December 18, 2024

ESG Scorecard: เครื่องมือบริหารความยั่งยืนของกิจการ

January 22, 2020 4060

ปี ค.ศ.2020 ที่เริ่มต้นขึ้น ถือเป็นปีแรกเริ่มของทศวรรษ 2020 ที่โลกต้องเผชิญกับความท้าทายในหลายด้าน

ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม และส่งผลกระทบไปยังทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ในภาคเอกชน การบริหารกิจการให้อยู่รอดปลอดภัย สามารถคงธุรกิจที่มีอยู่ให้ดำเนินต่อไปได้ โดยที่ยังไม่ต้องพูดถึงการเติบโตให้ได้อย่างต่อเนื่อง ก็นับว่ายากแล้ว ในสภาวการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน การปรับตัวให้สอดรับกับความเปลี่ยนแปลง พร้อมเปิดรับเอาแนวทาง วิธีการ และเครื่องมือการจัดการที่เข้ากับยุคสมัย มาใช้ในการบริหารกิจการ เป็นหนทางหนึ่งที่จะช่วยให้ธุรกิจได้ไปต่อในทศวรรษ 2020 ที่ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว

หนึ่งในเครื่องมือบริหารจัดการ (Management Tools) อันเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวาง และใช้กันอย่างแพร่หลายในยุคที่ผ่านมา ได้แก่ Balanced Scorecard หรือ BSC ซึ่งพัฒนาขึ้นโดยโรเบิร์ต เอส แคปแลน และเดวิด พี นอร์ตัน และตีพิมพ์เป็นบทความในฮาร์วาร์ด บิสิเนส รีวิว ครั้งแรก เมื่อปี ค.ศ.1992 ตามมาด้วยหนังสือในซีรี่ส์ Balanced Scorecard เล่มแรกในปี ค.ศ.1996 จนถึงเล่มล่าสุด (เล่มที่ 5) ในชื่อ The Execution Premium ในปี ค.ศ.2008 หลังจากนั้นก็ไม่มีผลงานร่วมของทั้งสองท่านออกมาอีกเลย

เป็นที่เข้าใจได้ว่า เครื่องมือ BSC ได้เดินทางรับใช้องค์กรต่างๆ มาเป็นเวลาเกือบ 30 ปี ถึงกาลต้องสิ้นอายุขัยไปโดยปริยาย เนื่องจากมุมมองทั้งสี่ด้านที่ปรากฏในเครื่องมือ BSC อันได้แก่ มุมมองด้านการเงิน มุมมองด้านลูกค้า มุมมองด้านกระบวนการภายใน และมุมมองด้านการเรียนรู้และการเติบโต ไม่สามารถตอบโจทย์การบริหารองค์กรได้อย่างครบถ้วนอีกต่อไป

เหตุใด Balanced Scorecard จึงตกยุค

เนื่องจากมุมมองในเครื่องมือที่ไม่สามารถรองรับความเป็นไปขององค์กรในปัจจุบัน ทำให้มีข้อจำกัดในการวิเคราะห์และประเมินสถานะของกิจการได้อย่างรอบด้าน ยกตัวอย่าง มุมมองด้านการเงิน หรือ Financial การวัดผลการดำเนินงานในบรรทัดสุดท้าย ที่เป็นตัวเลขทางการเงินเพียงอย่างเดียว ดูจะไม่เพียงพอสำหรับผู้ถือหุ้น โดยเฉพาะผู้ลงทุนที่เป็นสถาบัน ที่ในวันนี้ มีความต้องการที่จะล่วงรู้ผลการดำเนินงานในด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล หรือ ESG (Environmental, Social and Governance) ซึ่งเป็นตัวชี้วัดการดำเนินงานประเภทที่มิใช่ตัวเลขทางการเงิน หรือ Non-Financial ในบรรทัดสุดท้ายด้วย

