สถาบันไทยพัฒน์ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดทำเอกสาร

นายยุทธพล ลาภละมูล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ภัทร จำกัด (บลจ. ภัทร) บริษัทในกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร

ปี ค.ศ.2020 ที่เริ่มต้นขึ้น ถือเป็นปีแรกเริ่มของทศวรรษ 2020 ที่โลกต้องเผชิญกับความท้าทายในหลายด้าน

นับตั้งแต่ที่ ไมเคิล อี พอร์เตอร์ ได้นำเสนอแนวคิดเรื่อง Creating Shared Value (CSV) ร่วมกับ มาร์ค เครเมอร์ ในปี พ.ศ.2554 ว่าเป็นบทบาทของภาคธุรกิจที่จะร่วมพัฒนาสังคมด้วยการนำทรัพยากรและความเชี่ยวชาญหลักขององค์กรมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการสร้างคุณค่าร่วมระหว่างองค์กรและสังคมควบคู่ไปพร้อมกัน ซึ่งมีความแตกต่างจากการขับเคลื่อน CSR ในรูปแบบเดิม จนในปัจจุบัน มีองค์กรธุรกิจที่ขานรับเอาแนวคิดดังกล่าวไปใช้กันอย่างแพร่หลายในทุกสาขาอุตสาหกรรม

สำหรับองค์กรที่ต้องการนำแนวคิด CSV เคลื่อนไปสู่ภาคปฏิบัติ ข้อแนะนำของไมเคิล อี พอร์เตอร์ และมาร์ค เครเมอร์ ที่ได้ให้ผ่านทางชุมชนนักปฏิบัติ “Shared Value Initiative” ซึ่งทั้งสองได้ร่วมกันก่อตั้งในปี พ.ศ.2555 มีจุดเริ่มต้นจากการสร้างให้เกิดสภาพแวดล้อมหรือเงื่อนไขสนับสนุนใน 3 ประการสำคัญ ได้แก่ การกำหนดเป็นข้อผูกมัดหรือข้อยึดมั่นในระดับองค์กร การจัดวางโครงสร้างพื้นฐานที่เปิดทางให้เกิดการขับเคลื่อน การเฟ้นหาและบ่มเพาะบุคลากรให้มีไฟและมีพลังนำการขับเคลื่อน

 

Source: Shared Value Initiative, Shared Value at the Enterprise Level: Conditions for an Enabling Environment, 2013.

แนวทางของการกำหนดเรื่องการสร้างคุณค่าร่วมให้เป็นข้อผูกมัดหรือข้อยึดมั่นในระดับองค์กร มีจุดที่เริ่มต้นได้จากการปรับเจตจำนงขององค์กรและการกำหนดวิสัยทัศน์ที่แสดงให้เห็นการคำนึงถึงคุณค่าร่วม การเชื่อมโยงความต้องการทางสังคมในประเด็นที่กำหนดเข้ากับกลยุทธ์ทางธุรกิจ และการสร้างให้เกิดเป็นวัฒนธรรมองค์กร

ส่วนการจัดวางโครงสร้างพื้นฐานที่เปิดทางให้เกิดการขับเคลื่อน CSV ในระดับองค์กร ประกอบด้วย การออกแบบโครงสร้างการดำเนินงานใหม่จากการพิจารณาภาวะความพร้อมของเงื่อนไขอื่นๆ ประกอบการแสวงหาหุ้นส่วนการทำงานร่วมกับองค์กรภายนอกซึ่งมีความเชี่ยวชาญจำเพาะในประเด็นทางสังคมนั้นๆ การพัฒนาหรือดัดแปลงกระบวนการธุรกิจ รวมถึงการสร้างระบบการวัดผลในเชิงคุณค่าร่วม

ในแง่ของการเฟ้นหาและบ่มเพาะบุคลากรให้มีไฟและมีพลังนำการขับเคลื่อนเรื่อง CSV มีข้อพิจารณาตั้งแต่การสร้างแรงจูงใจหรือให้สิ่งจูงใจในรูปแบบที่เหมาะสมแก่พนักงาน การพัฒนาบ่มเพาะความรู้ สมรรถภาพ และภาวะผู้นำ รวมถึงการเฟ้นหาบุคลากรที่มีความสามารถโดดเด่นในเรื่องดังกล่าวเข้ามาร่วมงาน

หลังจากที่ได้ดำเนินการจัดวางเงื่อนไขสนับสนุนและสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยให้เกิดขึ้นแล้ว ข้อพิจารณาต่อมา คือ การจัดวางองค์ประกอบที่ช่วยในการออกแบบความริเริ่มหรือแผนงานในการสร้างคุณค่าร่วม ซึ่งประกอบด้วย การพัฒนากรณีทางธุรกิจ การเข้าร่วมกับหุ้นส่วนดำเนินการภายนอก การกำหนดกิจกรรมและเม็ดเงินลงทุน การจัดโครงสร้างทรัพยากรในองค์กร การกำหนดตัวชี้วัดผลลัพธ์ทางธุรกิจและทางสังคม

การขับเคลื่อน CSV ควรเริ่มต้นจากการสำรวจและทำให้เกิดสภาพแวดล้อมหรือเงื่อนไขที่เอื้อต่อการลงมือปฏิบัติใน 3 ประการสำคัญ ได้แก่ การกำหนดให้ CSV เป็นข้อผูกมัดหรือข้อยึดมั่นในระดับองค์กร การจัดวางโครงสร้างพื้นฐานที่เปิดทางให้เกิดการขับเคลื่อน CSV การเฟ้นหาและบ่มเพาะบุคลากรให้มีไฟและมีพลังนำการขับเคลื่อน CSV

