September 19, 2024

e - Money มาแล้ว

October 18, 2019 3093

ระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์หรือที่เรียกกันว่า อีมันนี่ นั้นไม่ใช่สิ่งใหม่ในวงการไอที แต่ว่าการใช้งานจริงๆ ในชีวิตประจำวันนั้นเรียกได้ว่ายังไม่แพร่หลายนัก อย่างไรก็ตามในอนาคตอันใกล้นี้ เราอาจจะได้เห็นหรือได้ใช้งานเจ้าอีมันนี่กันจริงจังซะที

อีมันนี่ หรือเงินอิเล็กทรอนิกส์นี้จริงๆ แล้วคือระบบจัดเก็บมูลค่าของเงินในรูปแบบของดิจิทัล ซึ่งสามารถนำไปโอน หรือชำระมูลค่าของสินค้าและบริการได้เช่นเดียวกับเงินสดต่างกับการใช้จ่ายเงินคือมันจะมีการบันทึกประวัติการเงิน อย่างครบถ้วนไม่ขาดตกบกพร่อง

ระบบเงินอิเล็กทรอนิกส์นั้นจะมีความเกี่ยวข้องกับระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์อย่างชัดเจน กล่าวคือธุรกรรมทางการเงินทั้งหมดจะต้องทำผ่านระบบเครือข่ายหรือระบบเน็ตเวิร์กที่เราเรียกกันไม่ว่าจะเป็นการฝากเงินเข้าผ่านทางธนาคาร การโอนเงิน การฝากเงินเพิ่มเข้าในบัญชีแบบไม่ผ่านธนาคาร การชำระเงิน รวมถึงเรื่องการแลกอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงิน

จากกระแสการเปิดตัวของ iPhone6 ซึ่ง มีการพูดถึง Apple Pay หรือระบบเงินอิเล็กทรอนิกส์ของแอปเปิล ที่บางคนอาจจะบอกว่าลอก Google Wallet มา ไม่น่าจะมีอะไรใหม่ ดูเผินๆ อาจจะใช่ แต่เมื่อขุดลึกเข้าไปถึงกระบวนการทำงานแล้วจะพบว่า Apple Pay นั้นมีอะไรใหม่ๆ ในระดับที่จะเปลี่ยนวงการใช้จ่ายเงินอิเล็กทรอนิกส์ผ่านทางโทรศัพท์มือถือได้เลยทีเดียว

สาเหตุที่พูดได้ว่า แอปเปิลเพย์ จะเข้ามาพลิกวงการก็เพราะ ตามปกติแล้วปัญหาหลักของการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์คือเรื่องความปลอดภัยของข้อมูลที่ต้องส่งผ่านระบบเน็ตเวิร์กนี่เอง ในส่วนของระบบเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่อยู่บนเว็บไซต์เช่น PayPal, eCash, WebMoney, Payoneer, cashU, หรือ Hub Culture's Ven ใช้การขายสกุลเงินอิเล็กทรอนิกส์ให้กับลูกค้าโดยตรงหรือผ่านองค์กรกลาง แล้วทำการซื้อขายแลกเปลี่ยนในตัวระบบของบริษัทเอง

ในขณะที่บางเจ้าอย่าง Bitcoin จะใช้สกุลเงินคริปโต (Cryptocurrencies) ที่ทำการเข้ารหัสความปลอดภัยของข้อมูลการเงินไว้แล้วให้ลูกค้าชำระค่าบริการโดยตรงกับเจ้าของสินค้าหรือบริการโดยตรงโดยใช้ข้อมูลที่เข้ารหัสแบบที่กำหนดให้

ในส่วนของระบบที่ชำระด้วยอุปกรณ์มือถือจะมีลักษณะเฉพาะเหมือนกับการใช้เงินจริงในกระเป๋าเงินของตัวเอง คือจะใช้การแตะ นอกเหนือจากเอามือถือมากดชำระเงินผ่านเว็บไซต์ โดยการแตะมือถือกับอุปกรณ์อ่านข้อมูล โดยจะส่งข้อความสั้นๆ ผ่านเทคโนโลยีที่เรียกว่า เอ็นเอฟซี (NFC)

ที่ผ่านมาอุปสรรคที่ทำให้เจ้ากระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์หรือการจ่ายเงินโดยใช้มือถือไปแตะ แทนบัตรเติมเงินหรือจ่ายทางอินเทอร์เน็ต ก็คือปัญหาความปลอดภัย เพราะการสื่อสารผ่าน NFC นั้นไม่มีความปลอดภัยเอาเสียเลย สามารถถูกดักข้อมูลกลางทางได้ง่ายๆ หรือ สามารถปลอมเครื่องอ่านให้จ่ายเงินเข้ากระเป๋าผู้ปลอมแปลงก็ได้ เช่นเดียวกับข่าวเกี่ยวกับการดักอ่านข้อมูลจากบัตรเอทีเอ็มที่ผ่านหูผ่านตากันเป็นประจำ

