November 22, 2024

เทคโนโลยีของธุรกิจแห่งอนาคต: ปัญญาประดิษฐ์ และ ประสาทวิทยาศาสตร์

October 29, 2018 3492

หากถามว่าเทคโนโลยีใดที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงโลกธุรกิจในอนาคตอันใกล้นี้ ในมุมมองของผู้เขียนมีความเห็นว่านอกจากปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) ที่กำลังเป็นที่จับตามองอย่างมากแล้ว ก็คงหนีไม่พ้นเรื่องของ ประสาทวิทยาศาสตร์ (Neuroscience)

โดยปัญญาประดิษฐ์จะเป็นการพัฒนาสมองให้กับเครื่องจักรกลเพื่อทำงานทดแทนและสนับสนุนการทำงานของมนุษย์ให้ดียิ่งขึ้นให้สะดวกยิ่งขึ้น ส่วนประสาทวิทยาศาสตร์จะทำให้เกิดความเข้าใจในระดับที่สูงขึ้นของการทำงานของสมองมนุษย์และระบบประสาทที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจและตอบสนองต่อสิ่งเร้าหรือสถานการณ์ต่างๆ ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการประกอบธุรกิจได้ เช่น สร้างความเข้าใจพฤติกรรมของผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะทำให้พัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้มากขึ้น ในทางการเงินการลงทุน ประสาทวิทยาศาสตร์สามารถสร้างความเข้าใจถึงพฤติกรรมการซื้อขายของนักลงทุนให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งจะทำให้นักการเงินสามารถเข้าใจลักษณะการเคลื่อนไหวของราคาสินทรัพย์ต่างๆได้ดียิ่งขึ้น อาทิ เช่น การเกิดของฟองสบู่ และ อะไรเป็นสาเหตุที่นักลงทุนตัดสินใจเข้าลงทุนใน Bitcoin ซึ่งทำให้มีราคาสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเพิ่มขึ้นประมาณ 400% ภายในระยะเวลาเพียง 6 เดือน ซึ่งปัจจุบันราคาแตะที่ระดับ 7,330 ดอลล่าร์

ปัญญาประดิษฐ์

ปัญญาประดิษฐ์ คือโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่สามารถทำหน้าที่เป็น “สมอง” ที่สามารถคิด วิเคราะห์ ประมวลผล แก้ปัญหา และ ตัดสินใจได้เองแทนมนุษย์ การพัฒนาปัญญาประดิษฐ์แตกต่างจากการพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ทั่วไปตรงที่การพัฒนาปัญญาประดิษฐ์นั้นผู้พัฒนาไม่จำเป็นต้องระบุขั้นตอนหรือวิธีการแก้ปัญหาโดยตรง แต่เพียงกำหนดเป้าหมายที่ต้องการและให้โปรแกรมเรียนรู้ที่จะแก้ปัญหาหรือตัดสินใจด้วยตัวเองเพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายที่กำหนดโดยอาศัยการเรียนรู้จากข้อมูลที่มีอยู่ ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้สามารถนำมาใช้เพื่อเพิ่มผลผลิตทางอุตสาหกรรมและแก้ปัญหาธุรกิจต่างๆได้ดียิ่งขึ้น อาทิ เช่น การใช้ปัญญาประดิษฐ์เพื่อเรียนรู้พฤติกรรมผู้บริโภคและทำนายความชอบ เช่น ลวดลาย สี รูปทรงสินค้า การใช้ปัญญาประดิษฐ์เพื่อจับอารมณ์ของนักลงทุนในตลาดหุ้นโดยเรียนรู้จากราคาและข้อมูลข่าวสารต่างๆ

สมองกลที่พัฒนาขึ้นมา มีข้อได้เปรียบมนุษย์อยู่หลายประการ อาทิ เช่น ความสามารถในการประมวลผลที่รวดเร็วและแม่นยำกว่ามนุษย์ และ การตัดสินใจโดยอาศัยข้อมูลที่มีอยู่โดยปราศจากอคติ ส่วนข้อที่ด้อยกว่าสมองมนุษย์ ณ เวลาปัจจุบัน ก็มีอยู่หลายประการเช่นกัน ได้แก่ ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ความสามารถในการปรับเปลี่ยนวิธีคิดเมื่อสภาวะแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งมนุษย์จะปรับเปลี่ยนกระบวนคิดได้ดีกว่าเร็วกว่า จึงสามารถนำสิ่งที่เรียนรู้ไปประยุกต์ใช้ได้กว้างกว่า ถึงแม้ว่าสมองกลอาจจะสามารถเรียนรู้ได้รวดเร็วกว่ามนุษย์ก็ตาม ดังนั้น ณ ปัจจุบัน ปัญญาประดิษฐ์จึงเหมาะกับการแก้ปัญหาที่มีรูปแบบเฉพาะ (Specific tasks) มากกว่าปัญหาแบบทั่วไป (Generic tasks) อย่างไรก็ดีข้อจำกัดเหล่านี้ผู้เขียนเชื่อว่าจะค่อยๆลดลงในอนาคตข้างหน้า

