November 23, 2024
×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 6847

 รายงานดัชนีชี้วัดการปฏิรูปสู่ดิจิทัลของเดลล์ เทคโนโลยีส์ Dell Technologies Digital Transformation Index (the DT Index) จัดทำโดยเดลล์เทคโนโลยีส์ ร่วมกับอินเทล สำรวจความก้าวหน้าในการปรับตัวสู่ดิจิทัลขององค์กรธุรกิจขนาดกลางถึงใหญ่ทั่วโลกกว่า 4,000 แห่ง โดยมอบหมายให้ Vanson Bourne บริษัทวิจัยอิสระสำรวจผู้นำธุรกิจ 100 รายในประเทศไทยเพื่อประเมินกลยุทธ์ด้านไอที ความริเริ่มในการปฏิรูปของคนทำงาน และความสามารถที่รับรู้ได้โดยเทียบจากคุณลักษณะสำคัญที่ธุรกิจดิจิทัลต้องมี พร้อมประเมินความคาดหวังและมุมมองของผู้บริหารในเรื่องดิจิทัล

โดยปีนี้เป็นครั้งที่ 2 ที่เดลล์ เทคโนโลยีส์ และอินเทลทำการสำรวจนี้ โดยได้ขยายกลุ่มขอบเขตงานวิจัยจาก 16 ประเทศเป็น 42 ประเทศรวมทั้งประเทศไทยที่มีการสำรวจครั้งแรก

โดยผลสำรวจในส่วนของประเทศไทยที่น่าสนใจมีดังนี้

  

การเปรียบเทียบเพื่อแบ่งกลุ่ม

รายละเอียด

การวิเคราะห์ ระดับประเทศในปี 2018

(ประเทศไทย)

ผู้นำด้านดิจิทัล

(Digital Leaders)

มีการปฏิรูปสู่ดิจิทัล ในหลากหลายรูปแบบ และถูกปลูกฝังอยู่ในดีเอ็นเอของธุรกิจ

7%

ผู้ที่เริ่มก้าวสู่ดิจิทัล

(Digital Adopters)

มีแผนงานด้านดิจิทัลที่เป็นจริงเป็นจัง มีการลงทุนและมีนวัตกรรมในองค์กร

40%

ผู้ที่กำลังประเมินดิจิทัล

(Digital Evaluators)

ตอบรับการปฏิรูปสู่ดิจิทัลอย่างระมัดระวัง ค่อยเป็นค่อยไป มีการวางแผนและลงทุนสำหรับอนาคต

 

25%

ผู้ตามในเรื่องดิจิทัล

(Digital Followers)

 

ลงทุนด้านดิจิทัลน้อยมาก เพิ่งเริ่มต้นวางแผนคร่าวๆ สำหรับอนาคต

23%

ผู้ที่ถูกทิ้งให้อยู่ข้างหลังดิจิทัล

(Digital Laggards)

ไม่มีแผนงานด้านดิจิทัล มีการลงทุนและความริเริ่มที่จำกัดในองค์กร

5%

นพดล ปัญญาธิปัตย์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย เดลล์ อีเอ็มซี ประเทศไทย ให้ข้อมูลว่า ตามดัชนี DT Index พบว่า 40 เปอร์เซ็นต์ของธุรกิจในไทย อยู่ในกลุ่มของผู้ที่เริ่มก้าวสู่ดิจิทัล (Digital Adopters) โดยบริษัทเหล่านี้ มีแผนงานและนวัตกรรมที่ล้ำหน้าในองค์กรที่ช่วยขับเคลื่อนไปสู่การปฏิรูปองค์กร (transformation) อย่างไรก็ตาม ผลการรายงานยังเผยให้เห็นว่า เกือบ 1 ใน 4 ของบริษัทยังอยู่ใน 2 กลุ่มหลัง ซึ่งหมายความว่าบริษัทเหล่านี้ กำลังก้าวไปอย่างช้าๆ หรือไม่ก็ยังไม่มีแผนงานด้านดิจิทัลเลย

 อุปสรรคที่กีดขวางการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัล

 

  • 53% การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และการรักษาความปลอดภัยบนไซเบอร์
  • 49% วัฒนธรรมด้านดิจิทัลที่ยังไม่แข็งแรงพอ ขาดความสอดคล้อง และการประสานความร่วมมือภายในบริษัท
  • 48% ขาดวิสัยทัศน์ และกลยุทธ์ด้านดิจิทัลที่สอดคล้องกัน
  • 45% ขาดเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการทำงานให้ทันต่อธุรกิจ
  • 43% ขาดทักษะและความเชี่ยวชาญที่เหมาะสมในองค์กร
  • 96% บอกว่าพบอุปสรรคในการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัล
  • 90% เชื่อว่าการปฏิรูปสู่ดิจิทัลควรแพร่หลายและครอบคลุมทั่วทั้งองค์กรได้มากกว่านี้
  • 71% กังวลว่าองค์กรของตนเองจะต้องพยายามอีกมากเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป
  • 33% กังวลว่าองค์กรจะถูกทิ้งไว้เบื้องหลังไม่สามารถตามความเปลี่ยนแปลงได้ทัน
  • 61% เชื่อว่าจะสามารถเปลี่ยนแปลงได้ก่อนที่จะถูก disrupt

 การก้าวข้ามอุปสรรค

 งานวิจัยยังชี้ให้เห็นว่าองค์กรธุรกิจกำลังเดินหน้าเพื่อที่จะก้าวข้ามอุปสรรคต่างๆ ที่มาพร้อมกับการคุกคามในการที่จะถูกเอาชนะจากผู้เล่นที่ไวกว่าและมีนวัตกรรมเหนือกว่า โดยเห็นได้จากประเด็นต่อไปนี้

  • 69 % ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อช่วยเร่งสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการใหม่
  • 68 % สร้างระบบรักษาความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวไว้ในทุกอุปกรณ์ แอปพลิเคชัน และอัลกอริธึมทั้งหลาย
  • 65 % กำลังพยายามอย่างมากในการพัฒนาทักษะรวมถึงความเชี่ยวชาญที่เหมาะสมในองค์กร เช่นการสอนให้พนักงานเรียนรู้วิธีการเขียนโค้ด รวมถึงระดับบริหารที่ควรจะรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้
  • 52 %แบ่งปันความรู้ในทุกฟังก์ชันงาน ด้วยการเตรียมพร้อมให้ผู้นำด้านไอที มีทักษะทางธุรกิจ และให้ผู้นำธุรกิจมีทักษะไอทีในขณะเดียวกัน
  • 45 % มีรูปแบบการพัฒนาซอฟต์แวร์และแอปพลิเคชันที่เหมาะกับการนำไปใช้แล้วปรับแก้อย่างรวดเร็ว

  ในส่วนของแผนการลงทุนที่วางไว้ภายใน 1 ถึง 3 ปีข้างหน้า

  • 73 % ตั้งใจที่จะลงทุนในระบบรักษาความปลอดภัยบนไซเบอร์
  • 63 % ตั้งใจว่าจะลงทุนด้านมัลติ-คลาวด์
  • 61 % ตั้งใจว่าจะลงทุนด้านการออกแบบดาต้าเซ็นเตอร์ที่ใช้แนวทางมุ่งเน้นที่การประมวลผลเป็นหลัก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการประมวลผล รวมถึงศักยภาพและการดำเนินการที่เหมาะสมและคุ้มค่าในเรื่องของเวิร์กโหลด
  • 56 % ตั้งใจว่าจะลงทุนเรื่องปัญญาประดิษฐ์ (AI)
  • 55 % ตั้งใจว่าจะลงทุนในเทคโนโลยี IoT
  • 55 % กำลังจะลงทุนด้าน blockchain
  • 44 % จะลงทุนในระบบที่มีกระบวนการรับรู้ได้เอง (cognitive systems)
  • 40 % จะลงทุนใน Virtual Reality (VR) และ Augmented Reality (AR)

นพดลมองว่า องค์กรที่วางเทคโนโลยีเป็นศูนย์กลาง จะได้รับประโยชน์จากโมเดลธุรกิจดิจิทัล รวมถึงสามารถเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว เพื่อจัดการทุกสิ่งได้ในแบบอัตโนมัติและทำให้ลูกค้าพึงพอใจ นี่คือสาเหตุที่การปฏิรูปสู่ดิจิทัล เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องมาเป็นอันดับหนึ่ง

