Education Change

November 06, 2019 3271

ช่วงนี้เป็นยุคเปลี่ยนผ่าน ยุคที่ทุกคนในบ้านเรากำลังเฝ้ารอการเปลี่ยนแปลง ผ่านพ้นวิกฤตเข้าสู่ความหวังที่จะเห็นสิ่งต่างๆ ดีขึ้น ทางด้านการศึกษาเองก็เช่นกัน

มีความพยายามอย่างยิ่งยวดเห็นได้จากการผ่านงบประมาณของกระทรวงศึกษาประจำปีปัจจุบันไว้สูงกว่า 4.8 แสนล้านบาท ซึ่งสูงมากในกลุ่มประเทศอาเซียน โครงสร้างงบประมาณของการศึกษาไทย คือ เราใช้งบประมาณเพื่อการศึกษาขั้นพื้นฐาน (อนุบาล,ประถม,มัธยม) ในสัดส่วนที่สูงมาก ในขณะที่เศรษฐกิจของประเทศต้องการแรงงานฝีมือระดับอาชีวะมาก แต่รัฐบาลจัดงบให้เพียง 2 หมื่นล้านบาท หรือแค่ 4.30 % ซึ่งนับว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับความจำเป็น ส่วนการศึกษาขั้นพื้นฐานใช้งบประมาณมากถึง 3 แสนกว่าล้าน แต่คุณภาพการศึกษาที่ออกมากลับต่ำมาก ดูได้จากผลคะแนนโอเน็ตปีการศึกษาที่ผ่านมา ในจำนวนนั้นงบของระดับอุดมศึกษาคิดเป็นหนึ่งในห้าหรือประมาณ 9.6 หมื่นล้านบาทซึ่งก็น้อยมากเมื่อเทียบกับการศึกษาในระดับพื้นฐาน

นอกจากปัญหาด้านนโยบายที่คงต้องมีการพิจารณาเปลี่ยนแปลงกัน ทางสถานศึกษาเองก็มีการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงให้มีระบบการศึกษาที่ทันสมัยทันโลกมากขึ้น โดยเชื่อว่าจะส่งผลให้เด็ก นิสิต นักศึกษามีคุณภาพที่ดีสามารถออกมาขับเคลื่อนประเทศชาติของเราได้

รูปแบบของการศึกษาหรืออาจจะใช้คำทับศัพท์แบบฝรั่งว่าโมเดลการศึกษานั้นมีการนำเสนอไว้มาพักใหญ่ แล้วโดยเรียกว่า โมเดล Education ซึ่งปัจจุบันมีการนิยามไว้เป็น 1.0, 2.0 และ พัฒนาเป็น 3.0 เมื่อกว่าห้าปีที่ผ่านมา โดยนิยาม เป้าหมาย กระบวนการ ตัวชี้วัด ไว้เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาระบบการศึกษาดังตาราง เช่น จากการศึกษาเป็นการกำหนดให้ทำตามในโมเดล 1.0 ก็ปรับเปลี่ยนเป็นการร่วมกันสร้างการเรียนรู้ใน 2.0 และสู่การมองการศึกษาเป็นการร่วมกันสร้างขึ้นโดยผู้สอนและผู้เรียนบวกกับผ่านการใช้เทคโนโลยีร่วมมือกับภาคส่วนอื่นๆ ด้วย ซึ่งในโมเดลใหม่เน้นการมีส่วนร่วมจัดการเรียนการสอนผ่านเทคโนโลยีที่ไม่จำกัดเฉพาะห้องเรียน การมีส่วนร่วมจากคนอื่นนอกจากผู้สอนและคนเรียน โดยเน้นการจัดหาอุปกรณ์สนับสนุนการเรียนการสอนที่ใช้งบประมาณน้อยและพอเพียง และตั้งเป้าที่จะผลิตบัณฑิตที่เป็น ผู้ร่วมงานที่ดี หรือผู้ประกอบการรายใหม่ ซึ่งต่างจากก่อนหน้านี้ที่เน้นให้บัณฑิตทำงานเป็น หรือคิดเป็นเท่านั้น

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงโมเดล หรือแบบจำลองที่ใช้เป็นเข็มทิศ กำหนดแนวทาง ส่วนการปฏิบัติจริงนั้นจะขึ้นกับแต่ละที่ที่คิดค้นวิธีการ หรือเครื่องมือต่างๆ ขึ้นมา ตัวอย่างเช่น มีการเพิ่มรายวิชาเกี่ยวกับการเป็นผู้ประกอบการการดำเนินธุรกิจ, การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศให้เกิดการเรียนการสอนที่ไม่จำกัดเวลาและสถานที่, การกำหนดกิจกรรมให้ผู้เรียนต้องมีส่วนร่วมกับภายนอกสถานศึกษา, การจัดการเรียนการสอนแนวใหม่ให้ผู้เรียนจำเป็นต้องค้นคว้าเรียนรู้ด้วยตนเองมากขึ้น, รวมถึงการเพิ่มการอบรมสัมมนาความรู้ทักษะนอกตำรา เช่น ทักษะมนุษย์ หรือ ซอฟต์สกิล, ศีลธรรม, จริยธรรม, จรรยาบรรณวิชาชีพ เป็นต้น

