกมองว่าเป็นผู้ร้ายทำลายชั้นบรรยากาศของโลก ผู้ประกอบการจะอยู่เฉยได้อย่างไร? BP Amoco อุตสาหกรรมน้ำมันเชื้อสายอังกฤษเจ้าแรกที่แสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมด้วยแถลงการณ์นโยบายลดการปล่อยก๊าซจากการเผาผลาญ ซึ่งเป็นตัวการที่ทำให้เกิดภาวะเรือนกระจก นำทีมโดย เซอร์จอห์น บราวน์ CEO โดยมี ปีเตอร์ รากอสส์ เป็นมือขวา เพื่อทำหน้าที่ประเมินความน่าจะเป็นของนโยบายดังกล่าว

ในการจะประเมินนโยบายเหล่านี้ รากอสส์รู้ว่าเขาอาจจะต้องมองการเปลี่ยนแปลงของชั้นบรรยากาศ ในฐานะเป็นที่มาของความเสี่ยงทางธุรกิจ ขณะเดียวกันก็ยังต้องประเมินความเป็นไปได้ว่านโยบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ของบริษัทอาจเป็นช่องทางสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันก็ได้ บราวน์ได้ย้ำความคิดนี้หลายครั้งในการกล่าวสุนทรพจน์และการให้สัมภาษณ์ซึ่งเป็นจุดยืนที่แข็งกร้าวของบริษัทที่ประจักษ์กันทั้งในและนอกบริษัท และเป็นปรัชญาการทำงานของบราวน์ที่ว่า “do well by doing good ”

แต่กระนั้นรากอสส์ก็ยังไม่แน่ใจนักว่าความเชื่อมโยงระหว่างนโยบายที่แข็งกร้าวในเรื่องปกป้องสิ่งแวดล้อมกับการแข่งขันช่วงชิงตำแหน่งทางการตลาดจะสวนทางกันหรือไม่  นอกจากนี้ ยังมีความสัมพันธ์ของบริษัทกับลูกค้าผู้ให้เงินทุน และรัฐบาลของชาติต่างๆ ที่เป็นฐานการผลิตและจำหน่ายสินค้า รวมไปถึงกลุ่ม NGO อีกทั้งยังมีคำถามต่างๆ เกี่ยวกับความเป็นผู้นำและวัฒนธรรมการทำงานในบริษัทก็ไม่ใช่สิ่งที่จะมองข้ามไปได้  ซึ่งรากอสส์ก็ไม่แน่ใจว่าปัจจัยเหล่านี้จะผสมผสานกลมกลืนกันได้อย่างไร

กว่าจะมาเป็น BP Amoco

BP มีจุดเริ่มต้นจากบริษัท Anglo-Persian Oil Company ซึ่งขายหุ้นครั้งแรกในปี 1909 เพื่อจัดหาเงินทุนให้การผลิตน้ำมันภายใต้สัมปทานที่ลงนามโดย Shah Muzaffar al-Din แห่งเปอร์เซีย ต่อมา ปี 1951 นายมูฮัมมัด โมสสาดิก นายกรัฐมนตรีของอิหร่านโอนอุตสาหกรรมน้ำมันอิหร่านเป็นของรัฐและขับไล่บริษัท Anglo-Iranian ออกจากประเทศโดยไม่มีการจ่ายค่าชดเชย ระหว่างลี้ภัยออกจากอิหร่าน ปี 1954 บริษัทได้ขยายการผลิตเข้าไปในคูเวต อิรัก และกาต้าร์ และเปลี่ยนชื่อเป็น British Petroleum (BP)  ซึ่งเป็นจังหวะดีประจวบเหมาะของการเปลี่ยนโฟกัสในเชิงกลยุทธ์ เพราะประสบการณ์ในอิหร่านทำให้บริษัทเริ่มลดการพึ่งพาแหล่งน้ำมันดิบในตะวันออกกลาง

ปลายทศวรรษ 1960 จนถึงต้นทศวรรษ 1970 มีการค้นพบแหล่งน้ำมันมหาศาลในบริเวณอ่าวพริวโด (Prudhoe) ในอลาสก้าและทะเลเหนือ  ถึงแม้  BP ไม่ได้เป็นบริษัทแรกที่ค้นพบแหล่งน้ำมัน  แต่ก็เป็นบริษัทแรกๆ ที่เข้าไปปูรากฐานทั้งสองแห่ง เพื่อขนส่งน้ำมันดิบจากอ่าวพริวโดทางตอนเหนือของอลาสก้าไปยังท่าเรือวอลเดซ ออน พริ๊นซ์ วิลเลี่ยม เซานด์ (Valdez on Prince William Sound) ที่อยู่ทางใต้ลงไปประมาณ 800 ไมล์ แม้จะสวนทางกับกระแสอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแต่ท่อส่งน้ำมันก็เดินหน้าจนสร้างแล้วเสร็จในปี 1977 และในปี 1970 บริษัท Forties filed ของ BP ก็ค้นพบน้ำมันจุดแรกในทะเลเหนือ และพบจุดใหญ่ตามมาอีก

เพื่อใช้ประโยชน์ส่วนใหญ่จากน้ำมันในอลาสก้า ผู้บริหารของ BPเห็นความจำเป็นต้องตั้งเครือข่ายช่องทางการตลาดค้าปลีกในสหรัฐ ปี 1968 บริษัทซื้อสถานีให้บริการ 8,500 แห่งในนิวอิงแลนด์จาก Sinclair Oil  ก่อนที่จะโอนสถานีเหล่านี้และหุ้นส่วนใหญ่ในอลาสก้าให้กับ Standard Oil of Ohio (Sohio) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ John D. Rckefeller’s Standard Oil  แลกกับการที่ Sohio จะให้หุ้นทุน 25% ในตอนแรกและตามมาอีก 29% เมื่อการผลิตของ Sohio ที่อ่าวพริวโดสูงกว่า 6 แสนบาร์เรลต่อวัน  แต่แล้วความเป็นหุ้นส่วนระหว่าง BP และ Sohio กลับกลายเป็นการปีนเกลียว เมื่อ Sohio ถลุงเงินนับพันล้านดอลลาร์ไปกับการลงทุนที่ไม่สร้างผลกำไรในธุรกิจที่ไม่เกี่ยวกับน้ำมัน และยังดำเนินโครงการราคาแพงที่ส่วนใหญ่แล้วไม่ประสบความสำเร็จอีกด้วย ในปี1986 ผู้บริหารของ BP ให้เหตุผลว่า “ไม่สามารถทนดูได้อีกต่อไป” และเรียกร้องให้ president และ chairman ของ Sohio รับผิดชอบด้วยการลาออก  ในปีต่อมา BP ซื้อหุ้น 45% ส่วนที่เหลือของ Sohio เป็นเงิน 7.6 พันล้านดอลลาร์ แล้วรวมเป็นบริษัทใหม่ชื่อ BP America Inc., และกลายเป็นบริษัทที่สำคัญในอุตสาหกรรมน้ำมันอเมริกา

เซอร์จอห์น บราวน์  ได้เดินหน้าสานต่อกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจในฝั่งอเมริกาต่อไป โดยประกาศว่า บริษัทจะรวมกับ Amoco Corporation ซึ่งมีฐานอยู่ในชิคาโก้ การรวมบริษัทของทั้งสองถือเป็นการรวมอุตสหากรรมที่ใหญ่ที่สุดในเวลานั้น โดยตั้งบริษัทใหม่ชื่อ  BP Amoco p.l.c., มีสำนักงานใหญ่อยู่ในลอนดอน ผู้บริหารจากทั้งสองบริษัทคาดว่าการร่วมทุนจะเพิ่มรายได้อีก 2 พันล้านดอลลาร์ และวางตำแหน่งให้บริษัทใหม่นี้เป็นผู้นำในตลาดน้ำมันระหว่างประเทศ บราวน์ย้ำว่า“การแข่งขันในระดับระหว่างประเทศของอุตสาหกรรมนี้ดุเดือดอยู่แล้ว และจะยิ่งเพิ่มดีกรีมากขึ้นเมื่อมีผู้เล่นหน้าใหม่เกิดขึ้นมา ในบรรยากาศเช่นนี้โอกาสในการลงทุนที่ดีที่สุดจะตกเป็นของบริษัทที่มีขนาดใหญ่และมีความเข้มแข็งทางการเงินที่จะรองรับโครงการขนาดใหญ่ที่ให้ผลตอบแทนการลงทุนชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ”

การรวมบริษัททำให้ BP Amoco กลายเป็นบริษัทน้ำมันและก๊าซที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสาม รองจาก Exxon และ Royal Dutch Shell แต่ยังนำหน้า Mobil และ Chevron ซึ่งมีฐานอยู่ในอเมริกา อย่างไรก็ตามการ รีเอ็นจีเนียริ่งอุตสาหกรรมน้ำมันยังคงต้องดำเนินการไปอีกนาน เพราะ Exxon ประกาศแผนจะขยายความเป็นแชมป์ด้วยการรวมกับบริษัท Mobil  สี่เดือนให้หลังในวันที่  1เมษายน 1999 BP Amoco ก็ประกาศแผนบ้างว่าจะรวมกับบริษัท Atlantic Richfield Company (ARCO) ในแคลิฟอร์เนีย

