×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 840

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 805

การสร้างคุณค่าร่วม หรือ CSV เป็นแนวคิดที่มีรากฐานมาจากเรื่อง CSR ที่ถูกปรับแต่งเพื่อให้ตอบโจทย์ทางกลยุทธ์ในการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจ เพื่อสร้างให้เกิดคุณค่าร่วมระหว่างองค์กรและสังคมไปพร้อมๆ กัน

กิจกรรมทางธุรกิจที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน มีทั้งที่เป็นการสร้างและการทำลายคุณค่า ส่งผลกระทบต่อผู้คนรอบข้างและสภาพแวดล้อมที่อยู่รายรอบ

จากข้อมูลการสำรวจ 2018 Global Sustainable Investment Review ของ Global Sustainable Investment Alliance (GSIA) ภาคีระดับโลก ที่ประกอบด้วย หน่วยงานสกุล SIF (Sustainable Investment Forum) และสมาคมของบรรดาผู้ลงทุนสถาบัน องค์กรธุรกิจ และนักวิชาชีพ ที่เน้นการลงทุนที่ยั่งยืน มีความรับผิดชอบ และมุ่งผลกระทบ ในประเทศต่างๆ ได้แก่ Eurosif (ยุโรป), JSIF (ญี่ปุ่น), RIAA (ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์), RIA Canada (แคนาดา), UKSIF (สหราชอาณาจักร), USSIF (สหรัฐอเมริกา) และ VBDO (เนเธอร์แลนด์) ระบุว่า ตัวเลขการลงทุนที่ยั่งยืนทั่วโลก มีเม็ดเงินเพิ่มขึ้นจาก 22.89 ล้านล้านเหรียญ ในปี พ.ศ. 2559 มาอยู่ที่ 30.68 ล้านล้านเหรียญ ในปี พ.ศ. 2561 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 34 ในช่วงเวลา 2 ปี

โดยการลงทุนในหมวดนี้ คิดเป็นร้อยละ 33 ของขนาดสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร (AUM) ทั้งหมด หรือเทียบอย่างง่าย คือ ในจำนวนเงินลงทุน 3 เหรียญ จะมีอยู่ราว 1 เหรียญ ที่เป็นการลงทุนที่ยั่งยืน แสดงให้เห็นถึงสัญญาณของเรื่องการลงทุนที่ยั่งยืนว่าได้เข้าสู่โหมดการลงทุนกระแสหลัก (Mainstream) โดยกลุ่มผู้ลงทุนรายใหญ่ประเภทสถาบัน อย่างมีนัยสำคัญ

เฉพาะตัวเลขการเติบโตของกลยุทธ์การลงทุนที่ใช้ข้อมูล ESG (Environmental, Social and Governance) ผนวกในการวิเคราะห์ ในปี พ.ศ. 2561 มีเม็ดเงินสูงถึง 17.54 ล้านล้านเหรียญ เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 69 เมื่อเทียบกับปี พ.ศ. 2559

แลร์รี่ ฟิงก์ ซีอีโอ แบล็กร็อก บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนใหญ่อันดับหนึ่งของโลก กล่าวไว้ว่า ในอีก 5 ปีข้างหน้า ผู้ลงทุนทุกราย จะประเมินมูลค่าบริษัท ด้วยการวัดผลกระทบของกิจการในเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG)

การใช้ปัจจัย ESG ในการวิเคราะห์เพื่อตัดสินใจลงทุน ร่วมกับการพิจารณา Risk-Return Profile ในแบบทั่วไป นอกจากจะทำให้ผู้ลงทุนสามารถคาดการณ์ผลประกอบการในอนาคตของบริษัทได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้ลงทุนเอง ในแง่ที่จะช่วยสร้างผลตอบแทน (Alpha) ที่เพิ่มขึ้น และช่วยลดความผันผวนของราคา (Beta) ของหลักทรัพย์ในพอร์ตการลงทุนแล้ว ยังทำให้การลงทุนนั้น ช่วยเสริมสร้างผลกระทบเพื่อเปลี่ยนแปลงโลก (Real World Impact) ในทางที่ดีขึ้นด้วย

เพื่อเป็นการตอบโจทย์การลงทุนที่ยั่งยืน พร้อมกับการสร้างผลตอบแทนการลงทุนที่มิได้ด้อยไปกว่าการลงทุนในแบบทั่วไป สถาบันไทยพัฒน์ โดยหน่วยงาน ESG Rating ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มพัฒนาข้อมูลด้านความยั่งยืนของธุรกิจในประเทศไทย ได้จัดทำและประกาศรายชื่อ 100 หลักทรัพย์จดทะเบียนที่มีการดำเนินงานโดดเด่นด้าน สิ่งแวดล้อม สังคม และ ธรรมาภิบาล เรียกว่ากลุ่มหลักทรัพย์ ESG100 เป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 2015 และได้มีการเก็บรวบรวมข้อมูลด้านความยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียนและดำเนินการต่อเนื่องมาเป็นปีที่ห้าในปีนี้

