สถาบันไทยพัฒน์ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ คาดการณ์ทิศทางความยั่งยืนของภาคธุรกิจไทย ปี 66 จุดกระแส ESG (Environmental, Social and Governance) จากที่เป็นปัจจัยความเสี่ยงขององค์กร สู่ปัจจัยที่ใช้เป็นโอกาสทางธุรกิจเพื่อตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืนของกิจการตามทิศทางกระแสโลก
ปัจจุบัน ประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ได้เข้ามามีอิทธิพลต่อภาคธุรกิจอย่างเข้มข้น และกระทบกับกิจการในทุกขนาด ทุกสาขา ESG ได้กลายเป็นประเด็นที่ถูกบรรจุเป็นหลักเกณฑ์ในการขอสินเชื่อของธนาคาร พัฒนาเป็นหลักการลงทุนที่รับผิดชอบของผู้ลงทุนสถาบัน เป็นปัจจัยใหม่ในการตัดสินใจจับจ่ายของลูกค้า และกลายมาเป็นข้อพิจารณาในการสมัครเข้าทำงานของบุคลากร โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถ เป็นต้น
ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ประธานสถาบันไทยพัฒน์ ได้กล่าวในงานแถลงทิศทางความยั่งยืน ปี 2566 ที่จัดขึ้นวันนี้ (24 กุมภาพันธ์ 2566) ว่า “ปัจจุบัน ESG มิได้เข้ามามีบทบาทเพียงในแง่ของความเสี่ยงที่กระทบกับธุรกิจ หรือถูกมองว่าเป็นภาระค่าใช้จ่ายทางเดียว แต่ยังเป็นผลกระทบที่ก่อให้เกิดโอกาสทางธุรกิจ และถูกมองว่าเป็นเรื่องที่ช่วยเพิ่มยอดขายและลดต้นทุนของกิจการ ซึ่งหากธุรกิจสามารถจับกระแสในเรื่องนี้ แล้วแปลงมาเป็นโจทย์ทางธุรกิจได้ ก็จะทำให้กิจการได้ประโยชน์จากเรื่อง ESG ในฐานะที่เป็นใบเบิกทาง (Enabler) สู่ตลาดใหม่ ๆ”
ในปีนี้ สถาบันไทยพัฒน์ ได้ประมวลแนวโน้มการขับเคลื่อน ESG ของภาคธุรกิจไทย ไว้เป็น 3 ธีมสำคัญ ได้แก่ LEAN รับมือเศรษฐกิจโลกถดถอย CLEAN เพื่อสังคมที่มีสุขภาวะ และ GREEN ที่มากกว่าคำมั่นสัญญา
พร้อมกับการประเมินทิศทางความยั่งยืน ปี 2566 ใน 6 ทิศทางสำคัญ ได้แก่
1) ESG as an Enabler
2) Industry-specific Taxonomy
3) Double Materiality
4) Climate Action
5) Lean Operation
6) Proof of Governance
สำหรับหน่วยงานและองค์กรธุรกิจที่จะใช้ ESG เป็นกรอบในการขับเคลื่อน สามารถนำไปเป็นข้อมูลนำเข้าและใช้พัฒนากลยุทธ์การดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลของกิจการให้มีความครอบคลุมอย่างรอบด้าน
ในงานแถลงทิศทางความยั่งยืนปีนี้ สถาบันไทยพัฒน์ ยังได้จัดให้มีการเสวนาเรื่อง ESG Footprint: The Supplier Journey แนะนำการดำเนินการด้าน ESG กับผู้ส่งมอบ (Suppliers) ตามมาตรฐาน GRI1 ที่ทั่วโลกยอมรับ สำหรับขยายบทบาทด้าน ESG ของกิจการ จากที่ทำได้สมบูรณ์แล้วภายในองค์กร ไปสู่คู่ค้าในสายอุปทานเพื่อสนับสนุนให้คู่ค้ามีการดำเนินงานโดยคำนึงถึง ESG ในทิศทางที่กิจการคาดหวัง โดยในงานยังเปิดโอกาสให้กิจการที่สนใจสมัครเข้าร่วมดำเนินการด้าน ESG กับผู้ส่งมอบ โดยใช้ประโยชน์จากโครงการ ESG Footprint ด้วย