BP Amoco กับสิ่งแวดล้อม

คริสต์ กิบสัน-สมิธ ในฐานะ  executive vice president ด้านนโยบายและเทคโนโลยี เป็นหนึ่งในเจ็ดผู้บริหารสูงสุดของบริษัท เขามีหน้าที่ดูแลระบบการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมของ BP Amoco กิบสัน-สมิธ ซึ่งจบปริญญาเอกด้านภูมิศาสตร์เคมี พ่วงด้วยปริญญาโทด้านวิทยาการจัดการจาก Stanford  ทำงานกับ BP มาเกือบ 30 ปี ตามทัศนะของเขานั้น BP Amoco มักเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมนี้ทั้งในเรื่องการลงมือปฏิบัติ การดำเนินการ  กระบวนการ และปฏิบัติตามการยินยอมที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม 

ในต้นทศวรรษ1980 ธุรกิจเคมีกัลของ BP มุ่งดำเนินการเพื่อลดการปล่อยมลพิษทางอากาศของบริษัทให้เหลือครึ่งหนึ่งภายในห้าปี  ถือเป็นภารกิจที่ได้รับความสนใจต่อสาธารณะอย่างสูงและถูกตรวจสอบจากภายนอก ส่วนคนในบริษัทเองก็มีความมุ่งมั่นที่จะเป็นผู้นำด้านสิ่งแวดล้อมเช่นกัน ก่อนหน้าที่จะมีการรวมบริษัทกันนั้น BPและ Amoco มีความแตกต่างกันมากเรื่องแนวทางในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม กิบสัน-สมิธ อธิบายว่าAmoco มีพันธะผูกพันอันยาวนานกับจุดประสงค์เรื่องสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และความปลอดภัย

และในทศวรรษ1980 Amoco ได้สร้างชื่อด้วยการเป็นพันธมิตรกับสำนักงานป้องกันสิ่งแวดล้อมแห่งสหรัฐในการวิจัยที่ออกแบบมาเพื่อแสดงให้เห็นว่าการผ่อนกฎระเบียบอาจนำไปสู่การมีมลพิษน้อยลงได้อย่างไร ด้วยต้นทุนที่น้อยกว่าเมื่อเทียบกับระบบของข้อบังคับแบบเก่า  ในเวลาเดียวกันผู้บริหารบางคนของ BP ตั้งข้อสังเกตว่าแนวทางด้านสิ่งแวดล้อมของAmoco มีแรงขับมาจากการยินยอมให้ต้นทุนน้อยที่สุด มากกว่าจะมาจากการคำนึงในเชิงกลยุทธ์ หรือด้วยปรัชญาการทำงานเพื่อสังคมแบบกลวงๆ เพียงเพื่อหาข้อได้เปรียบในการแข่งขัน

นิค บัตเลอร์ ที่ปรึกษาด้าน group policy บอกกับบราวน์ให้นึกย้อนไปถึงวิวัฒนาการเรื่องนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมและชั้นบรรยากาศของ BP ว่า “ในปี 1996  เราเดินออกจากแนวร่วมเพื่อชั้นบรรยากาศโลก (Global Change Coalition)  และเราก็เป็นบริษัทใหญ่แห่งแรกที่ทำอย่างนั้น

บัตเลอร์ บอกถึงเหตุผลที่ทำให้เดินออกจากแนวร่วมว่ามาจากภายในตัวเขาเองไม่ได้เกี่ยวกับแรงกดดันจากภายนอกแต่อย่างใด “เราไม่ได้พยายามจะให้แนวร่วมหันมาสนใจแผนกของเรา แค่ไม่ต้องการจะต่อสมาชิกภาพใหม่เท่านั้น  และเราก็รู้สึกว่าแถลงการณ์สาธารณะของแนวร่วมนั้นเป็นการปฏิเสธอย่างไม่เหมาะสมถึงความเป็นไปได้ที่ว่าการเปลี่ยนแปลงชั้นบรรยากาศที่เป็นมนุษย์เป็นต้นเหตุอาจจะเป็นปัญหาสังคมที่รุนแรง และคำถามที่เกิดขึ้นตามมาเองก็คือเราควรจะเปลี่ยนจุดยืนใหม่หรือเงียบเฉยต่อไป”