แม้ว่าจะมีผู้เสนอให้ใช้ควบคู่กับการเก็บเก็บข้อมูลบัตรเครดิตไว้ที่เครื่องแม่ข่าย แล้วมีการเช็กความปลอดภัยหลายขั้นตอนขึ้น ผู้ใช้เองก็มังไม่มั่นใจเท่าไหร่ว่าข้อมูลเหล่านี้จะโดนล้วงไปเมื่อไหร่ (ขนาดรูปโป๊ดารา หรือ พาสเวิร์ดอีเมลในบริการชื่อดังระดับโลกยังโดนล้วงไป)

ด้วยเหตุนี้ NFC payment ถึงยังไม่เกิดซักที แต่ Apple สามารถคิดระบบที่ตอบปัญหาทั้งหมดได้ แถมเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้ใช้มากกว่าใช้บัตรเครดิตรูดซะอีก พูดไปหาว่าโม้ เรามาดูกระบวนการทำงานกันเลยดีกว่า

ระบบที่แอปเปิลนำเสนอใหม่นั้นจะเริ่มจากถ่ายภาพของบัตรเครดิตด้วยกล้อง ข้อมูลบัตรเครดิตจะถูกเก็บไว้ในชิปหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เล็กๆ ในเครื่องไอโฟน 6 ที่เรียกว่า Secure Element หรือชิปพิเศษเพื่อความมั่นคงปลอดภัย ซึ่งจะทำการเข้ารหัสข้อมูลด้วย hardware ซึ่งถ้ามีผู้ไม่หวังดีมาแงะเครื่องหวังเอาข้อมูลบัตรเครดิต ตัวชิปก็จะทำลายข้อมูลตัวเองทิ้ง หรือถ้าเราทำมือถือหาย ก็สามารถสั่งล้างข้อมูลในชิป Secure Element จากระยะไกลได้ เรียกได้ว่าข้อมูลตรงนี้ปลอดภัยกว่าบัตรที่อยู่ในกระเป๋าสตางค์เราแน่นอน

 

จากนั้นตัว Secure Element จะไปติดต่อกับบริการจากระบบที่ออกตั๋วเงินเฉพาะครั้ง (Token Vault) ของบัตรเครดิตนั้นๆ ผ่านทางอินเทอร์เน็ต เช่น ติดต่อไประบบนี้ของบริษัท Visa หรือ MasterCard เพื่อขอ ตั๋วเงิน (Token) มา ซึ่งจุดนี้เป็นจุดสำคัญที่ทำให้ Apple Pay ต่างจากระบบอื่นๆ สังเกตได้ว่า บริษัท Visa เองก็มีการเปิดตัวบริการ Visa Token Service พร้อมกันกับการเปิดตัว Apple Pay โดยตั๋วเงินที่ว่านี้จะเหมือนรหัสที่แทนรหัสบัตรเครดิตของเราและไม่สามารถเอาไปโยงกับรหัสบัตรเครดิตจริงๆ ของเราได้เลยแม้ว่ารั่วไหลไป

หลังจากผ่านขั้นตอนนี้ ก็จะไม่มีใครได้รหัสบัตรจริงๆ ของเราไป ซึ่งการติดต่อกับ บริการออกตั๋วเงินเฉพาะครั้ง นั้นทำผ่านการติดต่ออินเทอร์เน็ตที่ควบคุมด้านการเข้ารหัสความปลอดภัยขั้นสูงสุดอีกต่างหากดังนั้นไม่ต้องกังวลเรื่องเลขบัตรถูกดักฟังกลางทาง

ขั้นตอนต่อมาคือการที่เจ้าของบัตรยังต้องทำการยืนยันว่าเป็นเจ้าของบัตรคือตัวจริงผ่านทางอุปกรณ์ของแอปเปิลด้วยลายนิ้วมือโดยใช้การแตะที่หน้าจอ เรียกว่าทัชไอดี (Touch ID) เปรียบได้กับการเซ็นสลิปบัตรเครดิต ซึ่งถึงแม้ว่า Touch ID จะมีการปลอมแปลงได้ แต่ก็น่าจะปลอมได้ยากกว่าปลอมลายเซ็นแน่นอน

เมื่อยืนยันตัวผู้ถือบัตรเรียบร้อยแล้ว ก็จะทำการส่งตั๋วเงิน (token) นี้ไปให้ Apple ทำการเข้ารหัสตัว token โดยที่คนที่มีกุญแจที่ตรงกันเท่านั้นถึงจะเปิดออกได้

