January 22, 2025

ร้านอาหารออนไลน์

October 11, 2019 2558

“หิวกันแล้วใช่ไหมครับ ออนไลน์กันดีกว่าว่ามื้อนี้จะกินอะไรดี” คำพูดนี้คงไม่ใช่สิ่งใหม่อีกต่อไปแล้วสำหรับ พ.ศ. นี้

ยุคที่การตลาดแบบออนไลน์สามารถเข้าถึงได้ง่ายๆ ผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ หรือแม้แต่ทางโทรทัศน์แบบสมาร์ตทีวี ในบ้านเรา

เมื่อพูดถึงอุตสาหกรรมอาหาร สิ่งที่เกี่ยวข้องผลักดันให้อุตสาหกรรมนั้นเติบโตอย่างยั่งยืนได้นั้น มีหลายประการมาก ตั้งแต่เรื่องกฎหมาย มาตรฐาน จากภาครัฐและเอกชน, ภาคการศึกษา, การค้นคว้าและวิจัย, การสนับสนุนด้านการเงินการลงทุน, การผลิตส่วนต้นน้ำคือการส่งเสริมการเพาะปลูกที่เป็นระบบ, การแปรรูปอาหาร, การตลาด, การขายและกระจายสินค้า, ไปจนถึงการขายปลึก ซึ่งการจะทำให้ประเทศไทยเป็นเจ้าแห่งอุตสาหกรรมอาหารได้นั้นคงต้องมีการสนับสนุนในทุกส่วนอย่างจริงจัง

การขายอาหารออนไลน์นั้น เป็นช่องทางหนึ่งที่มีประสิทธิภาพมากในปัจจุบัน ไม่ต่างกับการขายของอื่นๆ ทางอินเทอร์เน็ต แต่ทว่า อะไรบ้างหละที่จะทำให้ร้านอาหารออนไลน์ของเรานั้นประสบความสำเร็จ หรือไม่ประสบความสำเร็จกัน เรื่องนี้เราลองมาดูแนวปฏิบัติจากร้านหรือเว็บไซต์ที่ประสบความสำเร็จกันดู

เมื่อพูดถึงอาหารอร่อยเราจะนึกถึงแม่ครัวที่พิถีพิถัน เตรียมเครื่องปรุงอย่างดี ลงมือทำอย่างประณีต เพื่อให้เราได้กินอาหารที่อร่อยและประทับใจที่สุด การเปิดร้านออนไลน์ขายอาหารเองก็เช่นกัน ควรจะมีความรู้สึกแบบนี้ใส่ลงไปซึ่งเป็นจุดหนึ่งที่สำคัญของเว็บไซต์ขายอาหาร ที่แตกต่างจากเว็บขายของอื่น และยังสามารถบ่งบอกความแตกต่างของอาหารที่เราขายว่าต่างจากอาหารของคนอื่นยังไงด้วย

ปัจจัยแรกของการขายอาหารออนไลน์ จะแตกต่างจากการขายอาหารในร้านทั่วไปนิดหน่อยคือ หน้าตาของอาหารนั้นต้องมาก่อน เพราะลูกค้า ไม่สามารถจะได้กลิ่นหรือชิมรสผ่านออนไลน์ได้ หน้าตาของอาหารนั้นต้องสร้างความอยากกิน อยากลองให้กับคนที่เข้าชมเว็บไซต์เป็นอันดับแรก ซึ่งไม่ได้เฉพาะแค่รูปของอาหาร แต่เป็นลักษณะของเว็บไซต์ด้วย ต้องออกแบบมาให้รู้สึกน่ากิน ตัวอย่างลองดูง่ายๆ จากเมนูอาหารหรือโฆษณาที่เป็นกระดาษตามร้านทั่วไปดู ว่าแบบไหนที่ทำให้เห็นแล้วหิวได้ ก็ลักษณะเดียวกันนั่นแหละ โดยคำแนะนำของเรื่อง ความน่ากินนี่ อันดับแรกคือ รูปใหญ่และสวยที่สุด ถ้าเป็นไปได้ก็จ้างช่างภาพอาหาร ซึ่งช่างภาพเองก็จะเป็นที่รู้กันว่าการถ่ายภาพอาหารนั้น เป็นเรื่องเฉพาะทางและยาก ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญพอสมควรเลยทีเดียว แต่ก็เรียกได้ว่ารูปอาหารนี่แหละที่จะสร้าง “ความแตกต่าง” ให้กับร้านหรือสินค้าของคุณได้

ประการต่อมาคือ ตัวหนังสือและข้อความ ต้องอ่านแล้วหิว อ่านแล้วน้ำลายไหล มีศิลปะในการเขียน มีลูกเล่น ตามหลักจิตวิทยาแล้ว ตัวใหญ่และตัวหนาจะเรียกร้องความสนใจให้อ่านก่อน แล้วค่อยใส่รายละเอียดในตัวเล็ก

