ให้กับกิจการที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด สำหรับใช้ปรับองค์กรให้มีภาวะพร้อมผัน (Resilience) ด้วยการนำวัฒนธรรมสุขภาพ (Culture of Health) มาใช้เป็นแกนในการขับเคลื่อนกลยุทธ์องค์กรให้พร้อมรองรับการดำเนินธุรกิจในวิถีปกติใหม่
ปรากฏการณ์โควิด (COVID Effect) นับเป็นบทเรียนสำคัญที่องค์กรธุรกิจจำเป็นต้องจัดองคาพยพใหม่ ตั้งแต่การลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ไปจนถึงการลดอัตรากำลังแรงงาน การหยุดดำเนินงานในสาขาบางแห่ง ฯลฯ เพื่อรับมือหรือเผชิญกับการแพร่ระบาด (Response) ในช่วงต้นสถานการณ์ มาสู่การฟื้นสภาพการดำเนินงาน (Recovery) เพื่อรักษาฐานธุรกิจให้สามารถผ่านพ้นช่วงสถานการณ์ และพร้อมผันการดำเนินธุรกิจ (Resilience) ให้สอดรับกับวิถีปกติใหม่หลังสถานการณ์
สิ่งที่ภาคธุรกิจ ในฐานะผู้ผลิตและผู้ให้บริการในระบบเศรษฐกิจ จำเป็นต้องมีในขณะนี้ คือ ภาวะพร้อมผัน (Resilience) หมายถึง กิจการยังมีขีดความสามารถที่จะดำเนินงานต่อไป ไม่ว่าสถานการณ์จะพัฒนาไปในทิศทางใด ซึ่งขีดความสามารถที่จะดำเนินงานต่อไป ในที่นี้ ครอบคลุมทั้งการดำเนินงานในรูปแบบเดิม และการที่กิจการต้องปรับตัวไปสู่การดำเนินงานในรูปแบบใหม่
นายวรณัฐ เพียรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ กล่าวว่า “การสร้างองค์กรพร้อมผัน (Resilient Enterprise) ให้สามารถพร้อมรองรับแบบแผนการใช้ชีวิตและการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไปจากภาวะปกติเดิม คือ กุญแจสำคัญที่รักษาองค์กรให้อยู่รอดและสามารถดำเนินสืบเนื่องไปในระยะยาว โดยเรื่องสุขภาพ จะเป็นประเด็นสำคัญในการสร้างองค์กรให้มีภาวะพร้อมผัน และเป็นปัจจัยนำเข้าสำหรับการจัดวางกลยุทธ์องค์กรให้สอดรับกับการดำเนินธุรกิจในวิถีปกติใหม่”
จากการสำรวจของสถาบันไทยพัฒน์ ต่อประเด็นกลยุทธ์หลังโควิดกับองค์กรจำนวน 43 แห่ง[1] พบว่า สามในสี่ขององค์กรที่สำรวจ (74.4%) มีแผนเรื่อง Resilience แล้ว และกำลังดำเนินการในปีนี้ ที่เหลือราวหนึ่งในสี่ (25.6%) ยังไม่มีแผนในเรื่องดังกล่าว
ในบรรดาองค์กรที่มีแผน Resilience และกำลังดำเนินการ ได้มุ่งเน้นความสำคัญไปยังด้านพนักงานมากสุด (90.7%) รองลงมาคือ ด้านลูกค้า (58.1%) และด้านสิ่งแวดล้อม (53.5%) ตามลำดับ
โดยองค์กรที่ตอบแบบสำรวจกว่าสองในสาม (69.8%) ระบุว่า การมีแผน Resilience จะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อองค์กรในการปรับตัวสู่การดำเนินธุรกิจในวิถีปกติใหม่ ขณะที่ ไม่ถึงหนึ่งในสามขององค์กรที่สำรวจ (30.2%) ระบุว่าเป็นประโยชน์ และไม่มีองค์กรใดจากการสำรวจที่ไม่เห็นประโยชน์จากการมีแผนในเรื่องดังกล่าว