เหตุผลหนึ่งที่เดินออกจากแนวร่วม มาจากตัวอย่างประสบการณ์ที่ส่งผลต่อภาพลักษณ์ในทางลบของคู่แข่งอย่าง บริษัท Royal Dutch Shell ประกาศแผนที่จะสละทุ่นลอยน้ำรูปทรงกลมชื่อ ”เบร็นต์” ซึ่งใช้เป็นทุ่นลำเลียงอยู่นอกทะเล ด้วยการถ่วงให้มันจมดิ่งลงไปในน้ำลึกนอกชายฝั่งในเขตตะวันตกเฉียงเหนือของอังกฤษ แม้ว่ารัฐบาลอังกฤษและนักวิทยาศาสตร์จะสนับสนุนข้อเสนอแผนดังกล่าว แต่นักเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อมพากันคัดค้านไม่เห็นด้วย ผู้บริโภคร่วมกันคว่ำบาตรสินค้าของ Shell  แถม Greenpeace ซึ่งเป็นองค์กรสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศยังได้ดำเนินการประท้วงขนานใหญ่ และทำการยึดทุ่นลอยน้ำรูปทรงกลมไว้ชั่วคราวเพื่อไม่ให้มีการถ่วงทะเลตามที่เสนอกันไว้

ผู้ประท้วงหัวรุนแรงจัดการบุกทำลายสถานีบริการย่อยของ Shell เกือบ 50 แห่งในยุโรป  มีสถานีหนึ่งถูกถล่มด้วยระเบิดไฟ ส่วนอีกแห่งมีรอยยิงจากอาวุธออโตเมติกฝากไว้เป็นรอยทรงจำ  หลายเดือนต่อมาท่ามกลางการประกาศชัยชนะของ Greenpeace บริษัท Shell จึงเปลี่ยนความคิดโดยลากทุ่นลอยน้ำรูปทรงกลมนั้นไปยังท่าเรือในนอร์เวย์และทิ้งไว้อย่างนั้นนานกว่าสองปี  ในปี1998 ในที่สุด Shell จึงได้ดำเนินการคิดเป็นเงินมูลค่าประมาณ 40 ล้านดอลลาร์ ทำการระเบิดเปลือกนอกของทุ่นลอยน้ำที่ฐานเจาะกลางทะเล แล้วนำชิ้นส่วนมาถมสร้างที่ริมทะเล

แอนดริว แม็คเคนซี่ Group Vice President ด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรม  ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายวิเทศน์สัมพันธ์ให้ BP ย้อนความทรงจำว่า “ทุ่นเบร็นต์นี่เองที่เป็นตัวเร่งให้เราเดินหน้าสู่นโยบายเปลี่ยนแปลงชั้นบรรยากาศ ผู้บริหารของ BP Amoco ตระหนักดีว่าสิ่งที่เกิดขึ้นให้บทเรียนที่ลึกซึ้งกับเชลล์ เพราะชื่อเสียงของเชลล์เสียหายย่อยยับยากจะเรียกคืนกลับ แม้ว่า Shell พยายามจะอุทธรณ์ต่อสาธารณะแต่มันก็ไม่ได้ช่วยอะไรพวกเขาเลย”

ดิ๊ก โอลเวอร์บอกด้วยว่านี่คือการตัดสินใจทางธุรกิจบนทางที่ลำบากครั้งหนึ่งเพื่อหาข้อได้เปรียบในการแข่งขันด้วยการเลือกจุดยืนที่แตกต่าง “ความคิดของเราเมื่อต้องเผชิญกับสิ่งท้าทายใหม่ๆ อย่างการเปลี่ยนแปลงชั้นบรรยากาศหรืออี-คอมเมิร์ซก็คือ อย่าทำให้มันเป็นเรื่องวิชาการนานเกินไป และควรจะหันมาทดลองและเรียนรู้จากการลงมือทำ สิ่งสำคัญก็คือเราไม่รู้ว่าเราจะได้เรียนรู้อะไรจนกว่าเราจะเริ่มลงมือเรียน”

พลังงานแห่งโลกอนาคต

บราวน์กล่าวสุนทรพจน์สำคัญเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของชั้นบรรยากาศครั้งแรกที่สแตนฟอร์ดเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม1997 ในฐานะศิษย์เก่าว่า “ตอนนี้มีฉันทามติในหมู่นักวิทยาศาสตร์ชั้นนำของโลกและผู้ที่มีข้อมูลอย่างดีนอกแวดวงวิทยาศาสตร์ว่ามนุษย์สร้างผลกระทบให้กับชั้นบรรยากาศ มีความเชื่อมโยงระหว่างความหนาแน่นของก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์กับการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิ” แม้เขาจะยอมรับว่ายังมีองค์ประกอบที่ไม่แน่ชัดอีกมากมายแต่เขาก็บอกบรรดาเพื่อนศิษย์เก่าว่า “มันก็เป็นการไม่ฉลาดนักและอันตรายอย่างยิ่งที่จะมองข้ามความกังวลที่มีเพิ่มมากขึ้นนี้” บราวน์ ย้ำว่า “แม้ผลผลิตและการอุปโภคน้ำมันที่แท้จริงจาก BP จะคิดเป็นเพียง 1% ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนจากกิจกรรมของมนุษย์ บริษัทก็ยังต้องทำการรับผิดชอบ

