September 11, 2024

ไทยพัฒน์ ตอบโจทย์ความผันผวนโลก รุกตั้ง Transition School

July 31, 2024 134

โรงเรียนเตรียมธุรกิจเพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน

สถาบันไทยพัฒน์ องค์กรที่มุ่งเน้นงานส่งเสริมความยั่งยืนของกิจการ และขับเคลื่อนประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ร่วมกับภาคเอกชนมาอย่างต่อเนื่องกว่า 20 ปี ประกาศก่อตั้ง Transition School โรงเรียนเตรียมธุรกิจเพื่อการประกอบการที่ยั่งยืน ให้พร้อมเปลี่ยนผ่านสู่อนาคต ท่ามกลางความผันผวนทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมโลก

Transition School ถูกออกแบบให้เป็นโรงเรียนสำหรับธุรกิจที่ยึดมั่นในการสร้างความแตกต่างเชิงบวก (Positive Difference) แก่โลก ก่อตั้งขึ้นด้วยวัตถุประสงค์ที่จะเสริมสร้างสมรรถนะ และลักษณะนิสัยแห่งการประกอบธุรกิจที่ยั่งยืน เพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่อนาคต

โดยทีมงานของ Transition School ทั้งหมด เป็นผู้เชี่ยวชาญและวิทยากรประจำสถาบันไทยพัฒน์ ที่มีประสบการณ์ในการให้คำปรึกษาด้านความยั่งยืนแก่ภาคธุรกิจอย่างต่อเนื่อง มากกว่า 20 ปี

ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ประธานสถาบันไทยพัฒน์ กล่าวว่า “บทบาทของ Transition School ครอบคลุมการให้ความรู้สำหรับการเปลี่ยนผ่านทางธุรกิจตั้งแต่ระดับที่เป็นความสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้เสีย จนถึงกิจกรรมที่ก่อให้เกิดผลกระทบเชิงบวกทั้งในสถานประกอบการ (In the workplace) ในสายอุปทาน (In the supply chain) ในท้องตลาด (In the marketplace) และในสภาวะแวดล้อมที่ดำเนินภายนอก (In the external operating environment)”

ทั้งนี้ บริการหลักภายใต้ Transition School ประกอบด้วย การฝึกอบรมในสถานประกอบการและในแบบออนไลน์ (Onsite & online training) โครงการเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะ (Earmarked projects) และหลักสูตรตามอุปสงค์ (Custom programs)

ตัวอย่างของบริการฝึกอบรม ได้แก่ เวิร์กชอปการประเมินทวิสารัตถภาพ (Double Materiality Assessment) ที่นำเรื่องผลกระทบ (Impacts) อันเกิดจากกิจการ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงทางกลยุทธ์ (และการลงทุน) ตลอดจนการตัดสินใจของฝ่ายจัดการที่คำนึงถึงผลกระทบเหล่านั้น มาสังเคราะห์เป็นชุดประเด็นความเสี่ยงและโอกาสที่มีนัยสำคัญต่อผลประกอบการ ซึ่งจะใช้เป็นข้อมูลนำเข้าสำหรับการจัดทำกลยุทธ์องค์กรเพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนได้อย่างเป็นระบบ

ตัวอย่างโครงการเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะ ได้แก่ โครงการประเมินสายอุปทาน (Supply Chain Assessment) สำหรับธุรกิจที่ต้องการประเมินผู้ส่งมอบหรือคู่ค้าในสายอุปทาน เพื่อรองรับมาตรฐานในระดับสากล อาทิ Corporate Sustainability Due Diligence Directive (CSDDD) ของสหภาพยุโรป ที่กำหนดให้กิจการต้องดำเนินการตรวจสอบสถานะด้านสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อมตลอดห่วงโซ่อุปทาน

ตัวอย่างหลักสูตรตามอุปสงค์ ได้แก่ หลักสูตรการเปิดเผยข้อมูลผลกระทบตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Impact Disclosure) ที่ชี้แนะวิธีการเปิดเผยข้อมูลการบรรลุเป้าหมายในระดับตัวชี้วัด (Indicator-level SDGs) สำหรับองค์กรธุรกิจหลักสูตรเดียวในประเทศไทย ที่เป็นไปตามแนวทาง Guidance on Core Indicators (GCI) for Sustainability and SDG Impact Reporting ของ ISAR[1] สำหรับจัดทำรายงานการขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อความยั่งยืนให้เชื่อมโยงกับ SDG Impact

นอกจากบริษัทจดทะเบียนที่เป็นกิจการขนาดใหญ่จะได้ประโยชน์จากความรู้และประสบการณ์ด้านความยั่งยืนของผู้เชี่ยวชาญและวิทยากรประจำสถาบันไทยพัฒน์ ผ่านกิจกรรมการฝึกอบรม โครงการและหลักสูตรต่าง ๆ แล้ว Transition School ยังคำนึงถึงการออกแบบแนวทางการเปลี่ยนผ่านทางธุรกิจในกลุ่มที่เป็นบริษัทนอกตลาด กิจการขนาดย่อม วิสาหกิจเริ่มต้นหรือบริษัทสตาร์ตอัป และผู้ประกอบการอิสระ โดยนำเอาเรื่องผลกระทบความยั่งยืน (Sustainability Impact) มาเป็นแกนกลางในการพัฒนาชุดความรู้ในแบบที่เป็นเอกลักษณ์ของ Transition School ด้วย

บริษัทหรือหน่วยงานที่สนใจบริการของ Transition School สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมทางเว็บไซต์ https://transition.school ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป


[1] International Standards of Accounting and Reporting (ISAR)

Rate this item
(0 votes)
Last modified on Wednesday, 31 July 2024 15:21
X

Right Click

No right click