ในมุมมองด้านลูกค้า หรือ Customers ความอยู่รอดของกิจการในยุคนี้ มิได้ขึ้นอยู่กับลูกค้าที่กิจการต้องให้การดูแลเอาใจใส่เพียงลำพังเท่านั้น แต่เป็นผู้มีส่วนได้เสีย หรือ Stakeholders ที่ประกอบไปด้วยพนักงาน ลูกค้า คู่ค้า ผู้ส่งมอบ ชุมชน องค์กรกำกับดูแล ฯลฯ ที่องค์กรต้องเข้าไปเกี่ยวข้องอย่างถ้วนหน้า แผนที่ยุทธศาสตร์ หรือ Strategy Map ที่องค์กรจัดทำตามมุมมองที่มีอยู่เดิม ไม่สามารถบรรจุยุทธศาสตร์ที่ใช้สำหรับตอบสนองต่อผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มอื่นๆ ได้

ในมุมมองด้านกระบวนการภายใน หรือ Internal Processes กิจการไม่สามารถบริหารเพียงกระบวนการภายใน โดยมีขอบเขตขององค์กรเป็นเส้นแบ่งได้อีกต่อไป วันนี้ธุรกิจไม่ได้แข่งขันด้วยกิจการหรือบริษัท (Company) ที่ครอบครองอยู่ แต่แข่งขันกันด้วยห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ที่อาศัยอยู่ การสร้างขีดความสามารถหรือความได้เปรียบทางการแข่งขันในยุคปัจจุบัน ขึ้นอยู่กับกระบวนการที่อยู่ภายนอกกิจการเป็นองค์ประกอบหลัก และสำคัญไม่แพ้กระบวนการภายในกิจการ

ในมุมมองด้านการเรียนรู้และการเติบโต หรือ Learning and Growth การเติบโตมิใช่เป้าหมายหนึ่งเดียวที่มีความสำคัญกับธุรกิจ ความยั่งยืนเป็นอีกหนึ่งเป้าหมายที่ธุรกิจต้องดำเนินการทำให้เกิดควบคู่ไปพร้อมกัน (โดยเฉพาะในภาวะเศรษฐกิจที่ไม่เอื้อต่อการเติบโต) ธุรกิจในช่วงที่เติบโต อาจมีปัจจัยนำเข้าแบบหนึ่ง ที่ต่างกับธุรกิจในช่วงที่ต้องรักษาสถานะให้คงตัว สามารถอยู่รอด และยั่งยืน มุมมองการเรียนรู้และการเติบโตในกรณีนี้ จึงไม่เพียงพอต่อการจัดทำแผนที่ยุทธศาสตร์องค์กรที่ครอบคลุมในทุกสภาวการณ์

กำเนิดเครื่องมือ ESG Scorecard

การจัดทำแผนที่ยุทธศาสตร์สำหรับองค์กรในยุคปัจจุบัน จำเป็นที่จะต้องครอบคลุมการดำเนินงานในด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล หรือ ESG เพื่อปิดช่องโหว่ที่เป็นข้อจำกัดในมุมมองของเครื่องมือ BSC เดิม โดยตั้งอยู่บนหลักการที่ว่า

กลยุทธ์จะต้องส่งมอบคุณค่าที่ไม่จำกัดเฉพาะแต่เพียงผู้ถือหุ้น (Shareholders) แต่ยังคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่างๆ (Stakeholders) การที่กลยุทธ์ขององค์กรถูกออกแบบเพื่อตอบสนองคุณค่าให้แก่ผู้ถือหุ้นเพียงลำพัง อาจไม่เพียงพอต่อการทำให้องค์กรเป็นที่ยอมรับของสังคม ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความยั่งยืนของกิจการ ฉะนั้นการวางน้ำหนักกลยุทธ์ขององค์กร จึงต้องสร้างให้เกิดความสมดุลระหว่างวัตถุประสงค์ด้านการเงินและวัตถุประสงค์นอกเหนือด้านการเงิน อาทิ การเพิ่มความน่าเชื่อถือขององค์กร หรือการลดข้อขัดแย้งและกรณีพิพาทที่ส่งผลกระทบต่อองค์กร