จากการสำรวจการเปลี่ยนรูปแบบการศึกษาของมหาวิทยาลัยต่างๆ ในประเทศไทย ก็พอยกตัวอย่างที่เห็นเป็นรูปธรรมได้ อย่างเช่นที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่มีชื่อเสียงด้านการสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ก็มีการปรับเปลี่ยนที่โดดเด่นคือการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้งานโดยการผลักดันให้ผู้เรียนมีอุปกรณ์อย่างแท็บเล็ตหรือโน๊ตบุ๊คส่วนตัวซึ่งสามารถเข้าถึงระบบสารสนเทศจัดการเนื้อหารายวิชาต่างๆ ได้อย่างครอบคลุมมากขึ้น ส่วนคณะวิศวกรรมศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เองก็กำลังทำการทดลอง รูปแบบการให้การศึกษาด้านวิศวกรรมแบบใหม่ที่วิทยาเขตราชบุรีโดยลดอัตราส่วนผู้เรียนต่อผู้สอน ลงทุนด้านเครื่องมือทันสมัยเช่นซอฟต์แวร์ และจัดสภาพแวดล้อมให้ผู้เรียนรู้สึกให้ความสนใจกับการเรียนที่เข้มข้นขึ้น รวมถึงปรับรูปแบบเนื้อหารายวิชาให้มีความต่อเนื่องมากขึ้น เป็นต้น

ทางด้านจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็มีการตั้งเป้าปรับใช้โมเดล 3.0 ทั้งมหาวิทยาลัยในเวลาอันใกล้ โดยมีการพัฒนาระบบสารสนเทศรองรับและสนับสนุนการเรียนการสอนให้ครอบคลุมและตรวจสอบได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ได้มีการนำร่องทดลองพัฒนาโมเดล Chula Engineering Education 4.0 ซึ่งเป็นการต่อยอดโมเดล 3.0 ขึ้นไปอีกให้มีความเหมาะสมเฉพาะทางลงไปทางด้านวิศวกรรมศาสตร์

จากการบรรยายสรุปสั้นๆ ของทีมงานผู้พัฒนาโมเดลใหม่ของวิศวฯ จุฬาฯ ก็เผยให้ทราบว่า ภายในโมเดลจะประกอบด้วย การพัฒนาเน้น 4 ด้านหลักคือ องค์ความรู้พื้นฐาน, ทักษะทางวิศวกรรม, การสื่อสาร และสุดท้ายคือด้านการสร้างนวัตกรรม โดยมีการกำหนดกระบวนการพัฒนาการเรียนการสอนในโมเดลนี้ จากการระดมความคิดจากผู้เชี่ยวชาญด้านการเรียนการสอน ความต้องการของอุตสาหกรรม นำมาสร้างเป็นชุดแนวปฏิบัติที่ดี หรือ Best Practice ที่ผู้สอนสามารถนำไปใช้พัฒนาการเรียนการสอนได้ ภายในแนวปฏิบัติจะประกอบไปทั้ง กระบวนการและเครื่องมือที่เคยใช้งานและผลการประเมินวิเคราะห์รูปแบบการเรียนการสอนที่ผ่านมา ซึ่งผ่านการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากกลุ่มผู้เชี่ยวชาญมาแล้ว

ความคาดหวังของผู้เรียนเมื่อจบไป นอกจากจะเป็นผู้ร่วมงานที่ดีหรือเป็นผู้ประกอบการเองได้อย่างที่โมเดล Education 3.0 ตั้งไว้ทางวิศวฯ จุฬาฯ ยังมีความคาดหวังให้บัณฑิตสามารถสร้างนวัตกรรม หรือการวิจัย สร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ องค์ความรู้ ชิ้นงานหรือกระบวนการที่เกิดประโยชน์กับผู้ใช้จริงๆ ไม่ใช่แค่ใช้ได้ในชั้นเรียนหรือห้องวิจัยเท่านั้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะได้จากการปฏิรูปการเรียนการสอนที่มีปฏิสัมพันธ์กับภาคีภายนอกจริงๆ เช่นมีการออกภาคสนามสำรวจความต้องการของผู้ใช้งาน อุตสาหกรรม หรือชุมชน ไม่ใช่รับใบงานจากอาจารย์ หรือ คิดขึ้นเองตามที่อยากทำแค่นั้น

โลกยุคใหม่การเรียนการสอนตั้งแต่ระดับในบ้านจนถึงระดับประเทศ การสอนด้วยการบอกอย่างเดียวนั้นคงไม่ได้ผล การให้ผู้เรียนได้ลงมือทำจริง ปฏิบัติจริงย่อมได้ผลดีกว่า แม้ว่าจะเสียเวลาหรือสอนได้ไม่มากก็ย่อมดีกว่าสอนไปมากมายแต่ปฏิบัติไม่ได้เลยสักอย่าง เช่นเดียวกับการตัดสินว่าใครมีความรู้ความสามารถอะไรย่อมต้องดูว่าเขาสามารถปฏิบัติจริงได้แค่ไหนไม่ใช่แค่ ตอบได้ ท่องได้ และยิ่งไปกว่านั้นการปฏิบัติได้ หรือทำได้เพียงอย่างเดียวนั้นไม่พอ แต่ต้อง ทำเป็น คือต้องทำและคิด แบบมีแนวคิดหรือหลักการที่ถูกต้องด้วย จึงเรียกว่า ทำเป็นคิดเป็น โดยเน้นการสอนจากง่ายไปยาก จากรูปธรรมไปหานามธรรม สอนจากเรื่องใกล้ตัวไปหาเรื่องไกลตัว และสอนจากปัจจุบันไปหาอดีตและอนาคต คงยังไม่สายที่จะเปลี่ยนการเรียนรู้ของตัวเรากันใช่ไหมครับ


เรื่อง : ดร.พิษณุ คนองชัยยศ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์
คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
-----------------------
นิตยสารMBA ฉบับที่ 174 February - March 2014

 

Rate this item
(1 Vote)
Last modified on Wednesday, 06 November 2019 13:58
X

Right Click

No right click