นางกัณฑรัตน์ เจิมจิตรผ่อง ที่ปรึกษา - สื่อสารองค์กรสัมพันธ์ “เคทีซี” กล่าวว่า “เคทีซีได้จัดกิจกรรม KTC PR Press Club : The Secret of พระนคร ตอน “หลากหลายเรื่องลับ ฉบับไชน่าทาวน์” เป็นครั้งแรกของปีนี้ โดยความพิเศษในครั้งนี้ นอกจากผู้ร่วมทริปจะเป็นสื่อมวลชนแล้ว เรายังได้ประสานกับทางโรงเรียนในพื้นที่ใกล้เคียงที่สังกัดกรุงเทพมหานคร เพื่อเชิญคุณครูที่สอนนักเรียน ในวิชาประวัติศาสตร์ หรือศิลปวัฒนธรรม เข้าร่วมกิจกรรม เพื่อรับประสบการณ์ตรงจากการได้สัมผัสกับสถานที่จริงและเรื่องเล่าจากคนในพื้นที่และวิทยากรผู้เชี่ยวชาญอาจารย์ธานัท ภุมรัช นักประชาสัมพันธ์ กลุ่มงานพัฒนาการท่องเที่ยว ส่วนการท่องเที่ยว สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร ด้วยหวังว่าคุณครูจะได้นำเรื่องราวของศิลปวัฒนธรรมที่แทรกตัวอยู่กับวิถีชีวิตของชุมชน และบางช่วงบางตอนที่สำคัญในประวัติศาสตร์ไปถ่ายทอดต่อให้กับเยาวชนน้อยๆ ในโรงเรียนได้รับประโยชน์ทางการศึกษาต่อไป สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสังคมของเคทีซี ในการสนับสนุนวิถีการเรียนรู้ตลอดชีพ (Lifelong Learning)”
“ทริป The Secret of พระนคร เริ่มต้นที่วัดอุภัยราชบำรุง หรือวัดญวนตลาดน้อย หนึ่งในวัดญวน สมัยแรกในสยาม สร้างโดยชาวเวียดนามอพยพในช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้น โดยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้พระราชทานที่ดินให้ ต่อด้วย วัดปทุมคงคาราชวรวิหาร วัดโบราณสมัยอยุธยา เดิมชื่อ “วัดสำเพ็ง” ต่อมาสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกพระราชทานนามใหม่ว่า “วัดปทุมคงคา” และพักทานอาหารกลางวันที่ ร้านฮงเชียงกง ห้องแถวสีน้ำเงินคราม ซึ่งเป็นอาคารเก่าและโบราณวัตถุที่นำมาแสดงอยู่ทั่วบริเวณ ภาคบ่ายต่อกันที่ ศาลเจ้าโจซือกง สร้างขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2347 เพื่อเป็นศูนย์รวมของชาวจีนฮกเกี้ยน ถือเป็นศาลเจ้าที่มีความเก่าแก่มากที่สุดในย่านตลาดน้อย มีเทพประธานของศาลเจ้าคือ เทพโจซือกง หรือพระหมอเช็งจุ้ยโจซือ ซึ่งชาวฮกเกี้ยนให้ความเคารพนับถือ ถัดมา ร้านเฮงเส็ง ที่อนุรักษ์อาชีพทำเบาะไหว้เจ้า มายาวนานกว่าศตวรรษให้ฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง ปิดท้ายที่ บ้านเลขที่ 1 อาคารอายุกว่าร้อยปีที่เป็นตัวแทนสถาปัตยกรรมยุคนีโอคลาสสิคแท้ๆ เดิมทีสร้างเป็นสำนักงานของบริษัทกลั่นสุราของฝรั่งเศสในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งเรามีการติดต่อกับต่างประเทศจนรุ่งเรือง”