กลยุทธ์จะต้องขยายการรับรู้ถึงสิ่งที่ลูกค้าต้องการ (Customer Value Proposition) ไปสู่สิ่งที่สังคมต้องการ (Social Value Proposition) เนื่องจากคุณลักษณะของผลิตภัณฑ์ที่นอกเหนือจากด้านราคา คุณภาพ หาง่าย เหมาะเจาะ ถูกใจ บริการดี เป็นที่แพร่หลาย และน่าเชื่อถือสำหรับลูกค้าแล้ว ยังต้องคำนึงถึงสุขภาพ ความปลอดภัย ความลับและความเป็นส่วนตัว สิทธิมนุษยชน การปฏิบัติด้านแรงงาน การปฏิบัติทางสัญญาที่เป็นธรรม และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นสิ่งที่สังคมส่วนรวมคาดหวังด้วย การวางกลยุทธ์ขององค์กรจึงต้องให้ความสำคัญกับสิ่งที่สังคมหรือผู้บริโภคโดยรวมต้องการ ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าสิ่งที่ลูกค้าเฉพาะกลุ่มเป้าหมายต้องการ

กลยุทธ์จะต้องสร้างให้เกิดคุณค่าด้วยกระบวนการภายในองค์กร (Internal Processes) และกระบวนการภายนอกองค์กร (External Processes) องค์กรควรมุ่งเน้นการสร้างคุณค่าด้วยการบริหารการดำเนินงานการผลิตและส่งมอบสินค้าและบริการสู่ลูกค้า การบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้า การคิดค้นนวัตกรรมในผลิตภัณฑ์ บริการ กระบวนการ และสัมพันธภาพ การปฏิบัติตามกฎระเบียบ และความคาดหวังทางสังคม รวมทั้งการเสริมสร้างชุมชนให้เข้มแข็งขึ้น ตลอดจนการริเริ่มดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคมร่วมกับองค์กรของผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่างๆ และการสื่อสารสู่ภายนอก

กลยุทธ์จะต้องส่งเสริมการเรียนรู้และนำไปสู่การเจริญเติบโต (Learning and Growth) ควบคู่กับการใส่ใจส่วนรวมและนำไปสู่ความยั่งยืน (Caring and Sustainability) กิจการจะต้องสร้างสมทุนที่เอื้อต่อการพัฒนาให้เป็นองค์กรที่ “เก่ง” และเป็นองค์กรที่ “ดี” ซึ่งประกอบด้วยทุนหลัก 6 ประเภท ได้แก่ มนุษย์ สารสนเทศ องค์กร คุณธรรม สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยที่ทุนเหล่านี้ไม่อาจที่จะแยกวัดมูลค่าหรือประเมินคุณค่าได้โดยอิสระต่อกัน

การประเมินสถานะ ESG ของกิจการ

สถาบันไทยพัฒน์ ได้บุกเบิกการพัฒนาข้อมูลด้านความยั่งยืนของธุรกิจ และเป็นผู้จัดทำข้อมูลหลักทรัพย์จดทะเบียนที่มีการดำเนินงานโดดเด่นด้าน ESG 100 อันดับ หรือที่เรียกว่า ESG100 Universe นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2558 และเป็นผู้ริเริ่มจัดทำดัชนี อีเอสจี ไทยพัฒน์ หรือ Thaipat ESG Index สำหรับใช้เป็นดัชนีเปรียบเทียบผลตอบแทนจากการลงทุน (Benchmark Index) และเป็นดัชนีอ้างอิงสำหรับการลงทุน (Investable Index) ในผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่างๆ ที่ให้ความสำคัญกับหลักทรัพย์คุณภาพที่ผ่านเกณฑ์ด้าน ESG ในปี พ.ศ.2561

ในปี พ.ศ.2563 นี้ สถาบันไทยพัฒน์ได้พัฒนาเกณฑ์ประเมิน ESG โดยอ้างอิงจาก WFE ESG Metrics ที่แนะนำโดยสมาพันธ์ตลาดหลักทรัพย์โลก (World Federation of Exchanges) เพื่อใช้เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้กิจการทราบสถานะการดำเนินงานด้าน ESG ขององค์กร ตามชุดตัวชี้วัดด้าน ESG ซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากล

