January 22, 2025
×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 7637

การเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับความเสี่ยงและภัยพิบัติสำหรับผู้ประกอบการ

December 04, 2018 3033

จากการคาดการณ์ความเสี่ยงของโลกโดย World Economic Forum ในปี 2018 จะเห็นได้ว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศและภัยธรรมชาติเป็นความเสี่ยงที่มีโอกาสเกิดขึ้นมากที่สุด (World Economic Forum, 2018) อีกทั้งรายงานของ www.ranker.com พบว่าในปี 2018 เกิดภัยธรรมชาติที่ส่งผลกระทบรุนแรงเป็นจำนวนมาก (Slocum, 2018) สำหรับภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นในภูมิภาคเอเชีย เช่น น้ำท่วมและดินโคลนถล่มในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้การดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจในพื้นที่ประสบภัยต้องหยุดชะงัก จากรายงานข่าว จังหวัดฮิโรชิมะเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายมากที่สุดและพบผู้เสียชีวิตมากที่สุด (Workpoint News, 2018) ส่งผลกระทบต่อธุรกิจ เช่น การสูญเสียสินค้าคงคลัง ผลกระทบต่อความต่อเนื่องทางธุรกิจ เป็นต้น ธุรกิจจะสามารถฟื้นฟูจากภัยธรรมชาติได้เร็วขึ้นถ้ามีแผนฉุกเฉินรองรับ (Glassman, 2018) ผู้ประกอบการต้องเตรียมความพร้อมรับมือกับความเสี่ยงซึ่งอาจเป็นสาเหตุของความเสียหาย (NTT Communications (Thailand) Co. Ltd., 2018) ตัวอย่างของภัยพิบัติ เช่น

  1. ภัยพิบัติจากการกระทำของมนุษย์ (Man-made disaster) :

เป็นการกระทำของมนุษย์ที่ส่งผลต่อความเสียหายของธุรกิจ เช่น อัคคีภัย, การรั่วไหลของน้ำมัน, การโจรกรรมข้อมูล เป็นต้น

  1. ภัยพิบัติทางธรรมชาติ (Natural Disasters) :

เป็นการเกิดภัยที่มีสาเหตุมาจากธรรมชาติ เช่น อุทกภัย, วาตภัย, แผ่นดินไหว, คลื่นสึนามิ, ไฟป่า เป็นต้น ซึ่งภัยพิบัติทางธรรมชาติส่งผลต่อความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สินของธุรกิจ

  1. ภัยพิบัติด้านภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical) :

เป็นภัยพิบัติที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคง เช่น การจู่โจมของผู้ก่อการร้าย การประท้วงขนาดใหญ่ และสงคราม เป็นต้น ผู้ประกอบการอาจต้องพิจารณาถึงการย้ายกิจกรรมทางธุรกิจไปยังพื้นที่อื่นๆ

เมื่อความเสี่ยงและภัยพิบัติสามารถเกิดขึ้นได้เสมอและธุรกิจไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ผู้ประกอบการจึงจำเป็นที่จะต้องเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือ การบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ (Business Continuity Management : BCM) จึงเป็นแนวทางที่สำคัญอย่างยิ่งในการลดโอกาสเกิด การเตรียมการ การตอบสนอง และฟื้นฟูธุรกิจจากความเสี่ยงและภัยพิบัติต่างๆ ที่จะทำให้ธุรกิจหยุดชะงักได้ ซึ่งจะทำให้เกิดการสูญเสียรายได้หรือลูกค้าที่รับไม่ได้จากการหยุดชะงักของการให้บริการ และทำให้เกิดความเสื่อมเสียชื่อเสียต่อธุรกิจ (Sasawat Malaivongs, 2018) ทั้งนี้ เพื่อลดผลกระทบและความเสียหายให้เกิดน้อยที่สุดและธุรกิจสามารถกลับมาดำเนินงานต่อไปได้รวดเร็วที่สุด

                กรอบแนวทางการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ หรือ BCM ตามมาตรฐาน ISO 22301:2012 มีองค์ประกอบที่เกี่ยวข้อง 6 องค์ประกอบหลัก คือ

องค์ประกอบที่ 1 การบริหารโครงการจัดการความต่อเนื่อง (BCM Program Management) เป็นองค์ประกอบหลักของการสร้างความต่อเนื่อง โดยการจัดทำกรอบนโยบายและกำหนดโครงสร้างหน้าที่ความรับผิดชอบของบุคลากรในระดับต่างๆ