BP ยอมรับความรับผิดชอบนั้น ดังนั้นเราถึงดำเนินขั้นตอนอย่างเจาะจงบางอย่างเพื่อควบคุมการปล่อยควันพิษของเรา ให้เงินกองทุนสนับสนุนการวิจัยต่อไป เพื่อดำเนินการริเริ่มให้มีการปฏิบัติร่วมกัน  เพื่อพัฒนาพลังงานทางเลือกในระยาว และเพื่อมีส่วนร่วมในการวิพากษ์นโยบายสาธารณะเพื่อหาคำตอบให้แก่ปัญหานี้ในระดับที่กว้างขึ้นทั่วโลก” หลังจากให้อรรถาธิบายเกี่ยวกับความพยายามของ BP ในเรื่องนี้แล้ว บราวน์ได้สรุปว่า ขั้นตอนนี้มีความจำเป็น “เพราะอุตสาหกรรมน้ำมันจะยังคงเป็นผู้ป้อนพลังงานที่สำคัญของโลกในอนาคต”

ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของ BP ตระหนักถึงความเสี่ยงในการถูกตอบโต้กลับจากนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมหรือจากบริษัทน้ำมันอื่นๆ จึงเลือกที่จะไม่ประชาสัมพันธ์สุนทรพจน์นี้อย่างออกนอกหน้า แต่ผลกลับกลายจากหน้ามือเป็นหลังมือ เพราะสื่อมวลชนให้ความสนใจรายงานข่าวนี้อย่างกว้างขวางแถมเป็นไปในทางที่ดีด้วย ส่วนพนักงานในองค์กรก็รู้สึกภาคภูมิใจว่า BP กำลังเป็นผู้นำในประเด็นนี้และรู้สึกดีกับการทำงานเพื่อบริษัทที่ทำในสิ่งที่รับผิดชอบต่อสังคม อย่างไรก็ตามหลายคนก็คิดว่าการริเริ่มนี้อาจทำให้ต้นทุนสูงขึ้นและเพิ่มความเสี่ยงให้กับธุรกิจ ไม่นานหลังจากที่บราวน์กล่าวสุนทรพจน์ที่สแตนฟอร์ด บริษัทก็ทำข้อตกลงกับกองทุนคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ( Environmental Defense Fund :EDF) เพื่อออกแบบระบบสำหรับการค้าการปล่อยก๊าซที่ก่อภาวะเรือนกระจกภายใน BP 

หกเดือนหลังจากที่บราวน์กล่าวสุนทรพจน์ที่สแตนฟอร์ด นักการทูตที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของชั้นบรรยากาศได้ประชุมกันที่เกียวโตเพื่อกำหนดเนื้อหาของตัวสนธิสัญญา ในการรับรองและมีผลให้ประเทศอุตสาหกรรมต้องลดการปล่อยก๊าซตามจำนวนที่กำหนดไว้ ภายใต้ร่างสนธิสัญญาแห่งเกียวโต (Kyoto Protocol) ภายในปี 2008 หรือ 2012 ประเทศร่ำรวยจะต้องลดการปล่อยก๊าซลง ขณะเดียวกันร่างสนธิสัญญาเกียวโตก็ไม่ได้กำหนดให้ประเทศกำลังพัฒนามีภาระลดการปล่อยก๊าซเช่นประเทศพัฒนาแล้ว จึงเป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้วุฒิสภาของสหรัฐไม่รับรองร่างสนธิสัญญานี้ 