สมาพันธ์ตลาดหลักทรัพย์โลก (World Federation of Exchanges) เป็นองค์กรที่รวมตลาดหลักทรัพย์และผู้ให้บริการเป็นตัวกลางชำระราคา (CCPs) ทั่วโลก ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1961 ประกอบด้วยสมาชิกที่เป็นผู้ให้บริการในกลุ่มที่เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานของตลาด (Market Infrastructure) กว่า 250 แห่ง ด้วยวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมและสนับสนุนการก่อตั้งและกำกับตลาดหลักทรัพย์ ในอันที่จะตอบสนองต่อประโยชน์และความต้องการของผู้รับบริการที่คาดหวังจากตลาดทุนทั่วโลก

ปัจจุบัน ตลาดหลักทรัพย์ในกลุ่ม WFE (รวมตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย) มีหลักทรัพย์ที่ซื้อขายรวมกันเกือบ 48,000 หลักทรัพย์ มีมูลค่าตลาดรวมกันกว่า 70.2 ล้านล้านเหรียญ และมีมูลค่าการซื้อขายมากกว่า 95 ล้านล้านเหรียญในแต่ละปี

WFE ได้ออกเอกสารแนวทางและชุดตัวชี้วัด ESG ฉบับแรก เมื่อปี ค.ศ.2015 และมีการปรับปรุงในฉบับที่สอง เมื่อปี ค.ศ.2018 โดยเป็นข้อแนะนำทั้งสำหรับบริษัทผู้ออกหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ในการเปิดเผยข้อมูล ESG ขั้นต้น ที่ตอบสนองต่อการพัฒนาความยั่งยืนของกิจการ

การประเมินสถานะ ESG ของกิจการ ตาม WFE ESG Metrics  เป็นการใช้ตัวชี้วัดพื้นฐาน (Baseline Indicators) ที่กิจการควรดำเนินการได้ทั้งหมด จำนวน 30 ตัวชี้วัด ได้แก่

ด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental) ประกอบด้วย ยอดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ความเข้มข้นในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ยอดการใช้พลังงาน ความเข้มข้นของการใช้พลังงาน สัดส่วนการใช้พลังงาน การใช้น้ำ การดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อม การกำกับดูแลความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศและประเด็นความยั่งยืนอื่นๆ การลดความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศ

ด้านสังคม (Social) ประกอบด้วย อัตราส่วนค่าตอบแทนประธานเจ้าหน้าที่บริหาร อัตราส่วนค่าตอบแทนในมิติหญิงชาย ร้อยละของการออกจากงาน ความหลากหลายในมิติหญิงชาย อัตราการจ้างงานชั่วคราว การไม่เลือกปฏิบัติ อัตราการบาดเจ็บ สุขภาพในบริบทโลก แรงงานบังคับและแรงงานเด็ก นโยบายด้านสิทธิมนุษยชน

ด้านธรรมาภิบาล (Governance) ประกอบด้วย ความหลากหลายในโครงสร้างคณะกรรมการบริษัท ความเป็นอิสระในคณะกรรมการบริษัท การจ่ายค่าตอบแทนจูงใจ สภาพการจ้าง จรรยาบรรณคู่ค้า จริยธรรมและการต้านทุจริต การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล การจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืนและการรายงานข้อมูลตามข้อกำหนด ข้อปฏิบัติในการเปิดเผยข้อมูล การให้ความเชื่อมั่นต่อการเปิดเผยข้อมูลจากหน่วยงานหรือบุคคลภายนอก

สำหรับคำถามที่ใช้ในการประเมิน ด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental) ประกอบด้วย