เมื่อถามว่าเดลล์มีวิธีให้คำแนะนำกับผู้ที่กำลังมองหาเทคโนโลยีและสร้างวัฒนธรรมดิจิทัลในองค์กรเขาตอบว่า จะใช้วิธีแนะนำให้ดูตัวอย่างจากองค์กรที่สามารถปรับเปลี่ยนตัวเองรองรับโลกดิจิทัลได้ ซึ่งก็เป็นวิธีหนึ่งสำหรับผู้ที่กำลังมองหาหนทางเปลี่ยนแปลงองค์กรของตนให้ก้าวสู่ยุคดิจิทัลในปัจจุบัน

 

งาน Thailand Focus เป็นหนึ่งในงานที่จัดมาอย่างต่อเนื่องโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย  เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ เชื่อมโยงโอกาสการลงทุนให้แก่ผู้ลงทุนสถาบันจากทั่วโลก พร้อมขยายฐานผู้ลงทุนจากต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยธีมในการจัดงานปี 2018 นี้คือ The Future is Now

 เป็นประจำทุกปีที่ในงานนี้จะเชิญผู้กำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจมาเล่าความคืบหน้า ความน่าสนใจของประเทศไทยให้กับผู้ลงทุนจากทั่วโลก โดยในปีนี้นอกจากผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์คนใหม่ ดร.ภากร ปิตธวัชชัย ก็ได้รัฐมนตรีมาถึง 3 ท่าน ประกอบด้วยรองนายกรัฐมนตรี ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ดร.อุตตม สาวนายน และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล รวมถึงผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ดร.วิรไท สันติประภพ ที่มาร่วมแบ่งปันมุมมองเรื่องราวเกี่ยวกับภาพรวมและทิศทางเศรษฐกิจของประเทศไทยเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจเลือกลงทุน

ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในงาน “Thailand Focus 2018” ว่า 14 ปีก่อนที่มีการจัดงาน Thailand Focus ขึ้นเป็นครั้งแรกภายหลังจากวิกฤตต้มยำกุ้ง ก็เพื่อให้ผู้ลงทุนเข้าใจภาวะเศรษฐกิจของประเทศ และหลังจากที่ตนเองเข้ามารับตำแหน่งดูแลงานด้านเศรษฐกิจให้รัฐบาลชุดนี้เกือบ 4 ปี ก็สามารถบรรลุภารกิจแรกที่ประกาศไว้ คือ การฟื้นฟูเศรษฐกิจและสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้น โดยเศรษฐกิจขยายตัวจากร้อยละ 0.9 เมื่อปี 2014 สู่ ร้อยละ 4.8 ในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ ดัชนีต่างๆ สะท้อนให้เห็นถึงความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ  มูลค่าการลงทุนที่ขอส่งเสริมจาก BOI เพิ่มจาก 8,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2015 เป็น 19,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2017

ภารกิจอีกประการคือ การปฏิรูปเศรษฐกิจด้วยการแก้ไขจุดอ่อนและสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจใหม่ ซึ่งจะช่วยทำให้การเติบโตเป็นไปอย่างยั่งยืนรองรับความเปลี่ยนแปลงในอนาคต

รองนายกรัฐมนตรีบอกเล่าถึงจุดแข็งทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ของไทยที่สามารถเชื่อมโยงอาเซียน CLMVT จีน และอินเดียเข้าด้วยกันได้ ด้วยปัจจัยที่ประกอบด้วยการเติบโตทางเศรษฐกิจของกลุ่ม CLMV ในช่วงที่ผ่านมาอยู่ในระดับสูง เป็นแหล่งแรงงานสำคัญของภูมิภาค นโยบาย Belt and Road ของประเทศจีนที่ไทยก็อยู่ในเส้นทางนี้ด้วย การที่ญี่ปุ่นพยายามผลักดัน CPTPP และความร่วมมือ Indo Pacific Partnership ที่ขับเคลื่อนโดยสหรัฐ อินเดีย และญี่ปุ่น เขตความร่วมมือทางเศรษฐกิจ RCEP ซึ่งทุกแนวคิดอาเซียนและ CLMV คือจุดศูนย์กลางทั้งสิ้น ทำให้ภูมิภาคนี้เป็นจุดศูนย์กลางการค้าการลงทุน

ประเทศไทยก็ยิ่งมีความน่าสนใจเพราะอยู่ในจุดที่เชื่อมโยงได้ทั้งอาเซียนและ CLMVจึงเป็นโอกาสที่ดีสำหรับการลงทุน

โดยรัฐบาลได้กำหนดยุทธศาสตร์ที่กำลังเร่งขับเคลื่อนอยู่ในขณะนี้ ทั้งการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง การกำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมาย การทำโครงการ EEC เพื่อรองรับอุตสาหกรรมใหม่ และการขับเคลื่อนประเทศสู่ดิจิทัล ซึ่งในทุกด้านจำเป็นต้องมีการลงทุนอย่างมหาศาล โดยสิ่งเหล่านี้จะเป็นพื้นฐานที่ดีสำหรับประเทศในอนาคต

ทางด้านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ดร.อุตตม สาวนายน มาให้ข้อมูลความคืบหน้าโครงการ EEC ว่าเป็นไปตามแผนที่เคยประกาศไว้ว่าจะมีการลงทุนในช่วง 5 ปีแรกประมาณ 1.7 ล้านล้านบาท โดยมีการลงทุนทั้งการเชื่อมระบบขนส่งต่างๆ โครงการอินเทอร์เน็ตของรัฐบาลที่สามารถให้ประชาชนกว่าร้อยละ 60 เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตได้แล้ว อุตสาหกรรมเป้าหมายที่เป็นหัวใจสำคัญของการปฏิรูปก็เริ่มมีการขยับตัวมีการยื่นขอส่งเสริมการลงทุนแล้ว เช่น การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในเขต EEC

นอกจากนี้โครงการ EEC ยังจะช่วยเชื่อมโยงไทยกับภูมิภาคอาเซียน CLMV จีน และอินเดีย ด้วยโครงข่ายทั้งทางรถไฟ รถยนต์ และการขนส่งทางน้ำ ซึ่งไทยก็มีการพัฒนาริเริ่มโครงการใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องออกมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเตรียมพร้อมสนับสนุนอุตสาหกรรมใหม่ๆ เช่นการเตรียมจัดตั้ง EECi (Eastern Economic Corridor of Innovation) ที่ จ.ระยอง ซึ่งจะเน้นการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อให้สามารถนำไปใช้งานได้จริงในอุตสาหกรรม และ EEC Digital Park ซึ่งจะตั้งที่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี โดยจะเป็นศูนย์กลางการลงทุนด้านดิจิทัลและนวัตกรรม ช่วยส่งเสริมธุรกิจสตาร์ทอัพต่างๆ ก็เป็นส่วนที่จะช่วยเสริมศักยภาพของประเทศไทยในอีกทางหนึ่ง

ขณะที่ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มาตอกย้ำว่า ในอีก 10-20 ปีข้างหน้า อาเซียนโดยเฉพาะ CLMV จะน่าลงทุนที่สุดเพราะมีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูง และเป็นตลาดขนาดใหญ่ แต่ด้วยขนาดที่เล็กของแต่ละประเทศ จึงเป็นโอกาสดีที่จะร่วมมือกัน โดยไทยในฐานะที่มีภูมิศาสตร์สามารถเชื่อมโยงทุกประเทศได้ก็จะสามารถเป็นศูนย์กลางการลงทุนได้

โดยการเชื่อมโยงมีทั้งโครงการที่เสร็จแล้วเช่นสะพานเชื่อมประเทศไทยกับสปป.ลาวทำให้เกิดการขยายตัวทางการค้าระหว่างกันถึง 5 เท่า และการเชื่อมโยงเช่นนี้ก็กำลังมีเพิ่มมากขึ้น ผ่านโครงการต่างๆ และนโยบายของต่างประเทศเช่น Belt and Road ซึ่งจะทำให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางโลจิสติกที่จะเชื่อมโยงไปยังประเทศต่างๆ ทั้งการขนส่งสินค้า การเชื่อมโยงในด้าน Supply Chain ของบริษัทเอกชนที่สามารถใช้ภูมิภาคนี้เป็นแหล่งผลิตสินค้าของตนได้