ตัวอย่างปัญญาประดิษฐ์อย่างง่ายได้แก่โครงข่ายประสาทเทียม (Artificial Neural Network หรือ ANN) ซึ่งมีโครงสร้างเป็นชั้นๆดังรูปภาพ 1 ก่อนที่จะเริ่มต้นการใช้งาน ANN จำเป็นต้องการมีการฝึก (Training) ก่อน เพื่อให้เห็นภาพผู้เขียนขอยกตัวอย่างสถานการณ์ดังต่อไปนี้ ธนาคารแห่งหนึ่งต้องการจำแนกลูกหนี้ชั้นดีออกจากลูกหนี้ที่มีโอกาสผิดนัดชำระหนี้สูง โดยธนาคารมีฐานข้อมูลของลูกหนี้ เช่น อายุ รายได้ เพศ อาชีพ เป็นต้น และ มีข้อมูลในอดีตว่าใครชำระตรงเวลา ใครผิดนัดชำระ เมื่อข้อมูลเหล่านี้ถูกนำมาป้อนให้กับ ANN ทีละรายการไปเรื่อยๆ สำหรับข้อมูลแต่ละชุด ANN จะเปรียบเทียบผลลัพธ์ที่ทำนายได้กับผลลัพธ์ของจริง และจะมีการปรับค่าพารามิเตอร์ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น เมื่อได้รับการฝึกฝนด้วยข้อมูลมากขึ้นๆ ANN ก็จะมีความแม่นยำสูงขึ้นในการทำนาย ซึ่งถือเป็นการเรียนรู้ของเครื่องจักรกลในการจำแยกลูกหนี้ชั้นออกจากลูกหนี้ที่ไม่ดี ข้อเสียของวิธีนี้คือ เป็นการยากที่จะทำความเข้าใจถึงความหมายของค่าพารามิเตอร์ต่างๆของ ANN ซึ่งถึงแม้ธนาคารจะสามารถใช้ ANN จำแนกประเภทของลูกหนี้ได้แม่นยำเพียงใด แต่ธนาคารอาจไม่เข้าใจว่าเพราะเหตุใด ANN จึงจัดให้ลูกค้าคนนี้อยู่ในกลุ่มชั้นดีหรือไม่ดี อย่างไรก็ตาม ANN เป็นเพียงแค่เครื่องมือหนึ่งเท่านั้นของปัญญาประดิษฐ์ ยังมีเครื่องมืออื่นๆอีกมากมายให้เลือกใช้

ผู้เขียนเชื่อว่าในอนาคตอันใกล้ธุรกิจต่างๆจะนำปัญญาประดิษฐ์มาใช้ในเชิงพาณิชย์อย่างกว้างขวางในทุกวงการ เช่น นำมาใช้ตรวจสอบความผิดปกติทางบัญชี นำมาช่วยวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานของกิจการ นำมาช่วยวางแผนการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม นำมาใช้ทำนายการเติบโตของเศรษฐกิจ เป็นต้น ซึ่งก็จะเป็นการยกระดับการแข่งขันของอุตสาหกรรมต่างๆให้สูงขึ้น ระบบอัจฉริยะเหล่านี้จะถูกพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งจะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนดียิ่งขึ้นตามไปด้วย ถือเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอัจฉริยะแห่งอนาคต