ทั้งนี้ การสร้างวัฒนธรรมสุขภาพให้เกิดขึ้นในองค์กร จำเป็นที่จะต้องบูรณาการทั้งในเชิงความคิดและการปฏิบัติ รวมถึงการทำงานร่วมกันระหว่างสายงาน (Cross-department) เพื่อให้ได้ข้อสรุปในการกำหนดทิศทาง แผนการดำเนินงานระยะสั้น/ระยะยาว บนพื้นฐานของข้อมูลที่ครอบคลุมอย่างรอบด้าน
กลยุทธ์สุขภาพ ถือเป็นส่วนหนึ่งในกลยุทธ์ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ที่ต้องถูกผนวกเข้ากับกลยุทธ์องค์กร สำหรับให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องใช้ในการขับเคลื่อน ตั้งแต่ฝ่ายบริหารระดับสูง (C-Suite) ฝ่ายทรัพยากรบุคคล (HR) ฝ่ายสิ่งแวดล้อม อาชีวอนามัยและความปลอดภัย (OHS / EHS) ฝ่ายกฎหมาย (Legal) ฝ่ายความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ฝ่ายการตลาด (Marketing) ฝ่ายรัฐกิจ / นักลงทุนสัมพันธ์ (Government / IR) ฝ่ายสุขภาพและความเปี่ยมสุข (Health & Wellness) เป็นต้น
กลยุทธ์องค์กรที่สะท้อนปัจจัย ESG ด้านสุขภาพ กับฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
สถาบันไทยพัฒน์ ได้จัดทำ Business Resilience Program หรือแผนงานภาวะพร้อมผันทางธุรกิจ โดยนำข้อปฏิบัติทางธุรกิจด้านวัฒนธรรมสุขภาพ (Culture of Health Business Practice: COHBP) ที่องค์การแห่งความริเริ่มว่าด้วยการรายงานสากล (GRI) จัดทำขึ้น มาพัฒนาเป็นแนวทางให้องค์กรธุรกิจสามารถใช้ผนวกประเด็นด้านสุขภาพ เข้ากับกลยุทธ์องค์กร สำหรับดำเนินงานหลังสถานการณ์โควิด
นายฌานสิทธิ์ ยอดพฤติการณ์ ผู้ดูแลแผนงานภาวะพร้อมผันทางธุรกิจ กล่าวว่า “ประโยชน์ที่จะได้รับสำหรับองค์กรที่เข้าร่วม Business Resilience Program ได้แก่ ความสามารถในการระบุปัจจัยนำเข้าสำหรับใช้ปรับแต่งกลยุทธ์องค์กรที่ครอบคลุมปัจจัย ESG ด้านสุขภาพ และช่องว่าง (Gap) ที่องค์กรสามารถนำไปปรับปรุงพัฒนาการดำเนินธุรกิจในการสนับสนุนสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของบุคลากรตลอดห่วงโซ่ธุรกิจ รวมทั้งชุดประเด็นความยั่งยืนที่เกี่ยวข้องด้านวัฒนธรรมสุขภาพสำหรับกระบวนการรายงานความยั่งยืน ตลอดจนมาตรการและแนวปฏิบัติด้านวัฒนธรรมสุขภาพที่เหมาะกับบริบทองค์กรโดยอ้างอิงจากชุดตัวชี้วัดที่สากลยอมรับ”
หน่วยงานและองค์กรธุรกิจที่สนใจเข้าร่วม Business Resilience Program หรือต้องการรับหนังสือคู่มือนำทางสร้างองค์กรพร้อมผัน เพื่อนำไปปรับแต่งกลยุทธ์องค์กรให้รองรับการขับเคลื่อนธุรกิจวิถีปกติใหม่ สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ทางเว็บไซต์ http://thaipat.org ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
[1] ผลการสำรวจจากแบบสอบถามในงานแถลง “ทิศทาง CSR ปี 2564” และการเสวนาเรื่อง “กลยุทธ์หลังโควิด: จาก ‘ฟื้นฟู’ สู่ ‘พร้อมผัน’ (Post-COVID Strategies: From ‘Recovery’ to ‘Resilience’)” จัดโดยสถาบันไทยพัฒน์ เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2564