บราวน์ประกาศว่า เมื่อพิจารณาจากการเติบโตตามที่ BP คาดการณ์ ภายในปี 2010 บริษัท BP จะลดการปล่อยก๊าซให้ได้ 10% จากระดับที่มีการปล่อยอยู่ในปี 1990 ก่อนที่จะผูกมัดตัวเองเช่นนี้ บราวน์และคณะของเขาได้สำรวจความคิดเห็นกับหัวหน้าหน่วยธุรกิจเกี่ยวกับการลดการปล่อยก๊าซก่อนแล้วว่ามีวิธีใดที่พวกเขารู้สึกว่าจะทำได้โดยไม่ต้องแบกต้นทุนมากกว่าในปัจจุบัน  เมื่อเก็บรวบรวมข้อมูลเหล่านี้ผู้บริหารฝ่ายสิ่งแวดล้อมรายงานว่าโครงการที่ว่าอาจจะลดการปล่อยก๊าซได้ประมาณสองในสามซึ่งจำเป็นต่อเป้าหมายการลดให้ได้10%  มองผิวเผินแล้วข้อผูกมัดนี้ดูจะเป็นเสมือนกระจกสะท้อนการลดปล่อยก๊าซที่ประเทศอุตสาหกรรมจะต้องทำตามหากร่างสนธิสัญญาเกียวโตเริ่มมีผลบังคับใช้

พลังงานแสงอาทิตย์ BP solarex

วันที่ 1 มกราคม 2000 ภายในองค์กร BP ได้ขยับขยายครอบคลุมทุกหน่วยธุรกิจ ลูกทีมด้านสิ่งแวดล้อมต่างปฏิบัติการอย่างรีบร้อนเพื่อสร้างกลไกให้เกิดการค้า  การประกาศลดการปล่อยก๊าซด้วยความสมัครใจมาพร้อมๆ กับการประชาสัมพันธ์ชุดใหญ่เกี่ยวกับพลังงานแสงอาทิตย์ ทั้ง BP และ Amoco ต่างคุ้นเคยกับการผลิตอุปกรณ์ผลิตพลังงานแสงอาทิตย์มาแล้วก่อนที่ทั้งคู่จะรวมบริษัทกัน BP ตั้งแผนกพลังงานแสงอาทิตย์ขึ้นมาภายใต้ชื่อ BP Solar ในปี1981 และสามารถสร้างรายได้จากการขายขายอุปกรณ์ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แก่บริษัทพลังงานไฟฟ้าและรัฐบาลได้ถึง 95 ล้านดอลลาร์  ในปี1998 และในเดือนเมษายน 1999 BP Amoco ได้เพิ่มทุนในธุรกิจด้านนี้ด้วยการซื้อหุ้นของ Enron ใน Solarex เป็นเงิน 45 ล้านดอลลาร์ และตั้งบริษัทใหม่ชื่อ BP Solarex ซึ่งรวมธุรกิจของ BP Solar และ Solarex เข้าไว้ด้วยกัน

บราวน์บอกว่า “BP Amoco จะไม่เพียงเป็นหนึ่งในผู้ผลิตหม้อเก็บไฟฟ้าแสงแบบโวลท์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกเท่านั้น แต่ยังจะเป็นหนึ่งในผู้ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ที่ใหญ่ที่สุดด้วย”

 

กำไรกับความเสี่ยง

ในธุรกิจบางอย่างลูกค้าอาจจะต้องจ่ายแพงกว่าเพื่อซื้อสินค้าจากผู้ขายที่ใส่ใจในสิ่งแวดล้อม หรืออย่างน้อยก็อาจเลือกที่จะซื้อจาก “บริษัทสีเขียว” มากกว่าหากราคาและคุณภาพของสินค้าเหมือนกัน ซึ่งเป็นเหตุผลที่ก่อให้เกิดนโยบายเชิงรุกในการบริหารความเสี่ยง และเพิ่มความได้เปรียบในการแข่งขัน

ผู้นำของ BP Amoco เริ่มเห็นเค้าลางหรือสัญญาณทางธุรกิจว่าการกระทำของพวกเขากำลังช่วยเปลี่ยนทัศนคติในอุตสาหกรรมน้ำมันโดยรวม ซึ่งมีหลายบริษัทที่กำลังเดินตามรอย เช่นเดียวกับที่  Exxonmobil ยอมรับว่า “เราควรจะเดินหน้าวิจัยเรื่องนี้ต่อไป และก็ควรผลักดันให้มีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพด้วย...และเราสามารถสนับสนุนโครงการที่ดูดซับการปล่อยก๊าซคาร์บอนได อ็อกไซด์ และป้องกันไม่ให้มันหลุดขึ้นไปในชั้นบรรยากาศ

ทัศนคติของผู้บริหารของ BP Amoco ที่มีต่อเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซให้ได้ 10% เป็นผลมาจากประสบการณ์ในทางบวกหลายๆ ครั้ง จากการ “ขยาย” เป้าหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม  หนึ่งในประสบการณ์ที่พูดถึงนี้ก็คือความพยายามในธุรกิจเคมีในต้นทศวรรษ 1990 ที่จะลดการสร้างมลพิษทางอากาศลงครึ่งหนึ่ง