ประสาทวิทยาศาสตร์

ประสาทวิทยาศาสตร์ คือ ศาสตร์ที่พยายามทำความเข้าใจโครงสร้าง กลไกการทำงาน การพัฒนา และ การเปลี่ยนแปลงของระบบประสาท (Nervous system) ของมนุษย์ ซึ่งมีระบบประสาทส่วนกลางอยู่ที่สมองและไขสันหลัง และ มีระบบประสาทส่วนปลายกระจายอยู่ตามส่วนต่างๆของร่างกาย ในระบบประสาทจะมีเซลล์ประสาท (Neuron) ที่มีรูปร่างดังรูปภาพ 2 ลักษณะเฉพาะของเซลล์ประสาทคือสามารถรับ ประมวลผล และ ส่งต่อสัญญาณไฟฟ้าและเคมี ไปยังเซลล์ประสาทตัวอื่น ๆ ที่อยู่ในระบบประสาทส่วนกลาง หรือระบบประสาทส่วนปลาย คล้ายการส่งข้อมูลผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต อย่างไรก็ตามการศึกษายังครอบคลุมไปถึงการตอบสนองของร่างกายต่อสิ่งเร้า เช่น อุณหภูมิของร่างกายที่สูงขึ้นเมื่อเราตื่นตระหนก อัตราการเต้นของหัวใจที่ถี่ขึ้นเมื่อเจอคนที่ถูกใจ ความเหนี่ยวนำไฟฟ้าของผิวหนัง (Skin conductance) ที่สูงขึ้นเมื่อเราตื่นเต้น เป็นต้น

เครื่องมือการวัดที่ใช้ในการศึกษาทางประสาทวิทยาศาสตร์มีมากมายหลายเครื่องมือ เช่น Functional Magnetic Resonance Image (fMRI), Positron Emission Tomography (PET),  Magnetoencephalography (MEG), Transcranial Magnetic – Stimulation (TMS), Scalp Electroencephalography (EEG) หรือ psychophysiological equipment เช่น Galvanic Skin Response (GSR), Electrocardiogram (ECG or EKG) เป็นต้น แต่เครื่องมือที่กำลังเป็นที่นิยมอย่างมากในปัจจุบันได้แก่ fMRI เนื่องจากไม่ต้องเจาะหรือฝังอะไรลงในร่างกาย ไม่มีการแผ่สารกัมมันตภาพรังสี และสามารถนำมาใช้งานได้อย่างหลากหลาย การทำงานของ fMRI ทำงานโดยการตรวจวัดปริมาณออกซิเจนในเลือด กล่าวคือหากสมองส่วนไหนกำลังทำงานอยู่ก็จะต้องการพลังงานโดยจะมีเลือดไปเลี้ยงในบริเวณนั้นมาก ทำให้สามารถตรวจจับออกซิเจนที่สมองบริเวณนั้นได้หนาแน่นกว่าบริเวณอื่น ข้อเสียของ fMRI คือมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง EEG ก็เป็นเครื่องมือที่ได้รับความนิยมเช่นกัน เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายที่ไม่แพงมากนัก EEG เป็นการตรวจวัดศักย์ไฟฟ้าในสมองส่วนนอก หากบริเวณใดเกิดกิจกรรมทางประสาทมากก็จะทำให้ศักย์ไฟฟ้าเปลี่ยนไป แต่ข้อเสียคือ EEG ไม่สามารถวัดกิจกรรมที่เกิดขึ้นในสมองส่วนอยู่ลึกเข้าไปด้านในได้

ในทางธุรกิจ ประสาทวิทยาศาสตร์สามารถนำมาใช้เป็นเครื่องมือศึกษาความรู้สึกของลูกค้าที่มีต่อสินค้าโดยประเมินจากการตอบสนองทางประสาทโดยคาดว่าจะให้ผลลัพธ์ที่ลำเอียงน้อยกว่าการประเมินรูปแบบอื่น เช่น การใช้แบบสอบถามหรือการสัมภาษณ์อาจมีโอกาสได้รับข้อมูลที่คลาดเคลื่อนมาก เนื่องจากผู้ตอบแบบสอบถามหรือผู้ให้สัมภาษณ์อาจไม่มั่นใจว่าตนเองรู้สึกอย่างไร ชอบแบบไหนมากกว่ากัน อาจเกิดความลังเล และสุดท้ายอาจตอบแบบสุ่ม การวัดจากคลื่นประสาทสามารถบอกอารมณ์ของผู้ถูกวัดได้ว่า ดีใจหรือเสียใจ ถูกใจมากน้อยแค่ไหน หรือรู้สึกเฉย ๆ ทั้งนี้ในช่วงหลายปีมานี้เทคโนโลยี Neuroimaging ได้รับการพัฒนาจนสามารถมองเห็นการทำงานของส่วนต่างๆภายในสมองได้ง่ายขึ้น ชัดเจนมากขึ้นและสามารถดูการทำงานของสมองได้แบบ real-time นักวิจัยจึงหันมาให้ความสนใจกับกลไกที่เกิดขึ้นภายในสมองกันมากขึ้น

