November 23, 2024

IT Resume

November 06, 2019 3366

ช่วงนี้เป็นช่วงที่บัณฑิตใหม่ทั้งหลายกำลังออกล่าหางานทำกัน ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของวัฏจักรในโลกธุรกิจที่สำคัญมาก เพราะการเริ่มต้นได้ดีก็มีชัยไปกว่าครึ่ง

จุดเริ่มต้นที่ว่าคงหนีไม่พ้นการยืน เรซูเม่ หรือประวัติส่วนตัว เพื่อเสนอให้ทางฝ่ายบุคคลของบริษัทพิจารณาโดยทั่วไปผู้เชี่ยวชาญจากบริษัทหางานต่างๆ จะแนะนำให้เขียนอะไรที่ “แสดงความเป็นตัวเราแบบน่าสนใจ” จนนายจ้างอยากเห็นตัวจริงและเรียกสัมภาษณ์ โดยมักจะบอกให้เขียนเกี่ยวกับข้อมูลตัวเรา, การศึกษา, ประสบการณ์ทำงาน, ความสามารถทักษะ และบุคคลอ้างอิง

คำแนะนำที่ดูเหมือนง่ายๆ นี้ทำให้เรซูเม่ของแต่ละฉบับออกมาหน้าตาคล้ายคลึงกันหมด โดยไม่มี “ความน่าสนใจ” ที่บอกตัวตนของคุณได้ว่า ทำไมบริษัทจึงต้องรับคุณหรือจะรับคุณไปทำอะไรดีในบริษัท นอกจากจะยัดใส่แผนกที่ต้องการคนเยอะๆ ต้องการทักษะพื้นฐานที่เขียนมาเป็นคีย์เวิร์ดในเรซูเม่ของเรา

ในวงการไอที การเสนอสารสนเทศหรือ Information ที่มีประสิทธิภาพนั้นสำคัญมาก การส่ง IT Resume หรือประวัติการทำงานด้านไอที จึงเน้นหนักที่การมีจุดขายจุดเน้นแบบองค์รวม ไม่ใช่นำเสนอเรื่องราวรายละเอียดต่างๆ เป็นบุลเลต์หรือเป็นข้อๆ แบบกระจัดกระจายหาความเกี่ยวเนื่องกันไม่ได้

สมมติว่า นายสมชายเป็นบัณฑิตจบใหม่มีเกรดเฉลี่ยสวยหรู เคยมีประสบการณ์การทำโครงงานต่างๆ มากมาย มีประสบการณ์อบรมทักษะด้านไอทีมาหลากหลายมาก คำถามของนายจ้างด้านไอทีคือ... นายสมชายได้อะไรมาบ้างจากประสบการณ์เหล่านี้ และอีกข้อที่สำคัญมากคือนายสมชายอยากทำงานด้านไหนในบริษัท

คำถามเหล่านี้ตอบได้โดยการเปลี่ยนแนวการเขียนที่เน้นแค่ชื่อโครงงานหรือชื่อทักษะที่มีเป็นข้อๆ เป็นการเลือกเขียนสิ่งที่สะท้อนสิ่งที่เราอยากทำ และเพิ่ม “บริบท” ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่เรียนรู้จากประสบการณ์นั้นเพื่อเชื่อมโยงให้บริษัทเห็นสิ่งที่เราได้รับมา ที่น่าจะเอาไปใช้ได้หากเขาจ้างเราไปทำ

เช่น หากนายสมชายอยากทำงานในตำแหน่งผู้บริหารโครงงานวิศวกรรมสารสนเทศ ก็ควรเลือกเขียนประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้การบริหารจัดการจากโครงงานที่ร่วมทำมาก่อนหน้า เช่นการวางแผน การติดต่อสื่อสาร การประเมิน ฯลฯ และเน้นว่าได้รับความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน รวมถึงอาจจะเน้นทักษะที่อบรมมาด้านการบริหารโครงงานวิศวกรรมว่าอบรมมาได้ผลแค่ไหนอย่างไร เป็นต้น แทนที่จะเขียนแค่เคยทำโปรเจ็กต์ชื่ออะไร หรือ อบรมอะไรบ้างและใส่รายละเอียดที่ไม่เกี่ยวกับอาชีพนี้มาเยอะแยะ