  • องค์กรของท่านมีการรวบรวมปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือไม่
  • องค์กรของท่านมีการคำนวณสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และที่มิใช่ก๊าซเรือนกระจกเทียบกับมาตราส่วนผลผลิต (เช่น ต่อหน่วยผลิต ยอดขาย รายรับของกิจการ) หรือไม่
  • องค์กรของท่านมีการเก็บตัวเลขการใช้พลังงานที่เป็นค่าเมกะวัตต์-ชั่วโมง หรือจิกะจูล หรือไม่
  • องค์กรของท่านมีการคำนวณสัดส่วนการใช้พลังงานเทียบกับมาตราส่วนผลผลิต (เช่น ต่อพื้นที่ใช้สอย การทำงานเต็มเวลา รายรับของกิจการ) หรือไม่
  • องค์กรของท่านมีการระบุยอดการใช้พลังงานแยกตามแหล่งกำเนิด (เช่น จากถ่านหิน น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ น้ำ พลังงานหมุนเวียน) หรือไม่
  • องค์กรของท่านมีการวัดปริมาณการใช้น้ำ และปริมาณน้ำใช้แล้วที่สามารถบำบัดและนำกลับมาใช้ใหม่ด้วยหรือไม่
  • องค์กรของท่านมีการปฏิบัติตามประกาศ/ระเบียบด้านนโยบายสิ่งแวดล้อม (เช่น น้ำ พลังงาน ของเสีย การนำกลับมาใช้ใหม่ ระบบจัดการสิ่งแวดล้อม) หรือไม่
  • คณะกรรมการองค์กร/ฝ่ายบริหาร มีการกำกับดูแล และ/หรือ จัดการความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศหรือไม่
  • คณะกรรมการองค์กร/ฝ่ายบริหาร มีการกำกับดูแล และ/หรือ จัดการในประเด็นความยั่งยืนอื่นๆ หรือไม่
  • องค์กรของท่านมีงบลงทุนประจำปีในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ โครงสร้างพื้นฐาน การปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศหรือไม่

สำหรับคำถามที่ใช้ในการประเมิน ด้านสังคม (Social) ประกอบด้วย

  • องค์กรของท่านมีการเปิดเผยอัตราส่วนค่าตอบแทนของประธานเจ้าหน้าที่บริหารในแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปีหรือไม่ (เทียบกับค่ามัธยฐานผลตอบแทนรวมของพนักงานเต็มเวลา)
  • องค์กรของท่านมีการเปิดเผยอัตราส่วนค่าตอบแทนระหว่างหญิงชายหรือไม่ (เทียบระหว่างค่ามัธยฐานผลตอบแทนรวมของพนักงานเต็มเวลาชายและหญิง)
  • องค์กรของท่านมีการรายงานตัวเลขร้อยละของการออกจากงาน เทียบปีต่อปีในช่วงเวลาเดียวกัน หรือไม่ (ทั้งของพนักงานเต็มเวลา/ไม่เต็มเวลา/สัญญาจ้างและ/หรือที่ปรึกษา)
  • องค์กรของท่านมีการเปิดเผยตัวเลขสัดส่วนพนักงานหญิงชาย จำแนกตามระดับชั้นหรือไม่ (เป็นค่าร้อยละพนักงานทั้งในระดับต้น/กลาง/อาวุโส และระดับบริหาร)
  • องค์กรของท่านมีการเปิดเผยสัดส่วนของยอดพนักงานไม่เต็มเวลา พนักงานสัญญาจ้าง และ/หรือ ที่ปรึกษา เทียบพนักงานทั้งหมดหรือไม่
  • องค์กรของท่านมีข้อพึงปฏิบัติตามนโยบายการไม่เลือกปฏิบัติ และ/หรือนโยบายการป้องกันการล่วงละเมิดและคุกคามทางเพศหรือไม่
  • องค์กรของท่านมีการเปิดเผยตัวเลขความถี่ของจำนวนอุบัติเหตุ เทียบกับระยะเวลาทำงานรวมของแรงงาน หรือไม่
  • องค์กรของท่านมีข้อพึงปฏิบัติตามนโยบายอาชีวอนามัยความปลอดภัย และ/หรือที่สอดคล้องกับนโยบายสุขภาพในบริบทโลกหรือไม่
  • องค์กรของท่านมีข้อพึงปฏิบัติตามนโยบายการป้องกันการใช้แรงงานบังคับและแรงงานเด็ก หรือไม่ (และครอบคลุมภึงผู้ส่งมอบ/ผู้ค้าในห่วงโซ่อุปทานหรือไม่)
  • องค์กรของท่านมีข้อพึงปฏิบัติตามนโยบายสิทธิมนุษยชน หรือไม่ (และครอบคลุมภึงผู้ส่งมอบ/ผู้ค้าในห่วงโซ่อุปทานหรือไม่)

