Circular economy คือแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนให้ความสำคัญกับการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพของการจัดการของเสียที่บริโภคแล้ว วัตถุดิบ สินค้าที่หมดอายุ และพลังงาน ให้ถูกนำกลับไปเป็นทรัพยากรที่หมุนเวียนอยู่ในระบบด้วยกระบวนการที่เหมาะสม โดยนำไปเข้าสู่กระบวนการผลิตใหม่ (Re-process) ผ่านการออกแบบใหม่ (Re-design) การสร้างคุณค่าใหม่ (Added value) การสร้างนวัตกรรมใหม่ (Innovation) การสร้างความร่วมมือ (Collaboration) เพิ่มขึ้น ทั้งที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ และการใช้ซ้ำ (Reuse) ซึ่งจะช่วยให้มีการใช้ทรัพยากรใหม่น้อยที่สุดและเกิดประโยชน์สูงสุด ลดปริมาณขยะจากการนำกลับเข้ามาสู่วงจรการผลิตได้ ขณะที่ผลิตภัณฑ์ยังมีคุณภาพและมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน จึงถือเป็นการสร้างคุณค่าที่ดีขึ้นและสร้างความยั่งยืนให้กับสิ่งแวดล้อม ชุมชน สังคม รวมถึงธุรกิจ
การจัดงานปีที่ 5 เอสซีจี เลือกหัวข้องานสัมมนา “SD Symposium 2018” ภายใต้แนวคิด “Circular Economy : The Future We Create” เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนโดยใช้ทรัพยากรเท่าที่จำเป็นให้มีประสิทธิภาพสูงสุดตั้งแต่กระบวนการผลิต การบริโภค ไปจนถึงการนำกลับมาใช้เป็นวัตถุดิบ เพื่อการเติบโตอย่างสมดุลของธุรกิจ คุณภาพชีวิต และโลกที่ยั่งยืน
ประธานและซีอีโอ World Business Council for Sustainable Development (WBCSD) กล่าวว่า แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนถือเป็นนวัตกรรม (Circular Innovation) ที่ปฏิวัติรูปแบบการผลิตและบริโภคครั้งใหญ่ของโลก ทำให้ระบบเศรษฐกิจของโลกมีการใช้ทรัพยากรหมุนเวียนและเกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งการทำให้แนวคิดนี้แพร่หลายในวงการธุรกิจได้ จะต้องเริ่มจากจิตสำนึกของผู้บริหารและคนในองค์กรที่ต้องการขับเคลื่อน ขณะเดียวกันทุกภาคส่วนก็ต้องตระหนักถึงปัญหาและร่วมกันสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับโลก
อาเซียนเป็นภูมิภาคที่มีความท้าทายอย่างยิ่ง เพราะมีทั้งความต้องการพัฒนาประเทศ การยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน อีกทั้งเป็นแหล่งผลิตที่รองรับความต้องการของประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ทรัพยากรที่มีอยู่ไม่เพียงพอ ดังนั้น หากมีการนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ก็จะช่วยให้เกิดการผลิตสินค้าและบริการด้วยนวัตกรรมที่สามารถใช้ทรัพยากรได้เกิดประโยชน์สูงสุด ทำให้องค์กรลดต้นทุนจากการใช้ทรัพยากรและมีศักยภาพในการแข่งขันเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นแรงสนับสนุนให้ภาคธุรกิจทั่วโลกเติบโตได้ถึง 4.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี ค.ศ. 2030 (จาก CEO Guide to the Circular Economy, WBCSD) นอกจากนี้ ยังช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งมีผลทำให้ความตกลงปารีส (Paris Agreement) รวมทั้งเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals, SDGs) บรรลุตามเป้าหมายที่วางไว้
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในการปาถกฐาเปิดงานว่า แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนสอดคล้องกับแนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะการผลิตสินค้าและบริการที่ต้องมุ่งสร้างคุณค่ามากกว่าปริมาณ (Value Driven) ที่ผ่านมา รัฐบาลได้ดำเนินการตาม Roadmap การพัฒนาประเทศเพื่อสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนท่ามกลางความท้าทายของทรัพยากรโลกที่ลดลง ด้วยการกำหนดเป็นยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและการอนุรักษ์ฟื้นฟูที่สมดุลกับการใช้ประโยชน์ โดยมีมาตรการสนับสนุน เช่น นโยบายส่งเสริม การสร้างสรรค์นวัตกรรมและเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อช่วยให้เกิดการแบ่งปันและการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า นโยบายส่งเสริมการจัดการขยะและของเสียอย่างเหมาะสม โดยการนำกลับมาใช้ประโยชน์ รวมทั้งนโยบายส่งเสริมการลงทุนด้วยหลักธรรมาภิบาล รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
อย่างไรก็ตาม การสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เกิดขึ้นได้จริงนั้น สิ่งสำคัญไม่ใช่เพียงการขับเคลื่อนของรัฐบาล แต่ภาคเอกชนและภาคประชาชนต้องมีส่วนร่วมด้วย โดยภาคเอกชนควรนำแนวคิดนี้ไปปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจ เพื่อสร้างการเติบโตของธุรกิจในระยะยาว ส่วนภาคประชาชนควรตระหนักถึงความสำคัญ และร่วมกันปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อให้ขยะชนิดต่างๆ และสิ่งที่เป็นผลพวงจากการอุปโภคบริโภคได้หมุนเวียนกลับมาใช้เป็นทรัพยากร เพื่อช่วยสร้างประเทศให้มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนอย่างแท้จริง
รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวถึงแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน สามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับทรัพยากรของโลกในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี เพราะเป็นการปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจแบบดั้งเดิมที่เป็นเพียงการนำทรัพยากรมาผลิต และจบที่ใช้แล้วทิ้ง (Take-Make-Dispose) ให้เป็นการรักษาคุณค่าของทรัพยากรให้มากที่สุด ด้วยการสร้างระบบที่เอื้อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และนำสินค้าที่ใช้แล้วกลับเข้าสู่กระบวนการผลิตได้อีก เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับสิ่งแวดล้อม สังคม และชุมชน
สำหรับการนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาประยุกต์ใช้ในเอสซีจีนั้น มีการขับเคลื่อนผ่าน 3 กลยุทธ์หลัก คือ
หนึ่ง Reduced material use และ Durability คือ การลดใช้ทรัพยากรในกระบวนการผลิต เช่น กระดาษลูกฟูก Green Carton ที่ใช้วัตถุดิบลดลงร้อยละ 25 แต่คงความแข็งแรงเท่าเดิม ทั้งยังทำให้ลูกค้าประหยัดต้นทุนในการขนส่งมากขึ้น และการลดการผลิตและการขาย single-use plastic ของเอสซีจี จากร้อยละ 46 เหลือร้อยละ 23 ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา รวมทั้งการช่วยให้ลูกค้าลดการใช้พลังงาน เช่น Active AIRflowTM System ระบบระบายอากาศที่ทำให้บ้านเย็นสบาย ไม่ร้อนอบอ้าว ประหยัดค่าไฟจากการใช้เครื่องปรับอากาศ และการเพิ่มความแข็งแรงทนทานของสินค้า เช่น ปูนโครงสร้างทนน้ำทะเล ที่มีอายุการใช้งานเพิ่มขึ้น 2 เท่า
สอง Upgrade และ Replace คือ การพัฒนานวัตกรรมเพื่อทดแทนสินค้าหรือวัตถุดิบชนิดเดิม ด้วยสินค้าหรือวัตถุดิบชนิดใหม่ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้ใช้ทรัพยากรน้อยลงหรือนำไปรีไซเคิลได้มากขึ้น เช่น เม็ดพลาสติกพอลิเอทิลีนจากเทคโนโลยีใหม่ของเอสซีจีที่สามารถนำพลาสติกรีไซเคิลมาผสมได้เพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า และปูนโครงสร้างเอสซีจีสูตร Hybrid ที่ใช้ทดแทนปูนโครงสร้างสูตรเดิม ทำให้ใช้วัตถุดิบหินปูนที่ต้องเผาน้อยลง
และสาม Reuse และ Recycle คือ การเพิ่มความสามารถในการหมุนเวียนสินค้าที่ใช้งานแล้วกลับมาใช้ใหม่ เช่น โรงอัดกระดาษ (Paper Bailing Station) เพื่อรวบรวมเศษกระดาษกลับมารีไซเคิล การนำขวดแก้วใช้แล้วมาทดแทนทรายธรรมชาติในการผลิตฉนวนกันความร้อน การพัฒนา CIERRATM ซึ่งเป็น Functional Material ที่ช่วยปรับคุณสมบัติพลาสติก ให้สามารถใช้พลาสติกเพียงชนิดเดียว (Single Material) แต่ให้คุณสมบัติที่หลากหลายกับบรรจุภัณฑ์ แทนการใช้วัสดุหลายชนิด (Multi Material) ซึ่งยากต่อการนำไปรีไซเคิล และการนำขยะพลาสติกในทะเลและชุมชนมาเป็นส่วนประกอบสำหรับทำบ้านปลาเพื่ออนุรักษ์ระบบนิเวศทางทะเล
“นอกจากนี้ เอสซีจียังสนับสนุนการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับทุกภาคส่วนทั้งในและต่างประเทศเพื่อสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนที่สมบูรณ์ โดยล่าสุดได้ร่วมมือทางด้านเทคโนโลยีกับกลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย ในการนำพลาสติกรีไซเคิลมาเป็นส่วนผสมในการทำถนนยางมะตอย เพื่อช่วยลดปัญหาขยะพลาสติกในทะเลและชุมชน ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของถนนจากคุณสมบัติของพลาสติก และช่วยลดการเกิดก๊าซเรือนกระจกจากการทำถนนได้
เอสซีจีหวังเป็นอย่างยิ่งว่างาน SD Symposium 2018 ในครั้งนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน รวมถึงส่งเสริมให้เกิดการขับเคลื่อนนวัตกรรม และกระบวนการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นรากฐานสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 ได้ต่อไป
“SD Symposium 2018” เป็นงานสัมมนาวิชาการว่าด้วยการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่เอสซีจีจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 5 เพื่อให้สาธารณชนตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาอย่างยั่งยืนในหัวข้อต่างๆ โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมกว่า 1,000 คน ทั้งผู้บริหารจากภาคราชการและเอกชนทั้งองค์กรขนาดเล็ก กลาง และใหญ่ นักวิชาการ เอ็นจีโอ สื่อมวลชนทั้งในและต่างประเทศ