นอกจากการใช้ EEC ยังมีโครงการที่สำคัญคือ Southern Economic Corridor ที่จะเชื่อมประเทศไทยไปสู่มหาสมุทรอินเดีย เชื่อมโยงภาคตะวันตกของไทยสู่ประเทศเช่นศรีลังกา อินเดีย รวมถึงแอฟริกา ยุโรปอีกเส้นทางหนึ่ง ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นจะทำให้ไทยเป็นจุดที่สามารถเชื่อมโยงมหาสมุทรแปซิฟิค และมหาสมุทรอินเดียเข้าด้วยกันได้อย่างสำคัญ

ทางด้านผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ดร.วิรไท สันติประภพ บอกว่าประเทศไทยมีพื้นฐานที่แข็งแกร่งเพียงพอที่จะรองรับความเสี่ยงต่างๆ ได้เป็นอย่างดี ทั้งเงินสำรองระหว่างประเทศ การเกินดุลบัญชีเดินสะพัด ซึ่งช่วยให้เราสามารถกำหนดนโยบายทางการเงินได้อย่างอิสระ โดยธปท. ยังคงจับตาสถานการณ์ต่างๆ และคอยดูแลไม่ให้เกิดความเสี่ยงในระบบมากเกินไป

ในส่วนของ ดร.ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลว่า ตลาดทุนไทยเป็นแหล่งระดมทุนแถวหน้าของภูมิภาคอาเซียน โดยมีบริษัทจดทะเบียนที่มีคุณภาพจำนวนมาก ผ่านวิกฤตต่างมาหลายครั้งจนมีความยืดหยุ่น และแข็งแกร่งเป็นที่ประจักษ์ มีบริษัทจดทะเบียนไทยที่ก้าวสู่บริษัทชั้นนำของโลกเช่นในธุรกิจสนามบิน ธุรกิจโรงพยาบาลและสุขภาพ ธุรกิจค้าปลีกและธุรกิจโรงแรม

ดร.ภากรเล่าถึงพื้นฐานบริษัทจดทะเบียนไทยที่แข็งแกร่งน่าลงทุน มีการเติบโตและให้ผลตอบแทนอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ โดยผลการดำเนินงาน บจ. ครึ่งปีแรก กำไรสุทธิเพิ่มขึ้นถึง 7.61% ขณะที่ยอดขายเพิ่ม 9.01% ในเกือบทุกกลุ่มอุตสาหกรรม รวมถึง บจ. ที่เกี่ยวข้องกับการยกระดับความเป็นอยู่ที่ดี (Well-being) โดยเฉพาะอย่างยิ่งหมวดพาณิชย์ หมวดการท่องเที่ยวและสันทนาการ หมวดขนส่งและโลจิสติกส์ สอดคล้องการขยายตัวของ GDP ที่ 4.8% ในครึ่งปีแรก เช่นเดียวกับการลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัว 3.2% ซึ่งปรับตัวดีขึ้นจาก 0.9% ในช่วงเดียวกันของปีก่อน เชื่อมั่นว่าเป็นสัญญาณเริ่มต้นของการลงทุนภาคเอกชน ที่สอดรับการลงทุนของภาครัฐ การบริโภคในประเทศ และการส่งออก

ดร.ภากร เปิดเผยว่า   “Thailand Focus 2018”  มีผู้ลงทุนสถาบันต่างประเทศ 161 รายร่วมงาน ในจำนวนนี้มีผู้ลงทุนจากกลุ่มประเทศใหม่ ๆ อาทิ กลุ่มสแกนดิเนเวีย และเอเชียตะวันออก เพิ่มเติมจากตลาดหลักคือยุโรปและอเมริกาที่ลงทุนในตลาดทุนไทยอยู่เดิมและมาร่วมงานเป็นประจำทุกครั้ง สะท้อนถึงการที่ไทยอยู่ในความสนใจลงทุน โดยผู้ลงทุนสถาบันที่เข้าร่วมงานมีมูลค่าสินทรัพย์รวม (AUM) 2.1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ มีการประชุมในรูปแบบ one-on-one กับบริษัทจดทะเบียน (บจ.) 115 บริษัท รวมทั้งสิ้น 2,248 ครั้ง