ข้อสำคัญต่อมาคือเว็บขายอาหารควร “สะอาด” เรียบง่ายไม่รก โดยเทรนด์การออกแบบปีนี้คือ การออกแบบที่แบน หรือ Flat Design การใช้รูป สีสันจะเรียบ ไม่ต้องมีมิติ แบน ง่าย ช่วยให้รู้สึกถึง ความสะอาด บริสุทธิ์ เช่นเดียวกับ อาหารที่เราต้องการอาหารที่สะอาด ไม่แต่งเติม ไม่มีพิษภัย ตัวอย่างง่ายๆ ที่เห็นกันคือรูปแบบหน้าจอ ไอคอนต่างๆ ของไอโฟนรุ่นใหม่ที่ใช้กันอยู่นี่แหละครับเรียกว่าแฟลตดีไซน์

ส่วนเรื่องลูกเล่น ก็เป็นธรรมดาของการออกแบบเว็บไซต์ สำหรับเว็บอาหารนั้น เมื่อเราต้องการออกแบบให้เรียบง่าย เน้นรูป ใช้คำพูดสั้นๆ แต่น่าสนใจ ส่วนของรายละเอียดอื่นๆ นั้นเราสามารถใช้เจ้าลูกเล่นทางเทคนิคเพิ่มเติมเข้าไปได้เช่น การใช้ กรอบลอยขึ้นมาเมื่อมีการนำเมาส์หรือมือไปแตะแสดงรายละเอียดอาหารเพิ่มขึ้น เป็นต้น หรือใช้แสดงข้อความที่ลูกค้าของเรามักจะสงสัยหรืออยากถามคำถามนั้นบ่อยๆ ให้เหมือนกับ มีการโต้ตอบกับลูกค้าได้เกี่ยวกับสินค้านั้น ทำให้เพิ่มความอยากซื้ออีก เช่นอันนี้มันเนื้ออะไร หรือ รสเผ็ดหรือเปล่า มีเนื้อไก่หรือหมู ซึ่งอาจจะเป็นคำถามพบบ่อยในเมนูหรือรูปอาหารที่เราขายเมนูนั้น

การใช้สีสันของเว็บอาหารก็ควรเลือกใช้ให้เหมาะสม มีงานวิจัยว่าสีที่มีผลเชิงบวกต่อความอยากอาหารคือ แดง เขียว เหลือง และน้ำตาล ซึ่งเป็นสีหลักที่มักเจอในจานอาหารที่เรากินกันนั่นเอง แต่อย่างไรก็ตามไม่ได้หมายความว่าจะต้องจำกัดเพียงสีแค่นี้แต่ให้มองเหมือนการจัดจานอาหารซักจานก็แล้วกันว่า สีสันมันน่ากินหรือน่าซื้อหรือเปล่า เช่นเน้นการใช้สีจากอาหารที่เราขายเป็นสีหลัก เช่นขายกาแฟ ก็อาจจะออกโทนน้ำตาล เป็นต้น

ข้อต่อมาสำคัญมากสำหรับเว็บขายของทั่วไปรวมถึงการขายอาหาร คือการมีพื้นที่แสดงยอดการซื้อของลูกค้าไว้ตลอดเวลา ทำให้คนซื้อเลือกซื้อได้ตามงบที่ตั้งไว้ไม่ต้องย้อนไปกลับเพื่อยกเลิกหรือซื้อเพิ่มอีก

มีตัวอย่างของเว็บขายอาหารมากมายที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งเจ้าของเว็บก็ควรหมั่นเข้าไปดูเพื่อได้ไอเดียมาปรับใช้กับเว็บตนเองบ้างในเรื่องของรูปแบบการนำเสนอ การใช้งาน ลูกเล่นต่างๆ

เรื่องสำคัญอีกเรื่องคือการทำให้เว็บของเรานั้น ฮิตเข้าถึงลูกค้าของเราให้ได้มากที่สุด ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุดคือ เนื้อหาในเว็บนั่นเองที่จะทำให้เข้าถึงลูกค้าเฉพาะกลุ่มที่เจ้าของร้านตั้งเป้าหมายไว้ได้ ตั้งแต่การตั้งชื่อหรือเลือกใช้คำอธิบายที่เฉพาะเจาะจงกับสินค้านั้นไปเลยย่อยดีกว่า การตั้งชื่อที่กว้างในหนึ่งหน้าเว็บไซต์ เช่น แทนการใช้คำว่าขนมไทย เป็นคำค้น อาจจะไม่ดีเท่าการใช้ชื่อเฉพาะไปเลยว่าขนมหม้อแกง ถ้าสินค้าหลักในหน้าเว็บไซต์นั้นคือขนมหม้อแกงเป็นต้น ซึ่งชื่อ หรือคำต้นพวกนี้มีผลต่อการเข้าถึง หากมีสินค้าหลากหลายที่เป็นสินค้าหลักของร้าน ก็ควรแยกอยู่คนละหน้าและกำหนดคำค้นหลักแยกกันไป จะเพิ่มการเข้าถึงสินค้าหลักได้ง่ายกว่า

 