ภาพรวมกลุ่มหลักทรัพย์ ESG100 ปี ค.ศ. 2015-2019

การพิจารณาเพื่อคัดเลือกบริษัทจดทะเบียนเข้าในยูนิเวิร์ส ESG100 ได้ใช้ข้อมูล ESG ที่บริษัทเผยแพร่ในแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี (แบบ 56-1) ในหัวข้อความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) เป็นสำคัญ รวมถึงข้อมูล ESG ที่มีการเปิดเผยหรือปรากฏต่อสาธารณะ ในรายงานประจำปี (แบบ 56-2) หรือในรายงานแห่งความยั่งยืน (Sustainability Report) หรือในรายงานอื่น ตามแต่กรณี โดยไม่ใช้แบบสำรวจข้อมูลหรือแบบสอบถามใดๆ เพิ่มเติม

โดยการประเมินมุ่งไปที่การวิเคราะห์ข้อมูล ESG แบบบูรณาการ ผนวกเข้ากับข้อมูลทางการเงิน ที่เรียกว่า Integrated ESG เพื่อให้สะท้อนผลตอบแทนการลงทุนหรือตัวเลขผลประกอบการที่สัมพันธ์กับการดำเนินงานด้าน ESG ของบริษัท ด้วยองค์ประกอบสำคัญ 3 ส่วน คือ การวิเคราะห์อุตสาหกรรม กลยุทธ์องค์กร และรายงานทางการเงิน

การประเมิน ESG แบบบูรณาการ เป็นการยกระดับจากการวิเคราะห์ข้อมูลด้าน ESG แบบเอกเทศ มาสู่การวิเคราะห์ข้อมูลการดำเนินงานด้าน ESG ที่เชื่อมโยงสัมพันธ์กับผลประกอบการ ทั้งนี้ เพื่อตอบโจทย์ผู้ลงทุนในมิติของการลงทุนที่ยั่งยืนว่า บริษัทที่มี ESG ดี จะสามารถสร้างผลตอบแทนการลงทุนที่ดีด้วย

และเพื่อให้เห็นถึงความสามารถในการให้ผลตอบแทนของการลงทุนที่ยั่งยืนจากหลักทรัพย์จดทะเบียนในประเทศไทย โดยใช้กลุ่มหลักทรัพย์ ESG100 เป็นยูนิเวอร์สการลงทุนที่ยั่งยืน สถาบันไทยพัฒน์ ได้จัดทำ Thaipat ESG Index หรือ ดัชนี อีเอสจี ไทยพัฒน์ สำหรับใช้เป็นดัชนีเปรียบเทียบผลตอบแทนจากการลงทุน (Benchmark Index) และสามารถใช้เป็นดัชนีอ้างอิงสำหรับการลงทุน (Investable Index) ในผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่างๆ ที่ให้ความสำคัญกับหลักทรัพย์ ESG100 ที่ผ่านเกณฑ์สภาพคล่องหลักทรัพย์ เพื่อให้มีสภาพคล่องเพียงพอต่อการซื้อขาย เหมาะสมต่อการนำมาคำนวณในดัชนี เพื่อใช้อ้างอิงสำหรับการออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ชุดดัชนี อีเอสจี ไทยพัฒน์ ที่จัดทำขึ้น ประกอบด้วย ดัชนีผลตอบแทนราคา (Price Return) อีเอสจี ไทยพัฒน์ ดัชนีผลตอบแทนรวม (Total Return) อีเอสจี ไทยพัฒน์ และดัชนีผลตอบแทนรวมสุทธิ (Net Total Return) อีเอสจี ไทยพัฒน์ โดยมี S&P Dow Jones เป็นผู้คำนวณและเผยแพร่ข้อมูลดัชนี ผ่านหน้าจอ Bloomberg และ Reuters ให้แก่ผู้ลงทุนทั่วโลก

ดัชนีผลตอบแทนรวม อีเอสจี ไทยพัฒน์ เป็นดัชนีที่คำนวณผลตอบแทนที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงราคาหลักทรัพย์ที่ลงทุน และเงินปันผล โดยมีสมมติฐานว่า เงินปันผลที่ได้รับนี้จะถูกนำกลับไปลงทุน (Reinvest) ในหลักทรัพย์ที่เป็นองค์ประกอบของดัชนี (มิใช่เฉพาะหลักทรัพย์ที่จ่ายปันผล)

เปรียบเทียบผลตอบแทนระหว่าง Thaipat ESG Index (TR) กับ SET TRI, SET100 TRI และ SET50 TRI