โดยผู้ลงทุนสถาบันยังได้รับฟังข้อมูลโดยตรงจากภาครัฐในเรื่องการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่มีความคืบหน้าและเป็นรูปธรรม และในระยะใกล้ จะเห็นว่าตลาดทุนไทยและเศรษฐกิจไทยมีพัฒนาการที่จะขับเคลื่อนการเติบโตอย่างก้าวกระโดด ไม่ว่าจะเป็นโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ที่เป็นโครงการเชิงกลยุทธ์ของภาครัฐที่จะมีการลงทุนถึงกว่า 1.7 ล้านล้านบาท ซึ่งจะเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจไทย สร้างแรงส่งต่อเนื่องจากโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด และโครงการอื่นๆ ในระยะผ่านมา และยังเอื้อให้เกิดการเชื่อมโยงกับภูมิภาคโดยเฉพาะกลุ่มประเทศ CLMV เพื่อสร้างผลตอบแทนแก่ผู้ลงทุนในระยะยาวจากโอกาสการลงทุนใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้น  

การเปลี่ยนแปลงสู่ระบบดิจิทัลจะมีผลกระทบต่อเทคโนโลยีตั้งแต่เทคโนโลยีที่ประมวลข้อมูลจำนวนมากเพื่อใช้ในการตัดสินใจ ไปจนถึงเทคโนโลยีคลาวด์ระบบโมบิลิตี้ และการใช้ Internet-of-Things (IoT) ที่มาแรงในปัจจุบัน

 

Circular economy คือแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนให้ความสำคัญกับการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพของการจัดการของเสียที่บริโภคแล้ว วัตถุดิบ สินค้าที่หมดอายุ และพลังงาน ให้ถูกนำกลับไปเป็นทรัพยากรที่หมุนเวียนอยู่ในระบบด้วยกระบวนการที่เหมาะสม โดยนำไปเข้าสู่กระบวนการผลิตใหม่ (Re-process) ผ่านการออกแบบใหม่ (Re-design) การสร้างคุณค่าใหม่ (Added value) การสร้างนวัตกรรมใหม่ (Innovation) การสร้างความร่วมมือ (Collaboration) เพิ่มขึ้น ทั้งที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ และการใช้ซ้ำ (Reuse) ซึ่งจะช่วยให้มีการใช้ทรัพยากรใหม่น้อยที่สุดและเกิดประโยชน์สูงสุด ลดปริมาณขยะจากการนำกลับเข้ามาสู่วงจรการผลิตได้ ขณะที่ผลิตภัณฑ์ยังมีคุณภาพและมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน จึงถือเป็นการสร้างคุณค่าที่ดีขึ้นและสร้างความยั่งยืนให้กับสิ่งแวดล้อม ชุมชน สังคม รวมถึงธุรกิจ

การจัดงานปีที่ 5 เอสซีจี เลือกหัวข้องานสัมมนา “SD Symposium 2018” ภายใต้แนวคิด “Circular Economy : The Future We Create” เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนโดยใช้ทรัพยากรเท่าที่จำเป็นให้มีประสิทธิภาพสูงสุดตั้งแต่กระบวนการผลิต การบริโภค ไปจนถึงการนำกลับมาใช้เป็นวัตถุดิบ เพื่อการเติบโตอย่างสมดุลของธุรกิจ คุณภาพชีวิต และโลกที่ยั่งยืน

 

Peter Bakker

 

ประธานและซีอีโอ  World Business Council for Sustainable Development (WBCSD) กล่าวว่า แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนถือเป็นนวัตกรรม (Circular Innovation) ที่ปฏิวัติรูปแบบการผลิตและบริโภคครั้งใหญ่ของโลก ทำให้ระบบเศรษฐกิจของโลกมีการใช้ทรัพยากรหมุนเวียนและเกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งการทำให้แนวคิดนี้แพร่หลายในวงการธุรกิจได้ จะต้องเริ่มจากจิตสำนึกของผู้บริหารและคนในองค์กรที่ต้องการขับเคลื่อน ขณะเดียวกันทุกภาคส่วนก็ต้องตระหนักถึงปัญหาและร่วมกันสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับโลก

อาเซียนเป็นภูมิภาคที่มีความท้าทายอย่างยิ่ง เพราะมีทั้งความต้องการพัฒนาประเทศ การยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน อีกทั้งเป็นแหล่งผลิตที่รองรับความต้องการของประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ทรัพยากรที่มีอยู่ไม่เพียงพอ ดังนั้น หากมีการนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ก็จะช่วยให้เกิดการผลิตสินค้าและบริการด้วยนวัตกรรมที่สามารถใช้ทรัพยากรได้เกิดประโยชน์สูงสุด ทำให้องค์กรลดต้นทุนจากการใช้ทรัพยากรและมีศักยภาพในการแข่งขันเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นแรงสนับสนุนให้ภาคธุรกิจทั่วโลกเติบโตได้ถึง 4.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี ค.ศ. 2030 (จาก CEO Guide to the Circular Economy, WBCSD) นอกจากนี้ ยังช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งมีผลทำให้ความตกลงปารีส (Paris Agreement) รวมทั้งเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals, SDGs) บรรลุตามเป้าหมายที่วางไว้

 

ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์

 

รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในการปาถกฐาเปิดงานว่า แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนสอดคล้องกับแนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะการผลิตสินค้าและบริการที่ต้องมุ่งสร้างคุณค่ามากกว่าปริมาณ (Value Driven) ที่ผ่านมา รัฐบาลได้ดำเนินการตาม Roadmap การพัฒนาประเทศเพื่อสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนท่ามกลางความท้าทายของทรัพยากรโลกที่ลดลง ด้วยการกำหนดเป็นยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและการอนุรักษ์ฟื้นฟูที่สมดุลกับการใช้ประโยชน์ โดยมีมาตรการสนับสนุน เช่น นโยบายส่งเสริม การสร้างสรรค์นวัตกรรมและเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อช่วยให้เกิดการแบ่งปันและการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า นโยบายส่งเสริมการจัดการขยะและของเสียอย่างเหมาะสม โดยการนำกลับมาใช้ประโยชน์ รวมทั้งนโยบายส่งเสริมการลงทุนด้วยหลักธรรมาภิบาล รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

อย่างไรก็ตาม การสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เกิดขึ้นได้จริงนั้น สิ่งสำคัญไม่ใช่เพียงการขับเคลื่อนของรัฐบาล แต่ภาคเอกชนและภาคประชาชนต้องมีส่วนร่วมด้วย โดยภาคเอกชนควรนำแนวคิดนี้ไปปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจ เพื่อสร้างการเติบโตของธุรกิจในระยะยาว ส่วนภาคประชาชนควรตระหนักถึงความสำคัญ และร่วมกันปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อให้ขยะชนิดต่างๆ และสิ่งที่เป็นผลพวงจากการอุปโภคบริโภคได้หมุนเวียนกลับมาใช้เป็นทรัพยากร เพื่อช่วยสร้างประเทศให้มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนอย่างแท้จริง

รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส

 

รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวถึงแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน สามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับทรัพยากรของโลกในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี เพราะเป็นการปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจแบบดั้งเดิมที่เป็นเพียงการนำทรัพยากรมาผลิต และจบที่ใช้แล้วทิ้ง (Take-Make-Dispose) ให้เป็นการรักษาคุณค่าของทรัพยากรให้มากที่สุด ด้วยการสร้างระบบที่เอื้อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และนำสินค้าที่ใช้แล้วกลับเข้าสู่กระบวนการผลิตได้อีก เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับสิ่งแวดล้อม สังคม และชุมชน

สำหรับการนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาประยุกต์ใช้ในเอสซีจีนั้น มีการขับเคลื่อนผ่าน 3 กลยุทธ์หลัก คือ

หนึ่ง Reduced material use และ Durability คือ การลดใช้ทรัพยากรในกระบวนการผลิต เช่น กระดาษลูกฟูก Green Carton ที่ใช้วัตถุดิบลดลงร้อยละ 25 แต่คงความแข็งแรงเท่าเดิม ทั้งยังทำให้ลูกค้าประหยัดต้นทุนในการขนส่งมากขึ้น และการลดการผลิตและการขาย single-use plastic ของเอสซีจี จากร้อยละ 46 เหลือร้อยละ 23 ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา รวมทั้งการช่วยให้ลูกค้าลดการใช้พลังงาน เช่น Active AIRflowTM System ระบบระบายอากาศที่ทำให้บ้านเย็นสบาย ไม่ร้อนอบอ้าว ประหยัดค่าไฟจากการใช้เครื่องปรับอากาศ และการเพิ่มความแข็งแรงทนทานของสินค้า เช่น ปูนโครงสร้างทนน้ำทะเล ที่มีอายุการใช้งานเพิ่มขึ้น 2 เท่า