จ่าสิบเอกสมเกียรติ ดาสา ผู้อำนวยการ โรงเรียนวัดลานบุญ สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า “โรงเรียนวัดลานบุญยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมที่เคทีซีจัดขึ้นนี้ โดยเราเองทราบว่าเด็กแต่ละท้องถิ่นยังไม่รู้จักกรุงเทพมหานครเท่าที่ควร การที่เคทีซีได้เชิญทางคุณครูเข้าร่วมกิจกรรม เพื่อรับทราบถึงเรื่องราวต่างๆ เช่น ชุมชน ศิลปวัฒนธรรม ถือว่าเป็นกิจกรรมที่ดีและส่งผลดีให้กับการเรียนการสอน โดยนำศิลปวัฒนธรรมในท้องถิ่นของกรุงเทพมหานครสู่ห้องเรียน ผมได้พิจารณาคุณครูที่สอนวิชาศิลปวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์เข้าร่วมกิจกรรม เพื่อที่จะนำประสบการณ์ ความรู้ที่ได้เก็บเกี่ยวมานั้น กลับมาสะท้อนให้เด็กได้ทำกิจกรรม หรือส่งต่อเพื่อให้เด็กได้เรียนรู้และคิดทำกิจกรรมอย่างต่อเนื่องขยายวงกว้างเป็นหลักร้อยคน ก่อให้เกิดประโยชน์ และอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมให้คงอยู่สืบไป”
นางสาวพิชญา แตงสุวรรณ ครูระดับปฏิบัติการ - วิชาศิลปวัฒนธรรม โรงเรียนวัดลานบุญ กล่าวว่า “รู้สึกดีใจที่ได้เข้าร่วมทริปกับเคทีซีในครั้งนี้ ได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ด้านพระพุทธศาสนา สถาปัตยกรรม ประติมากรรม เรื่องเล่าท้องถิ่นที่สืบทอดกันมา สำหรับความรู้ที่ได้รับจากการชมประวัติศาสตร์ในวัดอุภัยราชบำรุงและวัดปทุมคงคาราชวรวิหาร ทั้งความเป็นมาของการสร้างวัด ความงามของพระพุทธรูปในสมัยต่างๆ ไปจนถึงสถาปัตยกรรมในแบบไทยประเพณี สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นประวัติศาสตร์ศิลป์ในวัฒนธรรมไทย ในบทบาทของครูผู้สอนวิชาศิลปวัฒนธรรม นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น เห็นว่าการเผยแพร่ถ่ายทอดความรู้ในเรื่องของประวัติศาสตร์ศิลป์ให้กับนักเรียนถือเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อสร้างความตระหนักให้นักเรียนรู้จักอนุรักษ์สืบทอดวัฒนธรรมของชาติที่สำคัญและงดงาม และถ้ามีโอกาสอยากให้นักเรียนได้มาสัมผัสบรรยากาศแบบนี้บ้าง เพราะเชื่อว่าการเรียนรู้ในสถานที่จริง จะทำให้มีการจดจำมากกว่าการเรียนในห้องเรียน”
นางสาวยุวนิจ เสือไพรงาม ครูผู้ช่วย - วิชาสังคมศึกษาและประวัติศาสตร์ โรงเรียนวัดลานบุญ กล่าวว่า “รู้สึกตื่นเต้นและดีใจกับครั้งแรกที่ได้มาร่วมทริปกับองค์กรภายนอก ต้องขอบคุณผู้อำนวยการสถานศึกษาและเคทีซีที่ได้จัดทริปนี้ขึ้นมา สำหรับวันนี้ที่ได้มาร่วมกิจกรรมเป็นการเปิดประสบการณ์ใหม่ๆ ไปในสถานที่ที่ยังไม่เคยมีโอกาสได้ไป ได้รับความรู้ต่างๆ มากมายจากวิทยากร เช่น วัดต่างๆ สถานที่สำคัญต่างๆ ทำให้เราได้ย้อนกลับไปอดีต เห็นวิถีชีวิตการใช้ชีวิตโดยภูมิปัญญา พระมหากษัตริย์ไทยกับการอุปถัมภ์ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา และยังทำให้เราเห็นพัฒนาการของวัฒนธรรมด้านต่างๆ ที่ประเทศไทยได้รับเข้ามาจากต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นชาวจีน ชาวยุโรป ซึ่งจะนำความรู้ที่ได้ในวันนี้ ไปปรับใช้และต่อยอดในการสอนให้กับนักเรียนในรายวิชาพระพุทธศาสนาและประวัติศาสตร์ไทยสมัยรัตนโกสินทร์ต่อไป”