ประสบการณ์ในการผลิตน้ำมันต่อมายิ่งทำให้ทัศนคติของ BP Amoco  ต่อการกำหนดเป้าหมายที่ทะเยอทะยานมากขึ้น ขณะที่เซอร์จอห์น บราวน์ซึ่งเป็นหัวหน้าการสำรวจและผลิตของ BPได้ใช้การลดต้นทุนในการพัฒนาหลุมน้ำมันในทะเลเหนือที่มีชื่อว่า “แอนดริว” จาก 675 ล้านดอลลาร์ลงมาเหลือ 444 ล้านดอลลาร์ หัวใจสำคัญของความสำเร็จนี้ก็คือแนวความคิดใหม่ในการเป็น “หุ้นส่วน” ในการเฉลี่ยความเสี่ยงและรับผลตอบแทนจากโครงการร่วมกันกับผู้รับเหมาด้านวิศวกรรม  บราวน์พูดในภายหลังว่า “ประสบการณ์จากหลุมก๊าซแอนดริวสอนให้รู้เราจักสร้างความสัมพันธ์โดยการแบ่งผลประโยชนให้เท่าเทียมกันกับหลากหลายผู้คน” และกลายเป็นเรื่องเล่าที่เป็นตัวอย่างของศักยภาพของการคิดและการบริหารพนักงานและผู้ถือหุ้นอย่างสร้างสรรค์

การลดการปล่อยก๊าซโดยไม่คิดเงินหรือในราคาถูกหลายรายการในส่วนของ upstream ของ BP Amoco เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงในการรับมือกับก๊าซมีเธน ซึ่งในตัวของมันเองแล้วก็เป็นก๊าซที่ก่อภาวะเรือนกระจก และสร้างก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์เมื่อถูกเผาผลาญ เพียงง่ายๆ แค่ให้ก๊าซมีเธนลุกไหม้อย่างแบบฉับพลันแทนการปล่อยมันขึ้นสู่อากาศ  การดำเนินการที่ต้นทางก็สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ และหากมีการทำขั้นตอนต่อไปและย่นระยะเวลาของการลุกไหม้ให้สั้นลงบริษัทก็จะสามารถลดการปล่อยก๊าซได้มากขึ้น และมักจะใช้ต้นทุนต่ำมากด้วย

ทั้งหมดนี้ไม่ได้จะบอกว่าเส้นทางของนโยบายลดการเปลี่ยนแปลงชั้นบรรยากาศของ BP Amoco นั้นราบรื่นหรือง่ายดาย แม้ว่าจะค้นพบวิธีที่ที่มีต้นทุนต่ำในการบรรลุเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซที่ก่อภาวะเรือนกระจกลง 10% แต่ก็ไม่มีความแน่นอนเกี่ยวกับต้นทุนในการบรรลุเป้าหมายทั้งหมด ยังความมีเป็นไปได้ที่ BP Amoco อาจจะไม่ประสบความสำเร็จในการลดการปล่อยก๊าซตามที่สัญญาไว้ และยังอาจจะต้องตามเก็บปัญหายุ่งยากทางด้านประชาสัมพันธ์ทั้งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐและกับสาธารณชนที่จะมีตามมา แต่ผู้บริหารอาวุโสของบริษัทก็ดูจะมองโลกในแง่ดีในส่วนนี้ ดิ๊ก โอลเวอร์บอกว่า “เราอาจจะไม่สามารถทำถึงเป้าหมาย 10% ที่ตั้งไว้ หากเราทำได้แค่สามในสี่ของเป้าหมายและได้เรียนรู้อะไรอีกหลายอย่าง ผลที่ได้ก็ถือว่าดีแล้ว”  

พายเรือไม่ถึงฝั่ง

ความยากลำบากทางการเมืองที่ร่างสนธิสัญญาเกียวโตกำลังเผชิญอยู่ดูเหมือนกับจะใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา  ผู้บริหารอาวุโสหลายคนของ BP Amoco แสดงความอัดอั้นใจเกี่ยวกับทัศนคติของฝ่ายนิติบัญญัติของอเมริกาที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงชันบรรยากาศ “มันคงเป็นเรื่องดีสำหรับโลกหากสภาคอนเกรสของสหรัฐจะตัดสินใจเสียทีว่าอยากจะให้สหรัฐเล่นบทบาทระหว่างประเทศอย่างไรต่อเรื่องนี้ และในเรื่องอื่นๆ เราต้องการการปฏิบัติที่มีศรัทธา” กิบสัน-สมิธ ระบายความในใจ