ข้อมูลเขียนบนเว็บไซต์ต้อง มีเอกลักษณ์ ไม่ซ้ำหรือคัดลอกจากที่อื่น และมีความละเอียดพอที่จะให้ลูกค้าอ่านแล้วเข้าใจลักษณะของอาหารที่เรานำเสนอหรือแม้แต่รสชาติผ่านทางการอ่านประกอบกับภาพที่มี เช่น ขนาดใหญ่แค่ไหน มีกี่ชิ้น รสชาติอย่างไร เนื้อสัมผัสเป็นแบบไหน และที่สำคัญควรมีการเชื่อมโยงหรือรวมหน้าเว็บแสดงบทความเกี่ยวกับสินค้าไว้เช่น การรีวิวอาหาร สูตรการทำ คำนิยมของลูกค้า หรือ ส่วนโฆษณาสินค้าใหม่ ไปจนถึงข้อมูลอื่นๆ เช่นการไปออกงานจัดแสดงสินค้า ที่เป็นที่สนใจของลูกค้า เพื่อให้ลูกค้าสามารถค้นหาเข้าถึงเว็บไซต์ได้จากแง่มุมในการบริโภค เช่น เขาอาจจะค้นเจอจากการค้นผ่านชื่อผู้รีวิว หรือสูตรอาหารที่ใกล้เคียง หรือจากชื่อดาราที่มาชิม หรือชื่องานที่เคยไปออกร้านเป็นต้น

และสุดท้ายของกลวิธีคือการทำให้มีนักเขียนนักวิจารณ์มาพูดถึง เช่นมีความร่วมมือกับ เว็บไซต์ นักเขียนวิจารณ์ บล็อกเกอร์ ที่คนทานหรือกลุ่มเป้าหมายมักเข้าไปอ่าน แจกคูปองชิมฟรี ส่วนลด เป็นต้น

ปัจจุบันในไทยเองการใช้งานเว็บไซต์ขายอาหารที่มีความนิยมสูงสุดก็คงหนีไม่พ้น บริการของอาหารจานด่วนที่มีเป็นที่รู้จักอยู่แล้วต่อยอดมาจากบริการส่งสินค้าถึงบ้าน เช่นสินค้าตระกูลพิซซ่า หรือไก่ทอด แฮมเบอร์เกอร์ ตามด้วยบริการของร้านอาหารที่มีชื่อเสียงอยู่แล้ว ที่เพิ่มบริการส่งสินค้า สั่งผ่านเว็บไซต์เข้าไป

ในส่วนของร้านอาหารทั่วไปที่ไม่มีหรือไม่เน้นการส่งอาหารตามบ้านก็ต้องพึ่งการรีวิวหรือการพูดถึงในแหล่งชุมชนออนไลน์ เว็บไซต์กระทู้แสดงความเห็นที่มีห้องสนทนาด้านอาหารการกิน หรือเว็บไซต์รวบรวมรายชื่อร้านอาหารต่างๆ ที่แนะนำโดยเจ้าของเว็บไซต์เอง หรือเปิดโอกาสให้คนใช้งานมาเป็นคนแนะนำอาหาร ซึ่งก็ล้วนเป็นช่องทางที่สำคัญในการนำผู้ซื้อให้มาเจอกับผู้ขาย ลดช่องว่างในการเดินทางและเวลาในการค้นหาสิ่งที่ต้องการกินไปได้เยอะ และทำให้ลูกค้านั้นมีส่วนร่วมในการแนะนำอาหารที่ตนชอบให้กับคนอื่น รวมถึงการใช้ช่องทางสังคมเครือข่ายอย่างเฟซบุ๊ก ไลน์ หรือ Instagram แทนเว็บไซต์เพราะมีความง่ายในการเข้าถึงและเพิ่มเติมจัดการเนื้อหา รูปภาพบนเว็บ หรือแม้แต่โต้ตอบกับลูกค้าได้ง่ายกว่าการใช้เว็บไซต์ทั่วไปและไม่เสียค่าบริการ

พระพุทธเจ้าสอนให้เรารู้ว่าอาหารนั้นแบ่งเป็นสี่ประเภท คือ อาหารที่รับประทานเข้าร่างกาย อาหารที่รับรู้ทางตา หู จมูก กายสัมผัส อาหารที่รับรู้ด้วยอารมณ์ และอาหารที่รับรู้ทางจิต อาหารที่สั่งได้ทางเว็บไซต์จัดเป็นอาหารประเภทแรกที่ก็ควรบริโภคอาหารด้วยสติปัญญา ไม่บริโภคด้วยกิเลสตัณหา ซึ่งจะนำพาให้ถึงทุกข์ในภาคหน้า คือ ป่วยไข้ ส่วนอาหารสามประการหลังนั้นก็จำเป็นอย่างยิ่งยวดต่อการเป็นมนุษย์มาก แม้จะไม่มีขายบนเว็บไซต์แต่ก็หาได้ทางเว็บไซต์เหมือนกันในปัจจุบัน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องบริโภคกันอย่างระมัดระวังและมีสตินะครับ


เรื่อง : ดร.พิษณุ คนองชัยยศ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์
คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

-----------------------

นิตยสารMBA ฉบับที่ 178 July-August 2014

 

 

Rate this item
(0 votes)
Last modified on Thursday, 17 October 2019 06:55
X

Right Click

No right click