องค์ประกอบที่ 2 การศึกษาและทำความเข้าใจองค์กร (Understanding the Organization) เป็นขั้นตอนการทำความเข้าใจสภาพและการดำเนินงานขององค์กร ด้วยวิธีการวิเคราะห์ผลกระทบทางธุรกิจ (Business Impact Analysis – BIA) และการประเมินความเสี่ยง (Risk Assessment - RA) เพื่อนำไปเป็นข้อมูลในการจัดระดับความสำคัญของกระบวนงาน การกำหนดแนวทาง และกลยุทธ์ในข้อต่อไป

องค์ประกอบที่ 3 การกำหนดกลยุทธ์ในการสร้างความต่อเนื่อง BCM (Determining BCM Strategy) กำหนดแนวทางในการตอบสนองต่อการหยุดชะงักของการดำเนินงานขององค์กร เช่น กลยุทธ์กู้คืนการดำเนินงาน (Recovery Strategy) และการกำหนดกลยุทธ์ด้านการจัดการทรัพยากรที่เหมาะสมตามข้อมูลที่ได้จากการวิเคราะห์ผลกระทบทางธุรกิจ (BIA)

องค์ประกอบที่ 4 การพัฒนาและเตรียมการตอบสนองต่อเหตุการณ์ในภาวะฉุกเฉิน (Developing and Implementing BCM Response) เมื่อมีการกำหนดกลยุทธ์เรียบร้อยแล้ว ต้องจัดทำแผนงานเตรียมตอบสนองต่อภาวะฉุกเฉิน โดยให้เป็นไปตามกรอบยุทธศาสตร์ที่กำหนดไว้ เช่น Incident Management Plans (IMP) หรือ แผนจัดการอุบัติการณ์ฉุกเฉิน, Business Continuity Plans (BCP) หรือ แผนความต่อเนื่องทางธุรกิจ, Recovery Plans (RP) หรือ แผนกู้คืนธุรกิจหลังภัยพิบัติผ่านพ้นไป เป็นต้น

องค์ประกอบที่ 5 การทดสอบ ปรับปรุง และทบทวนแผน (Exercising Maintaining and Reviewing) เป็นขั้นตอนที่จะทำให้แน่ใจว่า BCM ที่จัดทำขึ้นสามารถใช้ได้จริงรวมทั้งเพื่อเตรียมความพร้อม ตรวจสอบความสามารถของบุคลากร และประสิทธิภาพของแผนในการตอบสนองต่อวิกฤติการณ์ ด้วยรูปแบบการทดสอบ เช่น Call Tree, Tabletop Testing, Simulation เป็นต้น

องค์ประกอบที่ 6 การปลูกฝัง BCM ให้เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมองค์กร (Embedding BCM in the Organization’ s Culture) เป็นขั้นตอนที่สำคัญในการทำให้ BCM เข้าไปเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมองค์กร ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยเวลาและจิตวิทยาที่จะทำให้บุคลากรทุกคนซึมซาบและเข้าใจถึงความสำคัญของ BCM ตลอดจนบทบาทหน้าที่ของตัวเอง (NSM, 2018)

โดยที่ผ่านมาการให้ความช่วยเหลือของหน่วยงานต่างๆ ต่อธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ เช่น ในปี 2561 ได้เกิดอุทกภัยในหลายพื้นที่ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทยได้ออก 2 มาตรการช่วยเหลือลูกค้าธนาคารที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ ไม่ว่าจะเป็นอุทกภัย วาตภัย ดินโคลนถล่ม แผ่นดินไหว เป็นต้น ได้แก่ มาตรการที่ 1 การพักชำระหนี้ เพื่อลดภาระให้กับผู้ประกอบการ และ มาตรการที่ 2 สินเชื่อฉุกเฉินเพื่อฟื้นฟูกิจการผู้ประกอบการที่ได้รับความเสียหาย เพื่อเป็นเงินทุนฟื้นฟูและหมุนเวียนในกิจการสำหรับลูกค้าเดิมของธนาคาร (MGR Online, 2018)

หากผู้ประกอบการสามารถปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง ความเสี่ยงและความรุนแรงก็จะลดน้อยลง เพราะความเสี่ยงที่อันตรายที่สุด คือ การขาดความตระหนัก ไม่มีการเตรียมพร้อมรับมือ และขาดแนวทางการจัดการในภาวะฉุกเฉิน ซึ่งล้วนเป็นสิ่งที่ธุรกิจพึงมีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการพัฒนาที่ยั่งยืน


บทความ โดย : ปภาดา บุบผาสวรรค์

หลักสูตรสหสาขาวิชาการจัดการความเสี่ยงและภัยพิบัติ | จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Rate this item
(2 votes)
Last modified on Monday, 17 December 2018 05:47
X

Right Click

No right click