สอง Upgrade และ Replace คือ การพัฒนานวัตกรรมเพื่อทดแทนสินค้าหรือวัตถุดิบชนิดเดิม ด้วยสินค้าหรือวัตถุดิบชนิดใหม่ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้ใช้ทรัพยากรน้อยลงหรือนำไปรีไซเคิลได้มากขึ้น เช่น เม็ดพลาสติกพอลิเอทิลีนจากเทคโนโลยีใหม่ของเอสซีจีที่สามารถนำพลาสติกรีไซเคิลมาผสมได้เพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า และปูนโครงสร้างเอสซีจีสูตร Hybrid ที่ใช้ทดแทนปูนโครงสร้างสูตรเดิม ทำให้ใช้วัตถุดิบหินปูนที่ต้องเผาน้อยลง

และสาม Reuse และ Recycle คือ การเพิ่มความสามารถในการหมุนเวียนสินค้าที่ใช้งานแล้วกลับมาใช้ใหม่ เช่น โรงอัดกระดาษ (Paper Bailing Station) เพื่อรวบรวมเศษกระดาษกลับมารีไซเคิล การนำขวดแก้วใช้แล้วมาทดแทนทรายธรรมชาติในการผลิตฉนวนกันความร้อน การพัฒนา CIERRATM ซึ่งเป็น Functional Material ที่ช่วยปรับคุณสมบัติพลาสติก       ให้สามารถใช้พลาสติกเพียงชนิดเดียว (Single Material) แต่ให้คุณสมบัติที่หลากหลายกับบรรจุภัณฑ์ แทนการใช้วัสดุหลายชนิด (Multi Material) ซึ่งยากต่อการนำไปรีไซเคิล และการนำขยะพลาสติกในทะเลและชุมชนมาเป็นส่วนประกอบสำหรับทำบ้านปลาเพื่ออนุรักษ์ระบบนิเวศทางทะเล

“นอกจากนี้ เอสซีจียังสนับสนุนการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับทุกภาคส่วนทั้งในและต่างประเทศเพื่อสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนที่สมบูรณ์ โดยล่าสุดได้ร่วมมือทางด้านเทคโนโลยีกับกลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย ในการนำพลาสติกรีไซเคิลมาเป็นส่วนผสมในการทำถนนยางมะตอย เพื่อช่วยลดปัญหาขยะพลาสติกในทะเลและชุมชน ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของถนนจากคุณสมบัติของพลาสติก และช่วยลดการเกิดก๊าซเรือนกระจกจากการทำถนนได้

เอสซีจีหวังเป็นอย่างยิ่งว่างาน SD Symposium 2018 ในครั้งนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน รวมถึงส่งเสริมให้เกิดการขับเคลื่อนนวัตกรรม และกระบวนการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นรากฐานสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 ได้ต่อไป

“SD Symposium 2018” เป็นงานสัมมนาวิชาการว่าด้วยการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่เอสซีจีจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 5 เพื่อให้สาธารณชนตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาอย่างยั่งยืนในหัวข้อต่างๆ โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมกว่า 1,000 คน ทั้งผู้บริหารจากภาคราชการและเอกชนทั้งองค์กรขนาดเล็ก กลาง และใหญ่ นักวิชาการ เอ็นจีโอ สื่อมวลชนทั้งในและต่างประเทศ

 

Singularity University SU คือองค์กรที่มุ่งดำเนินการเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ก่อตั้งขึ้นในปี พ. ศ. 2551 โดย เรย์ เคิร์ซเวล และ ปีเตอร์ ดิอาแมนทิส พร้อมเป็นพันธมิตรร่วมกับองค์กรชั้นนำต่างๆ เช่น Google, Deloitte, Genentech และ UNICEF สำนักงานใหญ่อยู่ที่ NASA Research Park ใน Silicon Valley

Page 1 of 2
X

Right Click

No right click