จากการคำนวณผลตอบแทนรวมโดยใช้ข้อมูลตั้งแต่วันฐานของดัชนี อีเอสจี ไทยพัฒน์ (30 มิ.ย. 58) จนถึงวันที่ 11 มิ.ย. 62 เทียบกับดัชนีผลตอบแทนรวมตลาดหลักทรัพย์ (SET TRI) ดัชนีผลตอบแทนรวม SET100 (SET100 TRI) และดัชนีผลตอบแทนรวม SET50 (SET50 TRI) พบว่า ดัชนีผลตอบแทนรวม อีเอสจี ไทยพัฒน์ ให้ผลตอบแทนอยู่ที่ 32.69% ขณะที่ SET TRI ให้ผลตอบแทนอยู่ที่ 26.09% ส่วน SET100 TRI ให้ผลตอบแทนอยู่ที่ 26.48% และ SET50 TRI ให้ผลตอบแทนอยู่ที่ 27.18%

การเปิดเผยกลุ่มหลักทรัพย์ ESG100 และการจัดทำชุดดัชนี อีเอสจี ไทยพัฒน์ ถือเป็นพัฒนาการของการเผยแพร่ข้อมูลด้าน ESG ของหลักทรัพย์จดทะเบียน และข้อมูลดัชนีอ้างอิงสำหรับการลงทุนให้แก่ผู้ลงทุน เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุนในบริษัทที่มีการดำเนินงานโดดเด่นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ควบคู่กับข้อมูลผลประกอบการทางการเงิน อันจะนำไปสู่การสร้างผลตอบแทนจากการลงทุน การส่งเสริมธรรมาภิบาลของบริษัท และการดูแลรับผิดชอบสังคมและสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน


เรื่อง  ดร. พิพัฒน์ ยอดพฤติการ | ประธาน สถาบันไทยพัฒน์

ความยั่งยืน (Sustainability) ถูกจัดให้เป็นวาระของการพัฒนาในทุกระดับ โดยในระดับโลกมีการกำหนดเป็นเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ไว้ 17 ข้อ

บทความ CSV ตอนนี้ จะพาท่านไปรู้จัก การระบุโอกาสดำเนินการสู่แนวทางการสร้างคุณค่าร่วม หรือ Shared Value Opportunity Identification (SVOI) โดยมีจุดมุ่งหมายในการค้นหาประเด็นสำคัญที่สามารถนำมาดำเนินการสู่แนวทางการสร้างคุณค่าร่วม และริเริ่มกิจกรรมซึ่งมีศักยภาพที่จะพัฒนาต่อยอดตามแนวทางการสร้างคุณค่าร่วม

 

การให้ความช่วยเหลือในบริบทของ CSR (Corporate Social Responsibility) ที่ผ่านมา มักเป็นการบริจาคเพื่อการกุศลในรูปของการให้เงินหรือวัตถุสิ่งของ ซึ่งถือเป็นจุดนำเข้าในกระบวนการทำงานร่วมกับชุมชนหรือผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มเป้าหมาย แต่ผลที่เกิดขึ้นจากการทำงานโดยอาศัยการให้เงินหรือวัตถุสิ่งของโดยลำพัง อาจเป็นความสัมพันธ์ในลักษณะที่ต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากภายนอกตลอดเวลา หรืออาจกลายเป็นความสัมพันธ์ในทางลบ หากการให้นั้นจำต้องยุติลงในวันใดวันหนึ่งข้างหน้า

 

ความจำเป็นในการหาแนวทางการให้ความช่วยเหลือเชิงกลยุทธ์ จึงเป็นสิ่งที่ถูกพัฒนาขึ้น สำหรับองค์กรธุรกิจที่ต้องการผลสัมฤทธิ์ที่เป็นความยั่งยืนจากการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคม โดยคำนึงถึงต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายในการส่งมอบผลประโยชน์นั้น เพราะหากต้นทุนค่าใช้จ่ายสูงกว่าประโยชน์ที่ส่งมอบ คุณค่าสุทธิที่เกิดขึ้นจะติดลบ และสะท้อนให้เห็นถึงการขาดประสิทธิภาพในการดำเนินงาน ชุมชนหรือผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มเป้าหมายพลอยเสียโอกาสในการได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานอื่นที่มีประสิทธิภาพกว่า

 

ทำให้การประยุกต์ใช้ความถนัดความเชี่ยวชาญของหน่วยงาน และการใช้โครงข่ายธุรกิจสนับสนุนการทำงานของชุมชนหรือผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มเป้าหมาย ในลักษณะที่ก่อให้เกิดการสร้างคุณค่าร่วมระหว่างธุรกิจและสังคม จึงเป็นเงื่อนไขสำคัญของ CSV ซึ่งสร้างให้เกิดเป็นความแตกต่างในการดำเนินงานเหนือองค์กรอื่น จนนำไปสู่การยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันในระยะยาวของกิจการ

วิธีการระบุโอกาสดำเนินการสู่แนวทางการสร้างคุณค่าร่วม (SVOI) ประกอบด้วยกระบวนการใน 4 ขั้นตอน ได้แก่ 1. ทบทวนรูปแบบการให้ความช่วยเหลือที่ดำเนินอยู่ หรือ Review Existing Investments 2. พัฒนาภูมิภาพของประเด็น หรือ Develop a Landscape of Issues 3. คัดกรองประเด็นที่มีศักยภาพต่อการสร้างคุณค่าร่วม หรือ Screen Issues for Shared Value Potential และ 4. จัดลำดับความสำคัญในโอกาสดำเนินการสู่แนวทางการสร้างคุณค่าร่วม หรือ Prioritize Shared Value Opportunities

 

กิจกรรมในขั้นตอนการทบทวนรูปแบบการให้ความช่วยเหลือที่ดำเนินอยู่ ประกอบด้วย การสัมภาษณ์ผู้ที่ริเริ่มแผนงาน/โครงการ/กิจกรรมการให้ความช่วยเหลือในแต่ละความริเริ่ม (Initiatives) ที่ดำเนินอยู่ในปัจจุบัน การประเมินการดำเนินความริเริ่มที่สามารถรวบรวมข้อมูลได้ โดยพิจารณาจากคุณค่าทางธุรกิจและทางสังคมที่ได้รับ การประมวลและหารือถึงข้อค้นพบจากการประเมิน ร่วมกับคณะทำงานขององค์กร

 

กิจกรรมในขั้นตอนการพัฒนาภูมิภาพของประเด็น ประกอบด้วย การหารือกับผู้บริหารระดับสูงในประเด็นที่เป็นความสำคัญยิ่งยวดทางธุรกิจและเชื่อมโยงกับประเด็นทางสังคม การวิเคราะห์ความเชื่อมโยงระหว่างประเด็นทางธุรกิจและประเด็นทางสังคมตามที่ได้รับข้อมูลจากการหารือกับผู้บริหารระดับสูง และการจัดทำรายการประเด็นที่มีศักยภาพต่อการสร้างคุณค่าร่วม

 

กิจกรรมในขั้นตอนการคัดกรองประเด็นที่มีศักยภาพต่อการสร้างคุณค่าร่วม ประกอบด้วย การนำรายการประเด็นที่ถูกระบุว่ามีศักยภาพต่อการสร้างคุณค่าร่วม มาพิจารณาโดยใช้เกณฑ์คัดกรองหลัก และการใช้เกณฑ์คัดกรองเสริมในการกลั่นกรองประเด็นเพิ่มเติม (ถ้าจำเป็น)

 

กิจกรรมในขั้นตอนการจัดลำดับความสำคัญในโอกาสดำเนินการสู่แนวทางการสร้างคุณค่าร่วม ประกอบด้วย การจัดทำเค้าโครงกิจกรรมซึ่งมีศักยภาพที่จะพัฒนาได้ พร้อมผลลัพธ์ทางธุรกิจและทางสังคมที่คาดว่าจะได้รับ และการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อร่วมกันกำหนดโอกาสดำเนินการสู่แนวทางการสร้างคุณค่าร่วมใน 2-3 กิจกรรม โดยสิ่งที่เป็นผลลัพธ์จากกระบวนการระบุโอกาสดำเนินการสู่แนวทางการสร้างคุณค่าร่วม คือ ประเด็นสำคัญที่สามารถนำมาดำเนินการสู่แนวทางการสร้างคุณค่าร่วม และกิจกรรมซึ่งมีศักยภาพที่จะพัฒนาได้ตามแนวทางการสร้างคุณค่าร่วมธุรกิจที่ดำเนินการมาถึงขั้นนี้ จะทำให้ได้มาซึ่งการตราคุณค่าร่วม (Shared Value Proposition) ที่เป็นอัตลักษณ์ของกิจการ จากการประเมินโอกาสและความท้าทายทางธุรกิจ ประเด็นทางสังคมที่อยู่ในความสนใจขององค์กร และสินทรัพย์และความเชี่ยวชาญที่สามารถนำมาใช้ และจะถูกนำไปใช้เป็นข้อมูลตั้งต้นสำหรับการออกแบบความริเริ่มแห่งคุณค่าร่วม (Shared Value Initiatives) ที่ก่อให้เกิดผลลัพธ์การดำเนินงานทั้งในทางธุรกิจและในทางสังคมไปพร้อมกันในระยะถัดไป

 


เรื่อง : ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ  ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์

 

X

Right Click

No right click