นายจ้างด้านไอทีมักจะมองอะไรเป็นตัวเลขที่วัดได้เสมอ เช่น วันที่เริ่มทำงานของประสบการณ์ทำงานก่อนหน้า ขนาดของทีม ขนาดของโปรเจ็กต์ สโคปของงาน งบประมาณ ระยะเวลา ระดับการอบรม ผลการทดสอบต่างๆ ของงานและทักษะที่มี เพื่อใช้ประเมินว่าเรานั้นเหมาะกับความยากง่ายของตำแหน่งงาน รวมถึงความคุ้มที่จะจ้างด้วยค่าตอบแทนเท่าไหร่

เช่น กรณีของนายสมชายควรจะเขียนเพิ่มเติมว่า โครงงานที่เคยเข้าไปมีบทบาทนั้น มีขนาดของทีมงานกี่คน ซึ่งมีผลต่อการพิจารณาหรือเพิ่มความ ”น่าสนใจ” ให้กับเรซูเม่มากขึ้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบัน มีการพัฒนาระบบตรวจสอบผู้สมัครที่สามารถคัดกรองเรซูเม่ที่ไม่สมบูรณ์ออกไป ดังนั้นการเขียนจึงต้องระวังมากขึ้น เช่น ระบบจะตัดที่อยู่ที่ไม่สมบูรณ์ออก การไม่ใส่คำนำหน้าเพศ อายุ เป็นต้น รวมถึงระบบที่ว่าจะคอยสแกน คีย์เวิร์ด หรือคำเฉพาะที่บริษัทสั่งให้มองหา เหมือนกับ เวลาเราใช้ฟังก์ชันค้นหาคำในโปรแกรมพิมพ์งานที่เราใช้อยู่เลยทีเดียว

สำหรับกรณีนี้ มีข้อแนะนำนอกเหนือจากอย่าลืมรายละเอียดสำคัญแล้ว ก็คือ การเพิ่มย่อหน้าสั้นๆ สรุปเกี่ยวกับข้อมูลของเราที่บอกว่าเราต้องการทำอะไรหรือทำงานด้านไหนที่ตรงกับ คีย์เวิร์ดที่บริษัทมองหา

การเขียนเกี่ยวกับประสบการณ์งานที่ทำ ควรมีตำแหน่งงานที่ทำ ซึ่งสามารถจะระบุทักษะและขอบเขตการรับผิดชอบที่ชัดเจนได้โดยเน้นให้มี “คีย์เวิร์ด” ที่ต้นข้อความ

เช่นปรับจากการเขียนเพียงชื่อตำแหน่ง และข้อความว่าทำอะไรบ้าง

อย่างเคยเป็นนักวิเคราะห์ระบบ

  • ออกแบบและดูแลระบบ
  • เขียนโปรแกรม

สามารถเขียนเปลี่ยนเป็น

  • นักวิเคราะห์ระบบ ประสบความสำเร็จในการออกแบบและพัฒนาระบบมูลค่า 50,000 บาทให้กับบริษัทลูกค้าด้านการเงินภายใต้กรอบงบประมาณที่วางไว้ภายใน 9 เดือน

หน้าตาใหม่ของเรซูเม่ที่เขียนขึ้นจะมีความน่าอ่านเหมือนเวลาเราอ่านคอลัมน์แนะนำชีวประวัติของบุคคลที่น่าสนใจคือ มีสิ่งที่สะท้อนความเป็นตัวตนที่ชัดเจน ว่าเคยทำอะไรแค่ไหนและมีความสำเร็จแค่ไหนในสิ่งที่ทำ แต่ยังคงความสั้น กระชับและน่าสนใจ

ทั้งนี้ทั้งนั้นการเริ่มต้นของวัฏจักรการทำงานยังคงต้องผ่านด่านการสัมภาษณ์ซึ่งก็สามารถนำเคล็ดลับของการเขียนเรซูเม่นี้ไปขยายต่อเช่นกัน คือ พยายามให้นายจ้างเห็นถึงสิ่งที่เราได้จากสิ่งที่เราเคยทำหรือเคยศึกษามา และสิ่งนั้นจะเป็นประโยชน์อะไรแค่ไหนกับงานที่เขาจะจ้างเรา

อีกหนึ่งอย่างที่น่าจะช่วยในการเตรียมตัวได้คือ ลองคิดว่าหากเราเป็นนายจ้าง อ่านเรซูเม่แผ่นนี้ เราสนใจที่จะจ้างคน ๆ นี้หรือไม่ หากยังไม่ใช่ก็ลองค่อยๆ ปรับไปครับ ความพยายามยามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่นครับ


เรื่อง : ดร.พิษณุ คนองชัยยศ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์
คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
-----------------------
นิตยสารMBA ฉบับที่ 176 May - June 2014

Rate this item
(0 votes)
Last modified on Wednesday, 06 November 2019 08:30
X

Right Click

No right click