ทั้งนี้ การที่องค์กรจะสามารถจัดวางองค์ประกอบสำหรับความริเริ่มหรือแผนงานในการสร้างคุณค่าร่วม องค์กรจำเป็นที่จะต้องทราบหรือกำหนดระดับการสร้างคุณค่าร่วมที่ประสงค์จะดำเนินการ โดยพิจารณาจากความพร้อมของทรัพยากรและเงื่อนไขที่องค์กรมีอยู่ในขณะนั้นว่าสอดคล้องกับระดับที่เป็นการส่งมอบคุณค่าให้แก่สังคมโดยตรงผ่านทางตัวสินค้าและบริการ หรือเป็นการกำหนดบรรทัดฐานใหม่ในเรื่องผลิตภาพ โดยให้ความสำคัญกับประเด็นทางสังคมตลอดห่วงโซ่คุณค่า หรือเป็นการร่วมพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในท้องถิ่น เช่น การสร้างงาน การสาธารณสุข การศึกษา เศรษฐกิจชุมชน สวัสดิการสังคม

เมื่อองค์กรสามารถกำหนดระดับการสร้างคุณค่าร่วมที่จะดำเนินการ สิ่งที่จะต้องคำนึงถึงในขั้นต่อไป คือ การระบุตัวชี้วัดที่เป็นผลลัพธ์ทั้งในเชิงธุรกิจและในเชิงสังคมของความริเริ่มหรือแผนงานที่สอดคล้องกับระดับการสร้างคุณค่าร่วมที่เลือกดำเนินการ

Source: Shared Value Initiative, Measuring Shared Value: Common Initiative-Level Outcomes, 2013.

ตัวอย่างของคุณค่าทางธุรกิจที่ได้รับ ได้แก่ ยอดรายได้เพิ่มขึ้น ส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้น การเติบโตของตลาด ต้นทุนลดลง การมีแหล่งจัดหาที่มั่นคง ผลิตภาพดีขึ้น คุณภาพดีขึ้น โครงสร้างพื้นฐานสำหรับการกระจายสินค้าและบริการดีขึ้น ระดับการเข้าถึงแรงงานสูงขึ้น ขีดความสามารถในการทำกำไรสูงขึ้น

ตัวอย่างของคุณค่าทางสังคมที่ได้รับ ได้แก่ ยอดการใช้พลังงานลดลง ยอดการใช้น้ำลดลง ยอดการใช้วัตถุดิบลดลง ทักษะในการทำงานดีขึ้น รายรับของพนักงานดีขึ้น ระบบการดูแลผู้ป่วยได้รับการปรับปรุง ปริมาณรอยเท้าคาร์บอนลดลง โภชนาการที่ดีขึ้น การศึกษาที่ดีขึ้น การสร้างงานเพิ่มขึ้น สุขภาวะที่ดีขึ้น เป็นต้น

กรอบการขับเคลื่อน CSV ที่เป็นผลจากการประมวลเงื่อนไขหรือสภาพแวดล้อมที่องค์กรต้องทำให้มีขึ้น องค์ประกอบที่ใช้ในการออกแบบความริเริ่มหรือแผนงาน การกำหนดระดับการสร้างคุณค่าร่วมที่บูรณาการเข้ากับกลยุทธ์องค์กร และการกำกับการสร้างคุณค่าร่วมโดยใช้ตัวชี้วัดทั้งทางธุรกิจและทางสังคมควบคู่กัน สามารถแสดงได้ดังภาพ

Source: Thaipat Institute, Shared Value Framework, Aggregated from APS Network Training: London Cohort, 2013.

ในบริบทของการสร้างคุณค่าร่วม ตัวชี้วัดที่เป็นผลลัพธ์เชิงสังคมจะใช้เป็นตัวตัดสินใจหรือตอบโจทย์การลงทุนในความริเริ่มหรือแผนงานที่องค์กรได้ออกแบบเพื่อดำเนินการ โดยผลได้ในเชิงสังคมที่เกิดขึ้นจะใช้เป็นตัวเหนี่ยวนำให้เกิดผลลัพธ์ในเชิงธุรกิจตามมาด้วย

จะเห็นว่า การขับเคลื่อนการพัฒนาหรือแก้ไขปัญหาสังคมตามแนวคิด CSV จะมุ่งเน้นในเรื่องหรือประเด็นทางสังคมที่เปิดโอกาสให้เกิดการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรและความเชี่ยวชาญขององค์กร โดยมีการนำประเด็นปัญหาสังคมดังกล่าวมาใช้เป็นโจทย์ร่วมในการคิดค้นและพัฒนาแนวทางการดำเนินธุรกิจขององค์กร และให้ความสำคัญกับการทำงานร่วมกับภาคีหุ้นส่วนภายนอกเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และปรับปรุงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง


 

เรื่อง  ดร. พิพัฒน์ ยอดพฤติการ | ประธาน สถาบันไทยพัฒน์
----------------------------------------------
นิตยสารMBA ฉบับที่ 184 Jan - Feb 2015

แนวคิดของการสร้างคุณค่าร่วม (Creating Shared Value: CSV) เสนอให้ธุรกิจต้องสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจให้กับกิจการและสังคมไปพร้อมกันเพื่อความสำเร็จในระยะยาว

X

Right Click

No right click