ขณะที่วุฒิสมาชิกของสหรัฐยังคัดค้านร่างสนธิสัญญาฉบับนี้ รัฐบาลในยุโรปกลับกำลังเริ่มที่จะลงมือปฏิบัติ หากร่างสนธิสัญญานี้มีผลบังคับใช้ ในต้นปี 2000 รัฐบาลอังกฤษซึ่งได้รับแรงจูงใจส่วนหนึ่งจากการเปลี่ยนแปลงของชั้นบรรยากาศกำลังครุ่นคิดให้มีการเก็บภาษีพลังงาน แต่ผู้บริหารของ BP Amoco พอใจกับระบบที่พวกเขากำลังทำอยู่ การออกตัวเป็นหัวแรงของอุตสาหกรรมในการชักชวนให้รัฐบาลยกเลิกความคิดเกี่ยวกับการเก็บภาษีอาจจะเสี่ยง แต่ก็เป็นโอกาสให้นโยบายของบริษัทพอจะมีน้ำหนักในการออกกฎหมาย  “ระบบ cap-and-trade ที่เราสนับสนุนอยู่นี้เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการแก้ไขปัญหา ทั้งทางด้านวิชาการและวิธีการปฏิบัติจริง เพราะว่ามันให้ความมั่นใจว่าการปล่อยก๊าซเสียจะลดลงด้วยต้นทุนที่ต่ำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ นอกจากนี้ยังเปิดทางเลือกให้กับปะชาชนซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมาก”

ท่ามกลางบรรยากาศของความไม่แน่นอนทางการเมือง เศรษฐกิจ และวิทยาศาสตร์ รากอสส์ จำเป็นต้องให้คำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุนที่เหมาะสมทั้งในและนอกตลาดน้ำมัน ไม่ต่างอะไรกับผู้บริหารหนุ่มๆ ในบริษัท รากอสส์รู้สึกตื่นเต้นกับความเป็นไปได้ในการสร้างอะไรบางอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน BP Amoco จะเป็นบริษัทน้ำมันชั้นนำของโลกที่มีความก้าวหน้า ขณะเดียวกันก็มีความใส่ใจและละเอียดอ่อน ลี เอ็ดวาร์ดส์บอกว่า “ลูกค้าต้องการพลังงานที่มีราคาพอจับจ่ายได้และซื้อหาง่าย ขณะเดียวกันก็ต้องเป็นพลังงานสะอาดด้วย ดังนั้นมันจึงมีโอกาสในระยะยาวแน่นอน”  คำถามอยู่ที่ว่าจะทำอย่างไรจึงจะใช้ประโยชน์ตรงนี้ โดยให้มีแรงกดดันทางเศรษฐกิจในระยะสั้น

ในบริษัท BP Amoco ยังมีผู้ที่สนับสนุนให้มีแนวทางเชิงรุกมากกว่านี้ทั้งในด้านการดำเนินการและในเกมการเมือง บัตเลอร์ถึงขั้นเสนอแนะว่าพันธะระยะยาวเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงชั้นบรรยากาศอาจจะเป็นขั้นตอนแรกที่นำไปสู่การก่อตั้ง “บริษัทไร้สาร” ซึ่งการปล่อยก๊าซเสียทั้งหมดจะถูกลดลงมาเหลือต่ำที่สุดด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี และส่วนที่เหลือน้อยที่สุดนั้นก็จะได้รับการชดเชยด้วยการตั้งกองทุนเพื่อลดการปล่อยก๊าซเสียในที่อื่นๆ

ในส่วนของเกมการเมืองบริษัทเริ่มจะถอดใจกับการสนับสนุนร่างสนธิสัญญาเกียวโตเมื่อการรับรองจากอเมริกาและการบังคับใช้เริ่มเป็นปัญหาเชิงระบบมากขึ้น จนต้องถอยทัพกลับมาตั้งหลักใหม่ก่อน รากอสส์ บอกว่า “การควบคุมการเปลี่ยนแปลงชั้นบรรยากาศในเวทีนานาประเทศก็เหมือนกับกระบวนลดการสะสมอาวุธ การลดการสะสมนิวเคลียร์ใช้เวลาสี่สิบถึงห้าสิบปี ต้องฝ่าฝันกับสนธิสัญญามากมาย และแต่ละฉบับก็ต้องอาศัยความพยายามอย่างมากในการเจรจา บางเรื่องก็ได้รับการรับรอง บ้างก็ไม่ได้ คงถึงคราวแล้วที่เราต้องมองอะไรไกลๆออกไป”

...........................................................................................................................................................
เรียบเรียงจากกรณีศึกษา Global Climate Change and BP Amoco, Harvard Business School โดย ศจิภา เลิศสาธิต

Page 3 of 3
X

Right Click

No right click