สำหรับคำถามที่ใช้ในการประเมิน ด้านธรรมาภิบาล (Governance) ประกอบด้วย

  • องค์กรของท่านมีการจัดสรรสัดส่วนหญิงชายในคณะกรรมการ และในตำแหน่งประธานคณะกรรมการชุดย่อยหรือไม่
  • องค์กรของท่านมีการจัดสรรสัดส่วนของกรรมการอิสระในคณะกรรมการ และมีข้อห้ามมิให้ประธานเจ้าหน้าที่บริหารดำรงตำแหน่งประธานกรรมการหรือไม่
  • องค์กรของท่านมีการกำหนดค่าตอบแทนจูงใจโดยนำผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนมาพิจารณาให้แก่ผู้บริหาร หรือไม่
  • องค์กรของท่านมีการเปิดเผยตัวเลขบุคลากรรวมที่อยู่ภายใต้ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างหรือไม่
  • องค์กรของท่านมีข้อกำหนดให้ผู้ค้า/ผู้ส่งมอบต้องปฏิบัติตามจรรยาบรรณคู่ค้า หรือไม่ (และมีการเปิดเผยตัวเลขจำนวนผู้ค้า/ผู้ส่งมอบที่ได้รับการรับรองหรือไม่)
  • องค์กรของท่านมีข้อพึงปฏิบัติตามนโยบายการต้านทุจริต และ/หรือจริยธรรมองค์กร หรือไม่ (และมีการเปิดเผยตัวเลขพนักงานเต็มเวลาที่ผ่านการรับรองด้วยหรือไม่)
  • องค์กรของท่านมีข้อพึงปฏิบัติตามนโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือเป็นไปตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (GDPR) หรือไม่
  • องค์กรของท่านมีการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนในรูปแบบรายงานแห่งความยั่งยืน หรือในแบบแสดงรายการข้อมูลตามข้อกำหนดหรือไม่
  • องค์กรของท่านมีการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนตามกรอบการรายงานแห่งความยั่งยืนหรือไม่ (และมีการเลือกเปิดเผยข้อมูลตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการกำหนดเป้าหมายและการรายงานความก้าวหน้าในการดำเนินงานด้วยหรือไม่)
  • องค์กรของท่านมีการใช้หน่วยงานหรือบุคคลภายนอกในการตรวจสอบหรือให้ความเชื่อมั่นในข้อมูลด้านความยั่งยืนที่เปิดเผยต่อสาธารณะหรือไม่

ทั้งนี้ เกณฑ์การให้คะแนน (Scoring) ที่สถาบันไทยพัฒน์ใช้ในการประเมิน จะนับจากคะแนนที่ได้ในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) โดยมีคะแนนเต็มในแต่ละด้าน 10 คะแนน แบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ ระดับ Gold Level: มีคะแนนที่ได้รับในแต่ละด้าน เกินสองในสามของคะแนนเต็มในทุกด้าน ระดับ Silver Level: มีคะแนนที่ได้รับในแต่ละด้าน เกินหนึ่งในสามของคะแนนเต็มในทุกด้าน และระดับ Bronze Level: มีคะแนนปรากฏในทุกด้าน โดยไม่มีด้านใดด้านหนึ่งที่ปราศจากคะแนน

ผลการประเมินสถานะ ESG ของกิจการ ตามประเด็นด้าน ESG 30 ตัวชี้วัดข้างต้น จะช่วยให้องค์กรสามารถระบุถึงสิ่งที่ได้ดำเนินการและที่ควรดำเนินการ (Gap) รวมถึงสามารถใช้ผลการประเมินเป็นข้อมูลในการจัดทำแผนที่ยุทธศาสตร์ และใช้เครื่องมือ ESG Scorecard ในการพัฒนายกระดับการดำเนินงานด้าน ESG ที่เกี่ยวข้อง


บทความโดย: 

ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการณ์ || ประธานสถาบันไทยพัฒน์

Rate this item
(0 votes)
Last modified on Wednesday, 22 January 2020 10:12
X

Right Click

No right click