อย่างที่เคยเกริ่นไว้ เทคโนโลยี NFC คือการแค่ส่งข้อมูลผ่านคลื่นวิทยุ ซึ่งใครๆ ก็สามารถรับข้อมูลได้ โดยไม่มีการตรวจสอบผู้รับ จุดนี้เป็นจุดที่เปราะบางที่สุดของทั้งระบบ ที่ทำขั้นตอนซับซ้อนทั้งหมดข้างบนนั้นก็เพื่อจุดนี้เพียงจุดเดียว ถ้าเราไม่มีขั้นตอนทั้งหมดข้างบน ก็เหมือนเราตะโกนเลขบัตรเลขบัตรเครดิตทุกครั้งที่เราจ่ายเงิน แต่ด้วยวิธีนี้ข้อมูลที่เราตะโกนออกไป จะไม่มีใครเข้าใจได้เลย ถ้าไม่รู้กุญแจเข้ารหัส ซึ่งก็คือ private key ของผู้รับเงินนั่นเอง ที่สุดยอดอีกอย่างนึงของระบบนี้ ก็คือถึงแม้ว่าผู้รับเงินจะถอดรหัสได้ แต่ก็ไม่ได้เลขบัตรเครดิตของเราไป ได้ไปเพียงแต่ ตั๋วเงินที่ออกมาจากบริษัทวีซ่าหรือมาสเตอร์การ์ด ที่สามารถเรียกเก็บเงินได้ครั้งเดียว

โดยสรุป ระบบ Apple Pay สามารถปฏิวัติวงการ Mobile Payment ได้ด้วยคุณสมบัติพิเศษก็คือ

  • ข้อมูลบัตรเครดิตถูกเก็บไว้ในมือถือของเราเอง แม้แต่ Apple ก็ไม่รู้เลขบัตรเครดิตของเรา
  • ผู้รับเงินไม่ได้เลขบัตรเครดิตของเราไป ได้ไปแต่ Token
  • การส่งข้อมูลผ่าน NFC ของ Apple Pay ปลอดภัยเพราะว่าถูกเข้ารหัสโดยผู้รับเงินเท่านั้นถึงจะถอดรหัสได้ ป้องกันการเนียนปลอมเครื่องรับเงินหรือเครื่องแอบอ่านสัญญาณ
  • เป็นระบบที่ น่าจะแพร่หลายใช้นอกสหรัฐได้ง่าย เพราะแค่ร่วมมือกับ Visa/MasterCard โดยตรง ไม่เหมือน Google Wallet ที่ใช้ Virtual Card Number (เป็นเลขบัตรชั่วคราววงเงินจำกัด โดยพันธมิตรกับ The Bancorp Bank) ทำให้ลำบากในการเปิดให้บริการในแต่ละประเทศ

แต่ที่น่าเสียดายก็คือ ระบบ NFC ของแอปเปิลนั้นยังเป็นระบบที่ใช้ชิปพิเศษที่ โทรศัพท์มือถือยี่ห้ออื่นยังไม่สามารถใช้รูปแบบนี้ได้ แถมยังมีจุดน่าสังเกตในเรื่องการนำตัวอุปกรณ์มาเกี่ยวข้องด้วยในกรณีที่อุปกรณ์เช่นโทรศัพท์หายหรือเปลี่ยนเจ้าของจะเป็นอย่างไร หรือสินค้าและบริการที่ชำระได้ด้วยวิธีนี้จะขายผ่านร้านของแอปเปิลใน Apple Store เท่านั้นหรือไม่ แต่ด้วยฐานผู้ใช้ขนาดใหญ่ คงปฏิเสธไม่ได้ว่าการใช้จ่ายเงินรูปแบบใหม่ผ่านตัวมือถือคงจะมาเร็วๆ นี้แหละครับ

ท้ายสุดหวังว่าคงไม่เกิดหัวข้อข่าวทำนองว่า คุณแม่เผลอแป๊บเดียวลูกชายเอามือถือไปแตะซื้อของเป็นแสนผ่านทางหน้าหนังสือพิมพ์อีก เพราะเหนือระบบใดๆ ที่แม้จะคิดมาเพื่อให้ปลอดภัยแต่ความไว้เนื้อเชื่อใจมนุษย์ด้วยกันเองนี่แหละครับที่ทำให้เกิดเรื่องเศร้ามานักต่อนักแล้ว งานนี้ภูมิคุ้มกันที่ดีสุดคือน่าจะเขียนเตือนแปะไปข้างกล่องมือถือแหละครับ


เรื่อง : ดร.พิษณุ คนองชัยยศ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์
คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
-----------------------
นิตยสารMBA ฉบับที่ 180 September-October 2014

Rate this item
(0 votes)
Last modified on Friday, 18 October 2019 07:34
X

Right Click

No right click