ผู้เขียนจะขอกล่าวถึงการประยุกต์ใช้ความรู้ทางประสาทวิทยาศาสตร์ ในด้านการเงิน เนื่องจากพฤติกรรมของมนุษย์ที่แสดงออกมาตามสัญชาติญาณก็ดีหรือจากการไตร่ตรองก็ตามล้วนเป็นผลมาจากระบบประสาท รวมถึง ระดับฮอร์โมนในร่างกาย ซึ่งนั่นก็จะส่งผลต่อการตัดสินใจ เช่น การตัดสินใจลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยง เช่น หุ้นสามัญ ผู้เขียนจะขอยกตัวอย่างถึงสิ่งที่ถือว่ามีความสำคัญมากในศาสตร์ทางด้านการเงิน นั่นก็คือ ความเสี่ยง งานวิจัยหลายชิ้นพยายามวัดความเสี่ยง และ ดูว่านักลงทุนจะตอบสนองอย่างไรต่อระดับความเสี่ยงที่แตกต่างกัน แต่เนื่องจากองค์ความรู้เศรษฐศาสตร์การเงินที่พัฒนามายาวนานอยู่บนพื้นฐานของข้อสมมติฐานที่ว่านักลงทุนตัดสินใจอย่างสมเหตุสมผลโดยไม่มีความลำเอียง งานวิจัยทางด้านเศรษฐศาสตร์การเงินส่วนมากสามารถตอบคำถาม หรือสร้างแบบจำลองการตัดสินใจที่ควรจะเป็นตามเหตุและผลได้ แต่ก็ยังพบว่าแบบจำลองเหล่านั้นยังไม่สามารถอธิบายพฤติกรรมของนักลงทุนบางประเภทได้ เช่น การพนันแบบหมดหน้าตัก การพนันเป็นการลงทุนที่มีผลตอบแทนสูง แต่ก็มีความเสี่ยงสูงมากเช่นกัน โอกาสที่จะถูกรางวัลใหญ่ ๆ หรือได้กำไรมาก ๆ นั้นน้อยมาก ถ้าวิเคราะห์กันตามหลักเหตุผลแล้ว การพนันไม่ใช่ตัวเลือกการลงทุนที่ดีนัก แต่ก็ยังมีคนบางส่วนที่ลงทุนกับการพนันจนขาดทุนมหาศาล ทฤษฎีทางการเงินไม่สามารถตอบคำถามเหล่านี้ได้ แต่ประสาทวิทยาศาสตร์จะเปิดโอกาสให้เกิดทฤษฎีการลงทุนใหม่ๆ เช่น ทฤษฎีที่อธิบายว่าเพราะเหตุใดนักลงทุนบางคนจึงสามารถยอมรับความเสี่ยงที่แตกต่างจากคนทั่วไป เพราะเหตุใดนักลงทุนบางคนจึงประสบความสำเร็จอย่างมากในการซื้อขายหุ้น หรือเพราะอะไรนักลงทุนที่มีประสบการณ์จึงตัดสินใจที่จะซื้อหรือขายหุ้นได้อย่างเหมาะสมกว่าผู้ที่เพิ่งเริ่มเล่นใหม่ ๆ เป็นต้น เกิดเป็นการศึกษาด้านการเงินโดยนำเอาองค์ความรู้ทางประสาทวิทยาศาสตร์เข้ามาใช้ควบคู่กันไปมากขึ้น เรียกว่า Neurofinance การศึกษาทาง Neurofinance ช่วยให้เราเห็นถึงเบื้องหลังกลไกการทำงานของสมองซึ่งเป็นที่มาของพฤติกรรมทางการเงินต่าง ๆ ได้

นับว่าเป็นการผสมผสานกันระหว่างสองศาสตร์ที่เข้ากันได้อย่างลงตัว และทำให้เราเข้าใจและค้นพบข้อเท็จจริงมากขึ้นเกี่ยวกับการตัดสินใจ การลงทุน และความสำคัญของสมองส่วนต่าง ๆ ที่สามารถนำไปต่อยอดเพื่อให้เกิดประโยชน์ได้ต่อไป


บทความโดย :

อ.ดร.กฤษฎา นิมมานันทน์
ผู้อำนวยการหลักสูตร
Professional MBA
คณะบริหารธุรกิจ สถาบันบันฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

 

 

 

Rate this item
(0 votes)
Last modified on Saturday, 11 June 2022 14:16
X

Right Click

No right click