นายวรณัฐ เพียรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ กล่าวว่า “ในปี 2566 นี้ ภาคเอกชนที่ต้องการขยายบทบาทการดำเนินการด้าน ESG กับคู่ค้า/ผู้ส่งมอบในสายอุปทานของตน เพื่อตอบโจทย์การสร้างระบบนิเวศแห่งความยั่งยืน (The Ecosystem of Sustainability) สามารถนำเกณฑ์ชี้วัดที่เป็นสากล อาทิ GRI 308 (Supplier Environmental Assessment) และ GRI 414 (Supplier Social Assessment) มาใช้ในการประเมิน ESG Footprint และเปิดเผยให้สาธารณชนได้รับทราบ ผ่านรายงานความยั่งยืนของกิจการ”
การประเมิน ESG Footprint สามารถใช้เกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อม อาทิ พลังงาน (GRI 302) น้ำและน้ำทิ้ง (GRI 303) มลอากาศ (GRI 305) และเกณฑ์ด้านสังคม อาทิ การจ้างงาน (GRI 401) อาชีวอนามัยและความปลอดภัย (GRI 403) แรงงานเด็ก (GRI 408) แรงงานเกณฑ์และแรงงานบังคับ (GRI 409) มาใช้กับคู่ค้า เพื่อรับทราบสถานะความยั่งยืนในสายอุปทานตามประเด็น ESG ที่องค์กรได้ดำเนินการและที่ควรดำเนินการ (Gap)
นายฌานสิทธิ์ ยอดพฤติการณ์ กรรมการสถาบันไทยพัฒน์ กล่าวเสริมว่า “เพื่อช่วยภาคเอกชนในการสร้างระบบนิเวศแห่งความยั่งยืน ในปีนี้ สถาบันไทยพัฒน์ได้ก่อตั้ง ESG Sandbox โดยนำโครงการที่อยู่ในระหว่างริเริ่ม อาทิ ESG Meter มาตรวัดความยั่งยืนขององค์กร, ESG Footprint รอยเท้าความยั่งยืนในสายอุปทาน, ChatESG สื่อความยั่งยืนด้วยฐานปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาทำงานร่วมกับองค์กรที่สนใจในวงจำกัด โดยสามารถนำไปทดลองใช้ก่อนที่จะเผยแพร่ในวงกว้าง”
ESG Sandbox เป็นความริเริ่มของสถาบันไทยพัฒน์ เพื่อใช้เป็นแพลตฟอร์มทำงานร่วมกับภาคเอกชน ในการสร้างระบบนิเวศแห่งความยั่งยืน ด้วยการพัฒนาโครงการที่ใช้ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ซึ่งมีแนวโน้มที่ก่อให้เกิดความพลิกผัน (Disruption) ด้านความยั่งยืนในอนาคต โดยเปิดโอกาสให้องค์กรที่เข้าร่วมสามารถใช้ประโยชน์จากโครงการที่อยู่ใน Sandbox ก่อนองค์กรอื่น ๆ ทั้งในรูปแบบที่เป็นองค์กรสมาชิก (Member) ผู้อุปถัมภ์ (Sponsor) และผู้ให้ทุน (Funder) โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์ที่แตกต่างกันตามระดับ
หน่วยงานที่ต้องการใช้ประโยชน์จากโครงการต่าง ๆ ใน ESG Sandbox ของสถาบันฯ และร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างระบบนิเวศแห่งความยั่งยืน สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมทางเว็บไซต์ www.thaipat.org ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป